วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "วัดหลวงพ่อโสธร" เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวแปดริ้ว ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวแปดริ้ว และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศไทย จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส แวะเวียนมากราบสักการะ ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล บนบานสานกล่าวเพื่อให้ประสบความสำเร็จ หรือคนที่มีลูกยาก ก็มักจะมาขอลูกกันมาก
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนเทพคุณากร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ด้านหลังวัดติดแม่น้ำบางปะกง ทางวัดมีที่จอดรถด้านในกว้างขวาง (ได้เกือบ 200 คัน) หากจอดไม่พอ ฝั่งตรงข้ามที่เป็นส่วนของโรงเรียน และที่มีแม่ค้าขายของ ก็สามารถจอดได้อีกเยอะ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า "วัดหงส์" เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุพายุ ทำให้ยอดเสาหงส์ของวัดหักลงมา ทางวัดนำธงไปประดับไว้แทน จึงเรียกกันว่า "วัดเสาธง" ต่อมาเสาธงก็ถูกพายุพัดหักลงไปอีก ชาวบ้านจึงเพิ่มคำเรียกชื่อวัดเป็น "วัดเสาธงทอน" และเปลี่ยนเป็น "วัดโสธร" ต่อมาได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ชื่อวัดจึงมีคำต่อท้ายกลายเป็น "วัดโสธรวรารามวรวิหาร" ดังในปัจจุบัน ส่วนพระพุทธโสธรที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดนั้น แต่เดิมไม่มีชื่อเรียก เมื่ออัญเชิญขึ้นจากนำ้มาประดิษฐานไว้ที่วัดโสธร จึงเรียกว่า "พระพุทธโสธร" หรือที่คนนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโสธร"
หลวงพ่อพระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร มีประวัติความเป็นมาอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่องลือกันมาตามตำนานเรื่อง พระพุทธรูป 3 พี่น้อง ซึ่งองค์หลวงพ่อโสธรนั้น องค์จริงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยทองสำริด มีพุทธลักษณะงดงาม มีขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอกเศษ สันนิษฐานว่า ประมาณ พ.ศ.2313 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาขโมยไป จึงนำปูนมาพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้ จนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีพุทธลักษณะดังที่เห็นอยู่ในโบสถ์ (หลังใหม่) เป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระพักตร์แบบศิลปะล้านนา พระเกตุมาลาแบบปลี ข้อพระกรขวามีกำไลรัดตรึง ทรงจีวรแนบเนื้อ มีความกว้างหน้าตัก 3 ศอก 5 นิ้ว สูง 1.93 เมตร ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ประดิษฐานบนแท่นฐานชุกชี รายล้อมด้วยพระพุทธรูปปางอื่นอีกหลายองค์
ประวัติพระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร
"หลวงพ่อโสธร" ไม่มีใครทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จาก "ตำนานพระพุทธรูป 3 พี่น้อง**" เล่าต่อกันมาว่า มี 3 พี่น้องชาวล้านนา ที่อยู่ทางเหนือของไทย บวชเป็นพระภิกษุ และบำเพ็ญเพียรภาวนาจนมีฤทธาปาฏิหารย์ ได้จำแลงแปลงกายเป็นพระพุทธรูป แล้วลอยตามลำน้ำลงมาทางใต้ เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ล่องมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า "สามเสน" ได้ปรากฏให้ชาวบ้านได้เห็น ชาวบ้านจึงพยายามช่วยกันฉุดพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ขึ้นจากน้ำ กล่าวกันว่าใช้คนเป็นแสนก็ไม่สำเร็จ ต่อมาบริเวณจึงถูกเรียกว่า "สามแสน"และเพี้ยนมาเป็น สามเสน ในปัจจุบัน
