วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นวัดไทย-พุทธเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดง วัดที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีสถาปัตยกรรม และงานจิตรกรรมเก่าแก่ ถือเป็นมรดกตกทอดจากช่างฝีมือในยุคเก่า ชมพระมณฑปกลางน้ำ กราบนมัสการพระพุทธชินนาถศาสดา และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีการจัดงานสงกรานต์ ปล่อยนกปล่อยปลาประจำทุกปี การเดินทางมาวัดได้ทั้งถนนสุขสวัสดิ์ หรือจะมาเรือข้ามฟาก ก็มีท่าเรือข้ามฟากอยู่ตรงวัดเลย
วัดโปรดเกศเชษฐาราม ตั้งอยู่ริมคลองลัดหลวง* บนถนนทรงธรรม ในตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง ซึ่งเป็นจุดตรงข้ามกันกับวัดไพรชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร (ในตำบลบางพึ่ง) หากเข้าทางถนนพระราชวิริยาภรณ์ จะผ่านวัดไพรชยนต์ก่อน พอข้ามสะพานข้ามคลองลัดหลวง แล้วจึงจะเป็นวัดโปรดเกศฯ
* คลองลัดหลวง เป็นคนละคลองกับคลองลัดโพธิ์ อยู่ไม่ไกลกันนัก คลองลัดหลวงขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนขุดคลองลัดโพธิ์ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นทางลัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนลงสู่ตอนล่าง โดยไม่ต้องไปเสียเวลาอ้อมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงคุ้งบางกะเจ้า เป็นการขุดเชื่อมต่อกับคลองเจ้าเมือง ไปทะลุออกคลองตาลาว ต่อมาได้ทำการถมคลองบางส่วน เพราะเกรงว่า อาจเป็นเส้นทางที่ข้าศึกสามารถเข้ามาประชิดพระนครได้รวดเร็วขึ้นด้วย ปัจจุบันบริเวณปากคลองได้ทำประตูทางน้ำปิดกั้นไว้ เรือไม่สามารถแล่นผ่านจากแม่น้ำตอนบนไปตอนล่างได้
วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดปากคลอง เพราะทางเหนือของวัด ตรงบริเวณปากคลองลัดหลวง เดิมมีศาลาที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ขณะนั้นไม่มีพระภิกษุจำพรรษา จนต่อมาในปี พ.ศ.2365 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองในการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และป้อมปราการต่างๆ ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนั้นมีพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการก่อสร้าง เมื่อสร้างเมืองแล้วกรมหมื่นศักดิพลเสพ ได้สร้างวัดไพรชยนต์พลเสพย์ขึ้นทางริมฝั่งตะวันตกของคลองลัดหลวง ส่วนพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) จึงขอสร้างวัดในฝั่งตรงข้ามกัน ทางทิศตะวันออกของคลอง โดยนำวัสดุที่เหลือจากการสร้างวัดไพชยนต์พลเสพย์ มาตกแต่งที่วัดโปรดเกศฯ นี้ วัดทั้งสองจึงเสมือนเป็นวัดพี่วัดน้องที่สร้างเสร็จในปีเดียวกัน ในช่วงแรกนั้นชาวบ้านยังคงเรียกว่าวัดปากคลอง จนกระทั่งภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า “วัดโปรดเกศเชษฐาราม” และได้รับวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2368
สิ่งปลูกสร้างภายในวัด แต่เดิมนั้นประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ หอระฆัง ศาลาการเปรียญไม้ใต้ถุนสูง และที่พำนักสงฆ์เพียงไม่กี่หลัง ส่วนพระมณฑปได้สร้างขึ้นในภายหลัง ในครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ให้พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) มาต่อเติมเพิ่มแต่งวัดให้เสร็จสมบูรณ์ และดูแลสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกของพระยาเพชรพิไชย (เกตุ)* ได้แก่ พระยาเพชรพิไชย (หนู) ผู้บูรณะพระอุโบสถ เขียนลวดลายบนเพดาน ทั้งโบสถ์และวิหารจนแล้วเสร็จ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2542 กองอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร ได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลการบูรณะปฏิสังขรพระอุโบสถเป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง
