พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish Gallery) ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้งบางกะเจ้า ใกล้กับสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของปลากัด ที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่ยุคเก่าก่อน นำมาต่อสู้พนันขันต่อจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปัจจุบันได้นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม หรือเป็นงานอดิเรก นับเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับปลากัดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์ มีปลาให้ชม ได้เพิ่มเติมความรู้เรื่องปลากัด และยังเป็นสถานที่พักผ่อน มีความร่มรื่น แวะมาเที่ยวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อยู่ในเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวคุ้งบางกะเจ้า ที่รถยนต์เข้าถึงได้ เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย อยู่ในตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง อยู่ติดกับท่าเรือบางกะเจ้า (ท่ากำนันขาว) ที่ข้ามมาจากท่าเรือวัดคลองเตยนอก (แต่ต้องเดินอ้อมมาเข้าด้านหน้า) และอยู่ห่างจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ไปเพียง 600 เมตร หากขับรถมา ก็สามารถเข้าไปจอดด้านในได้
คุณพีระพงศ์ ถนอมพงศ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ที่เกิดจากความรัก และการเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก โดยครั้งแรกเริ่มเพาะเลี้ยง 3 สายพันธุ์ คือ ปลากัดจีน ปลากัดหม้อ ปลากัดป่า จนกระทั่งมีสายพันธุ์มากขึ้น และมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชม เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นแหล่งรวมรวมปลากัด จัดแสดงเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และการศึกษาอนุรักษ์สายพันธุ์ปลากัดไทยต่อไปในอนาคต
พิพิธภัณฑ์อยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของคุณพีระพงศ์ ที่ใช้พื้นที่เป็นบริเวณพิพิธภัณฑ์ จัดให้มีต้นไม้ร่มรื่น สนามหญ้า บึงสระน้ำ และมีอาคารสำคัญ 2 ส่วนคือ
อาคาร บ้านรักรู้
เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ด้านบนให้ความรู้เชิงนิทรรศการด้านชีววิทยาปลากัด ฉายวีดีโอ ให้เห็นชนิดของปลากัด ลักษณะแต่ละสายพันธุ์ต่างๆ การผสมพันธุ์ปลากัด พัฒนาการปลากัด รวมถึงลีลาการต่อสู้ ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้านมีการจัดแสดงปลากัดสวยงามที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว โดยจัดใส่ไว้ในโหลแก้ว แยกไว้เป็นตัวๆ หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดจีน ปลากัดป่า ปลากัดยักษ์ ปลากัดฮาฟมูน เป็นต้น และบริเวณใกล้กัน มีคลินิกปลา การรักษาปลาด้วยการแช่ใบหูกวาง ใบตาล เป็นต้น
อาคาร หอโลกหอธรรม
มีลักษณะเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง 2 หลัง ตรงกลางมีส่วนที่เชื่อมต่อกัน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านซ้ายและขวาของอาคาร มีรูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถเดินขึ้นไปชมและสักการะได้ ใต้ถุนอาคารจัดแสดงปลาน้ำจืด เช่น ปลาแรด ปลากราย
นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ยังมีทางเดินชมสวนธรรมชาติ ร้านขายเครื่องดื่ม และร้านของที่ระลึก
มาทำความรู้จักปลากัดนักสู้กันสักนิดนึงก่อน
ปลากัดเป็นที่รู้จักของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ เพราะเป็นปลาแบบบ้านๆ หาได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ห้วยหนอง ท้องทุ่งท้องนาทั่วไป ด้วยนิสัยที่ค่อนข้างกร้าวร้าว คนจึงเอามาต่อสู้กัน (กัดกัน) จนฮิตมากขนาดนำมากัดพนันกันเลยก็มี
