Ceediz - Knowledge Space
Copywriting การเขียนโฆษณา

ย่อหน้าแรก (The First Paragraph)

ในกรณีที่ผู้อ่าน อ่านชื่อเรื่องของบทความเรา แล้วเริ่มเกิดความสนใจขึ้นมา สิ่งที่ผู้อ่านเหล่านั้นจะทำต่อไป ก็คือ อ่านเนื้อหาในย่อหน้าแรก และถ้าเราเขียนย่อหน้านี้ออกมาได้ไม่ดีพอ ผู้อ่านเหล่านั้นก็จะเลิกสนใจบทความของเรา

คำว่า “ย่อหน้าแรกไม่ดีพอ” หมายถึงอะไร? ก็หมายถึง ทุก ๆ สาเหตุที่ทำให้ผู้อ่านไม่อยากอ่านต่อ ซึ่งเป็นไปได้หลายปัจจัย เช่น ทำให้รู้สึกไม่น่าสนใจ ทำให้รู้สึกไม่น่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความเบื่อ เป็นต้น

เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัด”

จริงอยู่ที่ว่าส่วนนึง อาจจะเกิดจากลักษณะนิสัยไม่รักการอ่าน หรือ นิสัยรีบอ่านให้จบ ๆ ไป  แต่ในอีกด้านนึง อาจจะหมายถึงว่า เนื้อหาใน 7 บรรทัดแรก ที่ผู้อ่าน อ่านไปนั้น มันไม่ทำให้เขารู้สึกสนใจในตัวบทความก็ได้

  • คนที่อ่านไม่เกิน 7 บรรทัดในเรื่อง วิธีขับขี่มอเตอร์ไซต์ให้ประหยัดน้ำมัน อาจจะอ่านยาวเป็นร้อยบรรทัด ในเรื่องมือที่สามของดารานักแสดง ก็เป็นได้
  • คนที่อ่านไม่เกิน 7 บรรทัดในเรื่องมือที่สามของดารานักแสดง อาจจะอ่านยาวเป็นร้อยบรรทัดในเรื่อง ใช้รองพื้นแบบไหนหนุ่มไทยชอบ
  • คนที่อ่านไม่เกิน 7 บรรทัดในเรื่องใช้รองพื้นแบบไหนหนุ่มไทยชอบ อาจจะอ่านยาวเป็นร้อยบรรทัดในเรื่อง ผักเขียวสี่ชนิดที่ทำให้ลูกน้อยฉลาดแบบก้าวกระโดด
  • คนที่อ่านไม่เกิน 7 บรรทัดในเรื่องผักเขียวสี่ชนิดที่ทำให้ลูกน้อยฉลาดแบบก้าวกระโดด อาจจะอ่านยาวเป็นร้อยบรรทัดในเรื่อง นำเข้าสินค้าจากจีนยังไงไม่ต้องลงทุนสักบาท
  • คนที่อ่านไม่เกิน 7 บรรทัดในเรื่องนำเข้าสินค้าจากจีนยังไงไม่ต้องลงทุนสักบาท อาจจะอ่านยาวเป็นร้อยบรรทัดในเรื่อง เคล็ดลับพูดกับฝรั่งได้ใน 1 สัปดาห์

เนื่องจากคนเรามีความชอบ-ความสนใจ ไม่เหมือนกัน การจะให้เราอ่าน ในสิ่งที่เราไม่ชอบอ่าน เราคงจะอ่านมันได้ไม่นาน

