กรุงเทพมหานคร

เมืองหลวงของประเทศไทย

ข้อมูลทั่วไปของกรุงเทพฯ

Bangkok history

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน มีประวัตินับย้อนกลับไปในราวสมัยอยุธยาตอนกลาง สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงดำริว่า ช่วงปลายแม่น้ำพระยาบางช่วงมีความคดเคี้ยวมาก คุ้งน้ำวกไปมาหลายสิบกิโลเมตร ทำให้เสียเวลาในการเดินเรืออ้อมลำน้ำนาน และทรงเห็นว่า แผ่นดินช่วงหนึ่งแคบจนเดินถึงกันได้ไม่ไกลนัก ในปีพ.ศ.2085 จึงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดบางกอกเชื่อมช่วงคอคอดให้ถึงกัน จนทำให้กระแสน้ำนั้นเปลี่ยนเส้นทาง คลองที่ขุดขึ้นมาใหม่ กลายเป็นเส้นทางหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาแทน (ช่วงที่ไหลผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิฐ วัดอรุณ ท่าเตียน) ส่วนทางน้ำเดิมที่คดโค้งนั้น กลายมาเป็นคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้มักจะถูกเรียกขานว่า บางกอก เป็นเส้นทางเข้าออกสู่ทะเลในการติดต่อค้าขาย กับนานาประเทศ เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ คอยเก็บภาษีเรือบรรทุกสินค้า โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคเฟื่องฟูด้านการค้ากับชาวต่างชาติ มีทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขาย จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันในบางครั้ง ในปี พ.ศ.2228 สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดฯ ให้สร้างป้อมวิไชยเยนทร์ ที่เมืองธนบุรี ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล ต่อมาในสมัยพระเพทราชาได้รื้อป้อมทางฝั่งตะวันออกลง เหลือไว้เพียงทางฝั่งตะวันตก

ลุ่ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ.2310 คราวที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย พม่าได้ยึดเมืองธนบุรีไว้ และแต่งตั้งให้นายทองอินเป็นเจ้าเมือง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาคืนมา ทรงยึดเมืองธนบุรีกลับคืนมาด้วย จากนั้นทรงเห็นว่าเมืองธนบุรี มีป้อมตั้งอยู่แล้ว เหมาะกับทางยุทธศาสตร์ และสะดวกต่อการเดินทัพ จึงสร้างพระราชวังธนบุรี ปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ป้อมวิชัยประสิทธิ์ จากนั้นสถาปนาราชธานีใหม่ โดยพระราชทานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร"

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี ในปีพ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีมาทางฝั่งตะวันออกแทน ด้วยทรงเห็นว่ามีชัยภูมิที่เหมาะกว่า จากนั้นได้สร้างพระราชวังหลวง มหามณเฑียร และวัดพระแก้วขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง โดยให้ตั้งอยู่ถัดจากแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้แม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ ทั้งยังสร้างกำแพงเมือง และป้อมปราการโดยรอบ ขุดคลองรอบกรุง จนมีลักษณะเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วทรงพระราชทานนามราชธานีใหม่แห่งนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร

Bangkok logo

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ที่ชาวต่างชาติยังคงเรียกติดปากตามชื่อเดิมว่า Bangkok (บางกอก) เมืองที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่ง เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมเก่าแก่ ความวิจิตรงดงามของวัดวาอาราม พระบรมมหาราชวัง เมืองที่บอกเล่าความเป็นมาของสยาม ผสมผสานความศิวิไลซ์ก้าวล้ำ ความทันสมัย ตึกรามสูงใหญ่ แหล่งรวมศูนย์การค้าระดับชั้นนำ มีผู้คนหล่อหลอมรวมกัน หลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา คนรุ่นเก่า หนุ่มสาวยุคใหม่ รวมอยู่ในหัวใจของประเทศ ดั่งคำขวัญที่ว่า

"กรุงเทพฯ​ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย"

กรุงเทพฯ หรือ กรุงเทพมหานคร แปลได้ว่า "เมืองอันกว้างใหญ่ของหมู่เทพเทวดา" เป็นเพียงคำขึ้นต้น ที่ตัดทอนมาจากชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ ที่มีความยาวมากจนได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊คว่า เป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ชื่อเต็มกรุงเทพฯ นั้นคือ

"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"

แปลออกมาได้ว่า "เมืองอันกว้างใหญ่ ดั่งนครของหมู่เทพ เป็นที่ประทับของพระแก้วมรกต เมืองหลวงอันยิ่งใหญ่เป็นอมตะ มีความงดงาม เต็มไปด้วยแก้วเก้าประการ มีพระบรมมหาราชวังใหญ่โตมากมาย ราวกับวิมานของหมู่เทพเทวดา ที่พระอินทร์ (ท้าวสักกเทวราช*) ทรงบัญชาให้ นายช่างใหญ่จากสวรรค์ชั้นฟ้า (พระวิษณุกรรม**) สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระราชาผู้ที่อวตารลงมาจากสวรรค์"

