จังหวัดฉะเชิงเทรา (แปดริ้ว)

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ และสักการะหลวงพ่อโสธร

ข้อมูลทั่วไป

main river in chachoengsao

จังหวัดฉะเชิงเทรา เดิมคนนิยมเรียกกันว่า "เมืองแปดริ้ว" เป็นคำที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ โดยดูได้จากปลาพื้นถิ่น อย่างปลาช่อนที่มีอยู่มากมายในแม่น้ำ มีขนาดใหญ่โต หากนำปลามาแล่ตามแนวยาวของตัวปลา (ไม่ใช่การบั้งแบบที่เห็นเวลานำไปทอด) เพื่อนำไปผึ่งหรือตาก จะผ่าออกมาได้มากถึงแปดริ้ว (ปลาขนาดทั่วไปจะผ่าออกมาได้ประมาณ 4-6 ริ้ว) ส่วนคำว่า "ฉะเชิงเทรา" สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากภาษาเขมรคำว่า "สทึงเซรา" แปลว่า คลองลึก หมายถึงเมืองที่อยู่ติดแม่น้ำบางปะกง แต่ก็มีข้อขัดแย้ง และมีข้อสันนิษฐานอื่นอีกว่า อาจจะมาจากคำว่า "แซงเซา หรือ แสงเชรา" เป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพระงั่ว) กษัตริย์สมัยอยุธยาเคยตีมาได้ในสมัยนั้น

เมืองฉะเชิงเทรา มีบทบาทตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เป็นหัวเมืองชั้นใน (หัวเมืองชั้นจัตวา) เพราะอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางราชธานีนัก จึงเป็นเมืองที่คอยช่วยเหลือ นำกำลังเข้าร่วมรบในยามศึก เมืองฉะเชิงเทราได้ถูกบันทึกขึ้นอีกครั้ง ในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากอยุธยา แล้วยกทัพมาทางฝั่งตะวันออก เมื่อผ่านมาทางบางคล้า เกิดได้สู้รบกับกองทัพพม่า จนตีพม่าแตกพ่ายที่ปากน้ำโจ้โล้ และได้สร้างอนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์ เพื่อแสดงถึงชัยชนะไว้ที่ปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า

เมื่อเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองฉะเชิงเทราได้มีบทบาทอีกครั้งในช่วง พ.ศ.2376-2390 ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงนั้นไทยเกิดความบาดหมางกับญวน (เวียดนาม) ที่เรียกว่า "สงครามอานามสยามยุทธ" ต่างฝ่ายต่างต้องการชิงความเป็นใหญ่ในเขมร รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่า ญวนอาจเข้าโจมตีไทยทางฝั่งตะวันออก จึงรับสั่งให้เตรียมการตั้งรับศึกญวน ไว้ที่ฉะเชิงเทรา มีการสร้างป้อมกำแพงเมืองขึ้น เพื่อป้องกันการโจมตี เตรียมกองกำลังปืนใหญ่ ขุดคลองแสนแสบ เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสรรพาวุธจากพระนคร แต่ในที่สุดสงครามไทย-ญวน ก็ได้สิ้นสุดลงหลังจากการเจรจาสงบศึกในปี พ.ศ.2390 หลังจากที่สงครามยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 14 ปี นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมืองฉะเชิงเทรา ยังเป็นเมืองที่ได้รับการสนับสนุนให้ปลูกอ้อย ทำน้ำตาลกันมาก มีการจ้างแรงงานชาวจีนมาปลูกอ้อย ชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองฉะเชิงเทรามาก จนกระทั่งต่อมาได้เกิด "จลาจลจีนตั้วเหี่ย*"

