สมุทรปราการกับการเดินทาง

ข้อมูลการเดินทางไปสมุทรปราการ การเดินทางในจังหวัด

จังหวัดสมุทรปราการอยู่ติดกับกรุงเทพมหานครทางทิศใต้ สามารถเดินทางต่อจากกรุงเทพฯ​ ได้สะดวกมาก มีถนนตัดผ่านหลายสาย มีส่วนเชื่อมต่อทางด่วนหลายแห่ง ช่วยให้เข้าถึงเมืองจากทุกทิศทุกทางได้อย่างเร็วยิ่งขึ้น

แต่ก็ยังมีเรื่องน่ากังวลอยู่ว่า เมืองสมุทรปราการนั้นเป็นเมืองที่รองรับการขยายตัวมาจากกรุงเทพฯ จึงมีแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรวมกับชุมชนเดิมในพื้นที่ บวกกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมระดับต้นๆ ของประเทศ มีทั้งโรงงาน และบริษัทต่างๆ กระจายอยู่ในพื้นที่มากมาย

เป็นเหตุให้สมุทรปราการมักประสบปัญหาการจราจรหนาแน่น ในช่วงเวลาการเดินทางของคนทำงาน คนโรงงาน นักเรียน หรือเป็นช่วงเวลาสำหรับการเดินรถบรรทุก

สำหรับคนที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวเมืองสมุทรปราการ อาจจะไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนัก เพราะสถานที่ท่องเที่ยวมักจะกระจายอยู่ห่างเขตเมืองพอสมควร อย่างเช่น สถานตากอากาศบางปู เมืองโบราณ วัดบางพลีใหญ่ใน คุ้งบางกะเจ้า ก็อยู่ในโซนที่มีเส้นทางให้เลือกไปได้หลายทาง

นอกจากนี้ ยังมีการบริการขนส่งสาธารณะที่มีให้เลือกเดินทางเข้าถึงตัวเมืองสมุทรปราการได้หลายประเภท เช่น

  • รถเมล์ เป็นระบบขนส่งราคาประหยัด มีรถเมล์หลายสาย จากหลายเส้นทางที่เข้าถึงตัวเมืองปากน้ำ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของสมุทรปราการ
  • รถไฟฟ้า BTS เป็นระบบขนส่งที่กำลังเป็นที่นิยม ช่วยเลี่ยงรถติดบนท้องถนน ได้ความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งรถไฟฟ้า BTS ที่เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ กำลังจะได้ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเวลาอีกไม่นาน
  • รถตู้* ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางจากต้นทางไปถึงจุดหมาย รวดเดียว เป็นที่นิยมของนิสิต นักศึกษา และคนทำงาน
  • เรือข้ามฟาก ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่หลายจุด เพราะนอกจากจะยังเป็นที่ต้องการของคนท้องถิ่นในพื้นที่แล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางระหว่างสองฝั่งแม่น้ำได้มากทีเดียว
  • รถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ ระบบขนส่งที่เดินทางเข้าถึงไปสนามบินสุวรรณภูมิที่สะดวกที่สุด
  • เครื่องบิน หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าสามารถนั่งเครื่องบินมาลงจังหวัดสมุทรปราการได้เลย เพราะสนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในอำเภอบางพลี (ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีสายการบินภายในประเทศด้วย)

* รถตู้ เป็นหนึ่งในตัวเลือกของรถสาธารณะที่สะดวกรวดเร็วกว่ารถเมล์ โดยเฉพาะการเดินทางในระยะทางค่อนข้างไกล เพราะช่วยให้เดินทางได้รวดเดียวโดยไม่เสียเวลาต่อรถ และไม่จอดรับผู้คนระหว่างทาง บางเส้นทางขึ้นทางด่วนด้วย ก็ทำให้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนราคาค่าโดยสาร ก็ถือว่าไม่สูงมากนัก มีตั้งแต่ 30-70 บาท ขึ้นอยู่กับเส้นทาง และระยะทางที่ลงรถ (บางสายอาจคิดราคาเท่ากันตลอดสาย)

แต่ก็มีบ้างที่การโดยสารรถตู้ อาจจะไม่ค่อยถูกใจผู้คนนัก ตรงที่มักจะไม่สามารถระบุเวลารถออกที่ชัดเจน (ไม่เหมือนรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ที่จะมีคิวเวลารถออกแน่นอนกว่า) บางช่วงเวลาอาจต้องรอให้คนเต็มรถก่อน หรือให้ได้จำนวนคนมากพอจึงออกรถได้ (บางเส้นทางรถไม่เต็มก็ออกได้ หากได้จำนวนคนที่คิดว่าคุ้มแล้ว) ส่วนในช่วงเวลาเร่งด่วน (ช่วงเช้า และเย็น) หรือคิวรถที่มีผู้คนใช้บริการมากอยู่แล้ว มักจะไม่ต้องกังวล (บางสายก็คนเยอะมาก จนต้องรับบัตรคิวรอกันเลยก็มี)  

สำหรับคนที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ แล้วต้องการเดินทางต่อไปยังจังหวัดสมุทรปราการ บริเวณสถานีขนส่งต่างๆ มักจะมีคิวรถตู้ต่อมายังสมุทรปราการได้รวดเดียวเลย หรือหากต้องการเดินทางไปยังส่วนอื่นๆ ของสมุทรปราการ ก็มีคิวรถตู้ กระจายอยู่ตามจุดต่อรถใหญ่ๆ หลายแห่งด้วยเช่นกัน ดูข้อมูลรถตู้ได้ที่ รถตู้สมุทรปราการ

** ในอนาคต เมืองสมุทรปราการจะยิ่งมีการเดินทางที่สะดวกมากขึ้นอีก เพราะมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ และโครงการที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ อย่างเช่น

- รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อเป็นเส้นทางจากลาดพร้าว - สำโรง และยังมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีสำโรงอีกด้วย
- โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากสมุทรปราการ - สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในโครงการที่กำลังศึกษา ผลกระทบ การสำรวจจัดทำแผนพัฒนา)

การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

 

จริงๆ แล้ว การเดินทางไปยังจังหวัดสมุทรปราการด้วยรถยนต์ส่วนตัว ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ อาจจะไม่รู้สึกยุ่งยากเท่าไหร่ เพราะเส้นทางที่ตรงเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรปราการ ก็ใช้ถนนสายหลักๆ ที่ต่อจากกรุงเทพฯ ได้อยู่แล้ว (เช่นถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์) แต่หากเป็นคนต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยได้เข้ากรุงเทพฯ หรือไม่คุ้นเส้นทางในสมุทรปราการมาก่อน ก็อาจสับสนได้บ้างเหมือนกัน

เส้นทางจากจังหวัดต่างๆ ที่ตรงเข้าสู่ตัวเมืองปากน้ำนั้น มีมากมายหลายเส้นทาง พอๆ กับการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเลย สำหรับคนที่มาจากที่ไกลๆ แนะนำว่า ควรศึกษาการใช้เส้นทางด่วน เส้นทางพิเศษ เส้นทางวงแหวนรอบนอก และเส้นทางวงแหวนอุตสาหกรรมไว้บ้าง เพราะจะช่วยให้เดินทางได้สะดวกกว่าการใช้เส้นทางราบธรรมดา เลี่ยงรถติดในเขตเมืองไปได้เยอะ แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าทางด่วนบ้าง แต่ก็ช่วยให้ถึงจุดหมายได้ไวกว่า

ปัจจุบันนี้ คนที่ไม่ถนัดการดูเส้นทาง อาจจะใช้อุปกรณ์ GPS นำทาง หรือ ใช้ Google map จากมือถือ ช่วยในการหาเส้นทาง แต่หากได้รู้ข้อมูลการเดินทางคร่าวๆ ไว้บ้าง ก็จะช่วยให้พอนึกภาพออก ช่วยแก้ปัญหาเวลาหลงทาง หรือมีเส้นทางเลี่ยงรถติดได้บ้าง

สิ่งที่ควรรู้สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยจังหวัดสมุทรปราการเลย คือ ต้องเข้าใจทิศทางก่อนว่าจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ทางทิศใต้ของกรุงเทพมหานคร และมีพื้นที่อยู่ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพูดถึงตัวเมืองสมุทรปราการ คนจะเรียกว่า ปากน้ำ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นฝั่งเดียวกับบางนา สำโรง และถนนสุขุมวิท

* ส่วนการเดินทางไปยังอีกฝั่งนึงของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันตก) คนมักจะไม่เรียกว่าไปปากน้ำ แต่จะเรียกว่า ไปฝั่งพระประแดง หรือฝั่งอำเภอพระประแดง ซึ่งเป็นฝั่งเดียวกับ ถนนพระราม 2 ถนนสุขสวัสดิ์ ราษฎร์บูรณะ

ข้อมูลเพิ่มเติม
  • การจราจรในจังหวัดสมุทรปราการ รถติดในเวลาเร่งด่วนเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ วันธรรมดาช่วงเช้า (ช่วงก่อน 9-10 โมงเช้า) รถจะติดขาเข้าเมือง มีคนไปทำงาน คนโรงงาน พ่อแม่ส่งลูกไปโรงเรียนต่างๆ ในตอนบ่ายถึงเย็น หลังโรงเรียนเลิก พ่อแม่ไปรับลูก คนกลับจากทำงาน ก็จะมีรถขาออกค่อนข้างเยอะ และติดเป็นพิเศษในบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ
  • การใช้เส้นทางด่วน ทางพิเศษก็เช่นกัน ช่วงเช้า รถจะติดขาเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนช่วงเย็นลดจะติดขาออกนอกเมือง
  • เนื่องจากเขตจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย บนท้องถนนจึงมีรถใหญ่ รถบรรทุก 6 ล้อ และ 10 ล้อขึ้นไปใช้เส้นทางร่วมด้วย ซึ่งก็มีข้อบังคับเรื่องการเดินรถ สำหรับรถบรรทุก 10 ล้อ และรถบรรทุกตั้งแต่ 3 เพลาขึ้นไป บนถนนบางสาย (บังคับใช้เมื่อ ปี 2559) คือ ห้ามวิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 6.00 - 10.00 น. และ 16.00 - 20.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์)
    • บนถนนสุขุมวิท (ซอยแบริ่ง - สุขุมวิท กม.30)
    • ถนนศรีนครินทร์ (ตลอดสาย)
    • ถนนปู่เจ้าสมิงพราย (ตลอดสาย)
    • และอาจมีถนนบางสาย ที่รถบรรทุกต่างๆ สามารถใช้เส้นทางได้ตลอด (ไม่ติดเวลา) เช่น ถนนบางนา-ตราด ถนนวงแหวนรอบนอกโดยรอบ (ถนนกาญจนาภิเษก) เป็นต้น
Click ดูเส้นทางการขับรถยนต์ไปสมุทรปราการ (หลายเส้นทาง)

 

การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

 

หากต้องการเดินทางไปจังหวัดสมุทรปราการด้วยรถโดยสารสาธารณะ สามารถเดินทางได้สะดวก เพราะมีให้รถให้เลือกหลากหลายประเภท และมีรถวิ่งแทบทุกเส้นทาง หารถต่อไปยังที่ต่างๆ ได้ไม่ยาก หรือจะเรียกแท็กซี่ ก็ยังถือว่าไม่ไกลมากนัก

สำหรับคนต่างจังหวัดที่เดินทางไปสมุทรปราการ ส่วนใหญ่จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก่อน อาจด้วยขนส่งประเภทต่างๆ เช่น รถทัวร์ รถไฟ หรือเครื่องบิน จากนั้นค่อยเดินทางต่อไปยังสมุทรปราการอีกที ซึ่งบริเวณสถานีขนส่งต่างๆ เช่น สถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) สถานีขนส่งเอกมัย รวมถึงสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะมีรถเมล์ และรถตู้ ที่โดยสารต่อมาถึงสมุทรปราการได้เลย

ระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรปราการนั้น มีหลายประเภท ได้แก่ รถเมล์ รถไฟฟ้า BTS รถตู้ เรือข้ามฟาก เป็นต้น (ในอนาคตกำลังมีโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว เป็นรถไฟฟ้าสีเหลืองที่จะเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย)

รถเมล์โดยสาร

รถเมล์ เป็นระบบขนส่งที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากที่สุด (แต่อาจไม่ได้สะดวกที่สุด หรือเร็วที่สุด) รถเมล์ที่วิ่งเข้าถึงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นรถเมล์ประเภทเดียวกับที่วิ่งอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีหลายรูปแบบ หลายสี หลายลักษณะ เช่น รถปรับอากาศ รถยูโร รถธรรมดา(รถร้อน) รถฟรี รถขึ้นทางด่วน รถวิ่งทางราบ รถเสริม รถมินิบัส รถเอกชนร่วมบริการ ฯลฯ

รถเมล์ที่วิ่งอยู่โดยทั่วไปนั้น ที่สำคัญคือ ตัวเลขระบุสายรถ ที่บอกไว้ด้านหน้า และด้านข้างรถ ทั้งยังมีตัวหนังสือเขียนบอกข้างรถไว้ด้วยว่าผ่านที่ไหนบ้าง บางครั้งก็จะระบุเพิ่มเติมว่า เป็นรถเสริม (อาจเดินรถระยะทางสั้นกว่าปกติ) รถขึ้นทางด่วน หรือรถฟรี เป็นต้น ถ้าขึ้นไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะผ่านเส้นทางที่ต้องการไปหรือไม่ ก็สามารถสอบถามคนขับ หรือกระเป๋ารถเมล์เพิ่มเติมได้

ถนนสายหลักที่ตรงเข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ และมีรถเมล์ผ่านมากที่สุด คือ ถนนสุขุมวิท จึงค่อนข้างสะดวกหากสามารถหาทางมาถนนสุขุมวิทแล้วต่อเข้าไปในเมืองสมุทรปราการอีกทีนึง (คนส่วนใหญ่ เรียกว่า ปากน้ำ) คนที่ต้องการเข้าไปยังตัวเมือง ก็จะต้องขึ้นรถที่ระบุว่าไปปากน้ำ

* จริงๆ แล้ววิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดกว่ารถเมล์ ก็คือ รถไฟฟ้า BTS ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการสถานีสำโรงแล้ว ส่วนสถานีอื่นๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ คาดว่าจะทะยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2561-2563

ข้อแนะนำในการเดินทางด้วยรถเมล์
  • รถเมล์สายเดียวกัน อาจมีราคาค่าโดยสารไม่เท่ากัน (บางคันคิดราคาเดียวตลอดสาย บางคันคิดตามระยะทาง) เส้นทางหมดระยะอาจไม่เหมือนกัน หรืออาจมีเส้นทางเดินรถไม่เหมือนกันได้
  • เส้นทางเดินรถ อาจมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนเส้นทาง หรืองดให้บริการ หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1348
  • รถเมล์ส่วนใหญ่ให้บริการตั้งแต่ 5.00 - 22.00 น. หากเป็นรถที่วิ่งตลอดทั้งคืน จะมีเป็นเฉพาะบางสายเท่านั้น และจะให้บริการในความถี่ปกติถึงประมาณ 4 ทุ่ม หลังจากนั้นจะวิ่งเพียงชั่วโมงละคัน
  • รถเมล์บางสายอาจไม่จอดป้ายทุกป้ายรถเมล์ เช่น กรณีแยกที่รถเมล์ต้องเลี้ยวขวา อาจไม่จอดที่ป้ายสุดท้าย ก่อนถึงแยกที่จะเลี้ยว ตัวอย่างเช่น ตรงบริเวณตลาดปากน้ำ จุดจอดรถจะมีทั้งบริเวณหน้าห้างอินฟินิท และป้ายตรงศาลากลางจังหวัด ถ้าเป็นรถเมล์สาย 145 ที่ออกจากปากน้ำ จะจอดตรงหน้าห้างอินฟินิท แล้วออกขวาเพื่อเลี้ยวขวา จึงไม่จอดป้ายศาลากลาง เป็นต้น
  • รถเมล์บางสาย จะจอดส่งคนป้ายสุดท้ายแล้ววิ่งเข้าอู่พักรถ โดยไม่แวะรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง (วิ่งรถเปล่าเข้าอู่) ไม่สามารถรอขึ้น หรือขอลงระหว่างทางต่อจากนั้นได้ จะต้องไปขึ้นลงที่อู่รถ หรือป้ายรถเมล์ที่ระบุไว้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น สาย 23 จะวิ่งผ่านถนนปู่เจ้าสมิงพราย โดยไม่รับผู้โดยสารระหว่างทางบนถนนสายนี้ หากต้องการขึ้นสาย 23 ต้องไปขึ้นที่หน้าอิมพีเรียลสำโรง หรือไปขึ้นที่อู่ปู่เจ้าสมิงพราย เป็นต้น
  • รถเมล์บางสาย วิ่งจำนวนน้อย หรือไม่ค่อยมีรถ จึงอาจไม่ได้ระบุไว้ในที่นี้