หลังจากที่พระพุทธรูปโผล่มาปรากฏให้เห็นที่สามเสนแล้ว ก็จมหายลงน้ำไป จากนั้นก็ลอยเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะไปสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณวัดสวนพริกนอก (ปัจจุบันคือวัดสัมปทวนนอก) และได้แสดงปาฏิหารย์ด้วยการโผล่ขึ้นมา ลอยทวนกระแสน้ำให้ชาวฉะเชิงเทราได้เห็น ชาวบ้านพยายามชักลากนำพระพุทธรูปทั้ง 3 ขึ้นฝั่ง แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ก็นำขึ้นจากน้ำไม่ได้ จนในที่สุดพระพุทธรูปทั้งสามก็จมหายลงไปในแม่น้ำอีกครั้ง หลังจากนั้นชาวบ้านได้เรียกวัดสวนพริกว่า "วัดสามพระทวน" (ในความหมายที่ว่ามีพระสามองค์ลอยทวนน้ำ) ต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนไปเป็นคำว่า "วัดสัมปทวน**" ซึ่งปัจจุบันวัดสัมปทวน อยู่ในตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสาม ได้ลอยไปตามลำน้ำบางปะกง แล้วปรากฏให้ชาวบ้านได้เห็นอีกหลายครั้ง ทั้งบริเวณตำบลบางพระ และคุ้งน้ำบริเวณกองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์ (ค่ายศรีโสธร) ซึ่งพระพุทธรูปได้ปรากฏให้เห็นวนเวียนอยู่ในบริเวณนี้หลายครั้ง จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า "แหลมหัววน" จนกระทั่งพระพุทธรูปปางสมาธิกับพระพี่น้องอีก 2 องค์ ได้ลอยผุดขึ้นมาที่ท่าน้ำบริเวณวัดหงส์ ครั้งนี้ชาวบ้านได้นำอาจารย์ผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ มาประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ โดยตั้งปรัมพิธีบวงสรวง แล้วนำด้ายสายสิญจ์คล้องไว้ที่พระหัตถ์ของหลวงพ่อ ให้ชาวบ้านช่วยกันจับสายสิญจ์ ตั้งจิตอธิษฐาน และทำการอัญเชิญพระพุทธรูปปางสมาธิขึ้นจากน้ำได้สำเร็จ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2313 และได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ วัดโสธรวรวิหาร ส่วนพระพุทธรูปอีก 2 องค์นั้นก็ได้จมหายลอยตามน้ำไป
** ตำนานพระพุทธรูป 3 พี่น้อง เป็นประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูป 3 องค์ที่ลอยมาตามแม่น้ำ เมื่ออัญเชิญขึ้นฝั่งได้ ก็จะนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบริเวณที่นำพระขึ้นจากน้ำ ได้แก่
- หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ประดิษฐานที่ วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จังหวัดสมุทรสงคราม
- หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปปางสมาธิ ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง ประดิษฐานที่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
- หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ประดิษฐานที่ วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม) จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกสององค์ ที่ลอยมาตามลำน้ำไปโผล่ตามจุดต่างๆ บางตำนานจึงได้รวมเข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องราวของ พระพุทธรูป 5 พี่น้อง ที่อาจมีเรื่องราวที่ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง พระพุทธรูปอีก 2 องค์ดังกล่าวคือ
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ประดิษฐานที่ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
