บริเวณปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง ได้มีการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายรูปแบบ นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อน เป็นนอนโฮมสเตย์ริมน้ำ นั่งรถพ่วงข้างชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ชมธรรมชาติตามลำน้ำประแส ประมงพื้นบ้าน กราบสักการะเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ เดินเล่นรับลม ชมทะเลที่ริมหาดแหลมสน ปีนขึ้นไปชมวิวบนเรือหลวงประแส แวะชมต้นตะเคียนใหญ่อายุกว่า 500 ปี และตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติสรรสร้างของท้องทุ่งโปรงทอง ในเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน “ชุมชนแสมผู้”
จุดชมวิวแหลมสน
จุดชมวิวแหลมสน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์ บนเส้นทางเลียบชายฝั่ง ในโครงการถนนเลียบทะเลเฉลิมบูรพาชลทิศ หาดแหลมสนเป็นหาดเล็กๆ อยู่ติดกับปากแม่น้ำประแส ด้านหนึ่งมีแนวหินยาวเป็นเขื่อนป้องกันคลื่นลมบริเวณปากแม่น้ำ พื้นที่ส่วนนี้ได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะ สำหรับคนทั่วไป ได้มานั่งกินลมชมวิว และพักผ่อน
ต้นตะเคียนใหญ่ วัดตะเคียนงาม
ต้นตะเคียนใหญ่ ตั้งสูงตระหง่านอยู่ในวัดตะเคียนงาม บริเวณชุมชนตลาดตอนกลาง หมู่ 8 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง มีด้วยกัน 2 ต้น มีอายุประมาณ 400 ปี ซึ่งต้นตะเคียนทั้งสองต้นนี้เสมือนเป็นสัญลักษณ์ประจำวัดตะเคียนงาม ในบริเวณวัด มีศาลเจ้าแม่ตะเคียนสำหรับผู้มาเยือนได้สักการะด้วย
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักด์ หรือเสด็จเตี่ย
ศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักด์ ผู้เป็นบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลปากน้ำกระแส สร้างเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีประดิษฐานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ ศาลาตำบลปากน้ำกระแส
ภายในศาล ประดิษฐานรูปหล่อพระบรมรูปกรมหลวงชุมพรฯ ขนาดเท่าองค์จริง ด้านหน้าศาล มีปืนกลที่ปลดประจำการวางไว้เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ท่าน อยู่ทั้งสองข้าง มีพื้นที่เฉพาะสำหรับจุดประทัด เพื่อเป็นการสักการะท่าน เพราะท่านเป็นคนที่ชอบประทัดมาก บริเวณริมน้ำมีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน นั่งชมวิวแม่น้ำประแส
อนุสรณ์เรือหลวงประแส
อนุสรณ์เรือหลวงประแส เป็นความภาคภูมิใจของชาวปากน้ำประแส ที่ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งอนุสรณ์เรือหลวงประแส ถือได้ว่าเป็นเรือหลวงที่เคยมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยบางช่วงเวลา เปิดให้เข้าชม และสามารถขึ้นไปบนเรือ เดินดูได้อย่างใกล้ชิดทุกซอกทุกมุม ห้องบังคับการเรือ ปืนใหญ่ ปืนกล เรือชูชีพ สามารถหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาชมได้ นอกจากนี้บนเรือหลวงประแสถือเป็นจุดชมวิวมุมสูง ที่มองเห็นวิวบริเวณปากแม่น้ำประแสที่ไหลเชื่อมต่อทะล
อนุสรณ์เรือหลวงประแส ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส หมู่ 1 ถนนเทศบาล 9 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง เทศบาลตำบลปากน้ำกระแส ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับเรือหลวงประแสที่ถูกปลดระวางประจำการมาไว้ ณ พื้นที่บริเวณปากน้ำประแส ขณะนั้นเรือได้จอดไว้ที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ใกล้กับท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นจึงได้ทำการปรับภูมิทัศน์ และตกแต่งสถานที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์ เรือหลวงประแสได้ถูกนำมาที่ปากน้ำประแสเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2546
เรือหลวงประแส มีความยาวตลอดลำ 92.8 เมตร ความกว้างมากที่สุด 11.5 เมตร เป็นเรือประเภทตรวจการปืน PG-155 (Patrol Gunboat) ต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นเรือฟริเกต PF-47 (Patrol Frigate) ได้ทำการวางกระดูกงู (การวางโครงเรือหลัก ก่อนต่อให้เป็นลำ) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2486 โดยบริษัท Consolidated Steel Corporation, Los Angeles, California ใช้เวลาในการต่อเรือประมาณ 1 เดือน ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่ San Pedro, California
ต่อมา เมื่อครั้งกรณีพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ในปี พ.ศ. 2493 ประเทศไทยในนามสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ต้องส่งกองกำลังทหาร ไปร่วมรบกับสหประชาชาติ โดยมีเรือรบหลวงประแส (ลำที่ 1) เรือหลวงบางปะกง เป็นเรือที่ทำหน้าที่คอยคุ้มกันเรือลำเรียง (เรือหลวงสีชัง) และได้สูญเสียเรือรบหลวงประแสไป ต่อมาไทยก็ได้ติดต่อขอซื้อเรือจากประเทศสหรัฐอเมริกามาอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส (เป็นลำที่ 2 ใช้ชื่อเดิม) และได้ออกปฏิบัติหน้าที่ต่อในสงครามเกาหลี โดยเริ่มปฏิบัติภาระกิจเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2494 ภาระกิจในขณะนั้นคือ ลาดตะเวน คุ้มกันเรือลำเลียง เรือบรรทุกน้ำมัน เรือ กวาดทุ่นระเบิด และระดมยิงเป็นครั้งคราว หลังเสร็จภารกิจเมื่อสงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 เรือรบหลวงประแส และเรือหลวงท่าจีนจึงได้เดินทางคุ้มกันเรือลำเลียงทหารบกกลับสู่ประเทศไทย
เรือหลวงประแส (ลำที่ 2) ถูกปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2543 เป็นเรือฟริเกต ติดอาวุธ หน้าที่คล้ายเรือพิฆาต แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้นทุนต่ำกว่า หน้าที่หลักคือคุ้มกันเรืออื่น จึงมีอาวุธประจำเรือที่สามารถไว้ต่อสู้ได้ โดยทั่วไปเรือชนิดนี้จะถูกตั้งชื่อเรือตามแม่น้ำสำคัญๆ เช่นเรือหลวงคีรีรัฐ เรือหลวงตาปี ส่วนเรือหลวงประแส มีชื่อตามแม่น้ำประแส ที่เป็นแม่น้ำสำคัญของอำเภอแกลง
การเดินทางไปยังอนุสรณ์เรือหลวงประแส
ห่างจากตัวเมืองระยอง 68 กิโลเมตร
ห่างจากแยกแกลง(สามย่าน) 20 กิโลเมตร
- วิ่งเส้นสุขุมวิท ตรงไปทางแกลง-จันทบุรี ห่างจากแยกแกลงไปประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายบอกทางปากน้ำประแส ผ่านวัดตะเคียนงาม โค้งขวาไป มีป้ายเลี้ยวซ้ายไปอนุสรณ์เรือหลวงประแส