วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) วัดจีนเก่าแก่ ที่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีนมานาน เป็นวัดที่สร้างสืบเนื่องมาจากวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ในเขตเยาวราช กรุงเทพมหานคร โดยวัดจีนประชาสโมสรนี้ถือเป็นส่วนท้องของมังกร ผู้คนมักจะแวะมากราบสักการะ ขอพร เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต ช่วยในเรื่องโชคลาภ วาสนา ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน และปีใหม่ จะมีผู้คนมากราบไหว้กันมาก ผู้ที่เกิดในปีชง ต้องการเสริมดวงชะตา ปัดเป่าเคราะห์ ก็จะมาแก้ชง กราบไหว้เพื่อให้เทพไท้คุ้มครอง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งเคารพหลายอย่าง ทั้งที่เป็นของเก่าแก่ และเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก เช่น พระพุทธรูปที่ทำจากกระดาษ เจ้าแม่กวนอิมจากรากไม้ 100 ปี ระฆังที่มีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร เป็นต้น
วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร และอยู่ในเส้นทางเดียวกับเจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ วัดหลวงพ่อซำปอกง และตลาดบ้านใหม่ 100 ปี ถ้าใครมาแวะกราบหลวงพ่อโสธร แล้วจะเลยมายังวัดเล่งฮกยี่ ก็มาได้ไม่ยากเลย มีรถสองแถวผ่านด้วย
วัดจีนประชาสโมสร เป็นวัดแห่งนิกายมหายาน มีชื่อเป็นจีนว่า "เล่งฮกยี่" โดยแต่ละคำมีความหมายคือ "เล่ง" หรือ "เล้ง" แปลว่ามังกร ส่วนคำว่า "ฮก" ในภาษาจีนเป็นคำมงคล หมายถึง โชคลาภ วาสนา ความมั่งมีศรีสุข และ "ยี่" แปลว่าวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟสายตะวันออก กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2450 และทรงเสด็จเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่ ทรงมีความเลื่อมใส ศรัทธาในพระคณาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) อย่างมาก จึงทรงพระราชทานเงินจำนวน 1 ชั่ง หรือ 80 บาท เพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดเป็นภาษาไทยว่า "วัดจีนประชาสโมสร" มีความหมายว่า เป็นที่ชุมนุมของคนจีน โดยแผ่นป้ายชื่อพระราชทานยังได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
วัดจีนประชาสโมสร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2449 ตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์จีน "พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง)" ปฐมเจ้าอาวาสแห่งวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ และปฐมบูรพาจารย์แห่งนิกายมหายานในประเทศไทย เป็นความประสงค์ที่จะสร้างวัดคู่บ้านคู่เมือง ให้แก่ชาวไทยเชื้อสายจีน จึงคิดสร้างวัดขึ้น 3 วัด โดยทั้ง 3 วัดนี้ ตั้งอยู่ในตำแหน่งตามหลักฮวงจุ้ยของจีน ได้แก่
1. วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ ในย่านเยาวราช ที่เป็นดินแดนแห่งการค้าขาย เป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นวัดแรก เปรียบเป็นส่วนหัวของมังกร
2. วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำบางปะกงที่คดเคี้ยว เปรียบได้กับส่วนท้องของมังกร (วัดมังกรแห่งวาสนา หรือมังกรแห่งโชค)
3. วัดมังกรบุปผาราม (เล่งฮั่วยี่) จังหวัดจันทบุรี เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง เมืองแห่งอัญมณี เปรียบได้กับส่วนหางมังกร
เมื่อพระอาจารย์สกเห็งมรณะภาพลง หลวงจีนชกเฮ็ง ซึ่งเป็นศิษย์ของวัดมังกรกมลาวาส เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ ดูแลการก่อสร้างวัดจีนประชาสโมสรต่อจนเสร็จ โดยวางรูปแบบ และแผนผังการสร้างวัดแบบเดียวกันกับวัดมังกรกมลาวาส และวัดมังกรบุปผาราม
วัดจีนประชาสโมสร เป็นวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ด้านหน้ามีลานโล่ง สำหรับจอดรถ และเมื่อเดินเข้าไปภายในตัวอาคารวัด ก็จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และองค์เทพไท้อยู่มากมาย ทั้งพระพุทธรูป และเทพต่างๆ ในแบบจีน และไทย มีจุดสำคัญๆ ในการกราบสักการะกว่า 20 จุด ซึ่งก็ไม่ต้องกลัวว่าจะกราบไหว้ไม่ถูกต้องตามลำดับ หรือกราบขอพรได้ไม่ครบ ทางวัดได้ทำการติดตัวเลขบอกลำดับการไหว้ รวมถึงจำนวนธูปที่ใช้ไหว้แต่ละจุดไว้ให้แล้ว หากต้องการสอบถามเรื่องใด หรือต้องการแก้ปีชง ก็มีเจ้าหน้าที่ของวัดคอยอำนวยความสะดวก นอกจากการกราบสักการะพระพุทธรูปต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังสามารถเดินเที่ยวชมภายในวัด ที่มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมอีกมากมายด้วย
ท้าวจตุโลกบาล
เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่บริเวณด้านในของวัด ที่จะต้องพบเห็นเป็นอันดับแรกคือ ท้าวจตุโลกบาลองค์ใหญ่ 4 องค์ เป็นดั่งทวารบาลคอยปกปักรักษาทิศทั้ง 4 เป็นองค์ขนาดใหญ่ จัดวางไว้เป็นคู่ ทั้งด้านซ้ายและขวา ที่พิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ท้าวจตุโลกบาลทั้งหมดที่เห็นทำมาจากกระดาษ ในลักษณะเปเปอร์มาเช่ (Paper Mache) เป็นการใช้เศษกระดาษและกาว ติดบนโครงจนเป็นรูปทรงที่ต้องการ ภายในกลวง มีน้ำหนักเบา ลวดลายภายนอก ตกแต่งด้วยขดลวด ด้าย และสายสิญจน์
ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 (หรือจาตุมหาราช) เป็นผู้รักษาคุ้มครองโลกใน 4 ทิศ ซึ่งเราจะได้เห็นเป็นจุดแรกเมื่อเข้าไปในวัดจีน มักจะตั้งอยู่เป็นคู่ ฝั่งละ 2 องค์ คือ
ทางขวาของทางเข้า
- ท้าวกุเวรมหาราช หรือท้าวเวสสุวัณมหาราช ถือเจดีย์ ประจำอยู่ทิศอุดร (ทิศเหนือ) เป็นผู้ปกครองยักษ์
- ท้าวธตรัฐมหาราช ถือกงจักร ประจำอยู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) เป็นผู้ปกครองคนธรรพ์ (ชาวสวรรค์ที่มีความชำนาญด้านดนตรี และขับร้อง)
ทางซ้ายของทางเข้า
- ท้าววิรุฬหกมหาราช ถือร่ม ประจำอยู่ทิศทักษิณ (ทิศใต้) เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑ์ (เป็นเทวดาที่ดูแลรักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ)
- ท้าววิรุฬปักมหาราช มือขวาถือดาบ มือซ้ายมีงูพันอยู่ ประจำอยู่ทิศปัจจิม (ทิศตะวันตก) เป็นผู้ปกครองนาค
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์
