พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (The Erawan Museum) เป็นสถานที่แสดงศิลปกรรมในแนวอุดมคติ ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา และจักรวาล เกิดจากการสร้างสรรค์ความงามทางตะวันออกแบบไทย ผสมผสานกับงานศิลปะตะวันตก ก่อให้เกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่วิจิตรงดงามและทรงคุณค่า ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วิจิตรศิลป์ และประณีตศิลป์อันละเอียดอ่อน ทั้งยังเป็นสถานที่จัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ของเก่าของสะสมของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้รักและหลงใหลในงานศิลปะอีกด้วย การเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ไม่ยากเลย สถานที่ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ก่อนเข้าตัวเมืองปากน้ำ มีรถเมล์ผ่านหลายสาย และจะมีรถไฟฟ้า BTS ผ่าน (ประมาณปี 2561)
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท บริเวณจุดตัดเส้นสุขุมวิทกับถนนกาญจนาภิเษก หากใช้เส้นสุขุมวิท มาจากบางนา ผ่านแบริ่ง สำโรง บิ๊กซีจัมโบ้ แล้วชิดเลนซ้ายสุดไว้ เลี้ยวซ้ายไปลอดใต้สะพาน ตรงนั้นจะมีที่จอดรถของพิพิธภัณฑ์ และมีรถรับส่งเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ด้วย ส่วนคนที่มาโดยรถเมล์ ขึ้นรถที่ตรงเข้าตัวเมืองปากน้ำ ก็จะต้องผ่านจุดนี้ และในอีกไม่นานจะมีรถไฟฟ้า BTS ผ่านด้วย*
* รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (แบริ่ง - สมุทรปราการ) กำลังทะยอยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2560-2561 และจะมีสถานีเอราวัณด้วย สถานีนี้แม้จะชื่อเอราวัณ แต่ก็อยู่เลยจากพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณไปเยอะ (ประมาณ 800 เมตร) จะต่อรถกลับมาค่อนข้างลำบาก แนะนำให้ลงรถที่สถานีปู่เจ้าสมิงพราย แล้วต่อรถเมล์ หรือแท็กซี่ตรงหน้าห้างบิ๊กซี ซึ่งไปอีกนิดเดียวก็ถึง
บริเวณพื้นที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ล้อมรอบด้วยรั้วกำแพงที่ทำด้านบนเป็นใบเสมา คล้ายกำแพงเมือง ประตูด้านหน้าส่วนที่ติดกับริมถนนสุขุมวิท จัดเป็นโซนที่ให้ผู้ที่มีความเชื่อ และศรัทธาต่อองค์เอราวัณ ได้มากราบสักการะปิดทองช้างเอราวัณองค์จำลองที่อยู่ด้านหน้า จุดนี้สามารถสักการะได้โดยไม่ได้เข้ามาด้านในโซนพิพิธภัณฑ์ จึงไม่เสียค่าใช้จ่าย หากซื้อบัตรผ่านประตูเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จะได้รับคูปองรับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับสักการะบูชาช้างเอราวัณ บริเวณที่บูชาด้านใน พร้อมได้รับถ้วยใส่ดอกบัวสำหรับลอยน้ำ** หากใครต้องการซื้อเครื่องสักการะบูชาเพิ่มเติมก็มีจำหน่าย เครื่องถวายมักจะเป็นผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย สับปะรด มะพร้าว เป็นต้น เมื่อกราบสักการะแล้ว ก็นำดอกบัวที่ใส่ถ้วยไว้ให้ นำมาลอยน้ำตรงจุดลอยดอกบัวบริเวณสระใกล้ๆ