* คำว่า ตั้วเหี่ย ในภาษาแต้จิ๋ว มีความหมายเดียวกับคำว่า "อั้งยี่" หมายถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลเถื่อน ที่ขัดต่อกฏหมายบ้านเมือง เช่น เก็บค่าคุ้มครอง ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มของตน ซ่องสุมซ่องโจร การจราจลจีนตั้วเหี่ย เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งใหญ ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทราในช่วงปี พ.ศ. 2391 เริ่มต้นจากการทะเลาะวิวาทของกลุ่มชาวจีน 2 กลุ่ม จากนั้นเรื่องราวได้บานปลาย จนกลายเป็นความโกรธแค้นจากการกดขี่ข่มเหง และแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการท้องถิ่น จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต ตั้วเหี่ย ได้เข้ายึดเมือง เผาบ้านเรือน ก่อความจราจล ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และทำลายทรัพย์สินราษฎร เกิดความเสียหายมากมาย จนทางการกรุงเทพฯ ต้องให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เข้าปราบปราม กวาดล้างกลุ่มตั้วเหี่ย จนมีกลุ่มชาวจีนเสียชีวิตจากการกวาดล้างมากกว่า 3,000 คน

เมืองฉะเชิงเทรา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการแบ่งเขตการปกครอง เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2446 จึงสร้างที่ว่าการมณฑลปราจีนขึ้น ณ ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอหน้าเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมามณฑลได้ถูกล้มเลิกไป จึงใช้เป็นศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้กลายเป็น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน

นอกจากประวัติความเป็นมาอันยาวนานแล้ว เมืองฉะเชิงเทรา ยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีกลุ่มคนหลายชาติพันธ์ุ เข้ามาอยู่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่

ชาวจีน เป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามานาน กลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นการเข้ามาเพื่อใช้แรงงานรับจ้างแทบทุกประเภท เช่น แบกหามขนส่งสินค้า แรงงานในการก่อร่างสร้างเมือง แรงงานในการทำการเกษตร จะเห็นได้จากการใช้แรงงานชาวจีนรับจ้าง มาช่วยขุดคลองแสนแสบ จากหัวหมากมาถึงบางขนาก ชาวจีนที่อยู่ในฉะเชิงเทรามาจากหลายกลุ่มภาษา เช่น จีนกวางตุ้ง จีนแคะ ไหหลำ และแต้จิ๋ว จากนั้นก็มาตั้งรกรากในแถบตัวเมือง และอำเภอบางคล้า เมื่อชาวจีนมีมากขึ้นได้แยกเป็นก๊ก เป็นเหล่า จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกรณี "จลาจลจีนตั้วเหี่ย" ขึ้นในฉะเชิงเทรา ทำให้กลุ่มชาวจีนถูกกวาดล้าง และล้มตายเป็นจำนวนมาก

ชาวมอญ เป็นกลุ่มชาวมอญ ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมาอาศัยอยู่ในย่าน วัดคลอง 18 อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และวัดคลองด่าน ปัจจุบันยังคงเห็นประเพณีของชาวมอญ ที่จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ได้แก่ ประเพณีการแห่ธงตุงตะขาบของชุมชนชาวมอญ และการตักบาตรน้ำผึ้ง ที่วัดพิมพาวาสใต้ อำเภอบางปะกง

ชาวลาว เป็นชนชาติที่นิยมตั้งถิ่นฐานบนที่ดอน และตามริมน้ำลำคลอง ไม่นิยมอยู่ริมทะเล หรือแม่น้ำใหญ่ ชาวลาวกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นชาวลาวเวียง (ลาวที่มาจากเวียงจันทน์) ลาวพวน และลาวเมืองพลาน ที่ถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยศึก ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาวลาวถูกนำมาไว้ที่เมืองฉะเชิงเทรา ในบริเวณอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ปัจจุบันจะยังคงเห็น ประเพณีเก่าแก่ของชาวลาวที่สืบทอดกันมา คือ "ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม" ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี

ชาวเขมร เป็นชนชาติที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในแถบตำบลหัวสำโรง ตำบลสระสองตอน อำเภอแปลงยาว และตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น

