กรุงเทพกับการเดินทาง

กรุงเทพมหานครเมื่อเริ่มสร้างราชธานี ใช้การใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก มีการขุดคลองเชื่อมต่อกันมากมาย จนได้รับการขนานนามว่า "เวณิชตะวันออก" ต่อมาเมื่อการคมนาคมด้านอื่นขยายตัวขึ้น เช่น มีรถราง ทำเส้นทางรถไฟ ตัดถนน การคมนมคมจึงเปลี่ยนเป็นทางบกเป็นหลัก มีการเพิ่มถนน ทางด่วนในเมือง ทางพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับข้ามแยก ถนนวงแหวนรอบเมือง และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอีกหลายแห่ง

นอกจากการตัดถนนภายในเมืองแล้ว ยังมีเส้นทางระหว่างเมือง ที่มีกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นมุ่งตรงไปยังภาคต่างๆ ของประเทศ หรือที่เรียกว่า "ทางหลวงแผ่นดิน" เช่น ถนนพหลโยธิน (สายเหนือ) ถนนสุขุมวิท (สายตะวันออก) ถนนเพชรเกษม (สายใต้)

 

ส่วนการเดินทางโดยรถสาธารณะภายในกรุงเทพฯ

- รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก. และ รถร่วมบริการ ขสมก. (รถเมล์)
รถองค์การขนส่งมวลชน หรือที่เราเรียกกันว่า "รถเมล์" เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดเส้นทางเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงคราม) รถเมล์ ขสมก. เป็นรถขนาดใหญ่มีทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศ จัดให้วิ่งตามเส้นทางต่างๆ 459 เส้นทาง (ทั้งเส้นทางทั่วไป และบางสายขึ้นทางด่วน) ให้บริการตั้งแต่ประมาณ 5.00 - 23.00 น. (บางสายวิ่งตลอดคืน) มีราคาค่าโดยสาร 6.50 - 23 บาท (บางสายราคาคิดตามระยะทาง)

นอกจากนี้ยังมี รถร่วมบริการ ขสมก. คือ รถเมล์บริษัทเอกชนที่ให้บริการร่วมกับ ขสมก. จัดให้มีรถโดยสารแบบรถเมล์ธรรมดา รถปรับอากาศ รถมินิบัส คิดค่าโดยสารในเรทราคาไม่ต่างกับรถเมล์ทั่วไปมากนัก

- รถตู้โดยสาร
เป็นรถร่วมบริการ ให้บริการเส้นทางภายในกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล มีทั้งสายสั้น และยาว บ้างก็ขึ้นทางด่วน ทำให้การเดินทางด้วยรถตู้ค่อนข้างเป็นที่นิยม สะดวกรวดเร็วกว่ารถเมล์ และได้นั่ง คิวรถตู้มักจะประจำอยู่ตามจุดใหญ่ๆ เช่นห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง แหล่งสถาบันการศึกษา ทางแยกสำคัญๆ แต่เดิมจุดที่มีคิวรถตู้มากที่สุด คือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนไปบ้างแล้ว สำหรับค่าโดยสารรถตู้ราคามักจะอยู่ในเรท 10-35 บาท หรือคิดตามระยะทาง

- รถสองแถว
เป็นรถโดยสารที่สำคัญสำหรับคนกรุงเทพฯ ราวกับเส้นเลือดฝอย ให้บริการตามถนนสายย่อย ตรอกซอกซอย หมู่บ้าน เส้นทางในระยะที่ไม่ไกลมากนัก ส่วนใหญ่มีรถให้บริการเยอะ รับส่งถ่ายคนได้สะดวกทั่วถึง จึงเป็นที่นิยมใช้กันมาก เส้นทางมักจะรู้จักกันดีในหมู่คนในพื้นที่นั้นๆ จุดรับส่งมักจะผ่านสถานที่สำคัญใหญ่ๆ เช่น โรงเรียน ตลาด ห้างสรรพสินค้า บางเส้นทางอาจเป็นเส้นทางเดียวกับรถเมล์ ค่าโดยสารส่วนใหญ่ไม่แพงมาก (ประมาณ 6-10 บาท) รถสองแถวที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นลักษณะรถดัดแปลง มีด้วยกันหลายขนาด เช่น รถสองแถวใหญ่นั่งและยืนในรถได้ รถสองแถวเล็กหรือรถกระป๊อ (แบบนั่งได้อย่างเดียว ยืนไม่ได้) รถตุ๊กๆ ดัดแปลงเป็นสองแถว (แถวท่าน้ำศิริราช) เป็นต้น

