ถนนยมจินดา แหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม เป็นถนนเก่าแก่ของเมืองระยอง ที่ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกลิ่นอายบรรยากาศเก่าๆ ของถนนยมจินดา ที่เคยเป็นถนนสายหลักใจกลางเมืองระยองในอดีต
แต่ก่อน เมืองระยองใช้แม่น้ำระยองที่ไหลผ่านใจกลางเมือง เป็นลำน้ำสายหลักในการติดต่อค้าขายและทำธุรกิจการค้า มีกิจการอู่ต่อเรือ ใช้การคมนาคม ทางน้ำขนส่งสินค้าขึ้นล่องไปยังหัวเมืองต่างๆ จนกระทั่งสมัย พระศรีสมุทรโภค (อิ่ม ยมจินดา) เจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองระยอง ได้เริ่มสร้างถนนแห่งแรกขึ้น ให้ขนานไปกับแม่น้ำ ชื่อว่า ถนนยมจินดา ซึ่งกลายเป็นถนนที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองระยอง เป็นถนนที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยผู้คน ทำธุรกิจการค้า เป็นที่ตั้งของธนาคาร โรงหนัง ตลาด รวมถึงเป็นที่ตั้งของบ้านต้นตระกูลยมจินดา จนกระทั่งบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป เมืองโดยรอบขยายตัวขึ้น มีถนนตัดผ่านมากขึ้น บ้านเรือนถูกเปลี่ยนสภาพเป็นตึกและอาคารสูงรูปทรงทันสมัย เหลือเพียงบ้านเรือนบนถนนยมจินดา ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนตามรูปแบบวิถีชีวิตไทยเดิมๆ
ปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง และเทศบาลเมืองระยอง ถนนยมจินดาได้ถูกปัดฝุ่น ให้บรรยากาศแบบเดิมๆ ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นบ้านเรือนในแบบโบราณ และชุมชนในภาพบรรยากาศเก่าๆ ชมบ้านเรือนในแบบอายุเกือบร้อยปี สิ่งของเครื่องใช้ในอดีต รวมถึงการเล่าเรื่องราวผ่านรูป และแฟ้มภาพเก่าๆ
อาคารบ้านเรือนทั้งสองฝั่งถนน ถูกซ่อมแซม และปรับแต่งบ้าง แต่ก็ยังคงสภาพรายละเอียดไว้ในรูปแบบเดิมๆ บรรยากาศบ้านเรือนบนถนนยมจินดา จึงแตกต่างจากการจัดบรรยากาศให้ดูเป็นแบบโบราณเหมือนที่อื่นๆ เพราะที่นี่เป็นบรรยากาศจริงจากวิถีชีวิตชุมชนเดิม จึงอบอวลไปด้วยความรู้สึกผูกพันของคนรุ่นเก่าที่อยากถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ให้รู้สึกรักและหวงแหนกับความเป็นไทยๆ
บ้านเรือนบนถนนยมจินดามีทั้งสร้างแบบครึ่งปูนครึ่งไม้ และสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ประดับตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบเก่า เช่นมีช่องลมไม้ระแนง ประตูบานเฟี้ยม (เป็นหน้าต่างหรือประตูแคบๆ ที่ต่อกันจนเต็มฝา เหมือนผนังบ้าน) บ้านบางหลังหลังคายังคงเป็นสังกะสี หรือมุงกระเบื้องว่าว (กระเบื้องรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ที่นิยมใช้มุงหลังคาบ้านทรงไทย หรือเรือนปั้นหยา มักทำด้วยกระเบื้องเผา เพื่อให้ความเย็นแก่ตัวบ้าน) บริเวณสองฝั่งมีทั้งร้านค้าเก่าแก่เช่นร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านอัญมณี ร้านทำที่นอน ร้านขนมหวาน ร้านข้าวแกง ร้านกาแฟ เป็นต้น
สถานที่น่าสนใจบนถนนยมจินดา