ชาวมุสลิม เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม มาตั้งถิ่นฐานกันมากในบริเวณอำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านโพธิ์ ซึ่งกลุ่มมุสลิมกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาจากแหลมมลายู หรือที่เรียกกันว่า ชาวมลายูปัตตานี (แขกมลายู) เพื่อมาช่วยเป็นกำลังในการขุดคลองแสนแสบ นอกจากนี้ยังมี แขกจาม (เป็นมุสลิมจากทางตอนใต้ของเวียดนาม และเขมร) ปัจจุบันจะเห็นสุเหร่า และศาสนสถานของชาวมุสลิม ตามริมฝั่งของคลองแสนแสบ

Chachoengsao logo

จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ เมืองแปดริ้ว เป็นจังหวัดทางภาคตะวันออก ที่อยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร มีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึง การเดินทางเข้าถึงตัวจังหวัดสะดวก มีเส้นทางให้เลือกหลายเส้นทาง มีรถโดยสาร และรถไฟที่สุดปลายทางที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทราเลย เที่ยวรถไฟก็มีตลอดทั้งวัน ผู้ที่ต้องการมาเที่ยวแบบเช้าไป-เย็นกลับ (One-Day Trip) ขับรถมาเที่ยวได้แบบไม่เหนื่อยจนเกินไป ส่วนใหญ่จะมาแวะกราบสักการะ "หลวงพ่อโสธร" พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่เป็นศูนย์กลางความศรัทธา ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวแปดริ้ว และพุทธศาสนิกชนชาวไทย จนได้ปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดที่ว่า

"แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์"

อาณาเขตของจันทบุรี ที่ติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง คือ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครนายก และจังหวัดปราจีนบุรี
- ทิศใต้ ติดทะเลอ่าวไทย จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ

การแบ่งเขตการปกครอง
จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 93 ตำบล 859 หมู่บ้าน โดยมีอำเภอที่ใหญ่ที่สุดคืออำเภอสนามชัยเขต อำเภอที่เล็กที่สุดคืออำเภอคลองเขื่อน และมีอำเภอบางปะกง เป็นส่วนที่ติดกับทะเลอ่าวไทย โดยอำเภอต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีดังนี้

1. อำเภอเมือง 7. อำเภอราชสาส์น
2. อำเภอบางคล้า 8. อำเภอพนมสารคาม
3. อำเภอบางน้ำเปรี้ยว 9. อำเภอสนามชัยเขต
4. อำเภอคลองเขื่อน 10. อำเภอแปลงยาว
5. อำเภอบ้านโพธิ์ 11. อำเภอท่าตะเกียบ
6. อำเภอบางปะกง  
อาชีพหลักของประชาชนฉะเชิงเทรา

อาชีพของชาวแปดริ้วส่วนใหญ่ทำด้านการเกษตร เน้นการทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวน เช่นมะม่วง มะพร้าวอ่อน ยางพารา มันสำปะหลัง เลี้ยงปลาน้ำจืด กุ้งน้ำจืด กุ้งทะเล เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ ในอดีตนิยมปลูกอ้อยกันมาก เคยมีโรงหีบอ้อยมากกว่า 20 โรง และเคยเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันผลิตผลที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัด ได้แก่ ข้าว (พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105) ไข่ไก่ มะม่วง* มะพร้าวอ่อน อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมาก ยางพารา สับปะรด ไก่เนื้อ เป็นต้น

* มะม่วงเป็นผลไม้ที่ปลูกมากในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะในอำเภอบางคล้า รองลงมาเป็นอำเภอราชสาส์ พนมสารคาม แปลงยาว ท่าตะเกียบ สนามชัยเขต และคลองเขื่อน พันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์นำ้ดอกไม้เบอร์ 4 ที่ให้ผลตลอดทั้งปี มีขนาดผลพอเหมาะกับความต้องการของตลาด ผลสีเหลืองสวย เมื่อสุกมีรสชาติหวานอร่อย นิยมทานกับข้าวเหนียวมูน พันธุ์ที่นิยมปลูกรองลงมาคือ น้ำดอกไม้สีทอง เขียวเสวย แรด มันเดือนเก้า ฟ้าลั่น โชคอนันต์ มะม่วงขายตึก เป็นต้น มะม่วงจากฉะเชิงเทรามีจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออก ไปญี่ปุ่น โซนยุโรป และอเมริกา มะม่วงจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนเมษายน (โดยเฉพาะช่วงต้น-กลางเดือน) แต่ละอำเภอจึงมักจะมีการจัดงานเทศกาลมะม่วง และของดีแปดริ้วในช่วงเดือนเมษายนด้วย


