พระสมุทรเจดีย์ หรือพระเจดีย์กลางน้ำ* ปูชนียสถานเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ศูนย์รวมแห่งจิตใจและจิตวิญญานของชาวปากน้ำ มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็นเจดีย์ที่มีพระเจ้าแผ่นดิน 4 รัชกาลช่วยกันปรับปรุง ทำนุบำรุงรักษา จนได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ที่มีความผสมผสานทางสถาปัตยกรรมทั้งไทย จีน ยุโรป บริเวณองค์พระสมุทรเจดีย์จะมีงานเฉลิมฉลองประจำปีที่ยิ่งใหญ่ทุกปี งานแห่ผ้าห่มองค์พระเจดีย์ ที่มีมานานกว่า 180 ปี การเดินทางไปยังพระสมุทรเจดีย์สะดวก ทั้งรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง และเรือข้ามฟาก
* พระสมุทรเจดีย์ เคยได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์กลางน้ำ เพราะในครั้งแรกที่สร้างนั้นเคยเป็นบริเวณเกาะกลางแม่น้ำ ต่อมาทางน้ำได้เปลี่ยน จนบริเวณนี้เกิดการทับถมของตะกอนที่ถูกพัดพามากับสายน้ำ เกิดเป็นสันดอน และกลายเป็นแผ่นดินงอก ส่วนที่เคยเป็นเกาะเลยกลายเป็นแผ่นดินผืนเดียวกับชายฝั่ง และในปี พ.ศ.2483 ได้มีการจัดตั้งท่าเรือคลองเตยเป็นท่าเรือใหม่ แทนการขนส่งที่เกาะสีชัง เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าสู่เมือง โครงการนี้ต้องมีการขุดลอกร่องน้ำในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลึกขึ้น เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่แล่นเข้ามาถึงท่าเรือคลองเตยได้ จึงทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางมากขึ้น ดินเลนในแม่น้ำไหลมาทับถมบริเวณริมฝั่งด้านพระสมุทรเจดีย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนหมดหนทางที่จะทำให้พระสมุทรเจดีย์กลับมาเป็นเกาะได้เหมือนเดิมได้
พระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ในตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ หรือบริเวณตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และตลาดปากน้ำ องค์พระเจดีย์ อยู่สุดทางถนนที่ตรงมาจากถนนสุขสวัสดิ์ เป็นบริเวณที่มีคิวรถเมล์ คิวรถสองแถว และเรือข้ามฟาก
ในปี พ.ศ.2370 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างป้อมปราการป้องกันข้าศึกทางทะเล จึงดำริให้สร้างเมืองใหม่บริเวณปากแม่น้ำ ให้เป็นเมืองหน้าด่านช่วยระวัง ป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากอ่าวไทย โดยรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3 ในเวลาต่อมา) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้ดูแลการสร้างป้อมปราการขึ้น 6 ป้อม ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นโปรดให้สร้างพระเจดีย์ไว้บริเวณเกาะเล็กๆ ที่อยู่ท้ายเกาะป้อมผีเสื้อสมุทร เพื่อให้เป็นศาสนสถาน แหล่งศูนย์รวมใจให้เกิดกุศลจิต ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวปากน้ำให้พ้นจากอันตรายทั้งปวง ทรงรับสั่งให้ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (ลูกพี่ลูกน้องกับรัชกาลที่ 2) และพระยาราชสงคราม เป็นผู้ออกแบบพระเจดีย์ เดิมสร้างเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบพระปรางค์ แล้วทรงพระราชทานนามว่า "พระสมุทรเจดีย์"
ในขณะเตรียมการก่อสร้าง ปรับพื้นที่ถมหินให้แน่นหนาก่อนสร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสวรรคต มิทันได้เห็นพระเจดีย์ที่พระองค์ทรงดำรัสไว้ ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสพระองค์โต ได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์จึงทรงสืบสานงานตามพระประสงค์ของพระราชบิดา โดยสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนเศษ แล้วเสร็จในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 หรือวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2371
พระเจดีย์แรกเริ่มที่สร้างตามรูปแบบที่รัชกาลที่ 2 ทรงออกแบบไว้ เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฐานกว้างด้านละ 10 วา 9 ศอก (ประมาณ 24.50 เมตร) ความสูงนับจากฐานถึงยอด 13 วา 3 ศอกคืบ (ประมาณ 27.75 เมตร) ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 4 พระองค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สูง 2 ศอก ขึ้นไป 3 ชั้น ระเบียงประดับลวดลายแบบจีน บริเวณฐานพระเจดีย์ทั้ง 4 สี่ทิศ สร้างศาลารายมุงกระเบื้องแบบเก๋งจีน สำหรับเป็นที่นั่งพักผ่อน หลังจากพระสมุทรเจดีย์สร้างเสร็จ ได้มีการจัดงานฉลองสมโภชพระเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่ 5 วัน 5 คืน และภายหลังจากนั้นไม่นานนัก ได้มีโจรลักลอบปีนขึ้นไปที่องค์ระฆังพระเจดีย์ เจาะขโมยเอาพระบรมสารีริกธาตุออกไป ทำให้พระสมุทรเจดีย์ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุมานานถึง 12 ปี
เวลาล่วงมาจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่วัดพิชัยสงคราม ในตัวเมืองปากน้ำ และเสด็จแวะนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ ทรงดำรัสว่าองค์เจดีย์อันสำคัญนี้ ดูต่ำเตี้ย ไม่สง่างาม จึงปรึกษากับเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกศาธิบดี (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)) และทรงทราบว่า พระบรมสารีริกธาตุภายในองค์พระเจดีย์ถูกโจรปีนขโมยออกไปหมดแล้ว พระองค์จึงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 588 ชั่ง (ประมาณ 47,000 บาท) โปรดให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ให้มีความสูงใหญ่กว่าเดิม ไม่ให้คนปีนขึ้นไปได้ง่าย ทั้งยังให้ดูโดดเด่น สูงสง่าสมกับเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง หลังจากเจดีย์องค์ใหม่เสร็จ ได้ทำพิธีห่มผ้าแดง เพื่อเป็นการสักการะพระบรมสารีริกธาตุในองค์เจดีย์ และเพื่อให้มองเห็นตำแหน่งของเจดีย์จากระยะไกลได้อย่างชัดเจน
บริเวณรอบองค์เจดีย์ ทรงรับสั่งให้รื้อศาลาเก๋งจีนทางทิศใต้ออก แล้วสร้างเป็นวิหารหลวงหลังใหญ่ มีหอเทียน หอระฆัง ส่วนทางทิศเหนือรื้อศาลาเก๋งจีนออกแล้วสร้างศาลาที่ประทับแทน และก่อกระถางปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ส่วนบริเวณท่าน้ำทางทิศตะวันออก สร้างท่าเทียบเรือ ลงหลักผูกเรือ และเสาหินหัวเหลี่ยม หลังจากนั้นทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยกยอดพระสมุทรเจดีย์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2403
ต่อมาในปี พ.ศ.2426 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จมาที่พระสมุทรเจดีย์ แล้วโปรดให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นแม่กองในการซ่อมแซมพระวิหารหลวง ทรงเห็นว่าศาลาทางทิศเหนือชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) รื้อศาลาเก่าออก แล้วสร้างเป็นศาลา 5 ห้องทรงยุโรปไว้แทน หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระสมุทรเจดีย์ได้รับการดูแล ทำนุบำรุงเรื่อยมา และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจภายในพระสมุทรเจดีย์
องค์พระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเจดีย์องค์ใหม่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ โดยให้ช่างไปดูต้นแบบเจดีย์ทรงลอมฟาง* จากอยุธยา ลักษณะเป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ เหนือองค์ระฆัง มีบัลลังก์ เสาหาน ก้านฉัตร และปล้องไฉน เจดีย์องค์ใหม่มีความสูง 19 วา 2 ศอกคืบ (ประมาณ 39.75 เมตร) หรือประมาณตึกสูง 13 ชั้น ที่คอองค์ระฆังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 12 พระองค์ เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้