ลักษณะของปลากัด เป็นปลาขนาดเล็ก ตัวโตกว่าปลาหางนกยูงหน่อย (ความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร) อายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี มีสีสันที่ลำตัวและครีบสวยงาม ตัวผู้จะมีสีเข้ม สดสวย และตัวโตกว่าตัวเมีย ตัวเมียจะมีสีค่อนข้างซีด และตัวเล็กกว่า ปลากัดเป็นปลาที่มีความอดทนสูง เลี้ยงง่าย ตายยาก ไม่ต้องให้อาหารมาก อดอาหารได้ แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเหงือก ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย จึงได้รับความนิยม และมีการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมา จนมีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ มีชาวต่างชาตินำเรื่องราวไปเผยแพร่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นที่รู้จักในชื่อ ปลากัดสยาม (Siamese Fighting Fish) จนได้รับการขึ้นทะเบียน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ปลากัดที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ในปี พ.ศ.2556
ต้นกำเนิดปลากัด พบได้ตามหนองน้ำตื้นๆ แฉะๆ มาจากสายพันธุ์ธรรมชาติ เรียกกันติดปากว่า ปลากัดลูกทุ่ง หรือ ปลากัดทุ่ง หรือ ปลากัดป่า ที่มีพฤติกรรมชอบกัดกันเอง จึงนิยมมาเลี้ยงเพื่อให้สู้กัน ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นเลี้ยงเพื่อความสวยงาม จึงมีการผสมข้ามสายพันธุ์ (Breeding) จนทำให้เกิดรูปลักษณ์แปลกใหม่ มีสีสันสวยงาม มีเฉดสีมากมาย แต่ละตัวมีความสวยงามแตกต่างกันไป
ปลากัด ทำไมถึงกัด
หลายคนได้ยินชื่อ ปลากัด แล้วอาจคิดว่าเป็นปลาดุร้าย เที่ยวกัดคนหรือปลาอื่นไปทั่วแบบปลาปิรันย่า แต่จริงๆ แล้ว ปลากัดเป็นปลาตัวเล็กๆ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับมนุษย์เลย ที่เรียกปลากัด เพราะเป็นปลาที่รักอิสระ ชอบอยู่ตัวเดียว จึงรักษาพื้นที่ส่วนตัวไม่ให้ใครรุกล้ำพื้นที่ และเมื่อเจอปลากัดตัวผู้ด้วยกัน ก็แสดงความดุ ด้วยการพองตัว พองเหงือก เบ่งสี ไล่กัดปลากัดตัวอื่นออกไป ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ มนุษย์จึงนำมาให้สู้กัน หรือกัดกัน เพื่อดูว่าปลาของใครจะเก่งกว่ากัน
การผสมพันธุ์ของปลากัด
ปลากัด เป็นปลาที่มักจะโดนล้อว่าใจง่าย แค่มองตากันก็ท้องได้ จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น เพราะธรรมชาติของปลากัด มีการผสมพันธุ์แบบปฏิสนธิภายนอก ในช่วงที่ปลาอายุได้ประมาณ 3 เดือน - 1 ปี วัยพร้อมผสมพันธุ์ ตัวผู้และตัวเมียจะถูกจับมาวางไว้ใกล้ๆ พอให้เห็นกัน โดยไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ต่างมองกันไปมองกันมา ที่เรียกว่าการเทียบปลา ตัวเมียก็จะถูกกระตุ้นแล้วออกไข่เก็บไว้ในท้องก่อน (ยังไม่ผสม) ส่วนตัวผู้ก็จะพ่นฟองเหนียวๆ ไว้บนผิวน้ำ ที่เรียกว่า ก่อหวอด รอไว้
จากนั้นเมื่อตัวเมียท้องป่องได้ที่แล้ว ก็จะนำตัวผู้และตัวเมียมาไว้ในที่เดียวกัน ตัวผู้จะตามจีบ บีบรัดท้องตัวเมียจนต้องปล่อยไข่ในท้องออกมา ซึ่งในขณะเดียวกัน พ่อปลาก็จะฉีดน้ำเชื้อไปผสมกับไข่ที่หลุดออกมา เป็นการปฏิสนธิภายนอก แล้วพ่อปลาก็จะรีบอมไข่ไว้ในปาก และเอาไปพ่นใส่ไว้ที่หวอด หรือฟองเหนียวๆ ที่เตรียมไว้ เมื่อวางไข่จนหมดแล้ว พ่อปลาจะไล่แม่ปลาไป แล้วคอยเฝ้าระวังไข่ด้วยตัวเอง ไม่ให้แม่ปลาแอบมากินไข่ (ตอนนี้หากเลี้ยงเอง ต้องแยกแม่ปลาออกไป) พ่อปลาจะคอยเลี้ยงลูกน้อยจนฟักเป็นตัวแต่เพียงลำพัง
สายพันธุ์ปลากัด
ปลากัดมีหลายสายพันธุ์มาก แล้วแต่จะมีผู้ที่พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมาก เช่น