พระประธานภายในวิหารส่วนกลางของวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า พระศรีศากยมุนี พระไภษัชคุรุพุทธเจ้า เชื่อว่าท่านช่วยเรื่องบำบัดปัดเป่า รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทั้ง 3 องค์นี้ นำเข้ามาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีความเก่าแก่ราว 200 ปี เป็นการทำขึ้นจากกระดาษด้วยเช่นกัน เมื่อปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ด้านข้างของวิหาร ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ที่ทำจากกระดาษ ตั้งอยู่ภายในตู้กระจกใสด้วย
เทพไฉ่เซ่งเอี๊ย
เป็นเทพแห่งโชคลาภ ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง และความร่ำรวย ชาวจีนให้ความสำคัญ และเคารพนับถือมาก เทพไฉ่เซ่งเอี๊ยองค์ที่ตั้งอยู่ที่วัดเล่งฮกยี่นี้ ถือเป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นรูปหล่อสำริด อยู่ในท่านั่ง มือด้านซ้ายทาบอยู่ระดับอก มือขวาถือถุงเงินวางไว้บนตัก
> วิธีสักการะเทพไฉ่เซ่งเอี๊ย ได้แก่ เมื่อถวายธูปและท่องบทสวดท่านแล้ว ใช้มือตบที่ก้นถุงเงินที่ท่านถืออยู่ (ตบเบาๆ เพื่อให้เงินที่หลับใหลอยู่ได้ตื่นขึ้นมา) จากนั้นใช้มือลูบจากก้นถุงมาที่ปากถุง แล้วเอากระเป๋าสตางค์ของเราไปเปิดรับไว้ตรงปากถุง (เป็นการเรียกเงินทองเข้ามาสู่กระเป๋าเรา) ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง จากนั้นก็หยิบเหรียญในถังไม้ ที่วางอยู่ด้านข้างท่าน เอามาเก็บไว้กับตัว 1 เหรียญเพื่อเก็บไว้เป็นเงินก้นถุง
* เทพไฉ่เซ่งเอี๊ย หรือไฉ่ซิ้งเอี๊ย เป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวจีน (เรามักจะเห็นรูปท่านอยู่ตามปกปฏิทินจีน ซึ่งแต่ละองค์อาจมีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว) ทางของไทยเชื่อว่าเป็นเทพองค์เดียวกันกับท้าวเวสสุวรรณโณ (กุเวร) เป็นเทพเจ้าที่ให้คุณด้านโชคลาภ จึงมีผู้นับถือกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำการค้าขาย ชาวจีนจะเชื่อกันว่าเทพไฉ่เซ่งเอี๊ยจะเสด็จมายังโลกมนุษย์เพียงปีละครั้ง ในวันตรุษจีน ในช่วงรอยต่อของวันส่งท้ายปีเก่ากับวันปีใหม่จีน (นับตั้งแต่ 00.00 น.) ดังนั้นชาวจีนจะทำการตั้งโต๊ะบูชาตั้งแต่ 23.00 - 01.00 น. ของวันตรุษจีน โดยหันหน้าไปในทิศที่แตกต่างกันไป ของบูชาจะใช้ของหวาน เช่นผลไม้ หรืออาหารเจ ไม่ใช้ของคาวหรือเนื้อสัตว์ พร้อมกับนำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเงิินทองมาวางไว้ด้วย เช่นสมุดบัญชีธนาคาร กระเป๋าตังส์
พระโพธิสัตว์ ปางสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร เป็นปางที่สำแดงพระวรกายให้มีพันหัตถ์ พันเนตร เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจของพระโพธิสัตว์ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์บนโลก พลันบังเกิดมีพันเนตร เพื่อเห็นได้ทั่วทั้งโลกธาตุ และมีพันหัตถ์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
พระแม่กวนอิมรากไม้ 100 ปี
เป็นไม้แกะสลักเป็นรูปพระแม่กวนอิม ประทับอยู่บนฐานมังกรไม้ ส่งมาจากเมืองจีน บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล วิธีการบูชาคือ