** การลอยดอกบัวในน้ำ เป็นความเชื่อที่ว่า น้ำเป็นตัวแทนของความสงบ เยือกเย็น ส่วนดอกบัวเป็นตัวแทนของความเจริญงอกงาม การลอยดอกบัวในน้ำ เสมือนเป็นการขจัดสิ่งไม่ดีออกไป ทำเรื่องร้อนให้เป็นเรื่องเย็น เติมความอุดมสมบูรณ์ และความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต
นอกจากตัวอาคารช้างเอราวัณแล้ว บริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยต้นไม้ ให้ความร่มรื่น จัดเป็นสวนสวยที่เนรมิตให้ดูราวกับอยู่ในสวนป่าหิมพานต์ มีพรรณไม้ดอกไม้หายาก ต้นไม้ในวรรณคดี มุมจัดแต่งเป็นน้ำตก ลำธาร สะพานสวยๆ ตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวประดับชิ้นเบญจรงค์ เป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ชนิดต่างๆ เช่น ปลาป่าหิมพานต์ พญานาค นางเงือก กิเลน กินรี(ครึ่งบนเป็นมนุษย์ ครึ่งล่างเป็นหงส์ มี 2 ขา มีปีก) วารีกุญชร(เป็นสัตว์ครึ่งช้างครึ่งปลา ตัวเป็นช้างเกือบทั้งตัว อวัยวะบางส่วนเป็นครีบเหมือนปลา เช่นบนแผ่นหลัง หาง หู) คชปักษา(เป็นสัตว์ที่มีทั้งส่วนของครุฑ + หงส์ + ช้าง โดยส่วนหัวมีงวงและงาแบบช้าง ลำตัวและแขนเป็นครุฑ ขาและหางเป็นหงส์) เป็นต้น ภายในสวนยังจัดวางเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนชมสวน หรือรอการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
ประติมากรรมลอยตัวช้างเอราวัณ หรือที่หลายคนเรียกว่า "ช้างสามเศียร" เป็นชิ้นงานที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ สูงใหญ่ มองเห็นได้จากระยะไกล (บนถนนวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก ก็มองเห็น) นับเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดสมุทรปราการเลยก็ว่าได้ ชิ้นงานที่ยิ่งใหญ่นี้ คุณพากเพียร วิริยพันธ์ ได้สืบสานเจตนารมณ์ของบิดา (คุณเล็ก วิริยะพันธุ์***) ผู้รักในงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมไทย ต้องการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้สอดคล้องกับศาสตร์ของศาสนาพุทธ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานที่มีความอลังการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรม และเป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ ของสะสม มรดกอันทรงคุณค่า ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนให้ความศรัทธา และพากันมาเคารพบูชาช้างเอราวัณตามความเชื่อส่วนบุคคลอีกด้วย
*** คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ (พ.ศ.2457 - 2543 อายุ 86 ปี) เป็นผู้ที่มีความสนใจด้านศิลปะ ศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรมไทย ได้มีความคิดริเริ่มในการถ่ายทอดเรื่องราวให้แก่รุ่นต่อๆ ไป ด้วยการสร้างเมืองโบราณที่สมุทรปราการเป็นแห่งแรก เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม อารยธรรมการสืบทอดทางศิลปะทุกแขนง รวมถึงสืบทอดวิถีชีวิตของไทย จากนั้นได้สร้างปราสาทสัจธรรมเป็นแห่งที่ 2 ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยสร้างปราสาททรงไทยหลังใหญ่ ทำด้วยไม้แกะสลักทั้งหลัง เพื่อถ่ายทอดแนวคิดด้านศาสนาปรัชญา อารยธรรม วัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงจิตวิญญาณ และความศรัทธาของชาวเอเชียตะวันออก หลังจากนั้นยังสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแสดงแนวคิดทางศาสนาที่เชื่อมต่อกับจักรวาล มวลมนุษย์ และเทพเทวดา
ช้างเอราวัณ*
ช้างเอราวัณ นับเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวง และเป็นพาหนะของพระอินทร์ ที่เป็นตัวแทนแห่งการทำความดี ความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้พื้นที่กว่า 12 ไร่ เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 9 ปี เปิดให้เข้าชมในปี พ.ศ.2546 โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ส่วนบริเวณที่เหลือโดยรอบจัดเป็นสวนร่มรื่น มีความสวยงามเป็นระเบียบ มีบริเวณให้กราบสักการะองค์เอราวัณ อาคารจัดแสดงเรื่องราวและประวัติผู้สร้าง ศูนย์อาหาร และจุดจำหน่ายของที่ระลึก