* พระยาเพชรพิไชย เกตุ (ผู้เป็นต้นตระกูลเกตุทัต) เป็นบุตรของพระยาเพชพิชัย หง (ต้นตระกูลหงสกุล) ทั้ง 2 ตระกูลนี้เป็นตระกูลเก่าแก่ เป็นผู้ที่เคยทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับราชวงศ์มาตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมามีตระกูลกัษปะเกศเพิ่มขึ้นมาจนกลายเป็นตระกูลสามพี่น้อง
เมื่อผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามาในเขตพุทธาวาส ส่วนของด้านหน้าเป็นลานจอดรถกว้างขวาง จอดได้สะดวก จากนั้นจะเป็นถนนเล็กๆ ตัดผ่านตรงกลางไปยังด้านใน ด้านซ้ายของถนนเป็นพระอุโบสถ อยู่ภายในกำแพงแก้วเตี้ย (มองเห็นซุ้มเสมาโดยรอบ) ถัดจากพระอุโบสถไปเป็นอาคารวิหาร ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบเดียวกัน และอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ต่อเนื่องเสมือนเป็นส่วนเดียวกันด้วย ส่วนด้านขวาของถนนเล็กๆ นี้ เป็นที่ตั้งของพระมณฑปกลางน้ำ สุดทางถนนเล็กๆ เข้าไปด้านในจะเป็นส่วนของสังฆาวาส
จากบริเวณลานจอดรถด้านหน้า หากเดินเลี้ยวไปทางซ้ายมือ จะมีถนนเลียบริมคลอง เป็นคลองลัดหลวงที่ใกล้ส่วนที่จะออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือ หากเดินไปตามถนนไปเรื่อยๆ ด้านขวามือจะเป็นด้านหลังของโบสถ์ และวิหาร ทั้งยังมีเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อมตั้งอยู่ 2 องค์ ส่วนด้านที่ติดริมคลองลัดหลวง จัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆ สลับกับศาลาพื้นหินอ่อนหลังใหญ่ตั้งอยู่เป็นช่วงๆ ชายคลองมีศาลาท่าน้ำ และทางเดินให้ลงไปบริเวณริมน้ำด้วย
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานของ 3 ชาติ คือไทย จีน และชาติตะวันตก พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน สร้างตามแบบศิลปะพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 (สถาปัตยกรรมไทยผสมจีน) หลังคาเรียบ ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีขนาดใหญ่ ประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ใช้เครื่องลายครามทรงกลม ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นให้เป็นดอกไม้ และช่อดอก ได้เป็นลวดลายเครือเถาก้านแย่งที่อ่อนช้อย กรอบประตูหน้าต่างภายนอก ตกแต่งด้วยปูนปั้นนูนสูง เป็นลายดอกพุดตานลงสีทองตัดกับผนังโบสถ์สีขาวดูสะดุดตา รอบๆ โบสถ์ มีใบเสมาหินทราย ตั้งอยู่ภายในซุ้มรูปแบบหัวเม็ด ทั้ง 4 ทิศของโบสถ์ มีศาลารายสไตล์จีนตั้งอยู่ทั้ง 4 ด้าน และที่มุมกำแพงทางทิศใต้ มีเจดีย์ทรงปรางค์ตั้งอยู่มุมละ 1 องค์
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งในปี พ.ศ.2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธชินนาถศาสดา" มีความหมายว่า พระศาสดาที่ทรงเป็นที่พึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ พุทธลักษณะปางมารวิชัย หนัาตัก 2 ศอก 1 นิ้ว (ประมาณ 1.2 เมตร) ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูงที่ทำจากกระเบื้องเคลือบแบบดั้งเดิม ภายในบุษบกลวดลายสวยงาม ด้านหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร อยู่ในอริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) อยู่หลายองค์ ผนังด้านหลังพระประธาน เยื้องไปทางซ้ายและขวา เจาะผนังเป็นช่องลึกทรงสูง ด้านในเป็นปูนปั้นอัครสาวกแบบลอยตัว ยืนพนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน
ภายในโบสถ์ไม่มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเต็มผนังเหมือนโบสถ์อื่นทั่วไป แต่จะใช้วิธีเจาะช่องกำแพง และวาดภาพพุทธสาวก ภิกษุ ภิกษุณี ไว้ในช่องเหล่านั้นแทน เหนือบานประตูหน้าต่าง ยังประดับด้วยภาพเขียนเก่าใส่กรอบ เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น แบบเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) ให้ความรู้สีกเป็น 3 มิติ ในภาพแสดงทัศนียภาพอาคารบ้านเรือนแบบชาวตะวันตก เป็นภาพเก่าที่หาดูได้ยาก เสาภายในพระอุโบสถ เป็นเสาลอยทรงสี่เหลี่ยมลบมุม เสาแต่ละต้นติดภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์
พระวิหาร
ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถไปด้านข้าง อยู่ไม่ไกลกันนัก สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยและจีนเช่นเดียวกับพระอุโบสถ มีหน้าบันขนาดใหญ่ประดับชามสังคโลกประกอบปูนปั้นเป็นลายเครือเถาเช่นกัน ภายในวิหารประดิษฐาน "พระพุทธไสยาสน์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2365 (ประมาณ 195 ปีมาแล้ว) พระพุทธรูปมีความยาว 6 วา 2 ศอก (ประมาณ 13 เมตร) เป็นปูนปั้นลงรักดำ ปิดทองเหลืองอร่ามตลอดทั้งองค์ ปลายพระบาททั้ง 2 วางเสมอกัน ที่ฝ่าพระบาทเป็นงานประดับมุก ลายมงคล 108 ประการ* นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม ทั้งยังเป็นต้นแบบของการหล่อพระนอนวัดโพธิ์อีกด้วย
ภายในวิหารสามารถปิดทองที่องค์พระได้ ยกเว้นบริเวณฝ่าพระบาท ที่ต้องการแสดงภาพมงคล 108 ให้เห็นเด่นชัด
* มงคล 108 ประการ ที่เห็นตามรอยพระพุทธบาทจำลอง หรือที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ เช่นที่พระนอนวัดโพธิ์ หรือที่วัดโปรดเกศฯ นี้ ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของมหาบุรุษลักษณะ ประกอบด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคลมากมาย ซึ่งแสดงถึงพระบารมีขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏเป็นรูปสัญลักษณ์ของสวรรค์ ศาสตราวุธ ปราสาท เครื่องใช้ จักรราศี ไม้หอม กลีบดอกบัว เป็นต้น
เจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่
เป็นเจดีย์สีขาวขนาดย่อม 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์ และวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มสร้างวัด มีลักษณะตามแบบเจดีย์สมัยอยุธยา เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ เหนือองค์เจดีย์ขึ้นไป เป็นบัลลังก์ เสาหาน ก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลียอด และหยดน้ำค้าง รอบองค์เจดีย์มีกำแพงแก้วทรงกลมรอบฐาน ถัดออกไปเป็นลานประทักษิณ และรอบนอกมีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ล้อมเป็นกรอบสี่เหลี่ยมกั้นอีกชั้นหนึ่ง
พระมณฑปเจดีย์
สร้างขึ้นภายหลังจากการสร้างโบสถ์และวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร พื้นที่พระมณฑป* เป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูน้ำล้อมรอบ คล้ายเกาะกลางน้ำ มีสะพานเดินเชื่อมถึง เมื่อเข้าไปในบริเวณมณฑป จุดแรกจะเป็นศาลปู่ฤาษีนาคสิทธิโคดก ที่ชาวพระประแดงให้ความเคารพนับถือมาก มักจะมีผู้คนมากราบเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอพรให้ช่วยในเรื่องสุขภาพ โชคลาภต่างๆ