- เรือโดยสาร
เป็นการคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็วอีกทางหนึ่งของคนกรุงเทพฯ​ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเดินทางไปบริเวณที่ใกล้กับแม่น้ำ เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางที่ตัดตรง จึงเดินทางได้ไวกว่าทางถนน ซึ่งมีเรือให้บริการหลายประเภท เช่น

เรือด่วนเจ้าพระยา มีเส้นทางตั้งแต่ ราชบูรณะ - ปากเกร็ด (นนทบุรี) ให้บริการตั้งแต่ 6.00 - 20.00 น. ราคาค่าโดยสาร 10-29 บาท (คิดตามระยะทาง)

เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดข้ามฟากหลายจุด เช่น สี่พระยา ศิริราช วังหลัง วัดระฆัง ฯลฯ ให้บริการตั้งแต่ 5.30 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 3.50 - 4 บาท/เที่ยว  

เรือด่วนคลองแสนแสบ มีเส้นทางตั้งแต่ สะพานผ่านฟ้า - รามคำแหง (วัดศรีบุญเรือง) ให้บริการตั้งแต่ 5.30 - 20.30 น. ราคาค่าโดยสาร 9-19 บาท

- รถไฟฟ้า BTS
รถไฟฟ้า BTS เป็นระบบขนส่งแบบวิ่งบนรางยกระดับลอยฟ้า สายแรกเริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 ปัจจุบันมีเส้นทางหลัก 2 สาย คือสายสุขุมวิท (สวนจตุจักร - สมุทรปราการ) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า) เส้นทางผ่านใจกลางเมืองที่เป็นย่านธุรกิจ แหล่งช้อปปิ้ง บางสถานียังเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน และรถไฟแอร์พอร์ทลิ้งค์ จึงค่อนข้างสะดวก และประหยัดเวลาการเดินทาง ให้บริการตั้งแต่ 6.00 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 15-57 บาท/เที่ยว

- รถไฟฟ้า MRT
รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) คนมักเรียกติดปากว่า "รถไฟใต้ดิน" เพราะโครงการเริ่มต้นเป็นสายสีน้ำเงิน ใช้เส้นทางใต้ดินตลอดสาย มีทั้งหมด 18 สถานี (หัวลำโพง - บางซื่อ) ให้บริการตั้งแต่ 6.00 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 16-42 บาท/เที่ยว

ในปี พ.ศ.2559 ได้เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มี 16 สถานี (เตาปูน - บางบัวทอง(สถานีคลองบางไผ่)) ให้บริการตั้งแต่ 5.30 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 16-42 บาท/เที่ยว

- แอร์พอร์ตลิ้งค์
Airport Link เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟ เชื่อมต่อจากใจกลางเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 8 สถานี (พญาไท - สนามบินสุวรรณภูมิ) มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีพญาไท ให้บริการตั้งแต่ 6.00 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 15-45 บาท (รถไฟด่วนพิเศษ เที่ยวละ 100 บาท)

- รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT
เป็นรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ​ (ไม่ใช่รถไฟฟ้า) เรียกสั้นๆ ว่า รถ BRT เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นรถเมล์ปรับอากาศที่ใช้เส้นทางถนนปกติ ในช่องทางพิเศษ เลนวิ่งจะอยู่ชิดกับเกาะกลาง มีจุดจอดแยกจากป้ายรถเมล์ทั่วไป สถานีอยู่บริเวณเกาะกลาง มีทั้งหมด 12 สถานี (จากสาทร - ราชพฤกษ์) ให้บริการตั้งแต่ 6.00 - เที่ยงคืน ราคาค่าโดยสาร 12-20 บาท (ปัจจุบันมีการปรับลดราคา 5 บาท ตลอดสาย)

- รถไฟไทย
เป็นเส้นทางที่เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้สร้างเส้นทางรถไฟสายแรกสาย กรุงเทพ - นครราชสีมา ปัจจุบันรถไฟมีขบวนรถไปทุกภาคของประเทศ สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน สายตะวันออก สายกาญจนบุรี และยังมีสายสั้นๆ เช่น สายวงเวียนใหญ่ - มหาชัย ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทาง และชั้นโดยสาร