ว่ากันว่า หากเป็นเรื่องที่เราสนใจ แม้บทความจะยาวแค่ไหนเราก็อ่านมัน เพราะเราต้องการที่จะเข้าใจในเรื่องนั้นจริง ๆ เราอยากรู้ในเรื่องนั้นจริง ๆ  เพื่อที่จะทำให้เรา สามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้สำเร็จ เช่น ทำให้เรามีรายได้ที่มากขึ้น ทำให้ได้คะแนนสอบมากขึ้น ทำให้เข้าสังคมเก่งขึ้น ทำให้ผู้หญิงที่เราชอบสนใจในตัวเรามากขึ้น ทำให้ได้วิธีง้อขันเทพที่แฟนจะต้องยอมคืนดี ทำให้ปลูกผักในบ้านได้ ทำให้ปลูกข้าวมากขึ้นโดยใช้น้ำลดลง ทำให้เส้นผมของเรามีความหนาแน่นขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนเขียนบทความ เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเข้าใจ ว่าผู้อ่านของเราเป็นใคร เป็นคนกลุ่มไหน เพราะถ้าเราเห็นภาพชัดเจนในส่วนนี้ เราก็จะรู้ว่าผู้อ่านคน ๆ นั้น สนใจในเรื่องอะไร กำลังมองหาข้อมูลส่วนไหนอยู่ ซึ่งนั่นจะทำให้เรา สามารถเขียนบทความที่เค้า "อยากจะอ่าน" ได้นั่นเอง

แต่แน่นอนว่า บทความที่ดีนั้น ต้องมีย่อหน้าแรกที่ดีมาก มากพอที่จะสามารถทำให้เขารู้สึกว่าต้องอ่านมันต่อไป ไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็จะจบลงที่ 7 บรรทัดอย่างที่ใคร ๆ เขาก็พูดกัน

เรามาดูกันดีกว่าว่า เหล่านัก Copywriter ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เค้าแนะนำอย่างไรในส่วนนี้กันบ้าง

If you want your long copy to be read, you had better write it well. In particular, your first paragraph should be grabber. You won’t hold many readers if you begin with a mushy statement of the obvious like this one in an ad for a vacation resort: ‘Going on vacation is a pleasure to which everyone looks forward.’

 

ถ้าคุณอยากให้บทความโฆษณาของคุณถูกอ่าน คุณต้องเขียนมันให้ดี โดยเฉพาะย่อหน้าแรกนั้น มันควรจะโดนใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก คุณจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งผู้อ่านไว้ได้มากนัก หากคุณเริ่มต้นด้วยข้อความทั่วไปที่ใคร ๆ ก็รู้  ดังเช่นข้อความนี้ ในโฆษณาตัวนึงของรีสอร์ทสำหรับพักผ่อน ‘การไปพักร้อนคือความสุขที่ทุกคนรอคอย’

 

โดย David Ogilvy ในหนังสือ Ogilvy on Advertising

จะเห็นได้ว่า Ogilvy นักโฆษณาผู้ยิ่งใหญ่ ได้ให้ความสำคัญกับย่อหน้าแรกเป็นอย่างมาก และการที่ Ogilvy บอกว่าข้อความ ‘การไปพักร้อนคือความสุขที่ทุกคนรอคอย’ นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ก็เพราะว่า มันไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจงอะไรเลย ไม่ชัดเจนว่าจะบอกกับใคร ไม่ชัดเจนว่า “ความสุข” ที่ว่านั้น คืออะไร มันกว้างเกินไป

เมื่อผู้อ่านแต่ละคน มีความรู้และประสบการณ์ต่างกัน จึงนึกภาพได้ไม่เหมือนกัน ยิ่งบางคนนี่นึกภาพไม่ออกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องเป็นตัวเราเอง ตัวคนเขียนบทความเองต่างหาก ที่จะชี้นำให้เค้านึกถึงสิ่งที่เราอยากจะสื่อ หากเราอยากจะนำเสนออะไรสักอย่าง เราก็ต้องมาดูว่าสินค้าและบริการของเรามีจุดเด่นอะไร เหมาะกับคนกลุ่มไหน บางคนชอบเล่นน้ำทะเล บางคนชอบชมวิวจากยอดเขา บางคนชอบเดินช็อปปิ้ง ถ้าเราบอกกว้าง ๆ เพื่อให้ได้ลูกค้าทุกกลุ่ม จะไม่มีกลุ่มไหนเห็นจุดเด่นของเรา

อย่างที่นักการตลาดชอบพูดกันว่า ถ้าคุณพยายามที่จะสื่อสารกับลูกค้าทุกคนพร้อม ๆ กัน คุณจะไม่ได้ลูกค้าเลยนั่นแหละ

