ถ้ำกระแซ ถือเป็นจุดชมวิวที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นจุดที่สวยที่สุด และอันตรายที่สุดของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - น้ำตก หรือที่เรียกกันว่า "เส้นทางรถไฟสายมรณะ” (The Death Railway) ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาเพื่อมาชมวิวเส้นทางรถไฟสายมรณะบริเวณถ้ำกระแซนี้ เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ต้องการมาเที่ยวชม สามารถมาได้ทั้งทางรถยนต์ และทางรถไฟ เพราะบริเวณถ้ำกระแซยังเป็นสถานีรถไฟ สำหรับจอดรับส่งผู้โดยสารด้วย
ถ้ำกระแซ ตั้งอยู่ในอำเภอไทรโยค เป็นถ้ำเล็กๆ ตั้งอยู่ริมหน้าผาใกล้กับทางรถไฟ เคยเป็นที่พักของเชลยศึก ในช่วงที่มีการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า เส้นทางรถไฟบริเวณนี้ที่ถือว่า เป็นจุดอันตรายที่สุดในการก่อสร้างทางรถไฟ เพราะเป็นการสร้างทางตัดผ่านหน้าผาหินสูงชัน อีกฝั่งเป็นเหวลึกสู่ลำน้ำแควน้อย ในช่วงเส้นทางประมาณ 400 เมตรนี้ มีความลำบากในการก่อสร้างเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้ใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัย มีเพียงเครื่องไม้เครื่องมือแบบชาวบ้าน จอบ สิ่ว ค้อน ขวานธรรมดา ทำโครงสร้างด้วยไม้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในการก่อสร้าง การเผชิญกับโรคภัยต่างๆ และการขาดแคลนอาหาร ทำให้กายเป็นโศกนาฏกรรมทางสงคราม ที่มีแรงงานและเชลยศึกต้องจบชีวิตลง นับหมื่นนับพันคนในช่วงการสร้างทางรถไฟผ่านช่วงถ้ำกระแซนี้
การที่จะสัมผัสถึงเส้นทางรถไฟสายมรณะจริงๆ เป็นการเดินทางด้วยรถไฟ เพราะเมื่อรถไฟผ่านเส้นทางก่อนถึงสถานีถ้ำกระแซ รถไฟจะชะลอความเร็วลง เพื่อความปลอดภัย เพราะโครงสร้างสะพานยังคงเป็นโครงไม้ดั้งเดิม และทำให้ได้ชมวิวที่สวยงาม จากทางฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ที่ไหลอยู่ด้านล่าง
หากมาทางรถยนต์ สามารถเดินชมวิวบนเส้นทางรถไฟ ไปตามไม้หมอน และสามารถเข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำกระแซได้ นอกจากนี้ บริเวณสถานีรถไฟ มีร้านอาหาร ร้านค้า ขายของที่ระลึก และสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวมากมาย
ข้อแนะนำ
- ถ้ำกระแซ มีเส้นทางให้ชมวิวอยู่ 2 เส้นทาง
- เส้นทางรถจากเส้น 323 แยกเข้าอำเภอไทรโยค มีทางลงเขา และเป็นทางชัน ควรใช้เกียร์ต่ำ
- บริเวณสถานีถ้ำกระแซ สามารถขับรถมาเที่ยวจุดชมวิวนี้ได้ มีสถานที่จอดรถอยู่ใกล้กับร้านค้า
- นักท่องเที่ยวสามารถเดินบริเวณไม้หมอนรถไฟเพื่อชมวิวสะพานและ แม่น้ำแควน้อยได้
- ควรระมัดระวังเมื่อเดินบนรางรถไฟ ไม่วิ่งเล่น หยอกล้อ ผลัก หรือปีนป่ายโลดโผนบริเวณทางรถไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
เส้นทางรถไฟสายนี้ได้ถูกสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 โดยเริ่มจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อที่จะตัดเข้าทางเมืองทันบูชายัด ประเทศพม่า มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 415 กิโลเมตร โดยมีระยะทางในประเทศไทยประมาณ 303 กิโลเมตร และในพม่าอีก 111 กิโลเมตร กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกสงครามจากหลายประเทศ ราว 60,000 คน รวมถึงแรงงานจ้างชาวเอเชียอีกนับแสนคน มาช่วยกันสร้างทางรถไฟให้เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นป่าเขารกทึบ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงสงคราม และการใช้แรงงานที่เสี่ยงอันตรายในพื้นที่ที่เป็นผาหิน เขา และความรีบเร่งในการสร้าง ทำให้เชลยศึกและแรงงานจ้างต้องเสียชีวิตลงนับพันคน จีงเปรียบได้ว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางที่นำความตายมาสู่ผู้คนมากมาย จนเป็นที่มาของคำว่า "เส้นทางรถไฟสายมรณะ"
เส้นทางรถไฟสายไทย - พม่า ถูกสร้างเสร็จเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ เพราะใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เส้นทางรถไฟก็ได้ทอดยาวไปจนถึงชายแดนพม่า แต่ก็ทำให้มีเชลยศึกนับหมื่นคน และแรงงานเอเชียอีกนับแสนต้องล้มตายลง หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม เส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นได้ตกเป็นสมบัติของอังกฤษ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม ถึงแม้เส้นทางรถไฟจะตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ตาม ทำให้รัฐบาลไทยสมัยนั้นต้องขอซื้อคืนมาด้วยราคา 50 ล้านบาท โดยให้อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำการซ่อมแซม และเปิดให้เดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี จนถึงสถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี
ปัจจุบันเส้นทางรถไฟจากสถานีกาญจนบุรี จนถึงสถานีปลายทางน้ำตกประมาณ 77 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ผ่านทัศนียภาพที่สวยงามตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ และช่วงโค้งมรณะ หรือบริเวณถ้ำกระแซ ซึ่งกลายเป็นเส้นทางรถไฟที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ และมาชมเส้นทางสายนี้กันตลอดทั้งปี
- จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโต ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323)
- เมื่อผ่านวัดป่าหลวงตาบัว จะมีทางแยกซ้ายไปอำเภอไทรโยค ให้เลี้ยวซ้าย ทางหลวง 3343 (มีป้ายบอกทางไปถ้ำกระแซ) วิ่งไปตามเส้นทางหลัก ผ่านหน้าโรงพยาบาลไทรโยคแล้วเลี้ยวขวา แล้วไปข้ามทางรถไฟที่อยู่ทางซ้ายมือ จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีกที แล้ววิ่งขนานทางรถไฟไปจนสุดทาง
ตารางรถไฟที่มาจอดที่สถานีถ้ำกระแซ
* ในวันเวลาจริง เวลาในแต่ละสถานีอาจมีการคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย