จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติสมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน นานยิ่งกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก จากการสืบความตามชื่อเมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในบริเวณนี้ มีด้วยกัน 3 ชื่อ 3 เมือง คือ เมืองพระประแดง เมืองสมุทรปราการ เมืองนครเขื่อนขันธ์

"เมืองพระประแดง" เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยที่ขอมรุ่งเรือง และอาศัยอยู่ในแถบปากแม่น้ำนี้ กล่าวกันว่า คำว่า ประแดง หรือบาแดง มาจากภาษาขอมโบราณ แปลว่า คนนำสาร หรือ คนส่งข่าวสาร ที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองหน้าด่าน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น จะต้องแจ้งข่าวไปยังเมืองหลวง (เมืองละโว้ในเวลานั้น) บ้างก็ว่า ชื่อพระประแดง มาจากคำว่า ผะแดง หรือ แผดง มีรากคำมาจาก กัมรเตง เป็นยศเรียกผู้เป็นใหญ่ ผู้ที่มียศชั้นสูง หรือใช้นำหน้ารูปเคารพ

ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานในพงศาวดารอยุธยา กล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ.2051 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงให้คนมาขุดรอกคลองสำโรง แล้วพบเทวรูปขอม 2 องค์ ในคลองสำโรง ตรงบริเวณคลองทับนาง เทวรูปทั้งสองมีชื่อว่า พระยาแสนตา และบาทสังข์กร พระองค์ทรงโปรดให้สร้างศาลไว้ ณ บริเวณนั้น ซึ่งต่อมาในสมัยที่พระธรรมราชาธิราชเจ้า ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอยุธยา ได้มีกษัตริย์แห่งกัมพูชา คือพระยาละแวก ยกทัพเข้ามาทางปากแม่น้ำเมืองพระประแดง เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จ จึงยกทัพกลับไป พร้อมยังนำเทวรูปที่ขุดพบขึ้นได้นี้กลับเมืองไปด้วย

เมืองพระประแดงเดิมในสมัยขอมนั้น เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือบริเวณที่ทำการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

ต่อมาพื้นดินบริเวณปากแม่น้ำเกิดการตื้นเขิน มีแผ่นดินงอกออกไปเรื่อยๆ จึงทำให้เมืองพระประแดง ไกลจากปากแม่น้ำออกไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน เมืองพระประแดงจึงได้ลดบทบาทลง จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากกอบกู้เอกราชได้แล้ว ทรงสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ได้รับสั่งให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดง นำมาสร้างพระราชวัง จึงทำให้เมืองพระประแดงบริเวณนั้นได้สูญหายไปด้วย

"เมืองสมุทรปราการ" สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (กษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วง ปี พ.ศ.2154 - 2171) ครั้งแรกที่สร้างขึ้นนั้นอยู่บริเวณคลองปลากด ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในสมัยนั้นพื้นที่ส่วนนี้ เป็นบริเวณที่มีความเจริญทางการค้ากับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวฮอลันดา* จนได้รับการขนานนามว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม" (New Amsterdam) ต่อมาภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า คาดว่าเมืองสมุทรปราการได้ถูกทำลาย กลายเป็นเมืองร้างไปด้วย

* ชาวฮอลันดา ชาวดัตช์ ชาววิลันดา (เป็นชื่อที่ชาวสยามเรียกกัน) หมายถึง คนที่มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ (Nederland or Netherlands) ประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป (ติดกับประเทศเบลเยี่ยม และเยอรมัน) มีเมืองอัมสเตอร์ดัม เป็นเมืองหลวง ชาวฮอลันดานับเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาค้าขายกับไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2147 หรือประมาณ 413 ปีมาแล้ว (สำหรับคำว่า "ฮอลแลนด์" ที่มักจะมีคนพูดถึงนั้น เป็นแค่ภูมิภาคหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งประเทศ)

จนกระทั่งเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ และย้ายราชธานีมาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง และป้อมเมืองรอบเมือง (บริเวณวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน) และทรงโปรดให้สร้างป้อมปราการ ชื่อว่า ป้อมวิทยาคม ไว้ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่เป็นบริเวณตรงข้ามกับอำเภอพระประแดงในปัจจุบัน)  

สืบมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงสานต่อการสร้างป้อมปราการ เพิ่มเติมจากป้อมวิทยาคม โปรดให้สร้างป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร ไว้ทางฝั่งเดียวกัน และเพิ่มเติมป้อมทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (ฝั่งตะวันตก) โปรดให้สร้างป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด และป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ จากนั้นได้ทำสายโซ่คล้องทุ่น ขึงระหว่างป้อมทั้งสองฝั่ง เพื่อกั้นแม่น้ำสำหรับการตรวจตรา และยังดำริให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ในบริเวณคลองปากลัด ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลแห่งใหม่ พร้อมตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์"