* ช้างเอราวัณ ตามหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ ฮินดู และตำนานเรื่องรามายณะ ถือเป็นเจ้าแห่งช้างในจักรวาล เป็นช้างทรงคู่ใจของพระอินทร์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดี และความอุดมสมบูรณ์ เชื่อกันว่าช้างเอราวัณเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์จะทรงไปที่ใด เทพบุตรท่านนี้ก็จะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ให้พระอินทร์ประทับทรงไปทุกที่ ความใหญ่โตของช้างเอราวัณได้ถูกบรรยายไว้ในไตรภูมิพระร่วง ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้แต่งบทพากย์เอราวัณเป็นกาพย์ฉบัง 16 ไว้ดังนี้
อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
บทพากษ์ข้างต้นนี้ได้กล่าวถึงตัวละครชื่ออินทรชิตแปลงร่างเป็นช้างเอราวัณ โดยบรรยายความยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณไว้ว่า เป็นช้างเผือกมี 33 เศียร แต่ละเศียรมี 7 งา บนแต่ละงามีสระโบกขรณีอยู่ 7 สระ ในแต่ละสระมีกอดอกบัวอยู่ 7 กอ ในหนึ่งกอนั้นประกอบด้วยดอกบัว 7 ดอก ดอกบัวแต่ละดอกมีกลีบดอกบัว 7 กลีบ และในแต่ละกลีบมีเทพธิดาอยู่ 7 องค์ แต่ละองค์ยังมีบริวารอีก 7 นาง (รวมเทพธิดาและบริวาร มีทั้งหมดมากกว่า 30 ล้านนาง ที่อยู่บนเศียรช้างเอราวัณ)
อาคารพิพิธภัณฑ์
ลักษณะตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณที่เห็นสูงใหญ่นี้แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนล่างสร้างเป็นแท่นฐานทรงกระบอก ตัวอาคารทรงโดมสีออกโทนชมพู มีความสูง 14.60 เมตร ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความแข็งแกร่ง และรับน้ำหนักตัวช้างด้านบน มีการถ่ายเทน้ำหนักลงบนเสาติดผนังภายนอก 8 เสา และเสาภายในอาคาร 4 เสา หลังคาอาคารมีลักษณะเป็นโดม ทรงมนโค้งเล็กน้อย ด้านบนของตัวอาคาร เป็นประติมากรรมลอยตัวช้างสามเศียร โดยใช้เทคนิคการเคาะโลหะขึ้นรูปด้วยมือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จริงๆ แล้วคุณเล็ก มีความตั้งใจที่จะสร้างช้างเอราวัณจากแผ่นดีบุกทั้งหมด แต่ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนเป็นใช้แผ่นทองแดงบริสุทธิ์เป็นชิ้นๆ นำมาประกอบกันแทน เทคนิคการเคาะโลหะขึ้นรูปด้วยมือนี้ใช้ช่างฝีมือถึง 270 คน ส่วนแผ่นดีบุกที่เคยจะใช้กับตัวช้าง ก็นำไปดุนลายหุ้มเสาที่ปรากฏอยู่ภายในอาคารแทน
สัญลักษณ์ช้างเอราวัณประทับยืนอยู่ในท่วงท่าที่มีความสง่างาม บนแท่นฐานที่เปรียบเสมือนหลังคาโลก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ทางถนนสุขุมวิท) ขาคู่หน้าเหลื่อมกันเล็กน้อย สวมใส่เครื่องคชาภรณ์ (เครื่องประดับช้าง) เศียรทั้ง 3 คลุมผ้าปกกระพองติดด้วยพู่หูที่ข้างหู ที่คอสวมเสมาคชาภรณ์ (เป็นจี้หรือเครื่องประดับสายสร้อยคอ) งาแต่ข้างสวมวลัยงา (เครื่องประดับงามีลักษณะเหมือนแหวนสวมงา) งาละ 3 วง หลังช้างคลุมด้วยพนาศ (ผ้าคลุมหลังช้าง)