จากตำนานที่กล่าวมา สันนิษฐานได้ว่า เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถูกเผา ชาวบ้านต้องหนีเอาตัวรอด และไม่อาจรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ได้ จึงนำใส่แพไม้ไผ่ผูกล่องมาตามน้ำ เพื่อไม่ให้ข้าศึกทุบทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระทำให้พระพุทธรูปลอยผลุบโผล่อยู่ในน้ำ ผู้พบเห็นจึงถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์
พระอุโบสถ (หลังใหม่)
การสร้างพระอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดโสธร ในปี พ.ศ.2509 แล้วทรงเห็นว่าพระอุโบสถเดิมมีความชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สมฐานะกับพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จึงแต่งตั้งศิลปินแห่งชาติ ดร.ประเวศ ลิมปรังษี เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยไม่ได้เคลื่อนย้ายองค์พระพุทธโสธร และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ แต่อย่างใด
พระอุโบสถหลังใหม่ เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่ สง่างามสมเกียรติกับการประดิษฐานพระพุทธโสธร (องค์จริง)การออกแบบโบสถ์จึงมีความวิจิตรบรรจง พิถีพิถันด้านสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และการก่อสร้าง โดยใช้เวลานานกว่า 8 ปี และใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2531แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2539 โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมาประกอบพระราชพิธียกฉัตรทองคำเหนือยอดมณฑป
พระอุโบสถหลังใหม่นี้ ใช้ศิลปะแบบไทยประยุกต์และร่วมสมัย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีมุขยื่นยาวออกไปตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ประตูทิศเหนือ เป็นทางเข้าหลักที่หันไปทางถนนสายหลักด้านหน้า (ถนนเทพคุณากร) ประตูทิศใต้หันออกสู่แม่น้ำบางปะกง ตัวอาคารมีขนาดกว้าง 44.5 เมตร ยาว 123.5 เมตร ความสูงจากพื้นล่างของพระอุโบสถ ถึงสุดยอดหลังคาทรงมณฑป ประมาณ 85 เมตร เครื่องยอดหลังคาเป็นทรงปราสาทประยุกต์ มีลักษณะ 8 เหลี่ยม ผนังภายในและภายนอกปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี ส่วนของยอดหลังคาทำเป็นชั้นๆ ลดหลั่น ขึ้นไปอีก 4 ชั้น ในชั้นที่ 3 มีลานประทักษิณ ประดับด้วยฉัตรทองโดยรอบ มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรประดิษฐานทิศละ 1 องค์ และชั้นนี้ยังเปรียบเสมือนเรือนธาตุของยอดปราสาทที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์บรมสารีริกธาตุ และที่ส่วนบนสุดเป็นยอดฉัตรทองคำหนัก 77 กิโลกรัม
พระอุโบสถทั้งหลังนั้นปลูกสร้างให้เป็นเสมือนเขตพุทธาวาสของวัด โถงกลางเป็นส่วนของโบสถ์ ส่วนโถงด้านหน้า และด้านหลัง เป็นวิหารยื่นยาวออกไป 2 ด้าน ภายในโบสถ์ อยู่ในขอบเขตพัทธสีมา ที่มีหลักเสมาหินอ่อนวางอยู่ภายในทั้ง 4 ทิศ มีลักษณะเป็นโถงกว้าง หลังคาสูง โปร่ง อากาศถ่ายเทดี เย็นสบาย ไม่อึดอัด ตรงกลางมีฐานชุกชีทรงกลมขนาดใหญ่ ทำเป็นกลีบดอกบัว ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโสธร (องค์จริง) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหลัง เป็นพระประธาน และมีพระพุทธรูปปางต่างๆ รายล้อมอยู่ พื้นอุโบสถรอบองค์พระ ปูด้วยหินแกรนิต ตกแต่งเป็นลวดลายให้เสมือนอยู่ในห้วงสีทันดรมหาสมุทร มีรูปปลา และสัตว์น้ำในป่าหิมพานต์หลากหลายชนิด