ส่วนของฐานองค์เจดีย์ทำเป็นลานประทักษิณ 3 ชั้น ลานชั้นบนสุดสร้างพระเกี้ยว** ไว้ 4 มุม รอบฐานระเบียงชั้นสองเจาะซุ้มจระนำ ประดับช้างไว้ภายใน กำแพงแก้วรอบองค์เจดีย์ ประดับลวดลายแบบเหรียญจีนโบราณที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
* พระเจดีย์ทรงลอมฟาง (เขียนและอ่านว่า ลอมฟาง ไม่ใช่ล้อมฟาง) เป็นการเรียกเจดีย์ที่มีส่วนกลาง (เรือนธาตุ) เป็นทรงลอมฟาง หรือระฆังคว่ำ ถ้วยคว่ำ คำว่า ลอมฟาง นี้มาจากลักษณะการเก็บฟางข้าวในสมัยก่อน จะวางไว้ตามลานดิน มีไม้ปักกลาง แล้วนำฟางถมกองสูงขึ้นเหมือนจอมปลวก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ป้องกันไม่ให้ฟางข้างในเปียกชื้น ปัจจุบันมักจะไม่ค่อยได้เห็นแล้ว
** พระเกี้ยว หรือจุลมงกุฏ หมายถึงเครื่องประดับพระเกศา ของพระโอรสหรือธิดาพระกษัตริย์ มีลักษณะเหมือนหมวกฉัตร ลดหลั่นเป็นชั้นๆ จนเป็นเหมือนมงกุฎยอดสูง พระเกี้ยวที่อยู่บนฐานไพทีรอบพระเจดีย์ ประจำอยู่ที่มุมทั้ง 4 ทิศ สร้างเป็นปูนปั้น มีลักษณะเป็นชั้นๆ ลดหลั่นขึ้นไป ดูคล้ายเจดีย์ทิศองค์เล็ก
วิหารหลวง
เป็นวิหารที่อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระสมุทรเจดีย์ หากเข้าทางประตูด้านหน้าจะเห็นวิหารหลวงอยู่หน้าพระเจดีย์ วิหารหลวงสร้างแบบก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ มีพาไล(เป็นเหมือนระเบียงยื่นออกมา) ทั้งด้านหน้าและหลัง หน้าบันเป็นลายปูนปั้นสีขาว ลวดลายนูนต่ำรูปช้างเก้าเชือกแบกพานพระเกี้ยว และฉัตร 7 ชั้น รายล้อมด้วยลายเครือเถา เทวดา และคนธรรพ์ พื้นด้านหลังประดับกระเบื้องสีน้ำเงิน
วิหารหลวงหันหน้าไปทางทิศใต้ ด้านหน้าวิหารมีหอเทียน หอระฆัง ด้านละคู่ ทางขึ้นสู่อาคารวิหารมีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านข้าง มีประตูทางเข้า 3 บาน (ตรงกลางเป็นประตูสำหรับกษัตริย์) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้น ไม่ได้ลงสี บานประตูวาดภาพเขียนสี รูปยักษ์ทวารบาล บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ ภายในอาคารทาสีขาวเรียบ ไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ เรียงจากด้านหลังมาด้านหน้า ได้แก่
- พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร หรือปางห้ามญาติ เป็นพระพุทธรูปองค์ที่อยู่ด้านในสุด อยู่ในอริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ทั้ง 2 ขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ไปด้านหน้า เบื้องหลังองค์พระปฏิมาประดับเป็นซุ้มทรงสูงประกอบลวดลายสวยงาม พระพุทธรูปปางห้ามญาตินี้ เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของรัชกาลที่ 3 และเป็นปางที่นิยมตั้งไว้ในวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ หรือทะเล ด้วยความเชื่อที่ว่าช่วยปกป้องคุ้มครองจากภัยทางน้ำด้วย
- พระปฏิมาชัยวัฒน์* หรือพระชัย หรือพระชัยหลังช้าง เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง ถัดมาด้านหน้าพระยืน พุทธลักษณะคล้ายปางมารวิชัย อิริยาบทประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาวางพาดอยู่บนพระเพลา (ตัก) ส่วนพระหัตถ์ซ้ายแตกต่างไปตรง ถือพัดยศแทนการวางพระหัตถ์บนพระเพลา
นอกจากนี้ด้านหน้ายังประกอบด้วย พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรองค์เล็ก และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก 2 องค์