- รถแท็กซี่
เป็นรถบริการสาธารณะ รับจ้างโดยสารแบบไม่ประจำทาง เป็นการบริการที่สะดวกสบาย (หากอยู่ในเส้นทางที่รถไม่ติด) เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็ว (ไม่ต้องเสียเวลารอรถ หรือต่อรถ) เข้าไปยังตรอกซอกซอยถึงจุดหมายปลายทางเลย หรือมีสัมภาระเยอะ คิดราคาค่าโดยสารตามมิเตอร์ (คิดตามระยะทาง) โดยไม่รวมค่าทางด่วน หรือค่าธรรมเนียมสนามบิน คิดราคาเริ่มต้น 1 กิโลเมตรแรกที่ 35 บาท รถแท็กซี่อาจว่าจ้างเหมาได้ในราคาที่ตกลงกัน

- รถตุ๊กตุ๊ก
รถตุ๊กตุ๊ก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "รถสามล้อ" เป็นรถบริการรับจ้างทั่วไปแบบไม่ประจำทาง (คล้ายกับแท็กซี่) ส่วนใหญ่ว่าจ้างในช่วงที่ไม่ไกลกันมากนัก มีความสะดวกคล่องตัว เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว กลุ่มนักเรียน และพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการขนข้าวของ สัมภาระต่างๆ ตุ๊กๆ มีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ ให้บริการเฉพาะในบางเขตบางพื้นที่ (บางทีข้ามเขตไกลๆ ไม่ได้) ไม่สามารถเรียกไปไกลๆ ได้ และขึ้นทางด่วนไม่ได้ ราคาค่าโดยสารแล้วแต่ตกลงกัน

- มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
เป็นรถโดยสารที่สะดวกรวดเร็ว มีความคล่องตัวสำหรับคนเร่งรีบ เหมาะกับคนเมือง คนกรุงเทพฯ ปัจจุบันจุดรับส่ง หรือวินมอเตอร์ไซค์ มีกระจายอยู่แทบทุกจุด เช่นปากซอย หน้าห้าง สะดวกสำหรับผู้ที่รีบร้อน ไปนอกเส้นทางปกติ หรือเข้าซอยลึก ที่รถโดยสารเข้าไปไม่ถึง ค่ารถมักจะมีป้ายราคาระบุไว้ชัดเจน (บางแห่งไม่มี ก็มักจะเป็นที่รู้กัน) หากนอกเส้นทางอาจมีการตกลงกันก่อน ซึ่งตามประกาศล่าสุด (พ.ศ.2559) กำหนดให้คิด 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 25 บาท


การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ

รถทัวร์
กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเดินรถไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ มีรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ (ปอ.1 และ ปอ.2) ให้บริการตามสถานีขนส่งขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่

สถานีขนส่งสายเหนือ (เขตจตุจักร) มักจะเรียกว่า หมอชิตใหม่ หรือ หมอชิต 2 ให้บริการรถโดยสารไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหลัก แต่ถ้าไปจังหวัดอื่นๆ ภาคอื่นๆ บางจังหวัดก็มีรถออกจากหมอชิตด้วย

สถานีขนส่งสายใต้ (เขตตลิ่งชัน) มักจะเรียกว่า สายใต้ใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน ให้บริการรถโดยสารไปยังภาคใต้เป็นหลัก (ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป) และมีไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี

สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ตรงกับรถไฟฟ้า BTS สถานีเอกมัย ให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเป็นหลัก ได้แก่ ชลบุรี ศรีราชา พัทยา ระยอง บ้านเพ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด สระแก้ว

รถตู้
รถตู้โดยสารระหว่างจังหวัด มีคิวให้บริการอยู่ตามสถานีขนส่ง หรือจุดนัดพบใหญ่ๆ เช่น สถานีขนส่งหมอชิต 2 สายใต้ใหม่(ตลิ่งชัน) สายใต้เก่า(ปิ่นเกล้า) ขนส่งเอกมัย อนุสาวรีย์ชัย แยกบางนา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เซ็นทรัลพระราม 2 บิ๊กซีพระราม 2 บางปะกอก ดอนเมือง เป็นต้น

เครื่องบิน
กรุงเทพฯ มีท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง หรือสนามบินดอนเมือง ให้บริการสายการบินภายในประเทศ และต่างประเทศ

Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com