ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง หรือ ศาลเจ้าห้าพระองค์ หรือ ศาลเจ้ามูลนิธิธรรมกตัญญู ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมและประติมากรรมจีนสวยงาม ชมสิงโตคู่แกะสลักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพดานศาลเจ้าประดับไม้แกะสลักลวดลายวิจิตรตระการตา กราบสักการะเทพเจ้า 5 พระองค์ (โหงวหวังเอี้ย) และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ขอพร เสริมดวงชะตา แก้ชง นอกจากนี้ช่วงเทศกาลตรุษจีน* และเทศกาลหยวนเซียว** ของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาลประดับโคมไฟในรูปต่างๆ กว่าห้าพันดวง
* วันตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีน โดยนับตามปฏิทินจันทรคติ (นับวันที่เป็นข้างขึ้น-ข้างแรม และนับเดือน 1 ว่าเดือนอ้ายเหมือนกับของไทย) วันปีใหม่จีน จึงตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 (วันตรุษจีนในแต่ละปี จึงมีวันที่ในปฏิทินไม่ตรงกัน)
** วันหยวนเซียว หรือวันเทศกาลโคมไฟ เป็นเทศกาลที่สำคัญของจีนอีกวันหนึ่ง คำว่าหยวน หมายถึงเดือนอ้าย (เดือน 1) ส่วนคำว่าเซียว แปลว่าเทศกาล คำว่า หยวนเซียว จึงเป็นวันเทศกาลโคมไฟ วันที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปีใหม่ คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 (เดือนอ้าย) เทศกาลหยวนเซียว จึงมีขึ้นหลังจากตรุษจีนไปแล้ว 14 วัน (หรือนับไป 2 สัปดาห์หลังตรุษจีน) โคมไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลของประเพณีจีน จึงเป็นวันที่ชาวจีนจะนิยมกินขนมบัวลอย และพาครอบครัวออกมาชมโคมไฟประดับ ซึ่งโคมไฟจีน หรือ เต็งลั้ง (Chinese Lantern) เป็นโคมไฟทรงกลม ด้านในทำโครงด้วยไม้ไผ่ ด้านนอกหุ้มด้วยกระดาษสา (ปัจจุบันอาจใช้วัสดุเปลี่ยนไปบ้าง เช่นใช้โครงเป็นลวด และใช้ผ้ากำมะหยี่แทน)
มูลนิธิธรรมกตัญญู ตั้งอยู่ในซอยเทศบาลบางปู 65 บนถนนสุขุมวิทสายเก่า (กม.33) หรือเลยเมืองโบราณไปเพียง 400 เมตร มีป้ายบอกทางเข้าศาลเจ้าห้าพระองค์ชัดเจน และเป็นเส้นทางที่มีรถโดยสารสองแถวผ่าน
ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง เป็นศาลเจ้าที่มีต้นกำเนิดที่ไต้หวัน ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2534 บนเนื้อที่ 26.5 ไร่ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้ถอดแบบมาจากศาลเจ้ามูลนิธิหนานคุณเซินไต้เทียนกง เมืองไทหนาน ในประเทศไต้หวัน โดยมีความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าโหงวหวังเอี้ย* ที่มีผู้อัญเชิญเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 แล้ว ในเมืองไทยนั้นจะมีศาลเจ้าที่เหมือนกันอีกแห่งก็คือ ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง ที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
* ตามประวัติกล่าวว่ามีผู้พบกิมซิ้น (เทวรูป หรือรูปเคารพ) ของเทพโหงวหวังเอี้ย อยู่ในเรือแล้วมาขึ้นที่ไต้หวัน จึงอัญเชิญขึ้นมาและสร้างเป็นศาลเจ้า ชาวไต้หวันเชื่อกันว่าจะช่วยคุ้มครองให้ประสบความสุข ความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัย เมื่ออธิษฐานขอสิ่งใด ก็จะได้ดังปรารถนา
