วัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรีแล้ว ยังเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น "เทพเจ้าแห่งชาวมอญ" วัดวังก์วิเวการาม จึงเกิดจากพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ และเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" วัดจึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ
สถานที่สำคัญภายในบริเวณวัด มีอยู่หลายอาคาร ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชม และสักการะบูชา
- ปราสาทเก้ายอด
เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดวังก์วิเวการาม จะเห็นอาคารตรงข้ามกับทางเข้า เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่ด้านหน้ามีซุ้มทางเข้า
ประดับประดาด้วยหลังคาเรือนยอดเป็นชั้นๆ สีเขียวตัดขอบทอง ปลายยอดมีด้วยกัน 3 ยอด ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของมอญ ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บพระพุทธรูป และอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่างๆ เช่นคัมภีร์ใบลานอักษรมอญโบราณ ตาลปัตร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของปราสาทเก้ายอด
ปราสาทเก้ายอด คือโลงบรรจุสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของชนชาติมอญ ลวดลายมีความประณีต งดงาม ปราสาทเก้ายอดนี้ เป็นฝีมือสกุลช่างจากทางเชียงใหม่ใช้ลวดลายประมาณ 20 - 30 ลวดลาย ตัวโลงเจาะช่องใส่กระจกให้มองเห็นภายในได้ เรียกว่า "ลายขุนแผนเปิดม่าน" ด้านบนตกแต่งเป็นด้วยลวดลายสวยงาม ส่วนบนสุดทำเป็นยอดถึง 9 ยอด การทำปราสาทมอญเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่า เป็นการส่งวิญญาณให้ไปสถิตยังสรวงสวรรค์ ด้านหน้าปราสาทเก้ายอด มีหุ่นขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปหลวงพ่ออุตตมะในท่านั่ง ถัดมามีตู้ทรงมอญ ลักษณะคล้ายบุษบก ข้างในใส่รูปหลวงพ่อ
- วิหารพระหินอ่อน
พระพุทธรูปหินอ่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อขาว" ตั้งอยู่ในวิหารพระหินอ่อน อยู่ทางขวามือติดกับทางเข้า อาคารสร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีทางเดินเชื่อมต่ออาคาร มีหลังคาคลุมตลอด
พระพุทธรูปหินอ่อน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก หนัก 9 ตัน เป็นพระพุทธรูปที่หลวงพ่ออุตตมะสั่งทำขึ้นที่พม่า โดยส่งรูปพระพุทธชินราชไปให้ช่างที่มัณฑเลย์ แกะจากหินอ่อนสีขาวก้อนเดียว ว่าจ้างด้วยทองคำแทนเงิน หลวงพ่อสั่งทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จ่ายเป็นจำนวนสามงวด เป็นทองหนัก 10 บาท 5 บาท และ 10 บาท (ในสมัยที่ราคาทองคำบาทละ 450 บาท) สร้างเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2515 แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยได้ ต้องทำเรื่องขออนุญาติกรมการศาสนาของพม่าจนแล้วเสร็จในช่วงปลายปี จากนั้นทำการขนย้าย ด้วยระยะทางที่ไกล และเป็นพระพุทธรูปที่มีน้ำหนักมาก ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นป่าและหมู่บ้านชายแดน ทำให้มีความล่าช้า จนมาถึงด่านเจดีย์สามองค์เมื่อ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 ปีพ.ศ. 2517
- พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัด มีความงดงาม มีซุ้มทางเข้าอุโบสถเป็นซุ้มหลังคาทรงยอดปราสาท ส่วนตัวโบสถ์ เป็นหลังคาทรงสูง หลังคาโบสถ์ทำเป็นหน้าจั่วซ้อนชั้น และมียอดปราสาทอยู่ชั้นบนสุด หน้าบันประดับด้วยลายกนกสวยงาม เสาโบสถ์เป็นเสาขัดมันวาว
หลวงพ่อุตตมะ เดิมท่านชื่อ "เอหม่อง" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในหมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเกลาสะ ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมโท หลังจากนั้นได้ออกมาดูแลบิดามารดา และกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 ได้รับฉายานามว่า "อุตตมรัมโภ" แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด ซึ่งเป็นความตั้งใจของท่านที่จะบวชไม่สึกตลอดชีวิต
ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า และได้ศึกษาวิปัสนากรรมฐาน วิชาไสยศาสตร์ และพุทธาคม (ศาสตร์แห่งการใช่สมาธิแนวประยุกต์ เช่นการใช้คาถา ลงอักขระ เป็นต้น) จากนั้นท่านจึงออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ในประเทศพม่า เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2486 จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2492 ท่านได้ธุดงค์เข้ามาในประเทศไทย ทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ หลังจากนั้นได้เดินทางไปพบกับชาวไทยเชื้อสายมอญที่อยู่ในประเทศไทยในหลายจังหวัด
ปีพ.ศ. 2494 ท่านได้ไปแวะกลับไปเยี่ยมคนมอญจากบ้านเกิดของท่านที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเขตสังขละบุรี และในปี พ.ศ.2499 หลวงพ่ออุตตมะ ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญในบริเวณบ้านวังกะล่าง ได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ เพื่อให้หลวงพ่อพำนักอยู่ แรกเริ่มมีเพียงกุฏิและศาลา แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" โดยสร้างอยู่บนเนินสูงริมแม่น้ำบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี
ในปี พ.ศ. 2505 สำนักสงฆ์ได้รับอนุญาติจากกรมการศาสนาให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัด โดยให้ชื่อว่า "วัดวังก์วิเวการาม" ตามชื่อของอำเภอเก่า (อำเภอวังกะ) หลังจากนั้นมีการสร้างโบสถ์ ที่ก่อสร้างด้วยศิลปะพม่า วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน "หลวงพ่อขาว" สร้างเจดีย์จำลองพุทธคยา และยังริเริ่มสร้างสะพานมอญ ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ที่ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของสังขละด้วย
ปี พ.ศ. 2512 หลวงพ่ออุตตมะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูอุดมสิทธาจารย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้เป็นพระราชาคณะ และในปีพ.ศ. 2534 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชอุดมมงคล
หลวงพ่ออุตตมะได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 รวมอายุได้ 97 ปี