ให้สอดคล้องกับเรื่องราวในตำนานการพบพระพุทธโสธรที่ลอยน้ำมา เพดานตรงกลางเป็นโดม สูงขึ้นไปทำเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม เปรียบเสมือนจักรวาลที่มีดาวประกอบระยิบระยับ เป็นภาพแสดงตำแหน่งดวงดาวในจักรราศี ตามวันเวลามหาฤกษ์ที่โหรหลวงได้ผูกดวงประกอบพิธียกฉัตรทองคำไว้ (ตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2539) เหนือเพดานขึ้นไปเป็นอาคารทรงมณฑป ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (หากมองจากภายนอกจะเป็นชั้นที่ 3 ของยอดปราสาท)
การเดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ จะเดินเข้าทางด้านข้างขององค์พระ (องค์พระหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ภายในอุโบสถหลังใหม่นี้ถวายเครื่องสักการะได้เพียงดอกไม้ และการกราบอธิษฐานขอพรต่างๆ ไม่สามารถจุดธูปเทียน หรือปิดทององค์พระได้ และจะมีพระสงฆ์ประจำอยู่คอยประพรม และแจกหลอดน้ำมนต์ หากออกทางประตูด้านหน้าองค์พระไป จะเป็นอาคารเชื่อมต่อ เป็นส่วนของวิหาร ประดิษฐานพระอัฏฐารส ปางประทานอภัย หรือปางห้ามญาติ ตรงทางทางเชื่อมระหว่างอาคาร มีฆ้อง รูปปั้นพระแม่ธรณี และกลองไชยเภรีศรีโสธร 12 นักษัตรวัฒนมงคล
ข้อแนะนำการเข้าพระอุโบสถ
- ไม่อนุญาตให้ผู้แต่งกายไม่สุภาพเข้าภายในอุโบสถ เช่นใส่เสื้อบาง เสื้อแขนกุด เสื้อรัดรูป เสื้อเอวลอย เสื้อเว้าไหล่ สายเดี่ยว เสื้อกล้าม เสื้อเอวจั๊ม กระโปรงบาง ซับในไม่คลุมเข่า กางเกงแฟชั่น กรีดขากางเกง กางเกงขาด กางเกงรัดรูป ทางวัดจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเช็ค และมีชุดคลุมให้สวมทับ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
- ควรถอดหมวกก่อนเข้าไปภายในโบสถ์
- ไม่อนุญาตให้นำ น้ำมนต์ น้ำมัน น้ำดื่ม ไข่ต้ม ผลไม้ สัตว์ปล่อยทุกชนิด เข้าไปภายในพระอุโบสถ
- ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนบูชาพระภายในพระอุโบสถ ให้ถวายดอกไม้ได้เท่านั้น
- ไม่อนุญาตให้นำรองเท้าใส่ถุง หรือกระเป๋า เข้าไปภายในพระอุโบสถ (ด้านหน้ามีที่วางรองเท้า และฝากรองเท้า)
- ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปภายในพระอุโบสถ
- มีจุดที่ให้ถวายสังฆทานกับพระสงฆ์ พร้อมรับน้ำมนต์
วิหาร (จำลอง)
วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธโสธรจำลอง ตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์หลังใหม่ เป็นอาคารชั้นเดียวที่สร้างขึ้นแบบง่ายๆ ต่อหลังคาออกมาจากตัวอาคาร ให้เป็นส่วนของศาลาแบบเปิดโล่ง สังเกตง่ายๆ เป็นจุดที่มีผู้คนหนาแน่นมากที่สุด เพราะเป็นบริเวณที่จัดทำไว้ให้ผู้ที่ต้องการกราบสักการะหลวงพ่อ จุดธูปเทียนบูชา ปิดทอง และแก้บน
บริเวณวิหารจะเข้าได้หลายทาง ด้านที่ใกล้โบสถ์หลังใหม่จัดตั้งร้านค้า ขายเครื่องเสริมดวงชะตา ของเล่น ของฝาก ของที่ระลึก ไข่ต้ม ขายสลากกินแบ่ง และร้านอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนด้านในมีเคาน์เตอร์จำหน่ายวัตถุมงคล จุดจำหน่ายเครื่องบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำมันตะเกียง เครื่องสักการะต่างๆ จุดแลกเหรียญ คณะละครรำแก้บน ส่วนบริเวณตรงกลางของพื้นที่ มีชั้นวางของเรียงรายไว้มากมาย เป็นชั้นที่จัดทำไว้ให้ผู้ที่นำเครื่องแก้บนมาถวายหลวงพ่อ เมื่อเดินไปยังบริเวณด้านในวิหาร ตรงหน้าประตู มีที่จุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ เติมน้ำมันตะเกียง (ภายในอาคารไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียน) ก่อนเข้ามีจุดให้ถอดรองเท้า และฝากรองเท้าอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ประตู