การสร้างความสมดุล มีการถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงมาที่ขาทั้งสี่ และใช้คานโครงเหล็กช่วยดึงน้ำหนักของช้างลงมายังอาคารฐานด้านล่าง ซึ่งช้างเอราวัณนี้มีน้ำหนักรวมประมาณ 250 ตัน เฉพาะส่วนหัวช้างมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน ลำตัวประมาณ 150 ตัน ตัวช้างสูง 29 เมตร กว้าง 12 เมตร และยาว 39 เมตร เมื่อวัดความสูงจากพื้นรวมอาคารขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของตัวช้าง 43.60 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึกสูง 14 ชั้น ภายในตัวอาคารจัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ชั้นสุวรรณภูมิ หรือชั้นบาดาล (ชั้นใต้ดิน)
ชั้นใต้ดินของอาคารทรงกระบอก เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความเจริญของอารยธรรม เล่าเรื่องผ่านของเก่า ของสะสม เป็นชั้นที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป (ชั้นอื่นๆ ถ่ายรูปได้ตามปกติ) ตรงกลางห้องโถง จะมีรูปปั้นมนุษย์นาค เพื่อแสดงถึงผู้ที่ดูแลนครบาดาล สิ่งของที่จัดแสดงนั้นเป็นของโบราณ วัตถุเก่าแก่ที่เป็นของสะสมของคุณเล็ก วิริยะพันธ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่างๆ ถ้วยน้ำชาจีน ปั้นชาจีน(กาน้ำดินปั้นสำหรับชงชา) แจกันลายครามจากจีน ชามสังคโลกสมัยสุโขทัย เครื่องเคลือบเขียวสมัยอยุธยา หยก เครื่องถ้วยเบญจรงค์เนื้อกระเบื้องในแผ่นดินสยาม (Porcelain ware in Siamese Kingdom) เป็นต้น ทั้งยังมีนิทรรศการประวัติการสร้างเมืองโบราณ ปราสาทสัจธรรม และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ส่วนที่ 2 ชั้นโลกมนุษย์
ชั้นโลกมนุษย์ คือส่วนของอาคารที่เห็นเป็นทรงโดมจากภายนอก ด้านนอกมีระเบียงโดยรอบ และมีซุ้มประตูขนาดใหญ่ 8 ประตู บนซุ้มประตูประดับปูนปั้นเป็นรูปเทวดาประจำทิศทั้ง 8 ภายในเป็นห้องโถงกว้าง เพดานสูง ก่ออิฐถือปูนตกแต่งเป็นลวดลายที่วิจิตรตระการตา ผสมผสานงานศิลปะหลายแขนง ทั้งตะวันตกและตะวันออก ดูกลมกลืน งดงามอ่อนช้อย เมื่อก้าวพ้นประตูทางเข้าหลัก สิ่งที่จะเห็นเป็นอันดับแรกคือบันไดที่ตั้งอยู่กลางห้อง นำสายตาให้แหงนชมความงามรอบๆ ตั้งแต่พื้น ผนังไปจรดเพดาน บริเวณโถงในชั้นนี้ เป็นที่ถูกใจของผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ เพราะแต่ละส่วนล้วนมาจากช่างฝีมือระดับชั้นครูแทบทั้งสิ้น
> เสาหุ้มดีบุก
ภายในห้องโถงชั้นล่าง สังเกตว่าจะมีเสาสูงใหญ่ 4 ต้น หากกล่าวตามหลักวิศวกรรมศาสตร์แล้ว เป็นเสาที่รองรับน้ำหนักจากขาช้างลงมา แต่ก็แฝงด้วยความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เสาทั้งสี่ สูงพุ่งตระหง่านจากพื้นขึ้นไปจรดเพดาน เปรียบเสมือน 4 ศาสนาหลักของโลก ที่แสดงพลังคุณธรรมค้ำจุนโลกให้เกิดสันติสุข เสาแต่ละต้นได้ถ่ายทอดเรื่องราวของแต่ละศาสนา คือ
เสาหุ้มดีบุกทั้ง 4 ต้นนี้ เป็นการแสดงเทคนิคการการสลักลวดลายลงบนดีบุก ซึ่งได้ช่างฝีมือจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และเชียงใหม่มาทำ เป็นงาน hand made ที่ใช้การเคาะดุนให้เกิดเป็นลายนูนต่ำ เสาแต่ละต้นใช้เวลาในการทำลวดลายถึง 3 ปี เสาทั้ง 4 ต้น จึงใช้เวลาร่วม 12 ปี จึงแล้วเสร็จ
> ผนังลวดลายปูนปั้นประดับเบญจรงค์