รถเมล์กรุงเทพสายที่ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ

สาย 2: ปากคลองตลาด - สำโรง   (วิ่งถนนสุขุมวิท ถึงแค่สำโรง)
สาย 6: บางลำพู - พระประแดง   (ฝั่งธนบุรี : วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ เข้าท่าน้ำพระประแดง)
สาย 20: ท่าดินแดง - พระสมุทรเจดีย์ / บิ๊กซีพระประแดง   (ฝั่งธนบุรี : วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ ถึงพระสมุทรเจดีย์)
สาย 23: เทเวศน์ - สำโรง   (วิ่งถนนสุขุมวิท ถึงแค่สำโรง)
สาย 25: ท่าช้าง - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ไปถนนแพรกษา)
สาย 35: สายใต้ใหม่ - สามแยกพระประแดง   (ฝั่งธนบุรี : วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ ไม่เข้าท่าน้ำพระประแดง)
สาย 45: สี่พระยา - สำโรง   (วิ่งถนนสุขุมวิท ถึงแค่สำโรง)
สาย 82: สนามหลวง - ท่าน้ำพระประแดง   (ฝั่งธนบุรี : วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ เข้าท่าน้ำพระประแดง)
สาย 102: คลองเตย - ตลาดปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ไปถนนแพรกษา)
สาย 129: บางเขน - สำโรง   (วิ่งถนนสุขุมวิท ถึงแค่สำโรง)
สาย 132: พระโขนง - เคหะบางพลี   (วิ่งถนนสุขุมวิท -> บางนาตราด)
สาย 133: พระโขนง - เคหะบางพลี   (วิ่งถนนศรีนครินทร์ -> บางนาตราด)
สาย 138: หมอชิต 2 - อู่ราชประชา / ท่าน้ำพระประแดง   (ฝั่งธนบุรี : วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ มีทั้งเข้า และไม่เข้าท่าน้ำพระประแดง)
สาย 139: อนุสาวรีย์ชัย - ม.ราม 2   (วิ่งถนนบางนา-ตราด ถึงเมกาบางนา)
สาย 142: พระราม 2 - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ฟาร์มจระเข้)
สาย 145: อู่หมอชิต 2 - ปากน้ำ   (วิ่งถนนศรีนครินทร์ เข้าปากน้ำ -> ไปถนนแพรกษา)
สาย 206: เมกาบางนา - ม.เกษตรศาสตร์   (วิ่งถนนศรีนครินทร์ -> บางนาตราด)
สาย 207: ม.ราม 1 - ม.ราม 2  (วิ่งถนนศรีนครินทร์ -> บางนาตราด)
สาย 365: ปากน้ำ – โรงไฟฟ้าบางปะกง   (วิ่งสุขุมวิท -> บางนาตราด)
สาย 507: สายใต้ใหม่ - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท -> สุขุมวิทสายเก่า ..ไม่เข้าปากน้ำ -> ฟาร์มจระเข้)
สาย 508: ท่าราชวรดิษฐ์ - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ฟาร์มจระเข้)
สาย 511: สายใต้ใหม่ - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ฟาร์มจระเข้)
สาย 536: หมอชิต 2 - ปากน้ำ   (วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าปากน้ำ -> ฟาร์มจระเข้)

สรุปจุดสำคัญที่รถเมล์วิ่งผ่าน

ฝั่งปากน้ำ
รถเมล์ที่ผ่านถนนสุขุมวิท (ป้าย BTS อุดมสุข) ได้แก่ สาย 2, 23, 25, 45, 132, 139, 507, 508, 511
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขุมวิท ผ่านอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง ได้แก่ สาย 2, 23, 25, 45, 102, 129, 142, 365, 507, 508, 511, 536
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขุมวิท ถึงแค่สำโรง หรือ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (ไม่เข้าตัวเมืองปากน้ำ) ได้แก่ สาย 2, 23, 45, 129
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขุมวิท เข้าตัวเมืองปากน้ำ ได้แก่ สาย 25, 102, 142, 365, 507, 508, 511, 536
รถเมล์ที่วิ่งถนนบางนา-ตราด ได้แก่ 132, 133, 139, 206, 207, 365
รถเมล์ที่วิ่งถนนศรีนครินทร์ ได้แก่ สาย 133, 145, 206, 207

ฝั่งธนบุรี
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขสวัสดิ์​ (ฝั่งธนบุรี) ได้แก่ สาย 6, 20, 35, 82, 138
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ ไปถึงท่าน้ำพระประแดง ได้แก่ สาย 6, 82, 138(สายสั้น)
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ ไม่เข้าท่าน้ำพระประแดง ได้แก่ สาย 20, 35, 138(อู่ราชประชา)
รถเมล์ที่วิ่งถนนสุขสวัสดิ์ ที่ไปถึงท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์ ได้แก่ สาย 20

รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS Sky Train)

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ดำเนินงานโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา GBSC และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมในการก่อสร้าง โดยเริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 สถานีแรกที่เปิดให้ใช้งานได้ก่อนคือ สถานีสำโรง เริ่มให้บริการในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 และเปิดให้ใช้ฟรีจากช่วงแบริ่ง ถึง สถานีสำโรง ตลอดปี 2560 ส่วนสถานีอื่นๆ นั้นจะทยอยเปิดภายหลัง (คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561-2563)

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายนี้ เป็นรถไฟลอยฟ้ามีทั้งส่วนที่เป็นรางคู่ และรางเดี่ยว แบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS และเชื่อมต่อเป็นระนาบเดียวกันกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีแบริ่ง ได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเข้าออกจากระบบ ตัวรางรถไฟสร้างเหนือแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ตรงไปจนถึงแยกหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเลี่ยงตัวเมืองไปทางถนนสุขุมวิทสายเก่า ไปจนถึงบางปู มีสถานีสุดท้ายอยู่ใกล้กับการเคหะสมุทรปราการ จากนั้นเส้นทางจะไปสิ้นสุดยังโรงรถไฟฟ้า ที่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ตรงบริเวณสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง รถไฟฟ้าสายนี้มีระยะทาง 13 กิโลเมตร

รถไฟฟ้า BTS นับเป็นระบบขนส่งที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ดี มีความสะดวกรวดเร็วในการ เดินทางไปยังจุดสำคัญใหญ่ๆ โดยไม่ต้องเผชิญกับรถติดบนท้องถนน แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถเมล์อยู่มาก (ราคารถไฟฟ้าอยู่ที่ 15-60 บาท) แต่ก็เป็นการซื้อเวลาในการเดินทางได้มากด้วยเช่นกัน

เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า BTS ประสบความสำเร็จอย่างมากในกรุงเทพมหานคร ทางโครงการจึงได้ทำการต่อขยายรถไฟฟ้า จากสถานีแบริ่ง เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการด้วย

ผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังเมืองสมุทรปราการ ปัจจุบันสามารถเดินทางเข้าถึงได้ด้วยรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท จากสยามตรงไปทางแบริ่ง (ขึ้นรถไฟฟ้าสถานีไหนก็เชื่อมถึงกันได้หมด) และเข้าสู่สถานีสำโรง ซึ่งเป็นสถานีแรกของสมุทรปราการได้เลย (บางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟตรงสถานีแบริ่ง แต่ไม่ต้องออกจากระบบ และในช่วงเริ่มเปิดใช้สถานีสำโรงนี้ ยังได้รับการยกเว้นค่าโดยสารสถานีสำโรงอยู่)

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า นอกจากจะเร็วกว่าระบบขนส่งประเภทอื่นแล้ว ยังช่วยให้กะเวลาในการเดินทางได้ค่อนข้างแม่นยำกว่า (ไม่นับเวลาในการรอรถ หรือการเปลี่ยนขบวนรถ) หากนั่งรถไฟฟ้าจากสำโรง ไปถึงสยาม ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง หรือหากไปหมอชิต (ตลาดนัดสวนจตุจักร) ใช้เวลาเพียง 40-45 นาทีเท่านั้น และอีกไม่ช้ารถไฟฟ้า BTS จะเปิดให้บริการมาจนถึงตัวเมืองสมุทรปราการ ก็จะยิ่งช่วยให้การเดินทางจากตัวเมืองปากน้ำ ไปยังใจกลางเมืองกรุงเทพฯ คล่องตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม

สถานีรถไฟฟ้าที่เราสามารถลงได้ในจังหวัดสมุทรปราการมี 9 สถานี ดังนี้

E15 สถานีสำโรง (Samrong)
E16 สถานีปู่เจ้าสมิงพราย (Puchao Saming Phrai)
E17 สถานีเอราวัณ (Erawan Museum)
E18 สถานีโรงเรียนนายเรือ (Naval Academy)
E19 สถานีสมุทรปราการ (City Hall)
E20 สถานีศรีนครินทร์ (Srinagrarindra)
E21 สถานีแพรกษา (Phraek Sa)
E22 สถานีสายลวด (Sailuat)
E23 สถานีเคหะสมุทรปราการ (National Housing)
การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS นอกจากจะสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการได้สะดวกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางภายในจังหวัดด้วย เพราะตั้งแต่สถานีสำโรงเป็นต้นไป ก็ถือว่าได้เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว ซึ่งสถานีสำโรงนี้นับเป็นจุดต่อรถหลักของจังหวัด (ทั้งยังจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่มาจากเส้นลาดพร้าวด้วย) เป็นจุดที่สามารถต่อรถตู้ รถสองแถว หรือหารถไปยังส่วนอื่นๆ ของจังหวัดได้สะดวก และเมื่อสถานี BTS เปิดให้บริการทั้งหมดทุกสถานี ก็จะช่วยให้การเดินทางภายในจังหวัดมีความสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก

แนวรถไฟฟ้า BTS ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ จะอยู่ในแนวถนนสุขุมวิท ต่อจากสถานีแบริ่ง ตรงเข้าสู่แยกศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นจะเลี้ยวเลี่ยงตัวเมือง ไปผ่านแยกตัดถนนศรีนครินทร์ ตรงไปทางบางปู และจะสิ้นสุดที่สถานีเคหะสมุทรปราการ* เป็นสถานีสุดท้าย

* รถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ ในอนาคตอาจมีการต่อขยายจากสถานีเคหะสมุทรปราการ ไปอีกเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากเพิ่มต่อได้ ก็จะเพิ่มอีก 5 สถานี คือ สถานีสวางคนิวาส สถานีเมืองโบราณ สถานีศรีจันทร์ประดิษฐ์ สถานีบางปู และสถานีตำหรุ

เรือข้ามฟาก

เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยก่อนมีบทบาทสำคัญมากกับคนกรุงเทพฯ และชาวสมุทรปราการ เพราะเป็นการช่วยร่นระยะการเดินทางระหว่างฝั่งพระนคร กับฝั่งธนบุรีได้มาก เนื่องจากในช่วงเวลานึง การเดินทางข้ามฝั่ง จะต้องไปข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานกรุงเทพ (ก่อนที่จะสร้างสะพานภูมิพล และสะพานกาญจนาภิเษก) ซึ่งอ้อมแม่น้ำไปกว่า 50 กิโลเมตร เรือข้ามฟากจึงเป็นระบบขนส่งที่จำเป็นมากสำหรับผู้ที่ต้องการข้ามแม่น้ำในช่วงใกล้ปากแม่น้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ทางในจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงหนึ่งต้องอาศัยการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ (แพขนาดใหญ่ที่นำรถยนต์ขึ้นไปจอดบนแพ แล้วแพจะพาข้ามฝั่งแม่น้ำ)

ปัจจุบัน ได้มีการสร้างสะพานข้ามช่วงปลายแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น เช่นถนนวงแหวนรอบนอก มีสะพานกาญจนาภิเษก ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม มีสะพานภูมิพล 1 และ 2 จึงทำให้การเดินทางด้วยรถด้วยรถยนต์สะดวกมากขึ้น เรือข้ามฟากและแพขนานยนต์ ค่อยๆ ลดบทบาทลงไปมาก แต่ถึงกระนั้นเรือข้ามฟาก ก็ยังเป็นระบบขนส่งที่ยังมีความสำคัญสำหรับชาวสมุทรปราการ และคนท้องถิ่นอยู่มาก และการโดยสารเรือข้ามฟาก ก็ยังมีบางท่าเรือที่ขนส่งจักรยาน มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์อยู่

หลายคนอาจมองไม่ออกว่าจะโดยสารเรือตรงไหนที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังสมุทรปราการได้ ต้องบอกก่อนว่าการเดินทางด้วยเรือนั้นเป็นเพียงเรือข้ามฝั่ง (ไม่มีเรือด่วนเจ้าพระยาเหมือนช่วงกรุงเทพฯ - นนทบุรี) อย่างเช่นแถวสาธุประดิษฐ์ พระราม 3 คลองเตย ที่อยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ เมื่อข้ามแม่น้ำไป ก็จะเป็นพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว

โดยสารเรือข้ามฟากในจังหวัดสมุทรปราการ มีหลายลักษณะ ไม่เหมือนกับเรือข้ามฟากในเขตกรุงเทพฯ​ ที่จะมีลักษณะคล้ายกันหมด เรือข้ามฟากไปสมุทรปราการในแต่ละท่าเรือ อาจเป็นเรือข้ามฟากขนาดทั่วไป เรือหางยาวใหญ่ เรือหางยาวเล็ก หรือเป็นลักษณะแพขนานยนต์

หากให้ลำดับเรือข้ามฟากที่สำคัญระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ข้ามระหว่างกรุงเทพฯ​ - สมุทรปราการ มีดังนี้

ท่าเรือข้ามฟากจากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ (จากทิศเหนือลงใต้)

(1) ท่าเรือสาธุประดิษฐ์ - วัดบางพึ่ง
(2) ท่าเรือสาธุประดิษฐ์ - ท่าเรือคลองลัดหลวง (วัดโปรดเกศฯ)
(3) ท่าเรือ พระราม 3 - ท่าเรือลัดโพธิ์
(4) ท่าคลองตาเริก - ท่าวัดบางกะเจ้านอก
(5) ท่าวัดคลองเตยนอก - ท่าบางกะเจ้า (กำนันขาว)
(6) ท่าวัดบางนานอก - ท่าวัดบางน้ำผึ้งนอก

เรือข้ามฟากภายในจังหวัดสมุทรปราการ (ฝั่งธนบุรี - ฝั่งปากน้ำ)
(7) ท่าเรือเภตรา - ท่าเรือพระประแดง
(8) ท่าเรือวิบูลย์ศรี (ตลาดปากน้ำ) - ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์

ข้อแนะนำการใช้บริการเรือข้ามฟาก

  • ควรให้เรือจอดเทียบท่าให้สนิทก่อนขึ้น-ลงเรือ ไม่ควรวิ่ง หรือกระโดดขึ้น-ลงเรือ
  • หากมีเด็กเล็กควรจูง หรือดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กข้ามเรือตามลำพัง
  • ควรรอให้ผู้โดยสารในเรือ ผู้ที่มีจักรยาน หรือขี่มอเตอร์ไซค์ ขึ้นมาจากเรือหมดก่อน จึงลงเรือ
  • หากนำมอเตอร์ไซค์ข้ามฟาก เมื่อขี่ลงเรือแล้ว ควรดับเครื่องยนต์ ตั้งขาตั้ง และนั่งประจำอยู่ที่รถตลอดเวลา เพื่อป้องกันรถไหลหรือล้ม
  • กรณีน้ำลงมากๆ โป๊ะเรือค่อนข้างชันจากฝั่ง การนำมอเตอร์ไซค์ลงเรือควรใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
  • จุดเก็บเงินบริเวณท่าเรือ มักจะมีช่องทางเล็กและแคบ หากเป็นกลุ่มนักปั่นจักรยาน เพื่อความสะดวก ควรจ่ายเรียงเดี่ยวเป็นบุคคล
  • ค่าเรือโดยสาร แต่ละท่าอาจมีราคาไม่เท่ากัน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง

การเดินทางภายในจังหวัดสมุทรปราการ

 

การเดินทางภายในจังหวัดสมุทรปราการมีความสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะขยายตัวของเมือง ได้ขยายออกมาทางสมุทรปราการด้วย เมื่อมีความเจริญเพิ่มขึ้น มีกลุ่มคนมาอาศัยอยู่ในสมุทรปราการมากขึ้น จึงมีความสะดวกด้านการเดินทางตามมา หากจะต้องเดินทางระหว่างอำเภอต่างๆ ภายในจังหวัดแล้วละก็ ปัจจุบันมีรถขนส่งสาธารณะอำนวยความสะดวกอยู่หลายรูปแบบ เช่น รถเมล์ (รถท้องถิ่น รถเอกชนร่วมบริการ) รถสองแถว (รถสองแถวกะบะดัดแปลง) รถสองแถวใหญ่หกล้อ รถกระป๊อ(รถกระป๋อง/ซูบารุ) รถตู้ รถไฟฟ้า BTS เรือข้ามฟาก รถแท็กซี่ เป็นต้น

รถเมล์ท้องถิ่น

เป็นรถโดยสารที่มักจะดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ส่วนใหญ่จะให้บริการในระยะทางไกล รถเมล์ท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นรถธรรมดา หรือรถร้อน (ไม่มีแอร์) และจะใช้สีสันต่างจากรถในกรุงเทพฯ เช่น รถเมล์สีเขียว สาย 365 (ปากน้ำ - บางปะกง) เป็นรถเมล์ของบริษัท สันติมิตรขนส่ง จำกัด รถเมล์สีส้ม เดินรถบางนา - สำโรง - บางบ่อ เป็นต้น

รถสองแถว

เป็นรถโดยสารที่ชาวสมุทรปราการ (ชาวปากน้ำ) เห็นกันจนชินตา และส่วนใหญ่จะเคยชินกับการเดินทางด้วยรถสองแถวมากกว่า เพราะสะดวก เร็วกว่ารถเมล์ มีให้เลือกไปได้หลายเส้นทาง มีวิ่งไปแทบทุกตรอกซอกซอย และมีรถเยอะไม่ต้องรอนาน แต่ก็อาจสร้างความสับสนสำหรับคนต่างถิ่นอยู่บ้าง เพราะในรถสายเดียวกัน อาจมีปลายทางไม่เหมือนกันได้

รถตู้

เป็นการเดินทางที่ยังคงเป็นที่นิยม และสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในระยะทางค่อนข้างไกล เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการจอดตามป้าย คิวรถตู้ที่วิ่งระหว่างอำเภอต่างๆ มักจะอยู่ในบริเวณเดียวกับคิวรถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัดด้วย จึงค่อนข้างสะดวก

* สามารถดูรายละเอียดได้จาก ข้อมูลคิวรถตู้ในจังหวัดสมุทรปราการได้ที่ รถตู้สมุทรปราการ