* พระชัยวัฒน์ หรือพระไชยวัฒน์ มีความหมายว่า การชนะอุปสรรค ชนะศัตรู และภัยอันตรายทั้งปวง เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระเจ้าแผ่นดินในทุกรัชกาล มักจะได้รับการอัญเชิญร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระบรมราชาภิเษก การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตลอดจนอัญเชิญร่วมขบวนเสด็จ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินออกนอกพระนครไปยังที่ต่างๆ เช่น การเสด็จประพาสทางบก ทางน้ำ รวมถึงการนำพระชัยไปในการศึกด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลในการสงคราม (จึงเรียกว่า พระชัยหลังช้าง) พระชัยวัฒน์มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย ที่พิเศษกว่า คือพระหัตถ์ซ้ายจะอยู่ในลักษณะถือด้าม
หอเทียน หอระฆัง
หอเทียนและหอระฆังตั้งอยู่หน้าวิหารหลวง อย่างละคู่ เป็นหอที่สร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีลักษณะดังนี้
- หอเทียน ด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมสูง ด้านบนทำเป็นซุ้มทรงสูง หอเทียนเป็นที่วางประทีปโคมไฟ ในยุคที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง คอยให้แสงสว่างกับผู้ที่มากราบสักการะองค์พระสมุทรเจดีย์ยามค่ำคืน
- หอระฆัง สร้างให้มีความสูงจากพื้นไม่มาก เป็นซุ้มขนาดใหญ่ เป็นความเชื่อที่ว่า เมื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์แล้ว การเคาะระฆังเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยดาให้รับรู้ และร่วมอนุโมทนาบุญ
ศาลาทรงยุโรป
ศาลาทรงยุโรป หรือศาลาห้าห้อง บ้างก็เรียกตึกฝรั่ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์ ฝั่งตรงข้ามกับพระวิหารหลวง ศาลาหลังนี้สร้างเพิ่มเติมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรื้อศาลาหลังเก่าออก และสร้างอาคารทรงยุโรปขึ้นแทน เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ลักษณะเป็นอาคารทรงหลี่ยมผืนผ้า ผนังอาคารด้านข้างเจาะประตูสูงด้านละ 5 บาน (5 ห้อง) ด้านหน้าเจาะประตูสูง 4 บาน ประตูทุกบานติดกระจกใส ส่วนบนของประตูเป็นทรงโค้งมนแบบฝรั่ง ช่วงบนติดกระจกสี ช่วงล่างเป็นกระจกใสเปิดออกรับลมได้ 3 ด้าน ภายในเป็นโถงใหญ่ พื้นปูกระเบื้อง มีเสากลมเป็นคู่ๆ ส่วนบนของเสาทำเป็นสายรัดลายดอกไม้และพวงอุบะ
เหนือช่องประตูด้านข้าง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังต่อเนื่องยาวแบบพาโนรามา ภายในภาพแสดงการจัดงานเฉลิมฉลอง สมโภชองค์พระสมุทรเจดีย์ในครั้งแรก ครั้งที่องค์เจดีย์ยังคงเป็นแบบย่อมุมไม้ตามต้นแบบเดิม มีขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค การจัดแสดงมหรสพ และงานออกร้านอยู่ภายในเรือแพ
ภายในศาลาทรงยุโรป ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้ดำริให้สร้างองค์พระสมุทรเจดีย์ ทางจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งไว้เพื่อเป็นการรำลึก เพื่อแสดงความจงรักภักดี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2539
* ศาลาห้าห้องทรงยุโรป บางวันอาจไม่ได้เปิดให้เข้าชมด้านใน
เสาหินหัวเหลี่ยม
เป็นเสาที่เห็นเรียงรายอยู่รอบบริเวณพระสมุทรเจดีย์ เสาทรงสี่เหลี่ยมมีความสูงไม่มากนัก โคนฝังอยู่ในดิน ส่วนบนเป็นสี่เหลี่ยมเรียบ สันนิษฐานว่าเดิมองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนเกาะ เสานี้จึงเป็นสิ่งแสดงขอบเขตขององค์พระสมุทรเจดีย์ ส่วนบนของเสาสำหรับวางโคมตะเกียง เมื่อชาวบ้านนำเรือเดินทางมาสักการะองค์พระสมุทรเจดีย์ยามค่ำคืน
เสาหินทราย
เป็นแท่งเสาหินฝังอยู่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์เช่นกัน และอยู่ใกล้กับเสาหินหัวเหลี่ยม มีลักษณะเป็นเสากลมสูงพอๆ กับเสาหินหัวเหลี่ยม แต่มีหัวเสาทรงมนเป็นรูปบัวตูม มีไว้สำหรับผูกเรือผู้ที่มากราบสักการะองค์พระเจดีย์
