พระเจดีย์พุทธคยา เป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่กับวัดวังก์วิเวการาม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่นี้ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีสีเหลืองทอง สามารถมองเห็นได้จากแม่น้ำซองกาเลีย ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นเจดีย์ที่มีผู้คนมาสักการะ บูชาองค์เจดีย์ที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจดีย์พุทธคยายังเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและงานเทศกาลเช่น งานวันสงกรานต์
เจดีย์พุทธคยา ตั้งขึ้นอยู่ไม่ไกลจากวัดวังก์วิเวการาม ห่างไปประมาณ 650 เมตร เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 ริเริ่มโดยหลวงพ่ออุตตมะ ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อที่จะจำลองจากเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย มาไว้เป็นศูนย์กลางสำหรับชาวพุทธที่อยู่รวมกันได้โดยไม่แยกเชื้อชาติ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด ได้รับจากเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใส ศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งบริจาคมาทั้งที่เป็น เงินสด ทองคำ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้แรงงานคนมอญทั้งผู้ชายและผู้หญิงในหมู่บ้านประมาณ 400 คน ช่วยกันเผาอิฐมอญจำนวน 260,000 ก้อน ต่อมา พ.ศ. 2525 เจดีย์ได้ถูกเสริมให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
เจดีย์พุทธคยา มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์พุทธคยาองค์จริงที่อินเดีย มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาว 42 เมตร สูง 59 เมตร ทางเข้าไปยังเจดีย์ มีรูปปั้นสิงห์ คู่ใหญ่ เป็นศิลปะมอญ ที่เชื่อว่าจะคอยปกป้องเจดีย์อยู่สองข้างบันไดทางเข้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสิงห์คู่ของประเทศพม่า ถัดไปด้านในบริเวณรอบองค์เจดีย์ทำเป็นลักษณะเหมือนระเบียงคด สามารถเดินได้โดยรอบ ทางเดินมีหลังคาคลุม และรอบๆ องค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวดาประจำวันเกิด พื้นผิวองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นเหลี่ยมเว้าแหว่งเป็นช่อง โพรง คล้ายลายเรขาคณิต ภายในช่อง โพรง มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ในพุทธลักษณะต่างๆ วางอยู่
บนยอดพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา สีขาวอมเหลืองใส ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารจำนวน 2 องค์ บรรจุในผะอบ 3 ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุ และประดิษฐานฉัตรทองคำแท้หนัก 400 บาทขึ้นบนยอดเจดีย์
ก่อนเข้าสู่ตัวเจดีย์พุทธคยา ด้านหน้าบริเวณใกล้กับลานจอดรถมีร้านขายของที่ระลึก ให้เลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก มีสินค้าหลายประเภท ทั้งสินค้าจากพม่า เช่นแป้งทานาคาจากพม่า ทั้งแบบตลับสำเร็จรูป และแบบท่อนไม้ทานาคากับแป้นฝน เครื่องประทินผิว เครื่องประดับ ผ้าพันคอ กระเป๋า ของประดับบ้าน และของที่ระลึกที่ทำจากไม้
การสรงน้ำพระสงฆ์ ตามประเพณีมอญ จะสรงน้ำพระแบบอาบทั่วทั้งตัว มีการจัดสถานที่ โดยนำไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีกตามยาวทำเป็นรางยาววางเรียงพาดต่อเป็นทอดๆ จากทุกทิศทุกทาง เพื่อให้น้ำไหลไปยังจุดสรงน้ำที่เดียวกัน คนที่ต้องการสรงน้ำพระจะตักน้ำรินใส่รางไม้ไผ่ เพื่อให้ไหลไปยังจุดสรงน้ำ ชาวบ้านจะช่วยกันอุ้มพระไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ เมื่อเสร็จพิธีการสรงน้ำพระแล้ว ชาวบ้านและผู้ที่มาร่วมงานสงกรานต์จึงจะเล่นสาดกันอย่างสนุกสนาน
รีวิว ประเพณีสงกรานต์ชาวมอญที่สังขละบุรี (Pantip)