เพื่อให้เกิดการเข้าใจที่มากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันหน่อยว่า ถ้าย่อหน้าแรกถูกเขียนมาให้สื่อสารประมาณนี้ จะเป็นอย่างไร

  • ทะเลฟ้าคราม ห่างเพียงแค่ 3 ก้าว ... (คนชอบวิวทะเล เล่นน้ำทะเลได้หน้าบ้าน คงจะชอบ)
  • ยอดดอยที่มองเห็นความเขียวขจีจนสุดสายตา ... (คนชอบอากาศสดชื่นพร้อมทิวทัศน์สุดลูกตาบนยอดเขา คงจะชอบ)
  • จุใจกับสินค้า Handmade กว่า 1000 โซน ที่เดินทั้งวันก็ไม่หมด ... (คนชอบช็อปปิ้ง ชอบสินค้าไม่เหมือนใคร คงจะชอบ)
  • การไปพักร้อนคือความสุขที่ทุกคนรอคอย ... (ขณะอ่าน อาจจะรู้สึกว่า จะมาบอกทำไม ว่าการไปเที่ยวมันดีนะ ได้พักผ่อน ได้ดูวิวสวย ๆ)

การพูดในสิ่งที่เค้ารู้กันแยู่แล้ว ยิ่งพูดยืดยาวเท่าไร ก็ยิ่งน่าเบื่อมากเท่านั้น เราคงไม่อยากฟังคนที่มาพูดว่า "วันนี้นะ จะมาบอกว่า หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง และ หนึ่งบวกสองเท่ากับสาม และ หนึ่งบวกสามเท่ากับสี่ และ ... " พอได้ฟังแล้ว เราก็คงคิดว่า "เอ่อ แล้วไงอ่ะ" ซะมากกว่า

ซึ่งหากเค้ายังคงบอกเรื่องนี้ให้เราฟังต่อไป ต่อไป ต่อไป เราคงจะเริ่มรู้สึกอยากจะเดินหนีไปให้ไกลจากตรงนั้น โดยที่ไม่คิดจะสนใจเลยว่า สิ่งต่อไปที่เค้ากำลังพูด จะน่าสนใจหรือเปล่า

Just compare the situation in our ad example with a salesperson selling somebody face-to-face. If the first few minutes of the sales presentation put the prospective customer to sleep or if the customer stop hearing the presentation and walk away, that salesperson lost everything. So in copywriting as in selling, if your reader is not riveted to every word you write in the first few sentences, then your chances of having that reader get to the real sales pitch are very remote.

… Picture a steep slide at a playground. Now picture somebody putting baby oil or grease along the entire length of the slide including the side rails. Picture yourself now climbing up the ladder, sitting at the top of the slide and then letting gravity force you down the slide.

As you start to slide down and build momentum, you try holding on to the sides to stop, but you can’t stop. You continue to slide down the slide despite all your effort to prevent your descent. This is the way your copy must flow.

Every element in an advertising must cause that slippery slide effect. The headline must be so powerful and compelling that you must read the subheadline, and the subheadline must be so powerful that you are compelled to read the first sentence, and the first sentence must be so easy to read and so compelling that you must read the next sentence and so on, straight through the entire copy to the end

 

มาลองเปรียบเทียบการขายสินค้าผ่านบทความ กับการขายของแบบพบหน้ากันโดยตรงดู สำหรับการขายของแบบพบหน้ากันนั้น ถ้าในช่วง 2-3 นาทีแรกของการนำเสนอสินค้า ทำให้คนฟังง่วงนอน หรือ ทำให้เค้าเลิกฟังแล้วเดินหนีไป นั่นเท่ากับว่าพนักงานขายคนนั้นสูญเสียทุกอย่างทันที ซึ่งในการเขียนโฆษณาก็เหมือนกัน หากผู้อ่านไม่จดจ่อกับประโยคแรก ๆ ของคุณ ก็คงเป็นไปได้ยากที่ผู้อ่านคนนั้น จะอ่านต่อไปจนถึงจุดที่เราพยายามนำเสนอขายจริง ๆ