"เมืองนครเขื่อนขันธ์" ในรัชกาลที่ 2 สร้างขึ้นบริเวณระหว่างคลองลัดหลวง กับคลองลัดโพธิ์ ส่วนใหญ่จึงมักถูกเรียกว่า เมืองปากลัด จากนั้นทรงโปรดให้สร้างป้อมเพชรหึง ในบริเวณเมืองนครเขื่อนขันธ์ สร้างวัดทรงธรรม ไว้เป็นวัดประจำเมือง และให้พระยาเจ่งพาครอบครัวชาวมอญ ย้ายจากจังหวัดปทุมธานีลงมาประจำถิ่นฐาน ณ เมืองใหม่

ส่วนเมืองสมุทรปราการ ที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านตั้งแต่สมัยอยุธยา พอถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ชำรุดทรุดโทรมไปมาก พระองค์จึงทรงรับสั่ง ให้ปรับปรุงเมืองสมุทรปราการขึ้นมาใหม่ แล้วสร้างป้อมปราการขึ้นมาอีก 6 ป้อม ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยมีป้อมทางฝั่งตะวันตก คือ ป้อมนาคราช และป้อมผีเสื้อสมุทร ส่วนทางฝั่งตะวันออกมี ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ และป้อมกายสิทธิ์

ในขณะที่สร้างป้อมปราการ รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่า มีเกาะหาดทรายอยู่บริเวณท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร จึงทรงดำริให้สร้างพระสมุทรเจดีย์ ไว้บนเกาะกลางน้ำนั้น เพื่อให้เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อการสักการะบูชา สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เมือง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงออกแบบการสร้างพระสมุทรเจดีย์ด้วยพระองค์เอง แต่ก็ยังมิทันได้เริ่มสร้าง พระองค์ได้เสด็จสวรรคตลงเสียก่อน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ จึงทรงสานต่อ์การสร้างเจดีย์ของพระบิดา จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2371 ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีการฉลองสมโภชพระเจดีย์ครั้งใหญ่

ล่วงมาจนถึงสมัย รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงเสร็จประพาสเมืองสมุทรปราการ แล้วแวะนมัสการพระสมุทรเจดีย์ ในปี พ.ศ.2403 ทรงเห็นว่าพระเจดีย์ดูทรุดโทรม และไม่สูงสง่าเท่าที่ควร ทั้งยังทรงทราบข่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุภายในองค์เจดีย์ ได้ถูกโจรปีนขึ้นไปขโมยไปหมดแล้ว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ ครอบทับเจดีย์องค์เดิมไว้

พระสมุทรเจดีย์องค์ใหม่ ในรัชกาลที่ 4 สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2504 เป็นเจดีย์ทรงกลม ตามแบบเจดีย์อยุธยา มีขนาดสูงใหญ่กว่าเดิม ดูโดดเด่นเป็นสง่า สมกับเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้ใหม่ จากนั้นทรงประกอบพระราชพิธียกยอดพระสมุทรเจดีย์ แล้วทรงห่มผ้าแดงเจดีย์ เพื่อเป็นการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ภายใน

ต่อมาในช่วงรัชสมัยของ รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย รวมถึงเมืองสมุทรปราการด้วย ด้วยเป็นช่วงการล่าอาณานิคม จากประเทศตะวันตก ที่ต้องการยึดครองประเทศที่ด้อยกว่า พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการพัฒนา รับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพื่อให้มีความทันสมัย ทัดเทียมกับอารยประเทศ (อารยประเทศ คือ ประเทศที่เจริญแล้ว หรือชาติตะวันตกในเวลานั้น) และเตรียมเฝ้าระวังภัย ที่อาจมาจากการรุกรานของต่างชาติ ในช่วงนี้จึงมีการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับเมืองสมุทรปราการในหลายๆ ด้านด้วยกัน ดังนี้