งานปูนปั้นประดับเบญจรงค์ระดับชั้นครูที่อยู่ภายในโถงอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นฝีมือของอาจารย์สำรวย เอมโอษฐ์ และทีมงาน ศิลปินปูนปั้นจากจังหวัดเพชรบุรี ใช้เทคนิคการปั้นปูนสด โดยใช้ปูนตำ* แบบโบราณที่มีคุณสมบัติแห้งช้า มาปั้นเป็นลวดลาย แล้วประดับด้วยเครื่องเคลือบเบญจรงค์** ในขณะที่ปูนยังไม่แห้ง เครื่องเคลือบบางชิ้นนำมาติดทั้งชิ้น เช่น ช้อน ฝาถ้วยชา ถ้วยชาม จาน บ้างก็นำมาตัดเป็นชิ้นส่วนกระเบื้องตามรูปทรงที่ต้องการ แล้วนำมาประกอบเป็นลวดลาย เครื่องถ้วยนี้มีทั้งที่สั่งทำใหม่ในไทย และที่นำเข้าจากประเทศจีน ศิลปะงานปูนปั้น และงานประดับเบญจรงค์มีให้เห็นมากมายหลายจุด เช่น บริเวณหัวบันไดช้างสามเศียร คนธรรพ์ บริเวณใต้บันไดทรงโค้งทั้ง 2 ข้าง ซึ่งนอกจากจะมีลวดลายวิจิตรแล้ว ยังมีปูนปั้นประดิษฐ์เป็นปลาอานนท์*** ค้ำอยู่ใต้บันไดอีกด้วย
* ปูนตำ หรือปูนสด เป็นการเรียกชื่อปูนที่ผ่านการโขลก การตำ มีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งช้า และมีความเหนียวที่ได้จากส่วนผสมของกาวและเส้นใย เหมาะกับการใช้เป็นปูนปั้น สำหรับงานปูนตำที่ใช้นี้ เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติ ได้แก่ หินฟลูออไรด์ ปูนขาว หินทรายแดง ปูนกินหมาก กาวหนังควาย น้ำตาลอ้อย ข้าวเหนียวต้มสุก กระดาษฟาง ทรายละเอียด นำมาผสมรวมกัน แล้วหมักไว้ 3 คืน ก่อนนำมาทำ
** เครื่องเบญจรงค์ เป็นคำที่ใช้เรียกเครื่องถ้วยชาม งานกระเบื้องเคลือบที่ตกแต่งลวดลายต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของไทย คำว่า "เบญจ" แปลว่า 5 คำว่า "รงค์" แปลว่า สี จึงหมายถึงเครื่องถ้วยที่ใช้สี 5 สี คือ ขาว ดำ แดง เหลือง เขียว(หรือสีน้ำเงิน) บ้างก็มีสีมากกว่านี้ แต่ก็ยังคงเรียกว่า เบญจรงค์ แต่เดิมเป็นงานที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน เป็นงานเคลือบเขียนลายที่เรียกว่า "เครื่องกังไส" ที่มีการซื้อขายจากจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นิยมใช้กับระดับขุนนางชั้นสูง มีการสั่งทำจากประเทศจีน เครื่องเบญจรงค์เฟื่องฟูมาจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเครื่องถ้วยเบญจรงค์มาก โปรดให้สร้างเตาเผาขึ้นในกรมพระราชวังด้วย ลายเบญจรงค์ที่เป็นที่นิยม คือ ลายพิกุล ลายกระหนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพพนม นรสิงห์ ลายวิชเยนทร์ ลายเครือเถา มักจะใช้กับถ้วยชามเป็นชุด เช่นโถข้าวพร้อมฝา ชุดถ้วยน้ำชา ถ้วย โถ ช้อน ชุดเครื่องเบญจรงค์เคยใช้เป็นชุดของที่ระลึกมอบแด่ผู้นำประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อแสดงความเป็นไทย ปัจจุบันแหล่งที่ยังคงมีการทำเครื่องเบญจรงค์อยู่ คือ บ้านดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
*** ปลาอานนท์ เป็นคติความเชื่อเรื่องจักรวาลในไตรภูมิ เชื่อว่าเป็นปลาขนาดใหญ่มหึมาอยู่ในมหานทีสีทันทร ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล ตามตำนานกล่าวว่าปลาอานนท์นอนหนุนโลกไว้ เพื่อไม่ให้โลกจมน้ำ เมื่อใดที่ปลาอานนท์ขยับตัว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว
> บันไดหัวช้าง
บันไดหัวช้างสามเศียรทรงเครื่อง เป็นพื้นบันไดไม้ขัดเงา ตรงขึ้นไปยังชั้นบน มีชั้นพักให้ได้หยุดชมแนวราวบันไดด้านข้าง ตรงชั้นพักมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแบบมหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (เจ้าแม่กวนอิม) จากนั้นบันไดจะแยกออกเป็น 2 ฝั่ง ทางซ้ายเป็นบันไดสีขาว ส่วนทางขวามีสีออกชมพู การขึ้นบันไดไปยังชั้นบน ควรขึ้นแบบเวียนขวาในลักษณะประทักษิณาวัตร (ขึ้นบันไดสีขาวทางซ้ายมือ และลงทางบันไดสีชมพูที่อยู่ทางขวา) เมื่อขึ้นบันไดที่คดโค้งไปจนสุดทาง จะเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับเพดานกระจกสี ถือเป็นจุดสิ้นสุดของตัวอาคาร จากตรงนี้ยังมีบันไดให้ขึ้นไปยังชั้นบน ตรงบันไดชั้นต่อไปนี้จะเป็นส่วนของขาช้าง บริเวณนี้ยังมีลิฟท์บริการสำหรับผู้สูงอายุด้วย