… ลองนึกถึงกระดานลื่นชัน ๆ อันหนึ่งในสนามเด็กเล่น มีใครบางคนกำลังเทน้ำมันหล่อลื่นลงไปบนที่ลื่นทั้งหมด รวมถึงราวจับด้านข้างด้วย และตอนนี้คุณก็กำลังปีนขึ้นบันไดไป พร้อมกับนั่งอยู่ที่จุดสูงสุดของกระดานลื่น แล้วปล่อยให้แรงโน้มถ่วงส่งคุณลื่นลงมา

ในขณะที่คุณเริ่มลื่นลงมาและพยายามทรงตัว คุณลองเอื้อมมือไปคว้าราวจับเพื่อจะหยุดการลื่น แต่ไม่สามารถหยุดมันได้ คุณยังคงลื่นไหลลงไป แม้ว่าพยายามอย่างมากที่จะยับยั้งมัน นี่คือกระแสการลื่นไหลที่ต้องมีในบทความของคุณ

ทุก ๆ องค์ประกอบในโฆษณาต้องสร้างการไหลลื่น หัวเรื่องต้องทรงพลังและน่าสนใจซะจนต้องอ่านหัวเรื่องย่อย และหัวเรื่องย่อยต้องดึงดูดมาก มากซะจนคุณรู้สึกอยากที่จะอ่านประโยคแรก และประโยคแรกของคุณต้องเข้าใจง่ายและน่าติดตาม จนต้องอ่านประโยคถัดไป และ ถัดไป ยาวไปจนกระทั่งจบบทความ

 

โดย Joseph Sugarman  ในหนังสือ The Adweek Copywriting Handbook

หากเราเขียนย่อหน้าแรกไม่ดี มันก็เหมือนกับการทำให้ผู้อ่าน ไม่รู้สึกอยากจะเริ่มต้นลื่นลงมา และหากเค้าไม่ "เริ่มต้น" ลื่นลงมา ต่อให้กระดานนี้มีความลื่นแค่ไหน ต่อให้เป็นกระดานลื่นแสนสนุกบนโลกใบนี้ มันก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ Joseph Sugarman ให้ความสำคัญกับประโยคแรก ๆ ในบทความเป็นอย่างมาก หากเราสร้างความไหลลื่นได้ตั้งแต่ช่วงแรก หากเราเก่งพอที่จะทำมันได้ ทันทีที่ผู้อ่านก้าวเท้าเข้ามาในช่วงต้น ๆ ของบทความเรา เค้าก็หมดสิทธิ์ที่จะหยุดมันแล้ว

หลักการในส่วนนี้ของ Sugarman สามารถทำให้เรากระจ่างชัดเลยว่า การทำให้ผู้อ่าน "อยากจะอ่านต่อไป ไม่ได้จบแค่ 7 บรรทัด" มันขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เขียนด้วย เพราะถ้าเราฝึกฝนทักษะการเขียนจนชำนาญ เราก็จะสามารถสร้างสรรค์ประโยคที่น่าอ่านถัดไป.. ถัดไป.. ถัดไป.. และถัดไป.. ได้อย่างไม่สิ้นสุด เพียงแต่ว่าหลักการที่เข้าใจง่าย ๆ ของ Sugarman อันนี้ การจะทำมันได้นั้น เราต้องมีความเข้าใจในวิถีแห่งการจูงใจเป็นอย่างดีเลยทีเดียว

Before you put pen to paper, before you ring for your stenographer, decide in your own mind what effect you want to produce on your reader ---- what feeling you must arouse in him.   

… For back of every successful letter, as back of every sale, is a created feeling that impels the reader to act as you want him. It is the whole purpose of every business letter, whether it be sales, collection, adjustment or complaint, to make your reader want to do the thing you are urging upon him.

How are you to arouse that feeling in him? How would you have to feel yourself before you would place such an order as you have in mind ...  What would you want first to know? What about the proposition would interest you most? What would you feel you had to gain by accepting? What would you lose by refusing?    