ทางรถไฟสายแรกของไทย

ทางรถไฟสายปากน้ำ นับเป็นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาติให้บริษัท รถไฟปากน้ำ (กอมปานีรถไฟ) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนชาวเดนมาร์ก ได้สัมปทานในการเดินรถไฟ ตั้งแต่สถานีหัวลำโพง ไปจนถึงสถานีปากน้ำ โดยแบ่งเป็น 12 สถานี คือ หัวลำโพง ศาลาแดง คลองเตย บ้านกล้วย พระโขนง บางจาก บางนา สำโรง จอรเข้ บางนางเกรง มหาวง และปากน้ำ มีระยะทาง 21.3 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายนี้ ใช้รถไฟหัวรถจักรไอน้ำในการเดินรถ และได้รับสัมปทานการจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยเริ่มเปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2436 หลังจากสิ้นสุดสัมปทานลง การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ซื้อเส้นทางรถไฟมาดำเนินการต่อ และเปลี่ยนเป็นใช้รถรางแทน ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2503 รวมระยะเวลาของเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ 67 ปี

เส้นทางรถไฟสายปากน้ำในปัจจุบันนี้ ไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว รางรถไฟได้ถูกรื้อ บางส่วนมีการถมคูคลอง เพื่อสร้างเป็นถนนพระราม 4 (ช่วงหัวลำโพง ถึงตลาดคลองเตย) และ ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ (ช่วงข้างตลาดคลองเตยต่อจากถนนพระราม 4 ไปจนถึงบริเวณตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ) ส่วนสถานีปากน้ำก็ถูกรื้อไป และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือข้ามฟาก และตลาดปากน้ำในปัจจุบัน


โทรเลขสายแรกของไทย

ระบบการสื่อสารโทรเลข นับเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และรวดเร็วที่สุดในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โทรเลขสายแรกของไทย เป็นสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดสมุทรปราการ (ปากน้ำ) สายโทรเลขยังส่งต่อเคเบิลใต้น้ำ ไปยังประภาคารสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา (หรือที่เรียกว่ากระโจมไฟสันดอน) เพื่อใช้รับส่งข่าวสารของทางราชการ เกี่ยวกับเรือที่ผ่านเข้าออกปากแม่น้ำ

ระบบโทรเลขเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอนุมัติให้ชาวอังกฤษ จัดตั้งและก่อสร้างเส้นทางโทรเลขขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถติดตั้งได้สำเร็จ จนกระทั่ง 6 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2418 ทางรัฐบาลไทย โดยกรมกลาโหม ได้ดำเนินการสร้างเส้นทางโทรเลขเอง จนสำเร็จเป็นสายแรก คือ สายโทรเลขกรุงเทพฯ - ปากน้ำ

หลายคนในยุคนี้ อาจไม่รู้จัก หรือไม่ทันการบริการโทรเลข (Telegraph) ซึ่งเป็นการสื่อสารที่คนไทยสมัยก่อน เรียกตามการเลียนเสียงภาษาอังกฤษว่า ตะแล็บแก๊บ

เทคโนโลยีการส่งโทรเลขในยุคแรกๆ นั้น จะประกอบด้วยสายโทรเลข และอุปกรณ์การส่งโทรเลข สายโทรเลขจะโยงถึงกัน โดยติดตั้งเสาค้ำสายโทรเลขไว้ ในลักษณะเดียวกับการเดินสายไฟ ที่โยงจากเสาไฟฟ้าแต่ละต้นไปตลอดแนว (เสาโทรเลขส่วนใหญ่ จึงมักจะติดตั้งขนานไปกับรางรถไฟ) ส่วนอุปกรณ์การส่งโทรเลข จะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถส่งสัญญาณถึงกันได้ โดยใช้คันเคาะให้เกิดเสียง เพื่อส่งสัญญาณด้วยรหัสมอร์สสากล*

* รหัสมอร์ส (Morse code) คิดค้นขึ้นในปี พ.ศ.2380 โดยชาวอเมริกัน ชื่อซามูเอล ฟินลีย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breese Morse) เป็นการสื่อสารโดยผ่านสัญญาณเสียง สัญญาณไฟ หรือการเคาะจังหวะ โดยใช้สัญญาณสั้น "."​ (ดอท หรือ จุด) และสัญญาณยาว "-" (แดช หรือ ขีด) เพื่อแปลงเป็นตัวอักษร แล้วนำมาผสมเป็นคำ (การใช้จะต้องจำชุดตัวอักษรควบคู่กับการส่งรหัส) การใช้รหัสมอร์ส ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการส่งโทรเลข โดยใช้เครื่องเคาะสัญญาณในจังหวะสั้นและยาว ซึ่งการส่งโทรเลขในประเทศไทยครั้งแรก ก็ใช้รหัสมอร์ส ที่แปลงเป็นตัวอักษรโรมัน ซึ่งมักจะเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร ต่อมาจึงมีการจัดชุดรหัสมอร์ส ที่แปลงให้เป็นตัวอักษรไทยแทน