บริเวณพระมณฑป มีพื้นรอบนอกปูด้วยกระเบื้องตัวหนอน จัดแต่งด้วยไม้กระถางและไม้พุ่ม จากนั้นจะเป็นพื้นที่ภายในกำแพงแก้ว ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมผสมผสานกันหลายชาติ ดูสอดคล้องเข้ากันอย่างลงตัว แนวกำแพงแก้วมีศาลารายสไตล์จีน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องลอนแบบเก๋งจีน ที่มุมกำแพงทั้ง 4 ประดับเจดีย์รายสีขาวรูปแบบย่อมุมไม้สิบสอง ตรงกลางเรือนมณฑปเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมหลังใหญ่ ผนังด้านนอกทำเป็นซุ้มประตูโค้งต่อเนื่องกันแบบสไตล์ยุโรป ตรงกลางมีเจดีย์ที่ถือเป็นแบบอย่างงานศิลปกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3) เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นเจดีย์เพิ่มมุมตามแนวจากฐานด้านล่าง มีบัวทรงคลุ่ม** รองรับองค์ระฆังทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมเรียวสอบขึ้นไป ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถาเรียงต่อกันขึ้นไป ส่วนบนเป็นกรวยยาวที่เรียกว่า ปลี ที่ฐานเจดีย์เจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปยืนประจำ 4 ทิศ และมีระเบียงล้อมรอบองค์เจดีย์
ภายในพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางขัดสมาธิเพชร ตามพุทธลักษณะที่เรียกว่า ปางขนมต้ม
และยังมีพระพุทธบาทจำลอง ที่สร้างจากศิลาแลง มีลวดลายในพระบาทประดับมุกสวยงาม
* มณฑป เป็นสถาปัตยกรรมไทย ที่นิยมทำเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาทำเรือนยอด เหมือนปิรามิดซ้อนกันเป็นชั้นๆ แหลมเรียวขึ้นไป บ้างก็เรียกว่าหลังคาทรงบุษบก พระมณฑปมักใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระไตรปิฎก หรือรอยพระพุทธบาท เช่นพระมณฑปที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
** คำว่า บัวคลุ่ม ใช้เรียกองค์ประกอบสำคัญ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ย่อเหลี่ยม ทำเป็นรูปบัวมีกลีบขนาดใหญ่เป็นดอกเดี่ยวๆ เทินรับองค์ระฆัง (อยู่ก่อนถึงองค์ระฆัง) บ้างก็จะเป็นดอกเรียงต่อกันไปในส่วนยอด เรียกว่า บัวคลุ่มเถา (เถา ก็คือสิ่งที่เป็นจำพวกเดียวกันเรียงกันไปเป็นชุด เช่น ปิ่นโต 1 เถา)
ศาลาเปลื้องเครื่อง
เป็นศาลาที่เคยใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ในครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในปี พ.ศ.2489 ศาลานี้สร้างเพื่อเป็นที่เปลี่ยนฉลองพระองค์จากเครื่องทรงกษัตริย์ เป็นเครื่องทรงแบบเรียบก่อนที่จะบำเพ็ญพระราชกุศล
ข้อแนะนำ
- การเดินทางมาที่วัด สามารถโดยสารเรือข้ามฟาก ท่าเรือสาธุประดิษฐ์ มาขึ้นที่ท่าคลองลัดหลวง แล้วเดินทะลุออกมาไม่ไกลก็ถึงวัดเลย
- จากวัดโปรดเกศฯ หากต้องการไปแวะไปยังวัดไพรชยนต์ ที่อยู่ตรงข้ามฝั่งคลอง ให้เดินออกมาทางหน้าวัด จากนั้นเลี้ยวขวา เดินเลียบถนนข้ามสะพานข้ามคลองลัดหลวง ตรงเชิงสะพานมีถนนชุมชนข้างคลอง สามารถเดินทะลุไปยังวัดไพรชยนต์ได้ (ห่างไปประมาณ 400 เมตร)
การเดินทาง
ห่างจากวัดไพชยนต์พลเสพย์ 400 เมตร
ห่างจากตลาดพระประแดง / ท่าน้ำพระประแดง 1 กิโลเมตร
ห่างจากตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง 7 กิโลเมตร
การเดินทางด้วยรถยนต์
เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> เลี้ยวไปทางสะพานภูมิพล -> ถ.พระราชวีริยาภรณ์
1 | หากใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าพระประแดง ผ่านแยกวัดสนไปไม่ไกล จะเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวไปสะพานภูมิพล 1 และ 2 จึงเลี้ยวซ้ายตามป้าย |