ด้านในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโสธร (องค์จำลอง) และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ (หลวงพ่อโสธรคือพระพุทธรูปปางสมาธิองค์กลาง) เป็นห้องโถงมีขนาดไม่กว้างมากนัก โดยเฉพาะช่วงวันหยุด มีผู้คนแน่นขนัดทำให้ผู้คนเบียดเสียดกัน จนดูห้องเล็กไปถนัดตา ด้านในนี้สามารถนำของแก้บนมาวางถวายไว้ได้ มีที่เสี่ยงเซียมซี จะนำทองมาปิดที่องค์พระแต่ละองค์ หรือซื้อผ้าห่มพระก็ได้ แต่ห้ามประพรมน้ำอบ หรือคล้องพวงมาลัยที่องค์พระ ทางด้านขวาขององค์พระ เป็นจุดประชาสัมพันธ์ ใครพลัดหลง หรือมีข่าวประกาศก็นำมาแจ้งตรงจุดนี้ได้เลย
การบน และการแก้บนหลวงพ่อโสธร
การบนบานสานกล่าว ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ต้องการพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในเรื่องที่ยังไม่ประสบผล โดยอธิษฐานกับพระแบบมีข้อแลกเปลี่ยน (ที่เราเรียกว่า "การบน") คนส่วนมากมาบนกับหลวงพ่อโสธรในเรื่องต่างๆ เช่น การเรียน การสอบเข้า การทำงาน เลื่อนยศตำแหน่ง เจรจาค้าขาย ด้านสุขภาพ แม้กระทั่งการขอให้ตั้งครรภ์ มีบุตร เชื่อกันว่าบนเรื่องใดก็มักจะสำเร็จ ยกเว้นบนขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร หากมาบนไว้มักจะติดทหารทุกรายไป เมื่อกล่าวขอสิ่งใดกับหลวงพ่อแล้ว สำเร็จผลตามที่ปรารถนา ก็จะต้องนำสิ่งของหรือข้อแลกเปลี่ยนที่เราเคยกล่าวไว้ นำมาถวายกับหลวงพ่อ (เรียกว่า "การแก้บน") ซึ่งสิ่งที่คนใช้เป็นเครื่องบนบาน มีทั้งเป็นสิ่งของ เครื่องสักการะ หรืออาหารต่างๆ เช่น บนด้วยการปิดทอง ถวายพวงมาลัย ผลไม้ (มะพร้าวอ่่อน ส้มเขียวหวาน กล้วย) หัวหมู ไข่ต้ม และการแสดงละครรำ เป็นต้น
สำหรับวัดหลวงพ่อโสธรนั้น ส่วนใหญ่มักจะบนด้วย "ไข่ต้ม" หรือ "ละครรำ" โดยเฉพาะไข่ต้ม จะเห็นผู้คนนำไข่ต้มมาถวายกันมากมาย นั่นเป็นเพราะจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีฟาร์มไก่เยอะ มีการซื้อขายไข่กันมาก แต่ก่อนมีชาวแปดริ้วคนนึงมาบนหลวงพ่อด้วยไข่ต้ม เมื่อประสบผลสำเร็จ จึงถวายไข่ต้มเป็นเครื่องแก้บน เมื่อคนเห็นว่าการบนด้วยไข่ต้มทำให้สำเร็จ จึงบนด้วยไข่ต้มสืบทอดตามกันมา ส่วนการแก้บนด้วยละครรำนั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อนานมาแล้ว มีชาวบ้านคนนึงตามหาลูกสาวที่หายไป มาบนกับหลวงพ่อไว้ว่าหากเจอลูกสาวจะนำคณะละครมารำถวาย ซึ่งต่อมาเมื่อลูกสาวกลับมา จึงจ้างคณะละครมารำหน้าองค์พระเพื่อแก้บน หลังจากนั้นจึงมีคนมาบนด้วยละครรำ จนมีการตั้งคณะละครอยู่บริเวณศาลาหน้าองค์พระ เพื่อสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการแก้บน
สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อแก้บนด้วยไข่ต้ม
- ดอกไม้ ธูปเทียน (ซื้อได้จากจุดจำหน่ายของทางร้าน)
- ไข่ 99 ฟอง มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่บนไว้ (จะนำมาเอง หรือจะมาซื้อแถววัด ก็มีแม่ค้านำมาจำหน่ายหลายร้าน บางร้านแถมตะกร้าใส่ไข่ให้ฟรีด้วย)
- น้ำปลาขวดเล็กๆ
- น้ำเปล่า 1 ขวด (ขณะถวายจะเปิดฝาแล้วใส่หลอดไว้ด้วยก็ได้)
- น้ำมันพืช ใช้เติมตะเกียง สำหรับผู้ที่มีความเชื่อว่าการเติมน้ำมันตะเกียง จะทำให้ชีวิตสว่างไสว (จะนำมาเองหรือมาซื้อที่วัดก็ได้)