จากริมถนนสุขุมวิทปากทางเข้าศาลเจ้าห้าพระองค์ จะมีสิงห์โตหินคู่ ประดับอยู่หน้าซอย เมื่อเลี้ยวเข้าซอย จะผ่านซุ้มประตูจีน จากนั้นก็จะเป็นถนนที่มีสิงโตตัวน้อยประดับหัวเสาเรียงรายไปตลอดถึงตัวศาลเจ้า (ประมาณ 500 เมตร) บริเวณศาลเจ้ามีลานจอดรถกว้างอยู่ด้านข้าง รถบัสก็สามารถนำเข้ามาจอดได้
ลักษณะศาลเจ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ การจัดวางอาคารเป็นแนวกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยเว้นเป็นพื้นที่ว่างตรงกลางเป็นระยะๆ ส่วนด้านในสุดเป็นวิหารที่ประดิษฐานองค์เทพเจ้าต่างๆ
บริเวณโดยรอบศาลเจ้า จัดเป็นสวน สนามหญ้า สวนหิน บ่อปลา และปลูกต้นไม้เป็นสวนหย่อมดูเรียบร้อยสะอาดตา ตรงกลางของพื้นที่เป็นส่วนของศาลเจ้าในรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมจีน
ก่อนเข้าถึงตัวอาคารศาลเจ้า ด้านหน้ามีซุ้มทางเข้าสร้างเป็นแนวยาว รองรับด้วยเสากลมใหญ่สีแดงสดเป็นคู่ตลอดแนว ส่วนของหลังคาสูงซ้อน 4 ชั้น ปลายหลังคาโค้งงอนตามรูปแบบหลังคาจีน มุงด้วยกระเบื้องลอนแบบวัดจีน เชิงใต้หลังคาติดแผ่นป้ายบอกชื่อ มูลนิธิธรรมกตัญญู (เสียนหลอไต้เทียนกง) ไว้ทั้งอักษรภาษาไทยและภาษาจีน และประดับด้วยภาพวาดรูปมังกร ประดับโคมไฟแบบจีนห้อยอยู่เป็นคู่ๆ ในแนวด้านข้างซ้าย-ขวา มีศาลาทางเดินสร้างเป็นแนวยาวในแนวตอนลึก คล้ายกับระเบียงคดของวัดไทย ศาลาทางเดิน 2 ข้างนี้ เป็นทางเดินนี้มีทางลาดสำหรับนำรถเข็นขึ้นได้
ส่วนของอาคารวิหารหลังใหญ่ เป็นจุดที่มีความโดดเด่นด้านประติมากรรม และศิลปกรรมจีน แสดงถึงความละเอียดอ่อนช้อยด้านงานแกะ งานปั้น ใช้สีแบบสีปูนสด สีแดง และสีทอง ด้านหน้าทางเข้าประตูศาลเจ้า มีสิงห์คู่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่
วิหารเทพเจ้าห้าพระองค์
วิหารเทพเจ้าห้าพระองค์ เป็นวิหารที่มีความสวยงามทั้งภายนอกและภายใน ด้านหน้าวิหาร ดุจดั่งศูนย์รวมงานศิลปะ ที่เดินชมได้ไม่รู้จบ ก่อนเข้าไปด้านในวิหาร ชมความงามได้ตั้งแต่ส่วนบนของหลังคาวิหาร ที่ประดับตกแต่งด้วยโมเสท และกระเบื้องเคลือบหลากสีสัน ประกอบกันเป็นดอกไม้ สัตว์มงคลของจีนนานาชนิด เช่น มังกร สิงห์ เสือ หงส์ ไก่ ปลา ทั้งยังมีตุ๊กตากระเบื้องเคลือบเป็นผู้คน ผูกผสมกันเป็นเรื่องราว บ้างก็ประดิษฐ์เป็นโขดหินประดับตุ๊กตาจีน ให้เป็นดั่งฉากในนิทานพื้นบ้าน เสากลมด้านหน้า และฝาผนัง แกะฉลุลวดลายเป็นมังกร และเรื่องราวต่างๆ เป็นงานปูนที่ประณีตอ่อนช้อย เมื่อผ่านประตูเข้าไปด้านใน หากเงยขึ้นไปชมส่วนของเพดานที่เจาะเป็นช่องทรงกลม จะเป็นงานไม้สลัก ที่ละเอียดซับซ้อนสวยงาม ลวดลายลงสีทองดูงดงามมาก
ประตูทางเข้าด้านหน้าวิหารมีประตู 3 บาน ตามความเชื่อแล้วประตูด้านข้างจะเป็นทางเข้าออกสำหรับมนุษย์ ส่วนประตูตรงกลางนั้นถือว่าเป็นประตูสำหรับองค์เทพเข้าออก เมื่อเข้าไปภายในวิหาร ตรงกลางประดิษฐานองค์เทพเจ้าทั้ง 5 พระองค์ หรือที่เรียกรวมกันว่า อู่ฟู่เซียนส้วย (โหงวหวังเอี้ย)
อู่ฟู่เซียนส้วย (โหงวหวังเอี้ย)