การเดินทางฉะเชิงเทรา
เนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ การเดินทางจึงค่อนข้างสะดวก มีตัวเลือกทั้งรถประจำทาง รถไฟ และรถตู้ คอยให้บริการ นอกจากนี้การขับรถส่วนตัวก็ทำได้ง่าย มาได้ทั้งเส้นบางนา-ตราด เส้นมอเตอร์เวย์ และ เส้นสุวินทวงศ์ โดยที่ใช้เวลาขับรถเพียง 30-50 นาทีก็ถึงตัวเมืองฉะเชิงเทราแล้ว (เว้นแต่ว่ารถจะติด) ส่วนการเดินทางภายในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น หากไม่ได้ขับรถส่วนตัวมา ก็จะมีรถสองแถวหลากหลายแส้นทาง คอยให้บริการตั้งแต่เช้าจรดเย็น หากมากันเป็นกลุ่มก็สามารถเจรจา เพื่อเหมารถไปตามจุดต่าง ๆ แบบที่มีความสะดวกสบายและเป็นส่วนตัวได้ หากใครกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางอยู่ละก็ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การเดินทางจังหวัดฉะเชิงเทรา

สถานที่ท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา
คนจำนวนมากที่แวะเวียนมาเที่ยวฉะเชิงเทรานั้น มักจะมีจุดหมายที่เหมือนกัน คือ วัดหลวงพ่อโสธร เพราะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาก การมาสักการะบูชา จึงถือเป็นการเสริมความมีสิริมงคลในชีวิตนั่นเอง แต่ว่านอกจากวัดหลวงพ่อโสธรแล้ว ฉะเชิงเทรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้แวะชมอีกมากมาย โดยเฉพาะสถานที่เที่ยวที่เยวข้องกับวัดในรูปแบบต่าง ๆ มีกระจายอยู่แทบจะทั่วทั้งจังหวัดเลย ซึ่งไม่ใช่แค่การไปไหว้พระ เพื่อให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว วัดเหล่านั้นยังมีความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์อีกด้วย นอกจากนี้ที่เที่ยวแบบธรรมชาติ ให้ได้ชมวิวทิวทัศน์ หรือแบบที่เหมาะสำหรับเด็ก ได้เล่นกับสัตส์ต่าง ๆ อย่าง สวนปาล์มฟาร์มนก และมินิมูร่าฟาร์ม ก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานที่ท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา

ร้านอาหารฉะเชิงเทรา
ในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งร้านอาหารแนะนำก็มีกระจายตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกแวะร้านที่อยู่ใกล้ ๆ กับจุดท่องเที่ยวได้ไม่ยาก โดยที่รายการอาหารที่ขึ้นชื่อของเมืองฉะเชิงเทรานั้น ก็คือ กุ้งแม่น้ำ ปลาเขื่อน ปลาแม่น้ำ ปลากระพงขาว ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถจับได้ตามธรรมชาติ จากแม่น้ำบางปะกง จึงทำให้มีรสชาติอร่อยไม่เหมือนกับ แบบที่ถูกเลี้ยงไว้ตามฟาร์มต่าง ๆ นั่นเอง หากใครกำลังจะแวะเวียนมาเที่ยวฉะเชิงเทรา แล้วอยากรู้ว่ามีร้านอาหารแนะนำอะไรเด็ด ๆ บาง สามารถดูข้อมูลได้ที่ ร้านอาหารฉะเชิงเทรา

