เหมืองปิล๊อก เป็นสถานที่ที่เคยเป็นแหล่งเหมืองแร่เก่า มีนักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยวชมสถานที่ ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ครั้งเมื่อผืนดินแห่งนี้เต็มไปด้วยแร่ที่มีค่า เสมือนเป็นขุมทองของนักแสวงโชคจากทั่วทุกสารทิศ
เมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน ในช่วงการล่าอาณานิคม ขณะนั้นประเทศพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีชาวพม่าจำนวนหนึ่งได้เข้ามาหาแร่วุลแฟรม และดีบุก เพื่อนำไปขายต่อให้กับทหารอังกฤษ เอาไปผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการสงคราม ว่ากันว่ามีนายพรานฝั่งไทย 2 คน คือพรานไผ่ และพรานผาแป เข้าไปตามรอยกระทิงในป่า แล้วไปเจอชาวพม่ากำลังขุดหาแร่อยู่ จึงนำเรื่องไปแจ้งทางการไทย เมื่อปี พ.ศ. 2481 กรมโลหกิจ องค์การเหมืองแร่ ในหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น จึงได้เข้ามาสำรวจสายแร่ในบริเวณปิล๊อกนี้ พบว่าแถวนี้มีสายแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมอยู่มาก รวมถึงมีแร่ทังสะเตน และสายแร่ทองคำปะปนอยู่ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 องค์การเหมืองแร่ จึงได้จัดตั้งเหมืองแร่แห่งแรกขึ้นในตำบลปิล๊อก หลังจากนั้นก็เปิดให้สัมปทานแก่นักลงทุนเอกชน จนทำให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้นมากมายราวดอกเห็ดราวๆ 50-60 แห่ง ทั้งเหมืองขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงเหมืองเถื่อน และการแอบลอบขุดนำไปขายของชาวบ้าน ในขณะนั้นเองก็ยังมีชาวพม่าจำนวนหนึ่งเข้ามาขุดแร่เพื่อนำไปขายให้แก่อังกฤษ ซึ่งทำให้ทางการไทยต้องเข้าปราบปราม ต่อสู้กัน จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงการขุดอุโมงค์เพื่อเข้าไปหาแร่บนภูเขานั้น มีอันตรายมากมาย ทั้งเกิดอุโมงค์ถล่ม หินถล่ม ไข้ป่า มาเลเรีย ทำให้คนงานเหมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าชื่อเหมืองปิล๊อกนี้ เป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เหมืองผีหลอก" เพราะมีคนตายมากมาย และเมื่อคนงานพม่าเรียกต่อๆ กันไป จึงเพี้ยนเป็น "เหมืองปิล๊อก"
ช่วงยุคทองของการค้าแร่ ถือได้ว่ารุ่งเรืองมาก จนครั้งนึงประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่สำคัญของโลก ประมาณปีพ.ศ. 2527-2528 ความรุ่งโรจน์ของการขุดแร่ได้จบลง เมื่อจีนได้ปล่อยดีบุกจำนวนมากออกขายในราคาถูก ราคาแร่ดีบุกจึงเข้าสู่วิกฤตการณ์เลวร้าย ตกต่ำอย่างรุนแรง ทั้งยังมีเทคโลยีการผลิตพลาสติกเข้ามาแทน ทำให้การใช้ดีบุกลดลง เหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยจึงต้องทะยอยปิดตัวลง คนงานต่างก็พากันอพยพไปทำงานที่อื่น และในที่สุดตำนานแห่งเหมืองปิล๊อก จึงกลายเป็นเพียงเรื่องราวในอดีตที่ถูกเล่าขาน ปัจจุบันไม่มีการขุดหาแร่อีกแล้ว เหลือเพียงซากรถเก่าที่เคยบรรทุกแร่ โรงเก็บอุปกรณ์การร่อนแร่ถูกทิ้งร้าง และพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นอุโมงค์ขุดเจาะแร่ ทิ้งไว้ให้เห็นถึงยุคที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น
การเดินทางไปยังเหมืองปิล๊อก หมู่บ้านอีต่อง
สามารถใช้รถสองแถวประจำทาง สีเหลือง เขียนข้างรถว่า ทองผาภูมิ - อีต่อง ค่าโดยสารคนละ 70 บาท
- ออกจากตลาดทองผาภูมิ เวลาประมาณ 10.30 น. (ถ้านั่งรถบขส. 999 จากกรุงเทพฯ - ด่านเจดีย์สามองค์ ต้องขึ้นรถเที่ยว 5.00 น.)
- ออกจากหมู่บ้านอีต่อง มีสองเที่ยวคือ เวลาประมาณ 6.30 น. และ 7.30 น.
ด้วยรถยนต์
จากตัวเมืองกาญจนบุรี - อำเภอทองผาภูมิ 146 กิโลเมตร
จากตัวอำเภอทองผาภูมิ - เหมืองปิล๊อก ประมาณ 70 กิโลเมตร
- เริ่มจากถนนสายหลักตัวเมืองกาญจนบุรี ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ(หมายเลข 323) เส้นทางจะต่อกับเส้น 3272 เข้าอำเภอทองผาภูมิ วิ่งผ่านตัวอำเภอ (ตัวอำเภออยู่ทางขวา) เลียบอ่างเก็บน้ำในเขื่อนไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร จะถึงสามแยกบ้านไร่-ปิล๊อก ให้เลี้ยวซ้ายไปทางปิล๊อก จากจุดนี้จะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง
- วิ่งเลยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิมาประมาณ 13 กิโลเมตร เลยทางเข้าน้ำตกจ๊อกกระดิ่ง เหมืองสมศักดิ์ เนินช้างศึก เส้นทางนี้จะไปสุดทางที่หมู่บ้านอีต่อง (เหมืองปิล๊อกเก่าอยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดอีต่อง) เมื่อเลยจากอุทยานฯ เส้นทางบางช่วงมีผิวถนนชำรุด เป็นช่วงลงเขา และมีโค้งหักศอกหลายจุด แม้บางจุดจะมีกระจกโค้ง แต่เพื่อความปลอดภัยควรใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ เช่นใช้เกียร์ต่ำ ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงทางโค้ง เป็นต้น