ให้ลูบหัวมังกรลง 3 ครั้ง แล้วอธิษฐานขอเกี่ยวกับสติปัญญา และหน้าที่การงาน จากนั้นลูบลำตัวของมังกรขึ้นตามเกล็ดมังกร 3 ครั้ง อธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพร่างกาย และสุดท้ายให้ลูบหางมังกรขึ้นตามเกร็ด 3 ครั้ง แล้วอธิษฐานเกี่ยวกับอนาคต จากนั้นนำเงินทำบุญใส่เข้าไปทางปากมังกร (สิ่งสำคัญที่บอกกันมาคือ อย่าแตะ หรือโดนหนวดมังกรในขณะที่ลูบเพราะเชื่อว่าจะทำให้ไม่สมหวัง)
พระอุปคุต
หากเดินมาทางด้านข้างซ้ายของวิหาร จะเห็นบ่อปลาขนาดไม่ใหญ่มาก ตรงกลางสระเป็นที่ประดิษฐานพระอุปคุต หรือพระบัวเข็ม เป็นพระอรหันต์ ผู้มีอิทธิฤทธิ์ มีความเชื่อในพุทธคุณด้านก่อให้เกิดโชคลาภ ปราบมาร ขจัดภยันตราย ตามประวัติกล่าวว่า เป็นพระที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานกว่า 200 ปี) และได้ทรงปราบมารให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อพระเจ้าอโศกมหาราช พระอุปคุตเป็นที่เคารพกันมากในหมู่ชาวพม่า มอญ มีหลายพุทธลักษณะ ที่เห็นกันบ่อยได้แก่ ปางจกบาตร (นั่งเงยหน้าเอียงไปทางขวา มือขวาล้วงลงไปในบาตรที่อยู่บนตัก) และปางบัวเข็ม (นั่งอยู่บนฐานที่มีลักษณะเป็นน้ำ มีกุ้ง หอย ปู ปลาอยู่ด้านล่าง เหมือนกับท่านกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในสะดือทะเล บนพระเศียรมีใบบัวคว่ำลงมาคลุม)
ห้องวิหารบูรพาจารย์
ในห้องนี้มี “พระสำเร็จ” สังขารอดีตท่านเจ้าอาวาสซึ่งมรณภาพในท่านั่งวิปัสสนากรรมฐาน คนมาขอให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและการงาน ภายในห้องยังมีตู้โชว์องค์พระธาตุของพุทธสาวก เช่น พระสันตติมหาอำมาตย์ พระโลหะนามะเถระ พระแม่สิริมานันทะเถรี พระโกฐติถเถระ พระโคธิกะ พระลุปปะนันทะ พระสปากะเถระ พระแม่สุชาดา พระวิมลเถระ เป็นต้น
วิหารหลวงพ่อหินศักดิ์สิทธิ์ (เป็นห้องที่งดจุดธูป)
ด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ประดิษฐานกลุ่มพระพุทธรูปหินทราย อายุกว่า 600 ปี และมีตู้กระจกใสโชว์พระธาตุของพุทธสาวกต่างๆ พระธาตุของแต่ละองค์ อยู่ในที่บรรจุแก้วใสสวยงาม มองเห็นได้ถึงองค์พระธาตุด้านใน มีไฟประดับส่องให้เห็นพระธาตุดูสุกสว่าง องค์พระธาตุภายในห้องนี้มีหลายตู้ เช่น พ่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระมหากัปปีนะ พระอุรุวัยละกัสสปะ พระโสณะ พระยังคิกะ พระมหากาฬุทายี พระสะบีตา พระนิจดะ เป็นต้น
ไท้ส่วยเอี้ย
เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ช่วงปีใหม่และตรุษจีน จะมีคนมาไหว้กันมาก เพระามีความเชื่อว่าผู้ใดเกิดในปีชง ควรมามาไหว้เพื่อแก้ชง ขอพรให้เทพเจ้าช่วยปกป้องคุ้มครอง และขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้ายที่จะบังเกิด
หากต้องการแก้ชง ทางวัดจะมีชุดไหว้แก้ชงจำหน่าย จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนที่มีป้ายตัวอย่างไว้ ตั้งแต่การอธิษฐาน การจับกระดาษไหว้ปัดจากตัว และนำกระดาษไหว้ไปใส่ไว้ในที่เก็บ ซึ่งถือว่าสะดวกสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมาแก้ชงมาก่อนด้วย