ที่พักฉะเชิงเทรา
แม้ว่าเมืองแปดริ้วจะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมาก แต่ในบางครั้งเราก็มีโอกาส ที่ต้องมาใช้บริการที่พักของจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่บ้าง ซึ่งโอกาสเหล่านั้นอาจจะเป็นธุระปะปังแถว ๆ นี้ หรือความรู้สึกอยากมาเปลี่ยนบรรยากาศความวุ่นวาย มาพักผ่อนแบบธรรมชาติ ๆ ริมแม่น้ำบางปะกง ให้รู้สึกกระปรี้ประเปร่าก่อนต้องกลับสู่สังคมเมืองอีกครั้ง โดยที่ที่พักส่วนใหญ่ของที่นี่ จะเป็นที่พักในลักษณะแบบรีสอร์ท มีความเป็นธรรมชาติ ทั้งแบบในสวน ริมแม่น้ำ และ ริมเขื่อน จึงทำให้ตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยว ได้หลากหลายรูปแบบเลยทีเดียว ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่พักฉะเชิงเทรา

ลักษณะภูมิอากาศ
กุมภาพันธ์-พฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อน มีอากาศอบอ้าว และร้อนจัดเป็นบางวัน
พฤษภาคม-ตุลาคม เป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนักบางพื้นที่ และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันในแถบพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำได้
พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้อากาศเย็นสบายกำลังดี ไม่หนาว และมักมีหมอกในตอนเช้า
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 5,370 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ ผืนดินมีความชุ่มน้ำเอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าว สวนผลไม้ และไร่อ้อย มีลำน้ำบางปะกง เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนตลอดลำน้ำ ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีกุ้งปลา ในนามีข้าวเขียวขจี มีภูเขาบ้าง แบบไม่สูงมากนัก มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยทางทิศใต้ที่ติดทะเล เป็นบริเวณปากอ่าวที่แม่น้ำบางปะกงไหลออกสู่อ่าวไทย ป่าไม้ก็มีในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนที่เป็นป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

บริเวณพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรามีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ปากแม่น้ำ และที่ราบสูง เทือกเขาและป่าไม้ ดังนี้

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำสายหลักสายใหญ่พาดผ่านกลางจังหวัด แม่น้ำสายนำคัญนี้ไหลลงมาจากทางตอนบน เมื่อมาถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นเขตที่ราบต่ำมาก ทำให้อัตราการไหลของน้ำลดลง จนน้ำเปลี่ยนทิศทาง เกิดเป็นลำน้ำที่มีความคดเคี้ยวมาก เมื่อลำน้ำผ่านตัวเมืองแล้ว ไหลออกอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง นอกจากนี้ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังมีคูคลองมากมายหลายสาย ทั้งคลองธรรมชาติ และคลองที่ขุดขึ้น จึงทำให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเขตเศรษฐกิจทางเกษตรกรรม แหล่งผลิตข้าว ผลไม้ ยางพารา และพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด

พื้นที่ปากแม่น้ำ
จังหวัดฉะเชิงเทรามีอำเภอที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เพียงอำเภอเดียว คือ อำเภอบางปะกง โดยมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลประมาณ 12 กิโลเมตร ด้านหนึ่งติดกับชายฝั่งของจังหวัดสมุทรปราการ และอีกฝั่งติดกับจังหวัดชลบุรี

ที่ราบสูง เทือกเขา และป่าไม้
ส่วนที่เป็นพื้นที่สูง เทือกเขา และป่าไม้ ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด เช่น ในตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่เป็นป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี

จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มี 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แม้แต่ในแม่น้ำบางปะกงเอง ยามหน้าแล้ง น้ำจืดทางตอนบนน้อย ทำให้เกิดภาวะน้ำเค็มหนุนเข้ามาในแม่น้ำเยอะ จนเคยเกิดปัญหาน้ำในแม่น้ำเค็มจัดมาแล้ว สำหรับแม่น้ำ และลำคลองที่สำคัญในจังหวัด ได้แก่