* ท้าวสักกเทวราช หรือเรียกสั้นๆ ว่าท้าวสักกะ มักจะหมายถึงพระอินทร์ หรือเทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่เหนือทวยเทพทั้งปวง

** พระวิษณุกรรม หรือพระวิศวกรรม (ไม่ใช่ "พระวิษณุ" ของศาสนาฮินดู) เป็นเทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่างๆ ให้แก่มนุษย์ ตามความหมายในชื่อของกรุงเทพฯ หมายถึง พระอินทร์บัญชาให้พระวิษณุกรรมสร้างขึ้น

กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 1,568 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 68 ของไทย มีประชากร 5,686,646 คน (ปี 2559) มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่เดิมพื้นที่ถูกแบ่งโดยแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งที่อยู่ทางทิศตะวันตก เรียก จังหวัดธนบุรี และจังหวัดพระนคร จนกระทั่งยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในพ.ศ.2514 ได้รวมจังหวัดธนบุรี และจังหวัดพระนครเข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2515 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ กรุงเทพมหานคร หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า กรุงเทพฯ ส่วนคำว่าธนบุรี และพระนคร นั้น ก็ยังมีคนใช้เรียกอ้างอิงเขตพื้นที่ และสถานที่ต่างๆ

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ดูได้ตามด้านล่างนี้
- ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า ฝั่งธนบุรี
- ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า ฝั่งพระนคร

อาณาเขตกรุงเทพมหานคร ที่ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ
- ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี
- ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดสมุทรปราการ และทะเลอ่าวไทยเพียงเล็กน้อย
- ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม

การแบ่งเขตการปกครอง
กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีเขตการปกครองเยอะที่สุดถึง 50 เขต เขตที่มีขนาดเล็กที่สุดอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ คือเขตสัมพันธวงศ์​ และเขตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เขตหนองจอก มีพื้นที่ติดทะเลเพียงเขตเดียว คือ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน คนมักจะเรียกว่า ทะเลบางขุนเทียน หรือ ทะเลกรุงเทพฯ มีความยาวช่วงติดทะเลประมาณ 5.8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงอยู่ในขณะนี้

การแบ่งกลุ่มตามพื้นรับผิดชอบเป็น 6 กลุ่ม

1. กลุ่มกรุงธนเหนือ

เขตพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนฯ) ทางตอนบน มี 8 เขต คือ

- เขตบางพลัด
- เขตบางกอกน้อย
- เขตบางกอกใหญ่
- เขตตลิ่งชัน
- เขตทวีวัฒนา
- เขตธนบุรี
- เขตคลองสาน
- เขตจอมทอง

2. กลุ่มกรุงธนใต้

เขตพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนฯ) ทางตอนใต้ มี 7 เขต คือ

- เขตหนองแขม
- เขตบางแค
- เขตภาษีเจริญ
- เขตบางบอน
- เขตบางขุนเทียน
- เขตทุ่งครุ
- เขตราษฎร์บูรณะ

3. กลุ่มกรุงเทพเหนือ

เป็นเขตที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) ทางตอนบนของกรุงเทพฯ มี 7 เขต คือ

- เขตดอนเมือง
- เขตสายไหม
- เขตหลักสี่
- เขตบางเขน
- เขตบางซื่อ
- เขตจตุจักร
- เขตลาดพร้าว

4. กลุ่มกรุงเทพกลาง

เขตพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) ช่วงใจกลางกรุงเทพฯ เป็นย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุด มี 9 เขต คือ

- เขตวังทองหลาง
- เขตห้วยขวาง
- เขตดินแดง
- เขตพญาไท
- เขตราชเทวี
- เขตดุสิต
- เขตพระนคร
- เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
- เขตสัมพันธวงศ์

5. กลุ่มกรุงเทพใต้

เขตพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) ค่อนมาทางตอนใต้ของกรุงเทพฯ มี 10 เขต คือ

- เขตบางนา
- เขตพระโขนง
- เขตสวนหลวง
- เขตวัฒนา
- เขตคลองเตย
- เขตปทุมวัน
- เขตบางรัก
- เขตสาทร
- เขตบางคอแหลม
- เขตยานนาวา

6. กลุ่มกรุงเทพตะวันออก

เขตพื้นที่ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) อยู่ในแนวสุดเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มี 9 เขต คือ

- เขตประเวศ
- เขตบางกะปิ
- เขตบึงกุ่ม
- เขตคันนายาว
- เขตคลองสามวา
- เขตสะพานสูง
- เขตมีนบุรี
- เขตลาดกระบัง
- เขตหนองจอก