 

ก่อนที่คุณจะนำปากกามาเขียนลงบนกระดาษ ก่อนที่คุณจะเริ่มต้น ลองคิดในใจดูว่า คุณอยากจะให้ผู้อ่านทำอะไร ---- คุณจะต้องกระตุ้นเขาให้เกิดความรู้สึกแบบไหนบ้าง

… เบื้องหลังของจดหมายที่ประสบความสำเร็จทุกฉบับ (รวมถึงการขาย) ก็คือ การสร้างความรู้สึกที่กระตุ้นผู้อ่าน ให้กระทำบางสิ่งที่คุณอยากให้เค้าทำ ไม่ว่ามันจะเป็นการขาย การเก็บสะสม การปรับเปลี่ยน หรือ การติเตียน การทำให้ผู้อ่านของคุณ “รู้สึกอยากจะทำ” ในสิ่งที่คุณขอให้เค้าทำ มันคือจุดประสงค์หลักของจดหมายธุรกิจทุกฉบับ

คุณจะกระตุ้นให้เขาความรู้สึกแบบนั้นยังไง? ลองคิดดูว่าถ้าเป็นตัวคุณเอง ก่อนที่จะทำการสั่งซื้อ คุณจะรู้สึกอย่างไร …อะไรคือสิ่งแรกที่คุณอยากรู้? ข้อเสนอแบบไหนที่จะทำให้คุณรู้สึกสนใจมากที่สุด? หากตัดสินใจซื้อ คุณคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไร? หากไม่ซื้อ คุณจะพลาดอะไรไปบ้าง?

 

โดย Robert Collier ในหนังสือ The Robert Collier Letter Book

สิ่งที่ Robert Coliier ให้ความสำคัญนั้น เป็นการโฟกัสไปที่ การทำความเข้าใจผู้อ่านให้ลึกซึ้ง เพราะหากเรามองตัวตนของผู้อ่านได้ทะลุปรุโปร่ง เราจะสามารถเล่นแร่แปรธาตุ ให้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ย่อหน้าแรกของบทความ สามารถจูงใจผู้อ่านจนรู้สึกอยากติดตาม ตื่นเต้น มองข้ามไม่ได้ และต้องยอมใช้เวลากับมันนั่นเอง

ในเวลาที่เรารู้ว่าเพื่อนนักศึกษาของเรา ชอบใครในมหาวิทยาลัยอยู่ หากเราเขียนบทความเกี่ยวกับคน ๆ นั้นว่า เป็นคนชอบกินอะไร ชอบซื้ออะไร ชอบแต่งตัวยังไง วันหยุดมักจะไปไหน ถนัดวิชาอะไร กลับบ้านตอนไหน เคยมีแฟนหรือเปล่า ทำไมถึงเลิกกับแฟน ... เพื่อนของเราคนนั้น คงจะต้องอ่านบทความของเราจนจบอย่างแน่นอน ดังนั้น การนำสิ่งที่ผู้อ่านอยากจะอ่านมาเขียน มันจึงมีพลังในการดึงดูดมากๆ     

When you catch a reader with a certain idea as expressed in the headline, you may lose him if you introduce a totally different idea in the first paragraph.

Based on mail order experience, here are three simple rules for writing a good first paragraph.

  1. Make it short. A long first paragraph discourages the reader before he gets started.
  2. Continue the thought expressed in the headline.
  3. Stats in a few words the most important benefits or benefits the reader derives from buying your product. Benefits! Benefits! Benefit! What do I get? What will it do for me? That’s what people want to know. That’s what make them read

 

หลังจากที่คุณทำให้ผู้อ่านสนใจแนวคิดบางอย่างจาก Headline ได้แล้ว หากคุณเริ่มต้นย่อหน้าแรก ด้วยแนวคิดที่ไม่เกี่ยวกันเลย คุณก็มีสิทธิ์จะเสียผู้อ่านคนนั้นไป

จากประสบการณ์ส่วนตัวในด้านการขายสินค้าทางไปรษณีย์ นี่คือ กฏง่าย ๆ 3 ข้อ สำหรับการเขียนย่อหน้าแรกที่ดี

  1. เขียนให้สั้น ย่อหน้าแรกที่ยืดยาวจะบั่นทอนกำลังใจผู้อ่าน ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม
  2. ใช้แนวคิดเดียวกับที่แสดงไว้ในชื่อเรื่อง (Headline)
  3. พยายามบอกด้วยคำสั้น ๆ ว่า ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคืออะไร หรือ ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง จากการซื้อสินค้าของคุณ “ประโยชน์! ประโยชน์! ประโยชน์! ฉันจะได้อะไร? มันจะทำอะไรให้ฉัน?” นั่นเป็นสิ่งที่คนเราอยากจะรู้ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอ่านโฆษณา