ท่าเทียบเรือเก่า
เป็นท่าเทียบเรือดั้งเดิม เดิมเป็นท่าที่สร้างยื่นจากเกาะพระสมุทรเจดีย์ออกไป ปัจจุบันท่าเทียบเรือนี้อยู่บนพื้นดิน และไม่ได้ใช้แล้ว สันนิษฐานว่า เดิมเป็นท่าเทียบเรือพระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และยกยอดพระเจดีย์
ศาลาราย
ศาลารายดั้งเดิม ยังคงเหลือให้เห็นอยู่ 2 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก (ทางฝั่งแม่น้ำ) และทิศตะวันตกของเจดีย์ เป็นอาคารชั้นเดียวเล็กๆ รูปลักษณ์แบบเก๋งจีน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมมีด้วยกันทั้งหมด 4 หลัง หลังที่อยู่ทางทิศใต้ รัชกาลที่ 4 โปรดให้รื้อออกแล้วสร้างวิหารหลวงแทน ส่วนหลังที่อยู่ทางทิศเหนือ รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างเป็นศาลาทรงยุโรปแทน
ศาลารายที่เห็นอยู่ เป็นศิลปะแบบจีนตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างเป็นอาคารทึบ 3 ด้าน เจาะผนังเป็นช่องทรงกลม ศาลานี้สร้างเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับผู้ที่เดินทางมานมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์
ต้นโพธิ์พุทธคยา
เป็นต้นโพธิ์จากประเทศอินเดีย อยู่ใกล้กับศาลาทรงยุโรป รัชกาลที่ 4 ทรงกั้นบริเวณ และปลูกต้นโพธิ์ไว้ ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้สร้างฐานและนำต้นใหม่มาปลูกแทนต้นเดิมที่ตายไป
ประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ (ดูรายละเอียด งานประเพณีประจำปี)
ประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ นับเป็นประเพณีเก่าแก่ ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ.2371 (189 ปีมาแล้ว) ภายหลังที่สร้างองค์พระสมุทรเจดีย์สร้างเสร็จในครั้งแรก ได้มีการฉลองสมโภช เพื่อเป็นการเคารพสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ และยังเป็นการประกาศให้ผู้ที่อยู่ไกลออกไปได้รู้ เมื่อเห็นผ้าใหม่ ก็จะรู้ว่าเป็นเวลาเทศกาลเฉลิมฉลององค์พระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบันประเพณีนี้ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11
งานแห่ผ้าแดง ขึ้นห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีการจัดแต่งรถขบวนแห่อย่างสวยงาม ขบวนรถบุปผชาติ ทั้งประเภทสวยงาม ด้านความคิดสร้างสรรค์ การเดินขบวนพาเหรด วงดุริยางค์ มีผู้เข้าร่วมขบวนจากหน่วยงานราชการ ข้าราชการ นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ รวมถึงประชาชนชาวสมุทรปราการ และนักท่องเที่ยวต่างถิ่นมากมาย
การจัดงานประเพณี จะประกอบด้วย การแห่ผ้าแดง การห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ การเวียนเทียนรอบองค์เจดีย์ และงานเฉลิมฉลอง
- การแห่ผ้าแดง
เป็นการจัดขบวนแห่ นำผ้าแดงผืนใหม่ที่จะใช้ห่มองค์เจดีย์ แห่ไปให้ชาวบ้านได้ร่วมบูชา อนุโมทนาบุญ ผ้าแดงที่จัดเตรียมไว้ จะมีการเตรียมตัดเย็บผ้ายาวติดเป็นผืนเดียวกันไว้ก่อน แล้วม้วนไว้เป็นก้อนกลม จัดวางบนพานดอกไม้ อัญเชิญขึ้นบุษบก แห่ไปพร้อมริ้วขบวนรถบุพชาติ จากนั้นมอบให้กับกองทัพเรือนำแห่ทางน้ำ ขึ้นบกที่อำเภอพระประแดง แล้วแห่บนบกให้ประชาชนและชาวพระประแดงได้ร่วมทำบุญ สักการะบูชา แล้วจึงนำกลับมายังพระสมุทรเจดีย์ เมื่อมาถึงบริเวณองค์พระสมุทรเจดีย์ จะคลี่กางผ้าออกเป็นผืนใหญ่ ให้ประชาชนและผู้ร่วมพิธีช่วยกันจับผืนผ้าเดินแห่ทักษิณาวรรต รอบองค์เจดีย์อีกครั้ง การแห่รอบองค์เจดีย์นี้จะมีผู้คนร่วมกันจับผ้าแดง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