 

ลักษณะภูมิประเทศ

กรุงเทพมหานคร อยู่บนพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ* ที่เกิดจากแม่น้ำพัดพาเอาตะกอนขนาดเล็ก ละเอียด จำพวกทรายละเอียด และดินเหนียว ลงมาตามลำน้ำ แล้วพากันมาตกตะกอนทับถมกันทางตอนล่าง เกิดเป็นบริเวณที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ แหล่งสะสมของดินเหนียวละเอียดที่อุ้มน้ำได้ดี มีแร่ธาตุ เหมาะกับการเพาะปลูก ในสมัยอยุธยา พื้นที่แถบนี้จึงเป็นแหล่งปลูกข้าว ทำสวนผัก ผลไม้ กล้วยไม้ ทั้งยังมีการขุดคลองเพิ่มเติมเพื่อการชลประทาน ให้พื้นที่ส่วนที่อยู่ห่างจากแม่น้ำ ผันน้ำเข้าไปทำการเกษตร แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นที่ราบต่ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1.5-2 เมตร ดังนั้นเวลาฝนตก จึงมักจะระบายน้ำได้ช้า และเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง

* ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (River Delta) เป็นบริเวณที่น้ำในแม่น้ำช่วงที่ไหลออกสู่ทะเล จะพัดพาเอาตะกอนเล็กๆ มากับน้ำ แล้วตกตะกอนทับถมกันแถวปากแม่น้ำ ตะกอนจะค่อยๆ สะสม ทั้งหิน กรวด ทราย ทรายแป้ง ดินเหนียว ทับถมกันจนทำให้แม่น้ำไหลช้าลง และตะกอนเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นแผ่นดินบกในที่สุด

แม่น้ำลำคลอง

- แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายที่ไหลผ่านใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นแม่น้ำสายสำคัญของไทย มีความยาว 372 กิโลเมตร ไหลจากต้นน้ำทางตอนบนของประเทศ ลงมาออกยังปากอ่าวไทย โดยมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำวัง + แม่น้ำปิง และ แม่น้ำยม + แม่น้ำน่าน มาบรรจบกันที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลลงมาทางใต้ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ออกสู่อ่าวไทยระหว่างตำบลท้ายบ้าน และตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ กับ ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ

- ลำคลอง ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนมากกว่า 1,161 คลอง มีทั้งคลองธรรมชาติ และคลองที่ขุดขึ้นใหม่ ซึ่งมีการขุดคลองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อยุทธศาสตร์ทางการรบ ขุดคลองทางลัดเพื่อย่นระยะการเดินทาง ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเพื่อการคมนาคม และลำเลียงขนส่ง ขุดคลองเพื่อทดน้ำสำหรับการเพาะปลูกในที่ห่างไกลน้ำ เป็นต้น

ภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร

- ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน) เป็นช่วงที่มีลมประจำท้องถิ่นประเทศไทยที่เรียกว่า "ลมตะเภา" พัดจากบริเวณอ่าวไทยขึ้นบก ผ่านกรุงเทพมหานคร ขึ้นไปยังภาคกลางตอนล่าง

- ฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม) มาจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ทำให้คนกรุงเทพฯ มักจะมีฝนในช่วงบ่าย-ค่ำ ฝนจะตกหนักที่สุดในเดือน พฤษภาคม และ กันยายน

- ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีอากาศเย็น ไม่ถึงกับหนาวจัด