เป็นเทพที่มาจาก 5 ยอดขุนพลในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) กษัตริย์จีนราชวงศ์ถัง ที่เคยสร้างความยิ่งใหญ่ไว้เมื่อราว 1,600 ปี มาแล้ว ซึ่งขุนพลทั้ง 5 นี้ เป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์สุจริต ทรงคุณธรรม กตัญญู และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่าชื่อเสียงของทั้ง 5 ท่าน เลื่องลือไปถึงสวรรค์ จนเบื้องบนแต่งตั้งให้เป็นเทพเจ้าผู้คอยดูแลหมู่มวลมนุษย์โลก อู๋ฟู่เซียนส้วย (โหงวหวังเอี้ย) ประกอบด้วย 5 ท่าน จาก 5 ตระกูล ได้แก่
การจุดธูปบูชาองค์เทพ
ภายในศาลเจ้ามีจุดจำหน่ายเครื่องสักการะ และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการไหว้เทพเจ้าทั้งหมดภายในศาลเจ้าด้วย จุดสักการะมีทั้งหมด 9 จุด ได้แก่
หากใครต้องการขอพรจากเทพเจ้าโหงวหวังเอี้ย หรือเสี่ยงเซียมซี เมื่อกราบสักการะองค์เทพครบทุกจุดแล้ว จะมีถังเซียมซีขนาดใหญ่ใส่ติ้วเซียมซี (ไม่ต้องยกไปเขย่านะ เพราะขนาดใหญ่มาก) เวลาต้องการเสี่ยงเซียมซี ให้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากเทพเจ้าก่อน โดยบอกชื่อที่อยู่ และสิ่งที่ขอ (การขอพรจากเทพเจ้ามักจะขอเพียง 1 ข้อ) จากนั้นก็มาใช้มือกวนกระบอกติ้ว แล้วเลือกไม้ติ้วที่โผล่ขึ้นมาสูงที่สุด ก็ให้นำไม้เซียมซีออกมา แล้วเสี่ยงไม้ปวย* เพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่า เซียมซีนั้นเป็นของเราหรือไม่ หากเสี่ยงไม้ปวย 3 ครั้งออกมาว่าใช่ (คว่ำอัน-หงายอัน) จึงไปอ่านใบเซียมซีนั้นได้
* ไม้ปวย เป็นการใช้ไม้เสี่ยงทายเพื่อถามเทพเจ้าให้แน่ชัดในข้อสงสัย หรือยืนยันคำตอบในการเสี่ยงเซียมซี ลักษณะของไม้ปวยจะโค้งเป็นรูปเสี้ยวพระจันทร์ มี 2 อัน คล้ายกรับในวงดนตรีไทยเดิม (หรือคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่แกะออกมาได้เป็น 2 ชิ้น) เรามักจะเห็นไม้ปวยนี้ตามวัดจีน หรือศาลเจ้า ส่วนใหญ่จะทาสีแดง ใช้เพื่อติดต่อกับเทพเจ้า หากใช้คู่กับการเสี่ยงเซียมซีมักจะหมายถึงการถามให้แน่ใจว่า เซียมซีที่ได้มานั้น ใช่ของเราแล้วหรือยัง ดังนั้นเมื่อเสี่ยงเซียมซีเสร็จ จะต้องโยนไม้ปวยก่อนที่จะไปเอาใบเซียมซี เมื่อโยนไม้ปวยนี้จะให้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ คือ
- คว่ำทั้ง 2 อัน เรียกว่า "อิมปวย" แปลว่า เซียมซีนี้ยังไม่ใช่ของเรา (จะต้องจับเซียมซีใหม่) หากเป็นการถามสอบถามเทพเจ้าเรื่องอื่นๆ จะแปลว่า ไม่ได้ หรือยังไม่ใช่
- หงายทั้ง 2 อัน เรียกว่า "เอี๊ยงปวย" แปลว่า แล้วแต่จะเลือก หรือเทพเจ้าไม่เข้าใจในคำถาม (ส่วนใหญ่จะต้องเสี่ยงใหม่) หากเป็นการตั้งคำถาม ก็อาจหมายถึงไม่มีความเห็น หรือไม่แน่ใจ
- คว่ำอัน-หงายอัน เรียกว่า "เซ้งปวย" แปลว่า ใช่แล้ว เซียมซีเลขนั้นเป็นของเรา เป็นคำถามก็แปลว่าใช่แล้ว ถูกต้อง
สิงห์คู่
สิงห์คู่ที่อยู่หน้าศาลเจ้านั้น เป็นสิงห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสิงห์แกะสลักจากหินหยกเขียว ที่นำเข้าจากประเทศจีน สิงห์นั้นเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน สิงห์คู่นี้ได้ผ่านการเข้าพิธีการปลุกเสก สวดพระคาถาโดยนักพรตผู้ปฏิบัติธรรมในลัทธิเต๋า จึงถือว่าเป็นสิงห์ที่ช่วยปกป้องส่ิงชั่วร้าย ขจัดปัดเป่าปีศาจ และอาถรรพ์ต่างๆ ตามศาสตร์ของฮวงจุ้ยแล้ว สิงห์ยังช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคล เรียกโชคลาภ ให้ความสง่าน่าเกรงขาม จึงมักจะนำมาจัดวางตามวัด ศาลเจ้า สถานที่ราชการ บริษัท หรือองค์กร (ไม่ค่อยนิยมวางไว้หน้าบ้าน)