นอกจากนี้ยังมีปลากัดที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะของปลา เช่น ปลากัดเขมร ปลากัดลายหินอ่อน ปลากัดลายผีเสื้อ ปลากัดหูช้าง ปลากัดยักษ์ ปลากัดทอง ปลาดับเบิ้ลเทล ปลากัดมาเบิ้ล มาเบิ้ลสายขอบ ปลากัดแฟนซี เรดดราก้อน เป็นต้น
* ปลากัดฮาฟมูน เคยเป็นที่ฮือฮาขึ้นมา เมื่อได้เป็นพรีเซ็นเตอร์บนโทรศัพท์มือถือไอโฟน เป็นปลาที่มีความสวยงาม ราคาแพง ชาวต่างชาตินิยมเลี้ยง สายพันธุ์นี้มีความอดทนต่อสภาพอากาศร้อนหรือหนาวได้ดี มีหางสวย พลิ้วไหว กางได้ 180 องศา เหมือนพระจันทร์ครึ่งดวง (Halfmoon)
ข้อมูลเพิ่มเติม
- ไม่เสียค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ (สามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา)
- ส่วนในสุดของพื้นที่เป็นรีสอร์ท ปัญญ์ธารา ที่พักสไตล์ไทยๆ ท่ามกลางธรรมชาติ
สถานที่น่าสนใจบริเวณใกล้เคียง
- สวนศรีนครเขื่อนขันธ์
- วัดราษฎร์รังสรรค์ (ใหญ่-ตาอิน)
- วัดบางน้ำผึ้งนอก
การเดินทาง
ห่างจากท่าเรือบางกะเจ้า (ท่ากำนันขาว) 500 เมตร
ห่างจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ 600 เมตร
ห่างจากท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอก 4.5 กิโลเมตร
ห่างจากตลาดบางน้ำบางน้ำผึ้ง 4 กิโลเมตร
เส้นทางรถยนต์
เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> เลี้ยวเข้าอำเภอพระประแดง -> ถนนเพชรหึงษ์ ซอย 33 (ซอยวัดราษฎร์รังสรรค์)
1 | ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าไปทางพระประแดง พอผ่านแยกสะพานภูมิพลไปไม่ไกลนัก จึงเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกพระประแดง |
2 | เมื่อเลี้ยวซ้ายมาแล้ว (เป็นถนนนครเขื่อนขันธ์) ตรงตามถนนเส้นนี้ไปราว 1 กิโลเมตร ผ่านซุ้มประตูเมืองนครเขื่อนขันธ์ตลาดพระประแดง จากนั้นถนนจะบังคับเลี้ยวซ้าย |
3 | เมื่อเลี้ยวมาแล้วตรงไปเรื่อยๆ จะเป็นถนนเพชรหึงษ์ ข้ามสะพานข้ามคลองลัดโพธิ์เข้าสู่คุ้งบางกะเจ้า ตรงไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร (เลยทางเข้าตลาดน้ำบางน้ำผึ้งไป) จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพชรหึงษ์ 33 (ทางเดียวกับสวนศรีนครเขื่อนขันธ์) |
4 | เลี้ยวเข้าซอยมาแล้ว ตรงไปตามเส้นทางอีกราว 2 กิโลเมตร ผ่านหน้าทางเข้าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ไปหน่อย จะเจอสี่แยกจึงเลี้ยวขวา เลี้ยวไปหน่อยเดียวจะเห็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทยทางซ้ายมือ |
* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนองมาเรื่อยๆ พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) ชิดซ้าย ออกถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นตรงไปอีกไม่ไกล จะเป็นแยกพระประแดง จึงเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอพระประแดง
** หากใช้วงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล (จากถนนปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ถนนพระราม 3) ตามป้ายลงถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นตามป้ายพระประแดง พอเลี้ยวเข้าถนนสุขสวัสดิ์ไปไม่ไกล ก็เป็นแยกพระประแดงแล้ว เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าอำเภอพระประแดง
*** หากใช้ถนนกาญจนาภิเษก (จากทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก) ออกถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นตามป้ายพระประแดง
รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด เส้นทางรถประจำทาง)
รถเมล์