กรุงเทพฯ - เมืองแห่งความเป็นศูนย์กลาง

  • ศูนย์กลางการจัดงานพระราชพิธีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของประเทศ เช่นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระราชพิธีพระเมรุมาศ (การเผาพระบรมศพ) พระราชพิธีฉัตรมงคล พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันพืชมงคล) การจัดงานมักจะมีขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง
  • ศูนย์กลางการศิลปะวัฒนธรรม กรุงเทพฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุครัตนโกสินทร​์ ที่มีมานานกว่า 200 ปี มีอาคารสถานเก่าแก่ได้รับการอนุรักษ์ไว้มากมาย เช่น ศาลหลักเมือง กำแพงเมืองเก่า วัง พระบรมมหาราชวัง วัดพระอารามหลวง ทุ่งพระเมรุ เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการให้ความรู้ และข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นแหล่งบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา และรวบรวมความเป็นไทยไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พระนคร) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือราชพิธี พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม (Museum Siam) นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (Rattanakosin Exhibition Hall) พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นต้น
  • ศูนย์กลางหน่วยงานราชการ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง และการต่างประเทศ เช่น ศูนย์ราชการ อาคารรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล สถานฑูต สำนักงานภาครัฐ กระทรวง กรม กองต่างๆ เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการคมนาคมที่ทันสมัย มีถนนหลายสาย ทางด่วน รถขนส่งมวลชนหลากหลายประเภท เช่น รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT รถไฟแอร์พอร์ทลิ้งค์ รถไฟไทย เรือ รถเมล์ รถตู้ รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว แท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น
  • ศูนย์กลางธุรกิจ เป็นแหล่งพบปะติดต่อของธุรกิจการค้า มีอาคารสำนักงาน บริษัท และย่านธุรกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในย่านกรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น สาทร สีลม เพลินจิต สุขุมวิท รัชดาภิเษก เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการเงิน การธนาคาร และการขนส่ง สื่อสาร เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปรษณีย์กลาง เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการศึกษาของประเทศ มีสถาบันการศึกษาเก่าแก่ และมีชื่อเสียงระดับประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการให้การรักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลเก่าแก่ และมีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช (โรงพยาบาลแห่งแรกของไทย) โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น
  • ศูนย์กลางการจัดงาน การประชุม การแสดงนิทรรศการ และการแสดงสินค้า ในระดับประเทศ เช่นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Cultural Centre) ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี (IMPACT Exhibition and Convention Center) เป็นต้น
  • ศูนย์กลางแหล่งช้อปปิ้ง มีห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่มีสินค้าจากทั่วโลก ตั้งแต่สินค้าแบรนด์เนมราคาแพง ไปจนถึงร้านค้าปลีกย่อย แหล่งขายสินค้าราคาถูก สินค้าขายส่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังมีการแบ่งโซนการจำหน่ายสินค้าแต่ละประเภทด้วย เช่น พาหุรัด (ขายผ้า และอุปกรณ์ตัดเย็บ) สำเพ็ง (ขายส่ง ของกระจุกกระจิก) ตลาดบ้านหม้อ (แหล่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ตลาดโบเบ๊ (ค้าส่งเสื้อผ้า) ตลาดมหานาค (ค้าส่งผลไม้) ปากคลองตลาด (ตลาดดอกไม้สด) ย่านวรจักร (แหล่งช้อปอะไหล่รถ) คลองถม (ขายของเก่า ของมือสอง) เป็นต้น
  • ศูนย์กลางโรงแรมชั้นนำ และที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ มีที่พักให้เลือกสำหรับทุกระดับความต้องการ โรงแรมระดับ 5 ดาว โรงแรมระดับกลาง เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ โฮสเทล ที่พักสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ (ย่านข้าวสาร) ทั้งยังเป็นศูนย์รวมของชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก จนมีบางโซนที่กลายเป็นย่านของชาวต่างชาติกลุ่มต่างๆ เช่น โซนคนญี่ปุ่น (ทองหล่อ พร้อมพงษ์ อโศก เอกมัย) โซนคนอินเดีย Little India (พาหุรัด สี่พระยา) โซนคนเกาหลี (สุขุวิท ทองหล่อ) โซนคนจีน (ห้วยขวาง เยาวราช) ชาวตะวันออกกลาง (ซอยนานา ประตูน้ำ) เป็นต้น
  • ศูนย์กลางอาหารนานาชาติ มีเมนูอาหารจากแทบทุกประเทศทั่วโลก หลากหลายชนิด ตั้งแต่ราคาสูง ไปจนถึงอาหารริมทาง (Street Food) ซึ่งกรุงเทพฯ ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเมืองที่มีอาหารริมทางดีที่สุดอีกด้วย แหล่งอาหารข้างทางที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ เยาวราช (ช่วงกลางคืน) ถนนข้าวสาร ส่วนแหล่งอาหารจากชาติต่างๆ ที่มีอยู่กันเป็นย่านก็มี เช่น อาหารจีน (เยาวราช) อาหารอินเดีย (พาหุรัด) อาหารญี่ปุ่น (ซอยธนิยะ ซอยสุขุมวิท 33/1 ซอยทองหล่อ) อาหารเกาหลี (สุขุมวิท 12) อาหารพม่า (พระโขนง) อาหารฟิลิปปินส์ (เพชรบุรี ซอย 19) อาหารอาหรับ (สุขุมวิท) และยังมีอาหารจากประเทศต่างๆ เช่น อาหารอิตาเลี่ยน เวียดนาม อินโดนีเซีย ตุรกี เป็นต้น
  • ศูนย์กลางสถานบันเทิงยามราตรี สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ มีทั้งผับ บาร์ ไนท์คลับ ผับแนวแดนซ์ เช่น ย่านสีลม ทองหล่อ ถนนสุขุมวิท เอกมัย ถนนรัชดา พระราม 9 (อาร์ซีเอ) ถนนข้าวสาร เป็นต้น
  •  

     

    Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
    Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com