รถไฟฟ้า BTS

เเป็นการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นที่นิยมมากเช่นกัน เพราะเป็นระบบขนส่งที่ช่วยเลี่ยงปัญหาการจราจรบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ได้ขยายเส้นทางจากสถานีแบริ่ง เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว โดยเปิดให้บริการสถานีสำโรงเป็นจุดแรก และในอีกไม่ช้า (ราวปี พ.ศ.2561 – 2562) เมื่อเปิดให้บริการครบทุกสถานี การเดินทางภายในจังหวัดสมุทรปราการจะยิ่งมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นด้วย

เรือข้ามฟาก เป็นการติดต่อถึงกันระหว่างอำเภอที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรือข้ามฟากภายในจังหวัด ยังมีให้บริการอยู่ในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และอำเภอพระสมุทรเจดีย์

แท็กซี่ เป็นการโดยสารรถสาธารณะที่สะดวกที่สุด (แต่อาจไม่ได้เร็วที่สุด กรณีที่รถติดบนท้องถนน) ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการมีความเจริญค่อนข้างมาก จึงเรียกหาแท็กซี่ได้ง่าย และมักจะไปแทบทุกแห่ง โดยคิดค่าบริการด้วยระบบมิเตอร์แบบเดียวกันกับในกรุงเทพฯ​ (ยกเว้นกรณีที่เรียกจากสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีค่าธรรมเนียมสนามบินเพิ่ม หรือกรณีเรียกไปยังเขตพื้นที่ไกลมากๆ)

รถเมล์ท้องถิ่น และรถสองแถว

การเดินทางภายในจังหวัดสมุทรปราการ ค่อนข้างสะดวกตรงที่มีการเดินรถหลายสายในหลายเส้นทาง ผ่านถนนสายหลัก สถานที่สำคัญของจังหวัด ห้างสรรพสินค้า ตลาด นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงบางสายยังเข้าไปถึงหมู่บ้าน ตรอกซอกซอย และแหล่งชุมชนต่างๆ ด้วย

การบริการรถโดยสารที่วิ่งอยู่ทั่วไปภายในจังหวัดนั้น มีทั้งรถเมล์แบบรถร่วมบริษัทเอกชน รถสองแถวใหญ่หกล้อ และรถสองแถวแบบรถกระบะดัดแปลง ส่วนใหญ่แล้วรถที่เห็นมากที่สุดมักจะเป็นรถสองแถว ที่มีกันอยู่หลากสีสันมาก ส่วนรถเมล์ท้องถิ่นก็จะมีสีสัน และมีการรับส่งคล้ายกับรถเมล์ขสมก. (ในกรุงเทพฯ​) ที่จะจอดรับส่งผู้โดยสารตรงป้ายรถเมล์ตามจุดที่กำหนด ส่วนรถสองแถว การรับส่งจะค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า บางจุดสามารถขึ้นลงตามรายทางได้ (อาจเรียกจอดได้โดยไม่ต้องตรงป้าย) แต่การขึ้นลงในบางจุด ก็อาจจะต้องไปขึ้นตามป้ายรถเมล์ คิวรถ หริือจุดที่กำหนดไว้เช่นเดียวกันกับรถเมล์

การเดินรถทางด้วยท้องถิ่น อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนไม่ค่อยได้ แต่ละสายก็มีเวลาเริ่มเดินรถ และเวลารถหมดอาจไม่เท่ากัน ความถี่ของการออกรถก็เช่นเดียวกัน เส้นทางและช่วงเวลาที่มีคนใช้บริการมาก ก็มักจะมีการเดินรถบ่อยกว่า เช่น ช่วงเช้าเด็กไปโรงเรียน ตอนเย็นโรงเรียนเลิก ช่วงพนักงานบริษัท พนักงานโรงงานเข้างาน และหลังเลิกงานในตอนเย็น หากเป็นช่วงที่คนน้อย ก็อาจจะต้องรอรถนานสักหน่อย

สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยการโดยสารรถภายในจังหวัดสมุทรปราการ อาจจะรู้สึกค่อนข้างสับสนกับการเดินรถแต่ละสาย หรือไม่แน่ใจในการเดินรถในแต่ละเส้นทาง ถ้าเป็นรถเมล์ จะค่อนข้างง่ายกว่ารถสองแถว ตรงที่มักจะวิ่งไปตามถนนสายหลัก เพราะรถสองแถวในเมืองสมุทรปราการนี้ บางสายจะผ่านถนนสายหลักแล้วเลี้ยวเข้้าซอย หรือถนนสายย่อยไปในชุมชนต่างๆ ด้วย

จึงแนะนำว่า หากต้องการเดินทางในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการด้วยรถโดยสารแล้วละก็ การได้ศึกษาเส้นทางการเดินรถบางส่วน อาจช่วยให้วางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น

รถเมล์ท้องถิ่น และรถสองแถวที่วิ่งภายในเมืองสมุทรปราการนั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

รถที่วิ่งฝั่งปากน้ำ

รถเมล์ท้องถิ่น และรถสองแถวที่วิ่งฝั่งตัวเมืองสมุทรปราการ (ฝั่งปากน้ำ) คือรถที่วิ่งรับส่งอยู่ทางอำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ และอำเภอพระประแดง(ฝั่งสำโรง) (รถสองแถวจะไม่วิ่งรับส่งข้ามฝั่งแม่น้ำกัน) ซึ่งทางฝั่งปากน้ำจะมีรถวิ่งมากมาย หลายสาย หลายเส้นทาง การต่อรถค่อนข้างสะดวก เพียงแต่ให้รู้เส้นทางที่รถผ่าน ก็สามารถขึ้นระหว่างทาง หรือหากรู้คิวรถก็จะยิ่งต่อรถได้ง่ายขึ้น

คิวรถ หรือจุดต่อรถใหญ่ๆ ทางฝั่งปากน้ำนี้ มีด้วยกันหลายแห่ง เช่น ป้ายรถเมล์และคิวรถตลาดปากน้ำ ห้างอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง เซ็นทรัลบางนา โฮมโปรกิ่งแก้ว บิ๊กซีบางพลี แยกเทพารัก​ษ์ แยกศรีเอี่ยม BTS บางนา BTS แบริ่ง เป็นต้น