2. คลองท่าลาด
เป็นคลองที่มาจากอ่างเก็บน้ำคลองระบม ในอำเภอสนามชัยเขต กับอ่างเก็บน้ำสียัด ในอำเภอท่าตะเกียบ ไหลผ่านอำเภอราชสาส์น และอำเภอพนมสารคาม จนมารวมกับแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลปากน้ำ บริเวณอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในอำเภอบางคล้า ซึ่งชาวบ้านมักเรียกบริเวณนี้ว่า "ปากน้ำโจ้โล้"

1. แม่น้ำบางปะกง
เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของภาคตะวันออก มีแหล่งต้นน้ำมาจากเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาจันทบุรี กลายมาเป็นแม่น้ำปราจีนบุรี และมาบรรจบกับ แม่น้ำนครนายก ที่มาจากเขาใหญ่ แม่น้ำสองสายนี้ไหลมารวมกันที่บริเวณ "ปากน้ำโยธะกา" อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นลำน้ำได้ไหลผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา และลงสู่ทะเลอ่าวไทย เป็นช่วงที่ลำน้ำแบ่งเขตรอยต่อตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง กับตำบลหนองตำหรุ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ความยาวของแม่น้ำบางปะกงจากปากน้ำโยธะกา จนกระทั่งออกอ่าวไทยมีความยาวประมาณ 122 กิโลเมตร

แม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำที่มีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มผสมกัน ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระบบนิเวศน์เฉพาะตัว เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงมีโลมาอิรวดี ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำด้วย

3. คลองแสนแสบ
เป็นคลองขุดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเกือบ 180 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงดำริให้ขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการส่งกำลังทหาร เสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบ ครั้งที่ไทยเคยมี "สงครามอานามสยามยุทธ" กับญวน (เวียดนาม) การขุดคลองแสนแสบได้เกณฑ์ชาวมลายู (ปัตตานี) ญวน และชาวจีนรับจ้าง มาทำการขุด มีระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร โดยเริ่มจากชุมชนบ้านครัว ในเขตปทุมวัน (ย่านประตูน้ำ) ผ่านบางกะปิ หัวหมาก มีนบุรี หนองจอก และไปบรรจบกับแม่น้ำบางประกงตรงวัดปากคลองบางขนาก ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา (ช่วงปลายคลองแสนแสบ มักเรียกว่า "คลองบางขนาก")

ส่วนชื่อคลอง "แสนแสบ" นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีที่มาอย่างไร สันนิษฐานว่า เป็นการเรียกตามความรู้สึกของชุมชนในระแวกนั้น จากบันทึกของนักสำรวจชาวอังกฤษกล่าวถึงคลองแสนแสบว่า เป็นคลองที่ตัดผ่านทุ่งราบในชนบท และป่าจากที่ขึ้นอยู่ตามริมลำน้ำ คนพื้นเมืองในขณะนั้นมักต้องใช้มือข้างหนึ่งคอยปัดยุงอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีข้อสันนิฐานหนึ่งกล่าวว่า ชื่อคลองแสนแสบนั้น อาจมาจากความแสบคันของชาวบ้านที่โดนยุงกัดจนแสบไปหมดก็ได้ นอกจากนี้บ้างก็ว่า คำว่าแสนแสบ เป็นภาษามลายู มาจากคำว่า "สุไหง เซนแญป" ที่แปลว่าคลองที่เงียบสงบ เพราะคนที่ขุดคลองแสนแสบส่วนใหญ่จะเป็นชาวมลายู ปัตตานี เคยอยู่ริมชายฝั่งที่มีเสียงคลื่น เมื่อต้องมาขุดคลองริมทุ่ง ทำให้รู้สึกว่าเงียบกว่าริมทะเล

4. คลองนครเนื่องเขต
เป็นคลองที่เริ่มขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2419 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เห็นว่าคลองแสนแสบที่ขุดไว้เดิมนั้น หากใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ก็ยังคงมีระยะทางไกลจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา จึงทรงรับสั่งให้ขุดคลองนครเนื่องเขตแยกจากคลองแสนแสบในเขตหนองจอก ลงมาทางใต้ ผ่านเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทราตรงคลองหลวงแพ่ง ยาวจนไปเชื่อมต่อกับคลองท่าไข่ ที่เป็นจุดที่ไหลออกไปยังแม่น้ำบางปะกง (ตรงแถวสะพานวรรณยิ่ง) ในอำเภอเมือง มีระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร

คลองนครเนื่องเขต ในปัจจุบันเป็นคลองที่ขนานกับถนนสุวินทวงศ์ที่ตัดขึ้นภายหลัง คำว่า "นครเนื่องเขต" นั้น มีความหมายว่า สุดเขตพระนคร ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองมีทั้งชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ใช้ลำคลองเป็นเส้นทางการค้าขาย ทางคมนาคม เป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ในการทำเกษตรกรรม และช่วยเป็นเส้นทางระบายน้ำในช่วงหน้าฝน บนลำคลองสายนี้ยังมี "ตลาดโบราณนครเนื่องเขต" เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดฉะเชิงเทราอีกด้วย

5. คลองประเวศบุรีรมย์
เป็นคลองที่เริ่มขุดในช่วงปี พ.ศ.2421-2423 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งมอบหมายให้เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นผู้ดูแลการขุดคลองจากคลองพระโขนง ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกง โดยพระองค์ทรงพระราชทานเงินจากพระคลังส่วนหนึ่ง และทรงให้ราษฎรช่วยออกค่าขุดคลอง โดยแลกกับการจับจองที่ดินบริเวณริมคลองแทน

คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ต่อมามีถนนลาดกระบัง ตัดคู่ขนานกับลำคลองจนเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรงที่ตัดกับคลองหลวงแพ่ง คลองประเวศบุรีรมย์ขนานไปกับถนนสายเทพราช-ลาดกระบัง จนบรรจบกับแม่น้ำบางปะกงที่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

6. คลองหลวงแพ่ง
เป็นคลองขุดในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ เชื่อมจากคลองนครเนื่องเขต ลงมายังคลองประเวศบุรีรมย์ ใช้ชื่อตาม “หลวงแพ่ง” ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการดูแลในการขุดคลอง เดิมบริเวณนี้อยู่ในแขวงมีนบุรี หรือบริเวณที่เรียกว่าทุ่งแสนแสบ ปัจจุบันคลองหลวงแพ่ง ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ในบริเวณที่คลองหลวงแพ่งมาบรรจบกับคลองประเวศฯ นี้ ยังคงมีชุมชนเก่าแก่ ที่เคยเป็นตลาดทางน้ำ และศูนย์กลางค้าขายที่คึกคัก ก่อนที่การคมนาคม จะเปลี่ยนมาใช้ถนนลาดกระบัง แนวถนนลาดกระบังในช่วงนี้ จึงพลอยถูกเรียกกันว่า “ถนนหลวงแพ่ง*” ไปด้วย

* ถนนหลวงแพ่ง อยู่ในเขตลาดกระบัง มีระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร นับตั้งแต่ ช่วงสะพานข้ามคลองหัวตะเข้ จนถึงสะพานข้ามคลองกาหลง ซึ่งเป็นจุดที่เข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา และเรียกถนนช่วงถัดไปว่า “ถนนเทพราช-ลาดกระบัง”

7. คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต**
เป็นคลองที่ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เจ้าไชยานุชิต ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลด้านการขุดคลองของกรมชลประทาน และได้ดำเนินการขุดคลองเชื่อมต่อคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมระหว่างคลองแสนแสบ ลงมาต่อกับคลองเนื่องเขต และคลองประเวศบุรีรมย์ จนไปเชื่อมต่อกับคลองสำโรง ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ชาวบ้านมักจะเรียกสั้นๆ ว่า "คลองเจ้า" เป็นคลองขนาดกว้าง 40-60 เมตร ช่วยในการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

** พระองค์เจ้าไชยานุชิต หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 55 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระองค์ทรงรับราชการในกรมชลประทาน อำนวยการขุดคลอง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ คลองเจ้า คลอง 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20 และคลอง 21

Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com