สิงห์หน้าศาลเจ้าจะมีลักษณะเหมือนสิงห์ของจีน เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในท่านั่งเหมือนที่เห็นตามวัดจีนทั่วไป สิงห์อยู่ในท่ายืน เอียงคอมองไปด้านข้าง (ทั้ง 2 ตัว เอียงหน้ามองกันอยู่) ขาหน้าทั้งสองข้างเกาะอยู่บนลูกบอล การตั้งสิงห์หน้าประตูวัด หรือศาลเจ้าจีน จะต้องเป็นสิงห์คู่ คือมีตัวผู้กับตัวเมีย และต้องวางหันหน้าออกจากตัวอาคาร ทั้งยังมีความเชื่อทางศาสตร์ฮวงจุ้ย และคุณลักษณะอื่นๆ คือ
- สิงห์ตัวเมีย จะวางอยู่ในตำแหน่งเสือขาว คือ หากเราหันหน้าเข้าหาตัวอาคาร จะเป็นสิงห์ที่อยู่ทางซ้ายมือ เป็นสิงห์ตัวเมีย มีหน้าที่เป็นองครักษ์ให้กับเจ้าชายในราชวงศ์ สังเกตง่ายๆ ว่า สิงห์ตัวเมียหากอยู่ในท่านั่ง มักจะมีลูกน้อยอยู่ใต้อุ้งมือ แต่ที่ศาลเจ้านี้ เป็นสิงห์ยืนเกาะลูกบอลอยู่ทั้งสองขาหน้า ลูกน้อยจึงไปป้วนเปี้ยนอยู่ทางด้านหลังแทน
- สิงห์ตัวผู้ จะวางอยู่ในตำแหน่งมังกรเขียว คือ หากเราหันหน้าเข้าหาตัวอาคาร จะเป็นสิงห์ที่อยู่ทางขวามือ เป็นสิงห์ตัวผู้ มีตำแหน่งเป็นองค์รักษ์ฮ่องเต้ (กษัตริย์) ผู้ที่น่าเคารพยำเกรงมากที่สุด วิธีสังเกตคือ สิงห์ตัวผู้ปกติแล้วในอุ้งมือจะมีลูกบอล ที่หน้าศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นสิงห์ที่กำลังเล่นลูกบอลอยู่ทั้งสองตัว สิงห์ตัวผู้จึงมีสัญลักษณ์เพศผู้แสดงให้เห็นด้วย (อันนี้ต้องดูตรงระหว่างขาหลังของสิงห์เอานะ)
ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกงแห่งนี้ นอกจากแต่ละวันจะมีผู้คนเข้ามาชมศาลเจ้า กราบสักการะเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพร หรือแก้ชงแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดงานสำคัญประจำปีของจีนอีกหลายงาน เช่น เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลโคมไฟ (วันหยวนเซียว) งานเทกระจาด งานแห่เทพเจ้าห้าพระองค์ เป็นต้น
งานเทศกาลโคมไฟเฟสติวัล (Lantern Festival)
เป็นงานที่ศาลเจ้าจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ลักษณะเป็นงานออกร้าน (คล้ายงานวัด) มีปาโป่ง เกมต่างๆ จำหน่ายสินค้าหลากหลาย และอาหารการกินต่างๆ ส่วนบริเวณลานด้านหน้าศาลเจ้า จะประดับโคมไฟที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันกว่า 5000 ชิ้น โคมจีนสีแดง ประดับเป็นซุ้ม และห้อยระย้าเต็มบริเวณหน้าศาลเจ้า บ้างก็เป็นโคมไฟที่ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ นำมาประดับไว้เป็นกลุ่มๆ เช่นรูปเทพเจ้าห้าพระองค์ เจ้าแม่กวนอิม สัตว์ใน 12 นักษัตร ต้นไม้ ดอกไม้ มังกร สัตว์มงคล บริเวณงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิเช่น การข้ามสะพาน ลอดซุ้มมงคล เทศกาลโคมไฟนี้จะมีขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน และหยวนเซียว ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน (ติดตามรายละเอียดได้จากเฟสบุ๊คศาลเจ้า)
การเดินทาง
ห่างจากเมืองโบราณ 400 เมตร
ห่างจากสถานตากอากาศบางปู 5 กิโลเมตร