วิธีแก้บนคือ ปอกไข่ 3 ใบ เปิดฝาน้ำปลา เปิดฝาขวดน้ำ แล้วจุดธูป 3 ดอก (หากมาบนให้จุดธูป 9 ดอก) แล้วจึงอธิษฐานจิตบอกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าได้นำสิ่งที่บนบานสานกล่าว มาถวายตามที่เคยบนไว้แล้ว จากนั้นรอจนธูปหมด หรือประมาณ 30 นาที จึงลาของที่บนไว้ โดยกล่าวว่า "เสสัง มังคลา ยาจามิ" (ขออาหารที่เป็นมงคลให้แก่ข้าพเจ้าเถิด) แล้วจึงนำของแก้บนกลับบ้านไปรับประทานหรือแจกจ่าย
การแก้บนด้วยละครรำ
บริเวณศาลาหน้าวิหารหลวงพ่อ มีคณะละครรำ ราคาคิดตามจำนวนนางรำในแต่ละรอบ มีชุดเล็ก 4 คน ชุดกลาง 6 คน และชุดใหญ่ 8 คน (ราคา 300 - 600 บาท)
งานทำบุญประจำปีพระพุทธโสธร
- งานเทศกาลกลางเดือน 5
เป็นวันงานสมโภช วันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง และอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโสธร ในงานจะมีพิธีแห่หลวงพ่อไปตามถนนและหมู่บ้านต่างๆ มีการทำบุญตักบาตร เวียนเทียน สรงน้ำหลวงพ่อ จัดแสดงมหรสพ ลิเก และงิ้ว
เวลาจัดงาน : วันขึ้น 14 ค่ำ จนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 (รวม 3 วัน 3 คืน)
- งานเทศกาลเดือน 12
เป็นเทศกาลที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2434 (มากกว่า 120 ปีมาแล้ว) การจัดงานเริ่มมาจาก นายทรัพย์ เจ้าของละครคลองโสธร จัดงานฉลองสมโภชแก่หลวงพ่อ เพื่อเป็นการแก้บน สืบเนื่องจากมีช่วงปีที่ข้าวยากหมากแพง เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายกันมาก จนผู้คนต่างกันพามาบนบานกับหลวงพ่อ เพื่อให้หลวงพ่อช่วย หลังจากนั้นทุกอย่างก็คลี่คลาย มีฝนตกลงมา โรคภัยไข้เจ็บหายไป ชาวบ้านจึงร่วมกับนายทรัพย์จัดงานฉลองครั้งใหญ่ เพื่อเป็นการแก้บน งานนี้มีทั้งการแห่หลวงพ่อทางบก และทางน้ำ เวียนเทียน สรงนำ้พระ และยังตรงกับวันลอยกระทงอีกด้วย
เวลาจัดงาน : วันขึ้น 12 ค่ำ จนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 (รวม 5 วัน 5 คืน)
- เทศกาลตรุษจีน
ถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งที่มีประชาชนไปนมัสการหลวงพ่อมากกว่าปกติ เป็นงานที่ชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน พ่อค้า ข้าราชการ และประชาชน ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่จีน โดยจัดให้มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางบก เพื่อให้ประชาชนได้ประพรมน้ำ มีการแสดงงิ้ว ลิเก เชิดสิงโต และหล่อโก้ว**
เวลาจัดงาน : วันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 หรือ ตั้งแต่วันชิวอิก ถึงวันชิงโหงว (รวม 5 วัน 5 คืน)
** หล่อโก้ว เป็นการแสดงดนตรีในรูปแบบจีน คล้ายกับการเล่นวงปี่พาทย์ของไทย เครื่องดนตรีที่โดดเด่น คือกลองใหญ่ ผู้ตีกลองมักจะอยู่บนแท่นบัลลังก์ หรือถ้าเป็นการเดินขบวนแห่ ผู้ตีกลองจะนำหน้า บนรถเข็นที่ประดับประดาไว้อย่างสวยงาม ตามด้วยเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น ปี่ ซอ ขลุ่ย ขิม ที่เล่นอยู่ด้านหลัง ส่วนเครื่องตีประเภทฉาบ หรือฆ้องจะเล่นอยู่ด้านข้างของกลอง
การล่องเรือแม่น้ำบางปะกง
กิจกรรมบริเวณวัดโสธรนอกจากสักการะหลวงพ่อโสธรแล้ว บริเวณริมท่าน้ำมีกิจกรรมให้ล่องเรือชมลำน้ำบางปะกง ชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ และแวะตลาด 100 ปี โดยมีไกด์คอยบรรยายตลอดเส้นทาง
การเดินทางใช้เวลาไป-กลับประมาณ 2 ชั่วโมง ค่าใช้จ่าย 100 บาท/คน
ตารางรอบเรือชมแม่นำ้และเที่ยวตลาดน้ำ
วันจันทร์ - ศุกร์ รอบ 12.00 น. / 14.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รอบ 10.00 น. / 12.00 น. / 14.00 น.