การส่งโทรเลขในยุคแรกๆ ค่อนข้างแพง จึงมักใช้ข้อความสั้นๆ และใช้กรณีจำเป็นเท่านั้น ต่อมาเทคโนโลยีโทรเลขได้มีพัฒนาการ ไปเป็นวิทยุโทรเลข โทรพิมพ์ และคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งมีการสื่อสารทางโทรศัพท์เข้ามา จึงทำให้การส่งโทรเลขค่อยๆ ลดบทบาทลง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2551 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ได้ประกาศยกเลิกการใช้โทรเลขอย่างเป็นทางการ รวมระยะเวลาในการใช้งานโทรเลขในประเทศไทย ยาวนานถึง 133 ปี


การใช้โทรศัพท์ครั้งแรกของไทย

โทรศัพท์ในประเทศไทย มีใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2424 โดยติดตั้งไว้ที่กรุงเทพฯ และที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทดลองการใช้งาน โดยจุดประสงค์หลักคือ การส่งข่าวสารทางราชการ  โดยสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เจ้ากรมกลาโหมในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลการติดตั้ง และทดลองใช้โทรศัพท์ควบคู่ไปกับสายโทรเลข

* โทรศัพท์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นคิดได้ในปี พ.ศ.2419 โดยชาวอเมริกัน ชื่อ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Gramham Bell) เป็นระบบการทำงานที่จะต้องมีเครื่องส่ง และเครื่องรับสัญญาณ โดยเครื่องส่งสัญญาณจะแปลงคลื่นเสียง ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นเครื่องรับจะแปลงสัญญาณไฟฟ้า ให้กลับเป็นเสียงออกมา


ป้อมปืนที่ทันสมัยที่สุด

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประเทศชาติ ในช่วงที่ชาวตะวันตกกำลังขยายอำนาจ มาทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ทรงเตรียมการด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยโปรดให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ไว้ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ในปี พ.ศ.2427 ยังปรับปรุงป้อมผีเสื้อสมุทร ที่สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากนั้นทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปืนเสือหมอบ ที่เป็นปืนที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น มาประจำป้อมไว้ 10 กระบอก (ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า 7 กระบอก และ ป้อมผีเสื้อสมุทร 3 กระบอก)

ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ในการร่วมปฏิบัติภารกิจปกป้องประเทศชาติ ในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ปากน้ำ (Paknam Incident) และวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในปี พ.ศ.2436

จังหวัดสมุทรปราการ หรือ เมืองปากน้ำ เป็นจังหวัดปริมณฑล ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร มีพื้นทีที่ติดกับ ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลออกสู่อ่าวไทย จึงได้เรียกว่าเมืองปากแม่น้ำ หรือปากน้ำ เมืองนี้เคยเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความรุ่งเรืองในอดีต และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นเสมือนประตูสู่การค้า เก็บภาษีและ ตรวจตราการรับส่งสินค้าที่มาจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นปราการด่านแรก ที่คอยเฝ้าระวังภัยจากผู้รุกรานทางทะเลอีกด้วย

* ปริมณฑล หมายถึง จังหวัดที่ตั้งอยู่โดยรอบกรุงเทพมหานคร และมีพื้นที่ติดกับกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่รองรับการขยายตัว เป็นการกระจายความเจริญออกจากจุดศูนย์กลางกรุงเทพฯ จังหวัดที่อยู่ในเขตปริมณฑลตามที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร แต่ละจังหวัดมีเส้นทางคมนาคมต่อกับกรุงเทพมหานคร จนบางพื้นที่แทบจะแยกไม่ออกเลยว่าพื้นที่ไหนเป็นกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล

แม้ปัจจุบันนี้บทบาทของเมืองสมุทรปราการได้เปลี่ยนไป แต่ความสำคัญก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคเศรษฐกิจสังคม การเมือง การอุตสาหกรรม การขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ สมุทรปราการเป็นเขตที่ตั้งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และนักท่องเที่ยวจากนานับประเทศ

ความเจริญของเมืองสมุทรปราการ กำลังพัฒนาต่อยอดออกไปในแทบทุกด้าน ขณะเดียวกันชุมชน คนพื้นถิ่นก็ยังคงอนุรักษ์ รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม และยังคงสืบสานประเพณีเก่าแก่แต่โบราณเอาไว้ ให้ลูกหลานได้รำลึกถึง สมุทรปราการจึงเป็นเมืองที่ผสมกลมกลืนวัฒนธรรมเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว ครบถ้วนทั่ว ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า

"ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม"

อาณาเขตจังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศเหนือ        ติดกับกรุงเทพมหานคร (เขตบางนา ประเวศ ลาดกระบัง) และจังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมือง)
- ทิศใต้            ติดกับทะเลอ่าวไทย
- ทิศตะวันออก  ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์)
- ทิศตะวันตก    ติดกับกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี (แขวงบางมด เขตทุ่งครุ และ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน)

การแบ่งเขตการปกครอง
จังหวัดสมุทรปราการ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ 50 ตำบล 405 หมู่บ้าน อำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดคือ อำเภอบางพลี และอำเภอที่มีพื้นที่น้อยที่สุดคือ อำเภอพระประแดง ส่วนอำเภอที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก และปริมาณหนาแน่นกว่าที่อื่น ก็คือ อำเภอเมืองสมุทรปราการนั่นเอง อำเภอต่างๆ ในจังหวัด ได้แก่

1. อำเภอเมือง 4. อำเภอบางบ่อ
2. อำเภอบางพลี 5. อำเภอพระประแดง
3. อำเภอบางเสาธง 6. อำเภอพระสมุทรเจดีย์
การคมนาคมจังหวัดสมุทรปราการ

ในอดีต จังหวัดสมุทรปราการมีการการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก เพราะมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังมีลำคลองไหลผ่านหลายสาย ที่ขุดขึ้นเพื่อการคมนาคมโดยเฉพาะ อย่างคลองสำโรง คลองสรรพสามิต รวมถึงมีคลองธรรมชาติ ที่แยกสู่ส่วนต่างๆ ของพื้นที่อีกหลายแห่ง

การคมนาคมส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเรือจ้าง เรือข้ามฟาก และแพขนานยนต์ (แพที่บรรทุกรถยนต์ข้ามฟากได้) โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยา มักจะนิยมใช้แพขนานยนต์ในการข้ามฝั่งถึงกัน

ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือก่อนที่จะมีสะพานภูมิพล และสะพานกาญจนาภิเษก มีเพียงสะพานกรุงเทพ ที่ถือว่าใกล้ปากแม่น้ำมากที่สุด หากต้องการเดินทางข้ามฝั่ง ระหว่างฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วละก็ (โดยเฉพาะในเขตเมืองสมุทรปราการ) จะต้องขับรถอ้อมไปไกลเพื่อข้ามแม่น้ำ หรือต้องรอข้ามแพขนานยนต์เพื่อข้ามฟากแทน ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก และล่าช้าพอสมควร

จนกระทั่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงดำริให้จัดสร้างสะพาน ตามโครงการสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม โดยสร้างสะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2 เชื่อมต่อในช่วงอำเภอพระประแดง - ถนนพระราม 3 (กรุงเทพฯ) - ถนนปู่เจ้าสมิงพราย โยงใยถึงกัน จึงทำให้เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง และยังช่วยด้านการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ปัจจุบันการคมนาคมในเมืองสมุทรปราการมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ มีการตัดถนนที่ช่วยให้การคมนาคมคล่องตัวขึ้น

ผู้ที่ใช้รถยนต์สามารถใช้เส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางพิเศษ​ ระบบทางด่วน ถนนวงแหวนรอบนอก และถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ถึงกันได้ง่ายขึ้น การคมนาคมทางอากาศ ก็มีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เป็นหัวใจของการขนส่ง และการโดยสารระหว่างประเทศ มีเส้นทางพิเศษเข้าออกได้สะดวกรวดเร็ว รวมถึงมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ ที่เป็นการขนส่งสาธารณะ ช่วยให้เดินทางจากสนามบิน ไปยังใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ในเวลาเพียงไม่กี่นาที

 

การเดินทางไปสมุทรปราการ

การเดินทางไปยังสมุทรปราการนั้น ค่อนข้างสะดวก หากต้องขับรถไปก็มีเส้นทางหลักเข้าสู่ตัวเมืองได้หลายเส้นทาง หากเป็นคนกรุงเทพฯ สามารถทำความเข้าใจเส้นทางแต่ละสายได้ไม่ยากนัก เพราะถนนบางสายเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ​ เข้าสู่สมุทรปราการได้เลย เช่นถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ ถนนบางนา-ตราด แต่สำหรับคนต่างจังหวัดที่เพิ่งเคยเดินทางมาปากน้ำ หรือคนที่ไม่คุ้นเส้นทาง อาจจะมีความสับสนบ้าง เพราะมีถนนตัดผ่านหลายสาย คล้ายกรุงเทพฯ แต่ถ้าได้เช็คข้อมูลการเดินทางไว้คร่าวๆ ล่วงหน้า ก็ช่วยให้ถึงจุดหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือรู้เส้นทางที่เลี่ยงรถติดได้