- การห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์ในรูปแบบเดิมที่เริ่มสร้างนั้นเป็นแบบย่อมุม มีเหลี่ยมมุมให้ปีนขึ้นไปได้ง่าย และเจดีย์ยังไม่สูงเท่าปัจจุบัน ทำให้นำผ้าขึ้นไปห่มองค์เจดีย์ได้ไม่ยากนัก ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างองค์ใหม่ครอบไว้ เป็นทรงกลมสูงมาก ทั้งยังเป็นทรงกลมที่ปีนได้ยาก จึงหาผู้ที่จะปีนขึ้นไปห่มผ้าพระเจดีย์ไม่ได้ ในที่สุดมีผู้อาสาปีนขึ้นไปห่มผ้าแดงให้กับองค์เจดีย์เป็นคนแรกคือ นายรอด รุ่งแจ้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตระกูลรุ่งแจ้ง ถือว่าเป็นตระกูลที่ได้รับการสืบทอด นำผ้าขึ้นห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
การขึ้นห่มผ้าแด่องค์พระสมุทรเจดีย์นั้น ยังคงใช้วิธีการแบบเก่าคือใช้คนปีนบันไดไม้ไผ่ นำผ้าขึ้นไปห่มด้านบนเลย เมื่อทำพิธีแห่ผ้าแดงรอบองค์เจดีย์แล้ว จะเปลี่ยนเป็นม้วนผ้าแดงตามแนวยาวของผ้า จากนั้นผู้ที่นำผ้าขึ้นห่ม จะต่อพะอง (บันไดไม้ไผ่) พาดองค์เจดีย์แล้วปีนนำผ้าขึ้นไป เมื่อถึงบริเวณบัลลังก์สี่เหลี่ยมจะต้องค่อยๆ คลี่ปลายผ้าลงมาจากทุกด้าน ผู้ที่คลายผ้าด้านต่างๆ จะโรยตัวมาตามเชือก จับให้ผ้าแดงแนบองค์เจดีย์ การห่มจะห่มเฉพาะตรงองค์ระฆัง ที่อยู่ใต้บัลลังก์สี่เหลี่ยมลงมา (เป็นส่วนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) ห่มจากบนลงล่าง ให้คลุมองค์ระฆังไว้ทั้งหมด แล้วมัดปลายผ้าไว้ให้ตึง
- พิธีเวียนเทียนรอบองค์พระสมุทรเจดีย์
เป็นการเวียนเทียนรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ หลังจากที่ห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์แล้ว เป็นการสักการะต่อพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์
- งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ และงานกาชาด
นับเป็นงานใหญ่ของจังหวัดสมุทรปราการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการเฉลิมฉลองสมโภชหลังจากที่ห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์แล้ว มีการจัดงานรื่นเริง การแสดงมหรสพ ประดับไฟเจดีย์ แสงสีเสียง การแข่งเรือพาย มีการออกร้านแบบงานกาชาด ขายของกินของใช้มากมาย ในบริเวณทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำ ฝั่งพระสมุทรเจดีย์มีการประดับประดาไฟ จัดงานร้านค้า ฝั่งศาลากลางจังหวัด ก็ออกร้าน และมีการแสดงมากมายเช่นกัน แต่เดิมมีการจัดงาน 7 วัน 7 คืน หลังจากนั้นเป็น 9 วัน 9 คืน ไปจนถึง 10-12 วัน
การเดินทาง
ห่างจากป้อมผีเสื้อสมุทร 400 เมตร
ห่างจากป้อมพระจุลจอมเกล้า 7 กิโลเมตร
ห่างจากอำเภอพระประแดง 14 กิโลเมตร
ห่างจากวัดสาขลา 13 กิโลเมตร
เส้นทางรถยนต์
เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> พระสมุทรเจดีย์
1 | ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าไปทางพระประแดง ผ่านแยกวัดสน แยกสะพานภูมิพล สามแยกพระประแดง บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) แยกถนนกาญจนาภิเษก ตรงตามป้ายป้อมพระจุลจอมเกล้า |
2 | จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ตรงหอนาฬิกา) จึงเบี่ยงซ้ายตามป้ายบอกทางไปพระสมุทรเจดีย์ |
3 | เมื่อเลี้ยวซ้ายมาแล้ว ตรงไปอีกเกือบๆ 1 กิโลเมตร จนสุดทางที่องค์พระสมุทรเจดีย์ (อยู่ทางซ้ายมือ) เลี้ยวซ้ายนำรถเข้าไปจอดในบริเวณด้านข้างองค์พระสมุทรเจดีย์ได้ |
* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนอง พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) แล้วชิดซ้ายเพื่อออกถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามป้ายบอกทาง ป้อมพระจุลจอมเกล้า