ห่างจากฟาร์มจระเข้ 6 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองปากน้ำ (ศาลากลาง) 8 กิโลเมตร
เส้นทางรถยนต์
เส้นทาง ถนนสุขุมวิทสายเก่า (บางปู)
1 | หากใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (ขาออก) จากแยกบางนา มุ่งหน้าสมุทรปราการ ตรงมาตลอดจนถึงสามแยกศาลากลาง จึงเลี้ยวซ้ายไปทางบางปู / ชลบุรี (หรือตามแนวรางรถไฟฟ้าไปเรื่อยๆ) |
2 | เมื่อเลี้ยวแล้ว ตรงตามเส้นทางไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร พอผ่านไมอามี่เบย์ไซด์ และเมืองโบราณไปไม่ไกลนัก จะเห็นทางเลี้ยวซ้ายเข้าศาลเจ้าห้าพระองค์ |
เส้นทาง ถนนบางนา-ตราด -> ถนนศรีนครินทร์ -> ถนนสุขุมวิทสายเก่า
1 | หากใช้เส้นทางถนนบางนา-ตราด (ขาออก) จากแยกบางนา มุ่งหน้าชลบุรี เมื่อผ่านเซ็นทรัลบางนาแล้ว ให้ตามป้ายบอกทางถนนเทพารักษ์ เส้นทางจะพาเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ (ตรงแยกศรีเอี่ยม) มุ่งหน้าสมุทรปราการ |
2 | จากนั้นตรงไปจนสุดสามแยก (แยกการไฟฟ้า)จึงเลี้ยวซ้ายตามป้ายบางปู / ชลบุรี |
3 | เลี้ยวซ้ายไปแล้ว ตรงไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร พอผ่านเมืองโบราณไปหน่อย ทางเข้าศาลเจ้าห้าพระองค์อยู่ทางซ้ายมือ |
* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ให้มุ่งหน้าไปทางบางนา -> ชลบุรี เพื่อไปออกถนนบางนา-ตราด (ขาออก) แล้วตามป้ายถนนเทพารักษ์เพื่อเข้าถนนศรีนครินทร์ มุ่งหน้าสมุทรปราการ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าถนนสุขุมวิทสายเก่า
** หากใช้เส้นทางถนนวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ให้ออกตามป้ายบอกทาง ถนนศรีนครินทร์ มุ่งหน้าสมุทรปราการ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขุมวิทสายเก่า (บางปู/ชลบุรี)
รถโดยสารประจำทาง (ดูเส้นทางรถประจำทาง)
รถเมล์ (ถนนสุขุมวิท ลงแยกศาลากลาง)
รถเมล์ (ถนนสุขุมวิท ลงศาลหลักเมือง)
รถเมล์ (จากถนนศรีนครินทร์) + รถสองแถว
รถไฟฟ้า BTS (สำโรง) + รถตู้
- ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสำโรง (ทางออก 1) จากนั้นเดินสกายวอล์คไปทางอิมพีเรียล สำโรง ลงสะพานลอยฝั่งตรงข้ามอิมพีเรียล
- จากนั้นเดินตรงต่อไปจนถึงธนาคารกรุงเทพ สาขาสำโรง ตรงซอยข้างร้านสูทซาร่า มีคิวรถตู้ สำโรง - คลองด่าน (วิ่งเส้นสุขุมวิทสายเก่า) บอกคนขับจอดหน้าศาลเจ้าห้าพระองค์
รถไฟฟ้า BTS เคหะสมุทรปราการ (จะเปิดใช้ในปี 2561-2562)
- ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีเคหะสมุทรปราการ (ลงฝั่งตรงข้ามลานจอดรถ)
- จากนั้นขึ้นสองแถว 36 สายปากน้ำ - นิคมบางปู, ปากน้ำ - โลตัส, ปากน้ำ - คลองด่าน หรือรถสองแถวหกล้อใหญ่ สายปากน้ำ - ตำหรุ แล้วลงรถหน้าศาลเจ้าห้าพระองค์
ข้อมูลการติดต่อ ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง
เวลาเปิด 8.00 - 17.00 น.
(ยกเว้นในช่วงเทศกาลโคมไฟ จะเปิดไปถึงช่วงค่ำ)
ที่อยู่ 993 หมู่ 7 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10280
โทร 02-323-3120-5
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/ศาลเจ้า5พระองค์บางปู-238196259939133/