ระฆังใบใหญ่ ประดับอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร
เป็นระฆังน้ำหนัก 1.5 ตัน มีความสูง 2.4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร มีห่วงคล้องด้านบนองค์ระฆังทำเป็นตัวมังกรคาบแก้วโก่งตัว ส่วนไม้ตีระฆังแขวนไว้ใกล้กัน เป็นท่อนไม้แกะเป็นรูปมังกรคาบแก้ว ระฆังนี้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ฉลองครบ 6 รอบ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นเพียง 1 ใน 3 ใบของโลก ที่โดยรอบองค์ระฆังทำเป็นอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร ซึ่งเชื่อกันว่าใครได้ตีระฆัง ก็เหมือนกับการได้สวดมนต์บทนี้ ทำให้ได้บุญกุศลไปด้วย
ภายในบริเวณวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย ที่ให้ได้กราบสักการะเช่น พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ พระเวทโพธิสัตว์ (อุ้ยท้อผ่อสัก) เทพเตี๋ยวกวงเม้งไฉ่ซิ้ง (ปางบู้) เทพเจ้ากวนอู พระพุทธโสธรองค์จำลอง พระตี่จังอ้วงโพธิสัตว์ พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ เจ้าพ่อหลักเมือง แปะกง แปะม่า (ถ้าเป็นคนไทย ก็เปรียบได้กับ ศาลตายาย) เป็นต้น นอกจากนี้ ทางวัดยังมีการก่อสร้างเจดีย์แบบเก๋งจีน อยู่ทางด้านหลังวัด เพื่อทำเป็นห้องเก็บพระไตรปิฎก ห้องสมุด เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ข้อแนะนำ
การเดินทาง
ห่างจากตลาดบ้านใหม่ 300 เมตร
ห่างจากเจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ 1 กิโลเมตร
ห่างจากวัดหลวงพ่อโสธร 5 กิโลเมตร
ห่างจากวัดสมานรัตนาราม 13 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 1 มอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม (365) -> ฉะเชิงเทรา (304) -> ฉะเชิงเทรา-อ.บางน้ำเปรี้ยว (ถนนศุภกิจ)
1 | หากใช้เส้นทางจากมอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) ให้เลี้ยวตามป้ายมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา (314) |
2 | ตรงตามเส้นทางมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง เห็นป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไป อ.พนมสารคาม (365 หรือ 314 เดิม) จึงเลี้ยวขวาตามป้าย |
3 | เมื่อเลี้ยวขวามาสักพัก จะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง พอลงจากสะพานไปราว 2-3 กิโลเมตร จะมีป้ายเข้าเมืองฉะเชิงเทรา (304) เป็นเส้นทางบอกให้เลี้ยวซ้ายตรงแยกคอมเพล็กซ์ (**ไม่ขึ้นสะพานข้ามแยก) |
4 | เมื่อเลี้ยวซ้ายไปแล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ ประมาณ 4 กิโลเมตร จะขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงอีกที บนสะพานให้ชิดซ้าย (ให้ตามป้ายทางไปวัดโสธรไปก่อน) |
5 | เมื่อลงจากสะพานแล้ว จึงชิดขวา เพื่อเลี้ยวขวาไปทาง อ.บางน้ำเปรี้ยว (ไม่ไปทางวัดโสธรแล้ว) |
6 | เมื่อเลี้ยวขวาไปแล้ว ตรงไปอีกสัก 2 กิโลเมตรกว่าๆ เลยตลาดบ้านใหม่ไปสักระยะ พอพ้นโค้ง จะเห็นวัดจีนประชาสโมสรทางซ้ายมือ |
เส้นทางที่ 2 มอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> ฉะเชิงเทรา (304) -> ทางไป อ.บางน้ำเปรี้ยว