1.พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง
พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง อยู่ในบริเวณบ้านของ "บ้านสัตย์อุดม" สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2463 ในสมัยของรัชกาลที่ 6 เดิมเป็นบ้านของขุนศรีอุทัยเขตร์ (โป๊ง สัตย์อุดม) คหบดีใหญ่ในอดีต ภายในบ้านได้รวบรวมของเก่า จัดแสดงโชว์ไว้ เช่นพวกหนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า วิทยุ โทรศัพท์ พัดลม โต๊ะ เก้าอี้ ที่บดยาโบราณ เครื่องใช้ในครัวเรือน ตุ๊กตาหุ่นกระบอก มีภาพเก่าประดับตามฝาผนังและริมบันได ที่เป็นเสมือนบันทึก ถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศครั้งเก่า การแต่งกายของผู้คน บุคคลสำคัญ งานประเพณี ถนนหนทางและชุมชนเดิม
เปิดให้เข้าชมทุกวัน 9.00 - 18.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอนุญาติให้ถ่ายภาพได้
รีวิวพิพิธภัณฑ์ระยอง
2.ตึกกี่พง หรือตึกพ่อสิงห์-แม่กราย เป็นตึกแรกที่สร้างขึ้นบนถนนยมจินดา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยนายกี่พง แซ่ตัน ชาวจีนไหหลำ เป็นตึกยาว 12 คูหา ทรงสี่เหลี่ยมมีสองชั้น สมัยก่อนเป็นที่จำหน่ายพริกไทยและเสื้อผ้าที่นำเข้ามาจากเมืองจีน ต่อมาถ่ายทอดมาสู่รุ่นหลานคือ นายสิงห์และนางกราย กลิ่นสมุทร ต่อมาตึกนี้ได้ถูกทิ้งร้างนานถึง 17 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ได้ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
3.ตึกเถ้าแก่เทียน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยนายเทียน สินธุวณิชย์ หรือขุนพานิชชลาสินธุ์ เป็นชาวจีนไหหลำ ทำการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างเกาะกง ประเทศกัมพูชา ผ่านระยอง ไปกรุงเทพ และเปิดร้านบนถนนยมจินดาชื่อ "เซ่งฮั่วเฮง" ตึกของเถ้าแก่เทียนมีลักษณะการสร้างสไตล์ *ชิโน-โปตุกีส ที่ได้อิทธิพลการสร้างมาจากจังหัวดบ้านเกิดคือภูเก็ต สังเกตได้จากหน้าจั่วที่มีลายปูนปั้นประดับอยู่
4.แวะเยี่ยมชมกิจการเก่าแก่บนถนนยมจินดา เช่น ร้านมาลีวณิชย์ (ขายหมอน) ร้านขายของชำเก่าแก่ ร้านตัดผม เป็นต้น
5.แวะชิมอาหารที่ขายอยู่หลากหลายบนถนนยมจินดา ซึ่งแต่ละร้านเป็นร้านที่ขายกันมายาวนาน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊หมวย ร้านอาหารริมน้ำบ้านยมจินดา ร้านส้มตำอนามัย ร้านข้าวแกงเจ๊สมบัติ ร้านหม้อดิน ร้านขนมหวานเจ๊ตุ่ม ร้านส้มตำเจ๊แต๋ว ร้านก๋วยเตี๋ยวหบอดเจ๊จุ่ม ร้านขนมหวานเจ๊สุภาพ
6.นั่งจิบกาแฟกับบรรยากาศเก่าๆ ตามร้านกาแฟเก่าแก่บนถนนยมจินดา เข่นร้านกาแฟโบราณป้ากลม ร้านเชย ร้านราย็อง ร้านกาแฟ 122
ข้อแนะนำ
- ถนนยมจินดา ทางค่อนข้างแคบ และเดินรถทางเดียว หากไปช่วงวันธรรมดา สามารถขับรถเข้าไปได้ จะไปจนถึงถนนภักดีบริรักษ์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ปิดเป็นถนนคนเดิน ควรหาที่จอดรถบริเวณริมถนนด้านนอก แล้วเดินเข้าไปสะดวกกว่า หากโดยสารรถสองแถว ลงตรงถนนหลักเมืองแล้วเดินเข้าไปยังถนนยมจินดาได้