> เพดานกระจกสี
เพดานโดม เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่มีความสวยงามดึงดูดสายตาที่สุดในชั้นนี้ เมื่อขึ้นมาจากชั้นล่างจนสุดบันได จะเห็นเพดานทรงกลมโค้งด้านบนสุด มีเสาดีบุกทั้ง 4 ค้ำไว้ บริเวณนี้เป็นการแสดงศิลปะตะวันตก โดยใช้กระจกสเตนกลาส (Stained Glass) ในลักษณะเดียวกับที่เห็นในโบสถ์คริสต์ เมื่อแสงส่องผ่านลงมา ทำให้เห็นเป็นลวดลายที่สวยงาม ในส่วนนี้ จาคอป ชวาร์สคอฟ (Jacob Schwarzkopf) ศิลปินชาวเยอรมัน เป็นผู้ออกแบบภาพวาดลวดลาย โดยผลิตกระจกและมีเจ้าหน้าที่จากประเทศเยอรมันมาทำการติดตั้ง
งานกระจกสีเป็นการจัดแสดงในเชิงสัญลักษณ์ โดยใช้ศิลปะตะวันตกถ่ายทอด เพดานทรงกลมเปรียบเสมือนเป็นหลังคาโลก ตรงกลางเป็นแผนที่โลกโบราณ ประกอบด้วยมหาสมุทร และทวีปทั้งห้า ทั้งหมดถูกล้อมรอบไว้ด้วยรูปกลุ่มดาวสำคัญที่ก่อเกิดเป็นจักรราศี 12 ราศี ส่วนวงรอบนอกสุดแสดงภาพชีวิตมนุษย์ถ่ายทอดความรู้สึกต่อกัน ด้วยการแสดงอากัปกิริยาต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากดวงดาวจักรราศี ส่วนนี้ใช้สีเพียง 4 สี เพื่อแสดงธาตุทั้ง 4 โดยสีเหลืองหมายถึงธาตุดิน สีขาวหมายถึงธาตุลม สีแดงหมายถึงธาตุไฟ และสีฟ้าหมายถึงธาตุน้ำ
ส่วนที่ 3 ชั้นสวรรค์ดาวดึงส์ หรือชั้นจักรวาล
จากชั้นเพดานกระจกสี เมื่อขึ้นชั้นต่อไป จะเป็นส่วนที่อยู่ในตัวช้าง มีบันไดและลิฟท์ขึ้นไปยังส่วนท้องช้าง ส่วนที่เป็นบันไดวนจะตรงกับขาหลังด้านขวาของช้าง ส่วนขาหลังด้านซ้ายเป็นลิฟท์โดยสาร (ขาหน้าด้านซ้ายและขวา เป็นส่วนติดตั้งอุปกรณ์ภายในตัวอาคารเช่นท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อเครื่องปรับอากาศ ระบบดับเพลิง และมีการติดตั้งสายล่อฟ้าไว้ด้วย) ก่อนถึงโถงบนสุดมีช่องหน้าต่างเป็นจุดชมวิวมุมสูงด้วย
บนชั้นสวรรค์มีลักษณะเป็นห้องโถง เพดานโค้งเพราะเป็นส่วนของท้องช้าง ปูพื้นด้วยไม้มะค่า รอบห้องมีเสาไม้สีฟ้าแกะสลักเป็นวิมานไว้บนยอดเสา ตั้งห่างเป็นระยะๆ หัวเสาเป็นโคมไฟส่องแสงทึมๆ สลัวๆ ให้ความรู้สึกเงียบสงบ เย็นสบายราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ส่วนของเพดานและผนัง วาดภาพเชิงสัญลักษณ์ของสุริยจักรวาล เป็นภาพยาวต่อเนื่องกันโดยรอบแบบจิตรกรรมฝาผนัง
ตรงกลางห้องโถง มีแท่นรอยพระพุทธบาทจำลอง ริมผนังรอบห้องจัดเป็นซุ้มโบราณวัตถุของเก่าแก่ที่มีค่า เช่น พระพุทธรูป เทวรูปเก่าแก่ ซึ่งมีกระจกแก้วครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง สุดห้องโถงประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางลีลา บนยอดพระเกศมาลาบรรจุพระธาตุ ด้านหลังองค์พระ ตกแต่งเป็นเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลในไตรภูมิ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์จำลองไว้บนยอดพระเจดีย์จุฬามณี
> จิตรกรรมฝาผนังสุริยจักรวาล
จิตรกรรมฝาผนังในชั้นจักรวาล ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานจากศิลปินชาวเยอรมัน นายจาคอป ชวาร์สคอฟ ผู้ที่ออกแบบงานเพดานกระจกสี ในชั้นนี้เป็นภาพวาดสีฝุ่นโดยใช้เทคนิคโบราณของเยอรมัน ภาพวาดเป็นแนวร่วมสมัย บ่งบอกถึงระบบสุริยจักรวาล มีพระอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้ง 8 กลุ่มดาวต่างๆ ทางช้างเผือก กลุ่มอุกาบาต และดาวหาง