ข้อแนะนำ
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- วิหารจำลอง
- พระอุโบสถหลังใหม่
- โรงเจริมน้ำด้านหลัง (ทำบุญโลงศพ)
- ล่องเรือไปตลาดบ้านใหม่
การเดินทาง
การเดินทางไปวัดหลวงพ่อโสธร หากขับรถไปก็ไปได้หลายเส้นทาง หากไม่ได้ใช้รถส่วนตัว ก็มีรถทัวร์ รถตู้ รถไฟ และรถสองแถวต่อไปถึงวัดได้เลย
ห่างจากสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา 3 กิโลเมตร
ห่างจากสถานีขนส่ง 4 กิโลเมตร
ห่างจากตลาดบ้านใหม่ / วัดเฮ่งลกยี่ 4 กิโลเมตร
ห่างจากวัดสมานรัตนาราม 16 กิโลเมตร
ห่างจากมินิ มูร่าห์ ฟาร์ม 15 กิโลเมตร
ห่างจากตลาดน้ำบางคล้า / วัดโพธิ์บางคล้า 27 กิโลเมตร
เส้นทางรถยนต์
เส้นทางที่ 1 มอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> ถนนเทพคุณากร
เป็นเส้นทางที่คนนิยมใช้กันมาก สำหรับผู้ที่มาทางถนนบางนา-ตราด (บูรพาวิถี) หรือมอเตอร์เวย์
1 | จากกรุงเทพฯ มาทางถนนบางนา-ตราด หรือ มอเตอร์เวย์ ให้เลี้ยวตามป้ายบอกทางมายังจังหวัดฉะเชิงเทรา (314) |
2 | ตรงตามตามป้ายฉะเชิงเทรา เมื่อเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา พอเห็นร้านไทวัสดุทางด้านซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวขวาไปวัดโสธร จึงเลี้ยวขวาตามป้าย |
3 | เมื่อเลี้ยวมาแล้ว จะเป็นถนนเทพคุณากร ให้ตรงตามเส้นทางไปราว 2 กิโลเมตร วัดหลวงพ่อโสธรอยู่ทางขวามือ มีทางเข้าลานจอดรถด้านหลังวัด (หรือจะจอดฝั่งตรงข้ามวัดตรงที่เป็นตลาดทางซ้ายมือก็ได้) |
เส้นทางที่ 2 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา (ถนนสุวินทวงศ์)(304) -> ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี (314) -> ถนนเทพคุณากร
เป็นเส้นทางที่เหมาะกับคนที่มาจากกรุงเทพฯ ตอนบน เช่น บางเขน ดอนเมือง จตุจักร หรือจากจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี มีนบุรี
1 | เส้นทางจากถนนสุวินทวงศ์ (มีนบุรี) ตรงมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา |
2 | เมื่อเข้าเขตฉะเชิงเทรา พอขึ้นบนสะพานข้ามทางรถไฟแล้ว จะมีป้ายบอกทางตรงไปชลบุรี (314) ให้ตรงไปก่อน (ยังไม่ต้องเลี้ยวเข้าเมืองฉะเชิงเทรา) |
3 | ตรงไปสักระยะ จะเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไปวัดโสธร จึงเลี้ยวซ้าย |
4 | เมื่อเลี้ยวมาแล้วจะเป็นถนนเทพคุณากร ให้ตรงตามเส้นทางนี้ไปราว 2 กิโลเมตร วัดหลวงพ่อโสธรอยู่ทางขวามือ |
เส้นทางที่ 3 ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> ถนนเทพคุณากร