 

โดย John Caples ในหนังสือ Tested Advertising Method

สิ่งที่ John Caples แนะนำ เป็นเรื่องที่เราต้องยึดไว้เป็นหลักพื้นฐานเลย

ชื่อเรื่องและย่อหน้าแรก ควรมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะหากหัวเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุน มาเปิดย่อหน้าแรกด้วยการขายคอร์สก่อนเลย คงมีผู้อ่านเผ่นหนีไปเยอะ เราอาจจะต้องเริ่มจากเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น เริ่มด้วยการชี้ให้เห็นถึงช่องทางที่ไม่ต้องลงทุนจริง ๆ เริ่มต้นด้วยธุรกิจออนไลน์แบบจับเสือมือเปล่าได้ เริ่มด้วยการอธิบายถึงโอกาสของธุรกิจ Pre-order เป็นต้น ส่วนเรื่องจะขายคอร์ส ค่อยมาว่ากันทีหลัง

การเขียนอะไรให้กระชับเข้าใจง่าย ก็ช่วยได้มากจริง ๆ หากเราเข้าเว็บ Pantip แล้วไปเจอกระทู้น่าสนใจอันนึง ซึ่งพอเปิดเข้าไปดูแล้ว ก็พบว่าย่อหน้าแรกของกระทู้นี้ ปาไป 20 บรรทัด เราก็คงจะเริ่มหวั่น ๆ แล้วว่าจะอ่านดีหรือเปล่า ต่างกับกระทู้ที่เปิดมาเจอย่อหน้าแรกบรรทัดเดียว หรือแค่สองบรรทัดโดยสิ้นเชิง (สำหรับอย่างหลังนี่ เราก็คงจะลองอ่านย่อหน้าแรกก่อน ส่วนอ่านต่อจากนั้นมั้ย ต้องดูความน่าสนใจอีกที)

แน่นอนว่าคนเรา ต้องสนใจสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเราอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มต้นบทความให้ผู้อ่านรู้สึกสนใจ การเอาประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ มาเป็นตัวช่วยนั้น จะทำให้ผู้อ่านอยากติดตามมากขึ้น 

ในเวลาที่เรารู้ว่าเพื่อนนักศึกษาของเรา ชอบใครในมหาวิทยาลัยอยู่ (ตัวอย่างนี้ อีกแล้วเหรอ!?) ถ้าเรายื่นสมุดจดของเราไปให้เพื่อนคนนั้น โดยมีประโยคเริ่มต้นว่า "เมื่อวานไปสืบความลับจากเพื่อนของคนที่แกชอบมา ได้ข้อมูลที่แกน่าจะอยากรู้มาเพียบเลย ลองอ่านดูสิ" ... ถ้าเพื่อนเราอยากรู้ว่าคนที่เค้าชอบ สนใจอะไร ชอบสิ่งไหน มาเรียนกี่โมง ... เพื่อน เรา น่าจะอยากอ่านข้อมูลของเรา เพราะเพื่อนเราได้ประโยชน์ สามารถซื้อของขวัญได้ตรงใจ รู้ว่าไปให้เค้าติววิชาไหนได้ ควรจะหาจังหวะเข้าไปคุยในช่วงไหน เป็นต้น

 

... ไม่ว่าบทความของเราจะดีแค่ไหน หากเริ่มต้นไม่ดี มันก็ทำให้ผู้อ่านอยากเดินจากไป ยิ่งถ้าเป็นการเขียนบทความโฆษณาด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นให้ได้แบบโดนใจมาก ไม่งั้นยอดขายคงไม่ค่อยขยับเป็นแน่

Section 1 - Basic Copywriting
Section 2 - องค์ประกอบหลักการเขียนโฆษณา
Section 3 - จิตวิทยาการโฆษณา
Section 4 - เกร็ดความรู้ในการเขียนโฆษณา
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com