1 | หากใช้เส้นทางจากมอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) ให้เลี้ยวตามป้ายมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา (314) |
2 | ตรงตามเส้นทางมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านหน้าโรบินสันฉะเชิงเทรา แล้วจึงตามป้ายบอกทางเข้าเมืองฉะเชิงเทรา (304) |
3 | เมื่อเข้าเมืองฉะเชิงเทรา เส้นทางจะผ่านหน้าสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จากนั้นจะเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อ.บางน้ำเปรี้ยว / ตลาดบ้านใหม่ จึงเลี้ยวซ้ายตามป้าย (ตรง 7-11) * เส้นทางนี้เป็นเส้นทางลัด การจราจรจะเบาบางกว่าเส้นหลัก |
4 | เมื่อเลี้ยวซ้ายไปหน่อย จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปตลาดบ้านใหม่ (ไม่ข้ามทางรถไฟ) จึงเลี้ยวขวาเลียบทางรถไฟไป |
5 | พอเลี้ยวมาแล้ว ให้ตรงไปจนถึงเส้นทางลอดใต้สะพานทางรถไฟ เมื่อลอดใต้สะพานแล้วให้เลี้ยวขวาอีกที |
6 | เมื่อเลี้ยวมาแล้วสะพานทางรถไฟจะอยู่ทางขวามือ ให้ตรงเลียบทางรถไฟไปอีกราว 1 กิโลเมตร จะเจอทางแยก ให้เลี้ยวซ้าย |
7 | จากนั้น จะผ่านตลาดบ้านใหม่ไป พอพ้นช่วงโค้งไปหน่อย ก็จะเห็นวัดจีนประชาสโมสรอยู่ทางซ้ายมือ |
เส้นทางที่ 3 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา (ถนนสุวินทวงศ์)(304) -> เข้าเมืองฉะเชิงเทรา (304) -> ทางไป อ.บางน้ำเปรี้ยว
1 | เส้นทางเริ่มจากถนนสุวินทวงศ์ (มีนบุรี) ตรงมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา |
2 | พอเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อขึ้นสะพานข้ามทางรถไฟ จะเห็นป้ายบอกทางเข้าเมืองฉะเชิงเทรา (304) ให้ไปทางซ้ายตามป้ายบอกทาง |
3 | เมื่อเลี้ยวซ้ายมาแล้ว ผ่านหน้าสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จากนั้นจะเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อ.บางน้ำเปรี้ยว / ตลาดบ้านใหม่ จึงเลี้ยวซ้ายตามป้าย (ตรง 7-11) * เส้นทางนี้เป็นเส้นทางลัด การจราจรจะเบาบางกว่าเส้นหลัก |
4 | เมื่อเลี้ยวซ้ายไปหน่อย จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปตลาดบ้านใหม่ (ไม่ข้ามทางรถไฟ) จึงเลี้ยวขวาเลียบทางรถไฟ |
5 | เลี้ยวขวาไปสักระยะ จะเป็นเส้นทางเบี่ยงซ้ายเพื่อลอดใต้สะพานทางรถไฟ เมื่อลอดใต้สะพานแล้วให้เลี้ยวขวาอีกที |
6 | เมื่อเลี้ยวมาแล้ว (สะพานทางรถไฟจะอยู่ทางขวามือ) ให้ตรงเลียบทางรถไฟไปอีกราว 1 กิโลเมตร จะเจอทางแยก ให้เลี้ยวซ้าย |
7 | จากนั้น จะผ่านตลาดบ้านใหม่ไป พอพ้นช่วงโค้งไปหน่อย ก็จะเห็นวัดจีนประชาสโมสรอยู่ทางซ้ายมือ |
หากมาจากวัดหลวงพ่อโสธร
1 | ออกจากวัดแล้วเลี้ยวขวา จากนั้นตรงไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกไฟแดง |
2 | จากนั้นให้ตรงต่อไป (ตามป้ายบอกทาง อ.บางน้ำเปรี้ยว) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ผ่านหน้าตลาดบ้านใหม่ไป จะเห็นวัดจีนประชาสโมสร ทางซ้ายมือ |
ข้อมูลการติดต่อ วัดจีนประชาสโมสร
ที่อยู่ ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทร 038-511-069
เวลาเปิด 8.00 - 18.00 น.