เป็นเส้นทางที่เหมาะกับคนที่อยู่แถบลาดกระบัง บางบ่อ(สมุทรปราการ) เป็นถนนสายในที่เหมาะกับคนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน ไม่สามารถขึ้นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ได้
1 | หากมาจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นอ่อนนุช-ลาดกระบัง ให้ตรงมาตลอดเส้นทาง |
2 | เส้นทางจะมาสุดตรงสามแยก เพื่อเข้าเส้นบางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) ตรงนี้ให้เลี้ยวซ้ายไปทางฉะเชิงเทรา |
3 | เมื่อเลี้ยวมาแล้วให้ตรงตามเส้นทางหลัก ตามป้ายฉะเชิงเทรา (314) ผ่านไป 2 ไฟแดง ผ่านร้านไทวัสดุไปจะเจอป้ายให้เลี้ยวขวาไป วัดโสธร-ศาลากลางจังหวัด แยกนี้จึงเลี้ยวขวา (หากช่วงรถติดมาก ไม่ให้เลี้ยวขวา ก็ต้องไปยูเทิร์นรถกลับมา) |
4 | เลี้ยวขวามาแล้ว จะเป็นถนนเทพคุณากร ให้ตรงตามเส้นทางไปราว 2 กิโลเมตร วัดหลวงพ่อโสธรอยู่ทางขวามือ |
รถโดยสารประจำทาง
รถโดยสารไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรามีหลายสาย ทั้งรถทัวร์ และรถตู้ บางคิวไปส่งถึงหน้าวัดเลย
รถตู้คิวอนุสาวรีย์ชัยฯ
เป็นรถตู้ที่ตรงจากอนุสาวรีย์ชัย ไปวัดหลวงพ่อโสธรเลย
** จากวัดหลวงพ่อโสธร ไปค่ายศรีโสธร ให้ข้ามไปฝั่งตรงข้ามวัดโสธร ขึ้นรถสองแถวสีน้ำเงิน (สายวัดแหลม - วัดโสธร) พอรถเลี้ยวซ้าย ลงรถแล้ว ข้ามถนนไปขึ้นรถตู้ตรงหน้าค่าย (ค่ายศรีโสธรอยู่ขวามือ)
รถทัวร์ หรือรถตู้ ลงสถานีขนส่งฉะเชิงเทรา
รถไฟ
หากโดยสารรถไฟ มีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านไปสถานีฉะเชิงเทราอยู่หลายสาย ค่าโดยสารกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ปกติราคา 13 บาท (เนื่องจากในปี พ.ศ 2559 ทางการรถไฟยังคงขยายเวลารถไฟ ฟรี! จึงยังไม่ต้องเสียงค่าโดยสารใดๆ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1690 หรือ http://www.railway.co.th
ขบวนรถไฟขาไป จากกรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา มีตั้งแต่เวลา 05.55 น. - 17.40 น.
ขบวนรถไฟขากลับ จากฉะเชิงเทรา - กรุงเทพฯ มีตั้งแต่เวลา 05.45 น. -18.00 น.
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม วัดหลวงพ่อโสธร
ที่อยู่ ถนนเทพคุณากร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทร 038-511-048, 038-511-666
เวลาเปิด (วิหาร จุดสักการะ ปิดทองพระพุทธโสธรองค์จำลอง)
วันธรรมดา 7.00 - 16.30 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ 7.00 - 17.00 น.
เวลาเปิด (พระอุโบสถ ที่ประดิษฐานองค์จริง)
ทุกวัน 8.00 - 16.00 น.