รถที่วิ่งฝั่งธนบุรี (พระประแดง/พระสมุทรเจดีย์)

รถเมล์ท้องถิ่น และรถสองแถวที่วิ่งทางฝั่งธนบุรี คือรถที่วิ่งอยู่ในระหว่างอำเภอพระประแดง และพระสมุทรเจดีย์ มีด้วยกันไม่กี่สาย และเส้นทางมักจะไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างจุดใหญ่ๆ ทางฝั่งนี้ ก็คือบริเวณท่าน้ำพระประแดง กับท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์ นั่นเอง

ข้อแนะนำ / ข้อมูลเพิ่มเติมในการโดยสารรถภายในจังหวัด

  • ค่าโดยสารรถเมล์ท้องถิ่น และรถสองแถวนั้น หากเป็นสายสั้น ที่วิ่งในเส้นทางไม่ไกลมาก มักจะเก็บอัตราค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย (ประมาณ 7-8 บาท) หากเป็นรถที่วิ่งเส้นทางไกล เช่น สาย 1140 สำโรง
  • คลองด่าน จะเก็บค่าโดยสารตามระยะทางที่ลงจากรถ (ราคาตั้งแต่ 8-22 บาท) เป็นต้น
  • รถสองแถว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ระบุเลขสายรถไว้ที่หน้ารถ (ไม่เหมือนสายรถเมล์) หากต้องการดูสายรถสามารถดูได้ตรงตัวถังรถด้านข้าง (ยกเว้นสองแถว 36 มีตัวเลขระบุอยู่) การโดยสารรถสองแถว จะใช้ข้อความย่อๆ เขียนระบุว่ารถผ่านเส้นทางไหนบ้าง หากไม่แน่ใจ ควรสอบถามเพิ่มเติมจากคนขับ หรือคนท้องถิ่นอีกครั้ง
  • รถสองแถวบางสาย แม้แต่เป็นสายเดียวกัน แต่อาจมีจุดหมายปลายทางต่างกัน (หมดระยะต่างกัน) หรือบางคันก็จะแวะเข้าซอยไปบ้างก็มี จุดสังเกตคือป้ายหน้ารถ ที่เขียนบอกไว้ หรือสอบถามโดยตรงจากคนขับรถเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น รถสองแถวที่มีเลข 36 ที่เห็นวิ่งกันมากมายอยู่ในตัวเมืองปากน้ำ แต่ละคันอาจไปสุดที่ปลายทางไม่เหมือนกัน บางคันหมดระยะสั้น บางคันก็วิ่งระยะยาว บางคันก็วิ่งเข้าซอย (สามารถดูได้จากป้ายหน้ารถที่ระบุจุดที่ผ่าน) หรือรถสองแถวสีส้มที่วิ่งบนถนนเทพารักษ์​ ก็มีด้วยกันหลายสาย และหมดระยะต่างๆ กันไป เป็นต้น
  • จุดต่อรถสำคัญในสมุทรปราการ มักจะเป็นบริเวณห้างสรรพสินค้า ท่าน้ำ(ท่าเรือข้ามฟาก) หรือบริเวณแยกต่างๆ เช่น บริเวณห้างอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง ท่าน้ำพระประแดง แยกเทพารักษ์ ป้ายรถเมล์ตลาดปากน้ำ เป็นต้น
  • ป้ายรถเมล์ และคิวรถบริเวณห้างอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง มีด้วยกันหลายจุด ทั้งด้านหน้าห้าง หลังห้าง ฝั่งตรงข้ามห้าง เช่น
    • ป้ายรถเมล์ หน้าห้างอิมพีเรียล
    • ป้ายรถเมล์ ฝั่งตรงข้ามห้างอิมพีเรียล (รถเมล์สายที่จะไม่จอดป้ายนี้ ได้แก่ 25, 365, 1141)
    • คิวรถสองแถว ในซอยฝั่งตรงข้ามห้างอิมพีเรียล หรือซอยวัดด่านสำโรง (ซอยสุขุมวิท 113)
    • คิวรถสองแถว ด้านหลังห้างอิมพีเรียล (บริเวณลานจอดรถตลาดสำโรงใหม่)
  • ป้ายรถเมล์ และจุดต่อรถบริเวณตลาดปากน้ำ จะมีด้วยกันหลายจุด จุดใหญ่ๆ จะอยู่ใกล้กับท่าเรือข้ามฟาก ยาวไปจนถึงบริเวณศาลากลาง แถวนี้จะมีป้ายรถเมล์อยู่หลายป้าย คนที่ต้องการต่อรถไปในที่ต่างๆ มักจะหารถขึ้นได้ในบริเวณนี้ ซึ่งจะมีทั้งป้ายรถเมล์ และคิวรถต่างๆ อยู่ใกล้กันหลายแห่ง เช่น
    • คิวรถสองแถวบริเวณตรงข้ามห้างอินฟินิท (หน้าสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเลลึก)
    • ป้ายรถเมล์ตลาดปากน้ำ จะอยู่ตรงหน้ากองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ (เยื้องกับซอยอมรเดช ซึ่งเป็นคิวรถสองแถวด้วย)
    • คิวรถสองแถวในซอยอมรเดช ซึ่งเป็นบริเวณที่คนท้องถิ่นจะเรียกว่า คิวรถคลองน้ำเน่า
    • คิวรถสองแถวตรงหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ
    • ป้ายรถเมล์ตรงศาลากลาง (อยู่ตรงข้ามห้องสมุทร ก่อนถึงสามแยกศาลากลาง) รถโดยสารที่จะเลี้ยวขวาตรงแยกศาลากลาง เพื่อออกไปทางถนนสุขุมวิทสายเก่า(บางปู) หรือจะไปถนนศรีนครินทร์ จะไม่จอดรถรับผู้โดยสารที่ป้ายนี้
Click ดูรายละเอียดเพิ่มเติม เส้นทางรถเมล์และรถสองแถวในสุทรปราการ (แต่ละสาย)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com