** หากใช้วงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล (จากถนนปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ถนนพระราม 3) ตามป้ายบอกทางลงถนนสุขสวัสดิ์ (พระประแดง) จากนั้นตรงตามป้ายบอกทาง ป้อมพระจุลจอมเกล้า
*** หากใช้ถนนวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก (จากฝั่งตะวันออก หรือ ฝั่งตะวันตก) ตามป้ายทางออกถนนสุขสวัสดิ์ (พระสมุทรเจดีย์) เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ
รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด รถโดยสารประจำทาง)
รถเมล์
- หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.20 (ท่าน้ำดินแดง - พระสมุทรเจดีย์) ลงสุดสายที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์
- เดินออกจากท่าเรือแล้วเลี้ยวขวาไปราว 300 เมตร
สาย ปอ. 20 ท่าดินแดง - พระสมุทรเจดีย์ (รถแอร์ ยูโรสีส้ม)
เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำท่าดินแดง - ถนนลาดหญ้า - วงเวียนใหญ่ - ตลาดวงเวียนใหญ่ - แยกตากสิน - แยกมไหศวรรย์ - บิ๊กซีดาวคะนอง - บางปะแก้ว - บิ๊กซีบางปะกอก - โรงพยาบาลบางปะกอก 1 - แยกประชาอุทิศ - ถนนสุขสวัสดิ์ - กม.9(ลงทางด่วน) - แยกวัดสน - แยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - วัดใหญ่ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์(หอนาฬิกา) - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์
** สาย 20 ที่เป็นรถมินิบัส (รถร้อน) จะสุดที่บิ๊กซีพระประแดง ไปไม่ถึงพระสมุทรเจดีย์ หากนั่งสายนี้มา ให้ลงรถที่บิ๊กซี แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์
* หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.140 (ทางด่วน), ปอ.142 (ทางด่วน) พอลงจากทางด่วนแล้ว ให้ลงรถเมล์ป้ายแรก แล้วต่อรถเมล์สาย ปอ.20 (ให้ขึ้นเฉพาะรถใหญ่ รถมินิบัสจะไปไม่ถึง)
** หากขึ้นรถเมล์สาย 35, 138(ที่เป็นรถไปอู่ราชประชา), สาย 20(ที่เป็นรถมินิบัส) ลงรถที่ป้ายบิ๊กซี พระประแดง จากนั้นต่อสาย ปอ.20 หรือรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์
รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1146) พระประแดง - พระสมุทรเจดีย์
เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำพระประแดง - ตลาดพระประแดง - วัดกลาง - ถนนนครเขื่อนขันธ์ - สามแยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - วัดครุใน - รพ.บางปะกอก 3 - แยกถนนกาญจนาภิเษก - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - แยกพระสมุทรเจดีย์ - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์
รถตู้ (ดูรายละเอียด รถตู้)
- นั่งรถตู้สาย บางปะแก้ว - พระสมุทรเจดีย์ (คิวรถอยู่แถวตลาดบางปะกอก ช่วงแยกพระราม 2)
เรือข้ามฟาก (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)
ท่าเรือวิบูลย์ศรี (ตลาดปากน้ำ) - ท่าพระสมุทรเจดีย์
- นั่งเรือข้ามฟากจากตัวเมืองปากน้ำ (ท่าเรือวิบูลย์ศรี) ตรงตลาดปากน้ำ มาขึ้นท่าพระสมุทรเจดีย์
- ออกจากท่าเรือแล้ว เดินเลี้ยวขวาไปทางองค์พระสมุทรเจดีย์ (ประมาณ 300 เมตร)
ท่าเรือเภตรา (ปู่เจ้าสมิงพราย) - ท่าพระประแดง
- นั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือเภตรา ตรงสุดถนนปู่เจ้าสมิงพราย มาขึ้นฝั่งที่ท่าพระประแดง
- จากนั้นขึ้นรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ (ขึ้นแถวท่าน้ำได้) ไปลงสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์
ข้อมูลการติดต่อ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
เวลาเปิด 07.00 - 19.00 น.
ที่อยู่ 114 หมู่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ - พระสมุทรเจดีย์ ตำบลปากคลองปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 10290
โทร. (ไม่มีข้อมูล)