2 | เมื่อเลี้ยวมาแล้ว ให้เลาะเลนซ้ายสุด (ไม่ขึ้นสะพาน) ตรงตามป้าย ถ.พระราชวีริยาภรณ์ จนสุดทางเป็นสามแยก จึงเลี้ยวซ้าย จากนั้นตรงไปไม่ไกลนัก จะเป็นสี่แยกทางเข้าวัดไพรชยนต์พลเสพ (เห็นซุ้มวัดอยู่ข้างหน้า) แยกนี้ให้เลี้ยวขวา |
3 | พอเลี้ยวขวาไปได้หน่อย ลงจากสะพานข้ามคลองไป จะเห็นวัดโปรดเกศเชษฐารามอยู่ทางซ้ายมือ |
* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนองมาเรื่อยๆ พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) ชิดซ้าย ออกถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นตรงไปไม่ไกล จึงเลี้ยวซ้ายตามป้ายทางขึ้นสะพานภูมิพล (แต่ไม่ขึ้นสะพาน)
เส้นทาง ถนนราษฎร์บูรณะ -> ถ.พระราชวีริยาภรณ์
1 | ใช้เส้นทางถนนราษฎร์บูรณะ* จากแยกบุคคโล มุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการ ผ่านบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ ธ.กสิกรไทยสาขาใหญ่ วัดรวก ตรงไปเรื่อยๆ เส้นทางจะเชื่อมต่อกับ ถ.พระราชวีริยาภรณ์ |
2 | ตรงตามเส้นทางหลัก พอผ่านหน้าวัดไพรชยนต์พลเสพย์ไปหน่อย ลงสะพานข้ามคลองแล้ว จะเห็นวัดโปรดเกศเชษฐารามทางซ้ายมือ |
* ถนนราษฏร์บูรณะ เป็นถนนเลียบชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ขนาด 6 เลน แบบมีเกาะกลาง มีระยะทางสั้นๆ ประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมาจากถนนเจริญนคร ตรงมาจนสุดตรงคลองแจงร้อน (ตรงช่วงโค้งหักศอก) จากนั้นก็จะเชื่อมต่อกับถนนพระราชวีริยาภรณ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด เส้นทางรถประจำทาง)
รถเมล์
- นั่งรถเมล์สาย 6 มาทางสมุทรปราการ ผ่านบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ ธ.กสิกรไทยสาขาใหญ่ วัดรวก พอถึงสี่แยกตรงหน้าวัดไพชยนต์พลเสพย์ ให้ลงรถแล้วเดินตรงต่อไปอีกหน่อย ก็จะเป็นวัดโปรดเกศเชษฐาราม
สาย 6 บางลำพู - พระประแดง
เส้นทางเดินรถ แยกบางลำพู - วัดชนะสงคราม - เลี้ยวเข้าถนนราชดำเนินกลาง - แยกคอกวัว - ศึกษาภัณฑ์ - วนวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - กองสลาก - สนามหลวงฝั่งริมคลองหลอด (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) - หน้าศาลฎีกา - ศาลหลักเมืองกรุงเทพ - หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน - เลี้ยวซ้ายข้างสวนเข้าเชตุ - แยกบ้านหม้อ - เลี้ยวเข้าถนนตรีเพชร - โรงเรียนสวนกุหลาบ - สะพานพุทธ - เลี้ยวเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยา - แยกท่าดินแดง - โรงพยาบาลตากสิน - ถนนเจริญนคร - ท่าน้ำคลองสาน - วัดเศวตฉัตร - แยกบุคคโล - ถนนราษฎร์บูรณะ - บิ๊กซีจัมโบ้ราษฎร์บูรณะ - ธนาคารกสิกรไทย(สำนักงานใหญ่) - ถนนพระราชวีริยาภรณ์ - วัดไพชยนต์พลเสพย์ - ถนนนครเขื่อนขันธ์ - วัดกลาง - เข้าเมืองพระประแดง - วัดพระยาปราบปัจจามิตร - ตลาดพระประแดง - ศาลหลักเมืองพระประแดง - วนไปจอดริมท่าน้ำพระประแดง
เรือข้ามฟาก (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)
- ลงเรือข้ามฟาก ท่าเรือสาธุประดิษฐ์ - ท่าคลองลัดหลวง (หรือเรียก ท่าวัดโปรดเกศเชษฐาราม) จะมาขึ้นหลังวัดโปรดเกศเลย เดินออกมาวัดอยู่ซ้ายมือ (เป็นท่าเรือสำหรับ จักรยาน + คน)
ข้อมูลการติดต่อ วัดโปรดเกศเชษฐาราม
ที่อยู่ 45 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
โทร 02-462-5484
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/watprodket/