บริเวณรอบนอกพิพิธภัณฑ์ ยังมีสิ่งต่างๆ ให้ชมอีกมากมาย เช่น
- ศาลาพระตรีมูรติ ปางประทับนั่งประทานมหาสมบัติ
- รูปปั้นช้างเทพมงคล เป็นสัญลักษณ์ของเป็นช้างมงคลจาก 4 ตระกูล* ช้างทั้งหมดจัดวางอยู่รอบริมสระน้ำ ในลักษณะยืนคร่อมทางเดินรอบสระ และกำลังพ่นน้ำ คนที่เดินตามเส้นทางนี้ ก็เปรียบเสมือนกับการเดินลอดท้องช้าง
* ในศาสนาพาหมณ์ ตามตำราคชศาสตร์ กล่าวถึงช้างมงคลไว้ว่า เป็นช้างที่เกิดจากพระนารายณ์ทรงให้กลีบดอกบัวแก่มหาเทพทั้งสี่ คือ พรหม พระอิศวร พระวิษณุ และพระอัคนี เทพแต่ละองค์จึงเนรมิตช้างขึ้นมาเป็น 4 ตระกูล คือ
- ช้างตระกูลพรหมพงศ์ เป็นช้างที่พระพรหมทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติพราหมณ์ บันดาลให้มีอายุยืนนานและความเจริญทางวิทยาการต่างๆ
- ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ เป็นช้างที่พระอิศวร (พระศิวะ) ทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติกษัตริย์ หรือขัตติยะ บันดาลให้เกิดความร่ำรวย เจริญด้วยทรัพย์และอำนาจ
- ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ เป็นช้างที่พระวิษณุ (พระนารายณ์) ทรงสร้าง จัดเป็นช้างวรรณะแพทย์ บันดาลให้ศัตรูพ่ายแพ้และเกิดความอุดมสมบูรณ์ ผลาหาร ธัญญาหารบริบูรณ์ และฝนตกต้องตามฤดูกาล
- ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ เป็นช้างที่พระอัคนี หรือพระเพลิงทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติศูทร บันดาลให้เจริญด้วยมังสาหารบริบูรณ์ ระงับศึก และอุบาทว์ที่จะเกิดต่อบ้านเมือง
ข้อแนะนำ
- มีรถตู้รับส่ง จากสถานีรถไฟฟ้า BTS แบริ่ง (ตรงปั๊มเอสโซ่) ไปยังพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และมีรถรับส่งไปยังเมืองโบราณด้วย
- พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเป็นรอบทุกๆ ต้นชั่วโมง
- ห้องขายบัตร เปิดขายบัตรเข้าชมจนถึงเวลา 18.30 น.
- มีบริการเครื่องบรรยายชม (Audio Guide) ภาษาไทย อังกฤษ จีน เกาหลี และภาษารัสเซีย
- ควรแต่งกายสุภาพในการเข้าชม ผู้ที่แต่งกายไม่เรียบร้อย หรือนุ่งขาสั้นมา จะมีห้องให้เปลี่ยนเป็นผ้าถุง
- ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าภายในพิพิธภัณฑ์
- คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ที่ จังหวัดสมุทรปราการ ซื้อบัตรเข้าชมได้ในราคา 100 บาท (แสดงบัตรประชาชน)
- ภายในพิพิธภัณฑ์มีจุดให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ
บริการรถตู้ รับ-ส่ง ฟรี
ทางพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ มีจุดรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้า BTS มายังพิพิธภัณฑ์ และต่อไปยังเมืองโบราณ (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากทางพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง)
รับส่งเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ *วันหยุดนักขัตฤกษ์ไม่มีรถบริการ*
จุดนัดพบ : บริเวณลานจอดรถตรงปั๊มเอสโซ่
ขาไป รถออกจากสถานีรถไฟฟ้า BTS แบริ่ง (ตรงปั๊มเอสโซ่) เวลา 11.00 น.
ออกจากพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ไปยังเมืองโบราณ เวลา 12.00 น.
ขากลับ รถออกจากเมืองโบราณ เวลา 15.00 น.