สำหรับคนที่ต้องเดินทางโดยใช้รถสาธารณะทั่วไป สามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองปากได้สะดวก เพราะมีรถเมล์เข้าสู่ตัวเมืองปากน้ำหลายสาย ทั้งยังมีรถตู้ เรือข้ามฟาก และกำลังมีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ที่ขยายต่อจากสถานีแบริ่ง เข้าถึงปากน้ำเลย (จะเปิดให้บริการทั้งระบบ ในปี 2561-2562)

หากต้องการเดินทางภายในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จากตัวเมือง หรือจุดต่อรถสำคัญๆ ก็มีบริการรถสองแถว หรือรถเมล์ท้องถิ่น วิ่งตามเส้นทางต่างๆ เกือบทุกเส้นทาง ไปเกือบทุกพื้นที่ของจังหวัด

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ที่ การเดินทางสมุทรปราการ

สถานที่ท่องเที่ยวสมุทรปราการ

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งปากน้ำ และไม่ไกลจากตัวเมืองปากน้ำนัก (ยิ่งการคมนาคมสะดวกขึ้น การเดินทางก็ดูง่ายขึ้นด้วย) ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบบางปู ได้แก่ สถานตากอากาศบางปู เมืองโบราณ ฟาร์มจระเข้

นอกจากบริเวณบางปูแล้ว สถานที่เที่ยวภายในจังหวัดสมุทรปราการ ยังมีให้ชมอีกหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ตลาดน้ำโบราณบางพลี วัดหลวงพ่อโต (วัดบางพลีใหญ่ใน) พระนอนวัดบางพลีใหญ่กลาง วัดอโศการาม ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง เป็นต้น

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ทางฝั่งอำเภอพระประแดงนั้น มักจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นการเที่ยวชมชุมชมท้องถิ่น เช่นในบริเวณคุ้งบางกะเจ้า ที่เป็นสวนสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนทางธรรมชาติ ให้ผู้คนได้เดินเที่ยว ปั่นจักรยาน ทำกิจกรรมในวันหยุด ชมวัดวาอาราม ช้อปของกินในตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ส่วนในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ที่ควรค่าแก่การศึกษา เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมผีเสื้อสมุทร พระสมุทรเจดีย์ หรือจะชมวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ก็สามารถแวะเที่ยวที่บ้านสาขลา วัดสาขลา และบ้านขุนสมุทรจีน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม สถานที่ท่องเที่ยวสมุทรปราการ

ร้านอาหารสมุทรปราการ

คนที่มาเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมองหาร้านอาหารที่มีอาหารประเภทซีฟู้ด นั่งร้านบรรยากาศริมทะเล รับลม ชมวิวสวยๆ ดูพระอาทิตย์ตก ซึ่งร้านเหล่านี้มีให้เลือกอยู่มากมายในแถบบางปู

ส่วนคนที่ไม่เน้นวิว แต่ต้องการรับประทานอาหารถูกปาก ราคาถูกใจ ก็มีร้านท้องถิ่นที่ได้รับการแนะนำบอกต่ออยู่หลายร้าน รวมไปถึงร้านดัง ร้านที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ แล้วออกมาเปิดสาขาในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ก็มักจะเปิดร้านสาขาอยู่ตามริมถนนสายหลักของจังหวัด เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนบางนา-ตราด ถนนศรีนครินทร์ ถนนเทพารักษ์ เป็นต้น

สามารถดูข้อมูลร้านอาหารแนะนำได้ที่ ร้านอาหารสมุทรปราการ

ที่พักสมุทรปราการ

ผู้ที่ต้องการที่พักในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่มักจะมองหาที่พักใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ หรือจุดที่เดินทางไปยังสนามบินได้สะดวก และผู้ที่มองหาที่พักเพื่อการติดต่อทำธุระต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เช่น ติดต่อบริษัทในนิคมอุสาหกรรม โรงงาน หรือบริษัทต่างๆ อาจเดินทางมาเพื่อสมัครงาน นัดสัมภาษณ์งาน ดูงาน ฝึกอบรมสัมมนา ฝึกงานในโรงงาน รวมถึงผู้ที่หาที่พักที่สะดวกในการติดต่อสถานศึกษา หรือ โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งที่พักในจังหวัดสมุทรปราการ มีทั้งสไตล์โรงแรมหรู โรงแรมขนาดกลาง - ขนาดเล็ก ห้องพักสไตล์เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ห้องพักสไตล์คอนโดที่เปิดเป็นห้องพักรายวัน ส่วนที่พักสไตล์รีสอร์ทนั้นอาจมีให้เห็นไม่มากนัก