- หากขึ้นรถเมล์ที่เข้าไปยังท่าน้ำพระประแดง รถเมล์สายที่ผ่าน ได้แก่ สาย 6, 82, 138 (สาย 138 คันที่เขียนว่าเข้าท่าน้ำพระประแดง) มาลงป้ายตลาดพระประแดง หรือสุดสายที่ท่าน้ำพระประแดง จากนั้นเดินไปขึ้นรถเมล์ท้องถิ่นสีฟ้า สายพระประแดง-บางกอบัว บอกคนขับลงปากซอยเพชรหึงษ์ 33 (ซอยวัดราษฎร์รังสรรค์) ลงรถแล้วเดินเข้าซอยไปหน่อยจะมีคิวมอเตอร์ไซค์ซ้ายมือ นั่งต่อเข้าไปอีกที (หรือจะลงสุดสายรถเมล์ที่วัดบางกอบัว แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้เหมือนกัน)
รถเมล์ท้องถิ่นสีฟ้า (1011) สายพระประแดง - วัดบางกอบัว
บริการ: 5.30 - 21.00 น. ค่าโดยสาร 8 บาท ตลอดสาย
เส้นทางเดินรถ พระประแดง - ถนนเพชรหึงษ์ - วัดทรงธรรม - สวนสุขภาพลัดโพธิ์ - ข้ามคลองลัดโพธิ์ - วัดคันลัด - วัดป่าเกด - (ปากซอย)ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง - ซอยวัดราษฎร์รังสรรค์ (สวนศรีนครเขื่อนขันธ์) - วัดบางกอบัว
คิวรถ: ปากซอย บ้านแซ่ 2 (ตรงข้ามตลาดพระประแดง ซอยข้างแว่นตาท็อปเจริญ)
- หากขึ้นรถเมล์สาย 140 (ทางด่วน), 142 (ทางด่วน) พอลงจากทางด่วนแล้ว ให้ลงรถเมล์ป้ายแรก (เรียกว่าป้ายวัดสน) แล้วต่อรถเมล์สาย 82, 138 (ที่เขียนว่าเข้าท่าน้ำพระประแดง) ลงท่าน้ำพระประแดง จากนั้นขึ้นรถเมล์ท้องถิ่น เข้าไปในคุ้งบางกะเจ้า ลงปากซอยเพชรหึงษ์ 33 แล้วต่อมอเตอร์ไซค์
- หากขึ้นรถเมล์สาย 20, 35 ลงรถที่ป้ายวัดสน จากนั้นต่อรถเมล์สาย 82, 138 (ที่เข้าท่าน้ำพระประแดง) ลงท่าน้ำพระประแดง จากนั้นขึ้นรถเมล์ท้องถิ่น ลงปากซอยเพชรหึงษ์ 33 แล้วต่อมอเตอร์ไซค์
เรือข้ามฟาก (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)
MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ + เรือข้ามฟาก (ท่าเรือวัดคลองเตยนอก -> ท่าเรือบางกะเจ้า)
- นั่งรถไฟใต้ดิน MRT ลงสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ทางออก 1) จากนั้นนั่งแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปวัดคลองเตยนอก ลงรถแล้วเดินเข้าไปยังท่าน้ำข้างวัด
- นั่งเรือไปขึ้นที่ท่าเรือบางกะเจ้า (ท่ากำนันขาว) จากนั้นต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เช่าจักรยานปั่นไป หรือเดินไปราว 500 เมตร
** ท่าเรือนี้เป็นท่าที่อยู่ใกล้กับสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ และพิพิธภัณฑ์ปลากัด เป็นท่าที่มีเรือเหมาขนาดเล็ก สามารถนำจักรยานใส่เรือข้ามฟากไปด้วยได้ (มอเตอร์ไซค์ข้ามไม่ได้)
BTS บางนา + เรือข้ามฟาก (ท่าเรือวัดบางนานอก -> ท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอก)
- นั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงสถานีบางนา (ทางออก 2) จากนั้นเดินไปทางแยกบางนา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสรรพาวุธ จะมีคิวรถสองแถววิ่งในถนนสรรพาวุธ นั่งไปจนสุดทาง วัดบางนานอกอยู่ซ้ายมือ เดินเข้าไปในวัด ท่าเรือข้ามฟากอยู่ท่าน้ำในวัด
- นั่งเรือไปขึ้นที่ท่าวัดบางน้ำผึ้งนอก จากนั้นต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือเช่าจักรยานปั่นไปก็ได้ (ท่าเรืออยู่ห่างพิพิธภัณฑ์ 5 กิโลเมตร)
** ท่าเรือข้ามฟากนี้อยู่ใกล้ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง บ้านธูปสมุนไพร บางกอกทรีเฮ้าส์ เป็นท่าที่ใช้เรือขนาดใหญ่สามารถนำคน จักรยาน และรถมอเตอร์ไซค์ข้ามได้
ข้อมูลการติดต่อ พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย
เวลาเปิด 10.00 - 17.00 น. (เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ที่อยู่ 18/1 หมู่ 3 ซอยวัดราษฎร์รังสรรค์ ตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
โทร. 02-815-0149, 081-861-3542