การเดินทาง
ห่างจากพิพิธภัณฑ์เรือ 2 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองปากน้ำ (ศาลากลาง) 3 กิโลเมตร
ห่างจากอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง 3 กิโลเมตร
ห่างจากเมืองโบราณ 11 กิโลเมตร
ห่างจากสถานตากอากาศบางปู 16 กิโลเมตร
เส้นทางรถยนต์
เส้นทาง ถนนสุขุมวิท
1 | หากใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (ขาออก) จากแยกบางนา มุ่งหน้าสมุทรปราการ ผ่านแบริ่ง สำโรง แยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย จนกระทั่งผ่านบิ๊กซีจัมโบ้ไปหน่อย จึงชิดเลนซ้ายสุด (ตามป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไปพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ) จากนั้นเลี้ยวซ้ายตามป้าย |
2 | พอเลี้ยวซ้ายมาแล้วให้ชิดเลนซ้ายสุดไว้ตลอด (เป็นทางเดียวกับป้ายสีฟ้าบอกทางด่วนถนนกาญจนาภิเษก แต่ไม่ขึ้นสะพาน) จากนั้นเส้นทางจะวนลอดใต้สะพาน ตรงนี้ทางซ้ายมือจะเป็นลานจอดรถของพิพิธภัณฑ์ เลี้ยวเข้าไปจอดรถได้เลย (มีรถรับ-ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์) |
เส้นทาง ถนนวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) -> ถนนสุขุมวิท
1 | หากใช้เส้นวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ให้ออกตามป้าย ถนนสุขุมวิท จากนั้นชิดขวามุ่งหน้าสำโรง แล้วค่อยไปกลับรถ (บนทางด่วนมีป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์) |
2 | เมื่อออกจากทางด่วน จะเป็นถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าสำโรง จากนั้นตรงไปหาทางกลับรถ |
3 | เมื่อกลับรถมาแล้ว ตรงกลับมาบริเวณเส้นวงแหวน โดยชิดเลนซ้ายสุดเอาไว้ เลาะเลนเลี้ยวซ้ายไปลอดใต้สะพาน จุดจอดรถพิพิธภัณฑ์อยู่ซ้ายมือ |
เส้นทาง ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม (สะพานภูมิพล 2) -> ถนนสุขุมวิท
1 | หากมาจากถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อผ่านแยกวัดสนมาแล้ว เลี้ยวซ้ายตามป้ายขึ้นสะพานภูมิพล จากนั้นไปทางสะพานภูมิพล 2 ตามป้าย ถนนกาญจนาภิเษก เพื่อไปทางบางนา แล้วมาลงที่ถนนสุขุมวิท ตอนลงชิดขวาไปทางสำโรง จากนั้นตรงไปกลับรถ |
2 | เมื่อกลับมาแล้ว ชิดเลนซ้ายสุดเพื่อเลี้ยวซ้ายไปยังจุดกลับรถใต้ทางยกระดับ ที่จอดรถของพิพิธภัณฑ์อยู่ซ้ายมือ |
รถโดยสารประจำทาง (ดูเส้นทางรถประจำทาง)
รถเมล์ (ถนนสุขุมวิท)
- ขึ้นรถเมล์ที่ผ่านเส้นสุขุมวิท เข้าสู่ตัวจังหวัดสมุทรปราการ รถเมล์ที่ผ่านได้แก่ สาย 25, 102, 142, 365, 507, 511, 536
- บอกกระเป๋ารถเมล์ ลงป้ายพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (ป้ายรถอยู่ใต้สะพานยกระดับกาญจนาภิเษก)
รถไฟฟ้า BTS (สำโรง) + รถเมล์
- ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสำโรง (ทางออก 1) จากนั้นเดินสกายวอล์คไปทางอิมพีเรียล สำโรง ลงสะพานลอยฝั่งตรงข้ามอิมพีเรียล
- จากนั้นต่อรถเมล์ได้ทุกสายที่บอกว่าไปปากน้ำ เช่น สาย 25, 102, 142, 145, 365, 507, 511, 536
รถไฟฟ้า BTS เอราวัณ (จะเปิดใช้ในปี 2561-2562)
- ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีเอราวัณ แล้วเดินย้อนกลับไป (ระยะทางประมาณ 800 เมตร)
รถไฟฟ้า BTS ปู่เจ้าสมิงพราย (จะเปิดใช้ในปี 2561-2562)
- ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีปู่เจ้าสมิงพราย แล้วเดินไป (ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร) หรือนั่งรถต่อไปอีกหน่อย
ข้อมูลการติดต่อ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
เวลาเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์
ทุกวัน 9.00 - 20.00 น.
ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์
ค่าเข้าชม รวมเครื่องสักการะบูชาองค์ช้างเอราวัณไว้แล้ว (มีดอกไม้ ธูป ทองคำเปลว และดอกบัวลอยน้ำ) สามารถนำบัตรไปแลกเครื่องบูชาได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม
ซื้อบัตรในช่วง เวลา 9.00 - 17.00 น.
คนไทย ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก 100 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท / เด็ก 200 บาท
ซื้อบัตรในช่วง 17.00 - 19.00 น. (ลด 50%)
คนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท / เด็ก 80 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก 100 บาท
ที่อยู่ 99/9 หมู่ 1 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางเมืองใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10270
โทร 02-371-3135 - 6
เว็บไซต์ http://www.ancientcitygroup.net/erawan/
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/ErawanMuseumSamutprakan/