สำหรับผู้ที่ต้องการหาที่พักทางฝั่งอำเภอพระประแดง (ฝั่งธนบุรี) ก็มีที่พักสไตล์โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์อยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นที่พักสไตล์รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ที่ให้บริการที่พักพร้อมอาหารเย็น และบางครั้งก็รวมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางที่พักจัดขึ้นด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่พักสมุทรปราการ

ตลาดต่าง ๆ ใน สมุทรปราการ

การจับจ่ายซื้อสินค้าในตัวเมืองปากน้ำ มีตลาดปากน้ำ และตลาดสำโรง ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของสมุทรปราการ เป็นตลาดจำหน่ายของสด วัตถุดิบในการประกอบอาหาร อาหารทะเลซีฟู้ดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตลาดประเภทอื่นๆ อีกหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ตลาดโบราณ ตลาดท้องถิ่น ตลาดนัด ตลาดคลองถม ตลาดขายของส่ง ตลาดสำหรับเดินเล่น เป็นต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ตลาดต่าง ๆ ในสมุทรปราการ

ศูนย์การค้าในสมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการมีห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ห้างอิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง นับเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่รุ่งเรือง เฟื่องฟูที่สุดในอดีต บริเวณนี้ยังเป็นเสมือนประตูสู่เมืองปากน้ำ เมื่อเอ่ยถึงสำโรง คนก็มักจะนึกถึงอิมพีเรียลสำโรงก่อนเสมอ ซึ่งนอกจากจะเป็นย่านศูนย์การค้าขายแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของการบริการแทบทุกอย่าง มีโรงพยาบาล ร้านค้า ร้านหมอ ธนาคาร ตลาดสด ตลาดขายส่ง ตลาดเสื้อผ้า เป็นจุดต่อรถ มีรถเมล์ผ่านหลายสาย คิวรถตู้ คิวรถสองแถว ไปยังจุดต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง เช่น เมกาบางนา อิเกีย โรบินสัน รวมถึงศูนย์การค้าสไตล์คอมมูนิตี้ มอลล์ (มีลักษณะคล้ายห้าง แต่มีขนาดเล็กกว่าห้าง อาจมีอาคารที่มีจำนวนชั้นน้อยกว่า เน้นร้านอาหาร และร้านค้าที่แบ่งเป็นร้านๆ อาจจัดพื้นที่ให้เดินเล่นสไตล์ outdoor มากกว่าห้างสรรพสินค้า) ซึ่งก็เป็นจุดนัดพบ เดินเล่น พักผ่อน ช้อปปิ้ง แวะทานอาหาร ได้ด้วยเช่นกัน

การอุตสาหกรรมสมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ มีโรงงาน บริษัท ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งยังเป็นแหล่งการสร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดอาชีพ เกิดกลุ่มที่อยู่อาศัย แหล่งชุมชน แหล่งการค้า เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ระดับชุมชนต่อไปอีกด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญในสมุทรปราการ มี 2 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมบางพลี

* นิคมอุตสาหกรรม หมายถึงพื้นที่ หรือที่ดิน ที่จัดสรรไว้ให้สำหรับผู้ประกอบการ โรงงานต่างๆ มาตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้านจัดไว้ให้ เช่น ตัดถนนสำหรับเส้นทางการขนส่ง จัดสาธารณูปโภคให้พร้อมใช้งาน ติดตั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ การกำจัดขยะ น้ำเสีย มีแหล่งร้านค้า และการบริการแก่ผู้มาปฏิบัติงานในนิคมฯ เช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ที่พักอาศัย เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่ประมาณ 1,004 ตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครเสียอีก (กรุงเทพฯ​ มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร) ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ซึ่งผืนดินบริเวณนี้เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ จึงทำให้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก และมีแนวสโลปของพื้นที่ค่อนข้างน้อย จึงมักเกิดปัญหาการระบายน้ำได้ช้า เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน

พื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ มีส่วนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และส่วนที่ติดกับทะเลอ่าวไทยตอนบน หรือที่เรียกว่า อ่าวตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก.ไก่ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ริมชายฝั่งนี้มีความยาวรวมประมาณ 47.5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นดินโคลนเลน ดินเหนียว ดินเค็ม ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ป่าที่พบเป็นป่าชายเลน ป่าจาก แสม โกงกาง ที่ชอบน้ำกร่อย ไม่มีภูเขา หรือไม้ใหญ่ไม้เนื้อแข็ง บริเวณริมชายทะเลเป็นหาดโคลนสีดำ ไม่มีหาดทราย หรือชายหาด ในบางพื้นที่ของจังหวัด พบปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะจากน้ำทะเลด้วย เช่น ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอเมือง และอำเภอบางบ่อ

พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ มีอยู่ทั้งฝั่งซ้ายและขวา* ของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละพื้นที่ ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางต่างๆ กัน คือ

* ตามหลักสากลแล้ว การเรียกฝั่งแม่น้ำ (River bank) ว่าเป็นฝั่งซ้าย หรือฝั่งขวานั้น จะดูตามการไหลของน้ำ (ไม่ได้ดูตามภาพในแผนที่) การไหลของน้ำจะไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ เหนือลงใต้ หรือไหลออกไปทะเล ดังนั้นเวลาเรียกฝั่งแม่น้ำ เราจะต้องทำตัวเสมือนว่าเราเป็นแม่น้ำ ต้องหันหน้าไปทางทิศทางเดียวกับสายน้ำไหล หรือไปยืนต้นน้ำแล้วหันหน้าไปปลายน้ำ พื้นที่ทางซ้ายมือก็จะเรียกว่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ส่วนพื้นที่ขวามือก็จะเรียกว่าฝั่งขวา กรณีจังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งปากน้ำคือฝั่งซ้ายของแม่น้ำ และฝั่งอำเภอพระประแดงคือฝั่งขวา

- พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งอำเภอพระประแดง หรือทางฝั่งธนบุรี) จะมีการขยายตัวของเมืองช้ากว่าฝั่งปากน้ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ริมชายฝั่ง มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีพื้นที่สีเขียวในบริเวณคุ้งบางกะเจ้า ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นปอดสำหรับคนเมือง

- พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งปากน้ำ) ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาและขยายตัวเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว มีบริษัท และโรงงานขนาดต่างๆ กระจายตัวปะปนไปกับแหล่งชุมชน มีนิคมอุตสาหกรรม หมู่บ้านและกลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ การคมนาคมค่อนข้างสะดวกสบาย มีการตัดถนนเชื่อมต่อหลายสาย ทั้งยังมีทางด่วน ถนนวงแหวนรอบนอก สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ที่ช่วยให้การเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตัวเมืองสมุทรปราการ หรือที่คนเรียกสั้นๆ ว่า "ปากน้ำ" นั้น เป็นศูนย์กลางเมือง ที่มีสถานที่ราชการสำคัญของจังหวัดหลายแห่ง เช่น ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ ศาลากลางจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานสรรพากรจังหวัด ศาลจังหวัดสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่สถานที่ราชการเหล่านี้จะอยู่ใกล้ๆ กัน ในบริเวณใกล้แยกศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ

คนที่เข้ามาในตัวเมืองปากน้ำ นอกจากจะเข้ามาติดต่อกับหน่วยงานราชการแล้ว ส่วนหนึ่งคือเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะในเมือง ยังมีแหล่งการค้า หรือตลาดขนาดใหญ่ คือ ตลาดปากน้ำ ที่มีทั้งคนพื้นที่และคนต่างถิ่นเข้ามาเลือกซื้อหาของสด อาหารทะเลซีฟู้ดนานาชนิด ในบริเวณนี้ยังมีร้านขายสินค้า และบริการต่างๆ แทบทุกอย่าง เช่น ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น (ห้างอินฟินิท มอลล์) ร้านอาหาร ร้านทอง ธนาคาร โรงเรียน วัด ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นต้น

ภูมิอากาศในจังหวัดสมุทรปราการ

ภูมิอากาศในจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอ่าวไทย จึงค่อนข้างเย็นสบายแบบชายทะเล อุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่ต่างกันมากนัก ในฤดูร้อนอากาศก็ไม่ร้อนจัด และในฤดูหนาว ก็ไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28.9 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นจากทะเลเข้ามา เกิดฝนตกชุกด้านชายฝั่งทะเล ทั้งบางครั้งมีร่องมรสุม และพายุหมุนเขตร้อน อาจทำให้เกิดฝนหนาแน่นขึ้น จนเกิดน้ำท่วมขังได้ ช่วงที่เหมาะกับการท่องเที่ยวมากที่สุด จะเป็นช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ (เป็นช่วงที่มีนกนางนวลอพยพมาให้ชมด้วย) ฤดูกาลในจังหวัดสมุทรปราการ แบ่งได้ 3 ฤดู ได้แก่  

  • ฤดูฝน เดือน พฤษภาคม - ตุลาคม (มีฝนมาก ในเดือนกันยายน - ตุลาคม)
  • ฤดูร้อน เดือน มีนาคม - มิถุนายน (ร้อนที่สุด ในเดือนเมษายน)
  • ฤดูหนาว เดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com