ผาหินกูบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบนเทือกเขาสอยดาวใต้ เป็นที่เที่ยว unseen ของจังหวัดจันทบุรี ที่มีเส้นทางท้าทายนักผจญภัย นักเดินป่า ที่ไม่กลัวความยากลำบาก เส้นทางการเดินป่าที่ครบทุกรสชาติ บุกป่า ผ่านธารน้ำ ปีนเขา เข้าถ้ำ เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโหด ต้องใจเท่านั้นจึงจะฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดเส้นทาง เพื่อพิชิตความสวยงามแห่งขุนเขา ดูมอสสีทองในหน้าร้อน นอนนับดาว สัมผัสลมหนาว เฝ้าดูทะเลหมอก ชมแสงตะวันแรกเบิกฟ้า
ผาหินกูบ ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาสอยดาวใต้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ภายใต้การดูแลของหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
ผาหินกูบ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยได้ยินชื่อบ่อยนัก เพราะเป็นสถานที่เที่ยวที่ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชม การขึ้นชมผาหินกูบจะใช้การเดินเท้าเท่านั้น มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการขึ้น ไม่สามารถเดินทางขึ้นไปกันเองได้ จะต้องได้รับอนุญาติจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยพิทักษ์ป่า และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพื่อนำทางและดูแลความปลอดภัย หากมากันเป็นกลุ่มใหญ่ ควรจ้างลูกหาบช่วยนำสัมภาระในการทำอาหารไปด้วย
ระยะทางการเดินทางขึ้นเขาหินกูบประมาณ 7-8 กิโลเมตร ใช้เวลาอยู่ที่ 5-6 ชั่วโมง จะต้องพักค้างแรมบนยอดเขา 1 คืน ส่วนจุดหมายปลายทางนั้น รับรองคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากในการเดินเท้าขึ้นไปชม เพราะได้เห็นวิวในมุมสูง มุมกว้าง พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ หากขึ้นเขาในช่่วงหน้าหนาว ในวันที่ฟ้าเปิด จะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็น ทะเลหมอก ไหลระรอกเป็นคลื่นอยู่ในหุบเขา ที่เต็มไปด้วยป่าดิบชื้น
ผาหินกูบ อยู่บนเทือกเขาสอยดาวใต้ ที่ความสูงประมาณ 960 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นยอดเขาที่เหมือนปฏิมากรรมทางธรรมชาติที่งดงามไม่เหมือนที่ไหน บนยอดเขามีลักษณะเป็นหินแกรนิตขนาดมหึมา รูปทรงโค้งมน ผิวเกลี้ยง วางซ้อนตัวกันตามธรรมชาติ (เหมือนกับที่เขาคิชฌกูฏ) ส่วนที่เรียกกันว่า "ผาหินกูบ" นั้น มาจากหินก้อนหนึ่งบนยอดเขา มีรูปลักษณะโหนกนูนตรงกลาง และโค้งลาดลงสองด้าน คล้ายกับกูบช้าง คำว่า "กูบ" หมายถึงที่นั่งบนหลังช้าง เมื่อขึ้นไปนั่งบนยอดเขา จึงเหมือนนั่งอยู่บนหลังช้าง
เส้นทางขึ้นไปยังผาหินกูบ เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโหดอยู่เหมือนกัน เส้นทางเดินที่ไม่ชัดเจน ต้องเดินผ่านป่าหลายรูปแบบ มีช่วงที่ต้องขึ้นเขาสูงชัน ปีนป่าย คนที่ต้องการพิชิตผาหินกูบ จึงควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมกับความลำบาก และความเหนื่อยในการเดินทาง นอกจากนี้ยังควรเตรียมตัวในการเข้าป่า ที่ต้องเผชิญกับแมลง และสัตว์ป่า
สิ่งหนึ่งที่หลายคนกลัวคือ "ทาก*" ที่จะพบได้ตามป่าดิบชื้น ในช่วงหน้าฝน ทากจะค่อนข้างชุม แม้จะหมดฝนแล้ว ก็มักจะมีทากให้เห็นอยู่เสมอ และหากเดินป่าในหมดฝนแล้ว ก็ควรเตรียมยาหรือเครื่องป้องกัน เห็บลม** และแมลงอื่นๆ ให้พร้อมด้วยเช่นกัน
** เห็บลม หรือบางที่เรียกว่า แมงแดง เห็บทราย เห็บเสี้ยน เป็นเห็บขนาดเล็ก (ประมาณหัวเข็มหมุด) มีลักษณะคล้ายเห็บหมา แต่ตัวเล็กกว่า สามารถปลิวตามลมไปเกาะตามที่ต่างๆ ได้ จึงเรียกว่า "เห็บลม" พบได้ในป่าในช่วงลมโยก (ลมต้นหนาว) หมดฝนเข้าสู่หน้าแล้ง เห็บลมมักอาศัยอยู่ตามกาบของต้นเฟิร์นแห้งๆ ตามใบไม้ ขอนไม้ผุ เวลาเดินป่าอาจจะมาเกาะตามตัวโดยไม่รู้ตัว เมื่อเกาะที่ผิวหนังแล้วก็จะกัดดูดเลือดไปเรื่อยๆ ลักษณะแผลจะเป็นตุ่มแดงๆ คัน สำหรับคนที่แพ้ ก็ทำให้เป็นไข้ได้ หากโดนเห็บกัดแบบเจอตัวเป็นๆ เกาะอยู่ที่ผิว อย่าตกใจ อย่าเพิ่งดึงเห็บออกทันที เพราะจะทำให้เขี้ยวหักฝังอยู่กับผิวหนังเราได้ วิธีเอาตัวเห็บออกให้ใช้โลชั่น วาสลิน หรือยาหม่องป้ายโปะลงไปที่ตัวเห็บ เห็บจะหายใจไม่ออกคลายเขี้ยวออก แล้วค่อยเขี่ยให้หลุดไปได้โดยเขี้ยวไม่หักฝังอยู่ที่ผิวเรา หรืออาจใช้ยาเส้นชุบน้ำพอเปียกๆ ทาตรงที่โดนเห็บกัด เห็บก็จะทนกลิ่นไม่ไหว ถอนเขี้ยวหลุดไปเอง ถ้าเอาตัวเห็บออกโดยเขี้ยวยังฝังอยู่ในผิว จะคันเรื้อรัง รักษายาก แผลจะไม่ค่อยหาย แผลจากเห็บให้ใช้เบทาดีนทา
เส้นทางการเดินทางขึ้นผาหินกูบ
ทริปเดินขึ้นผาหินกูบแบ่งได้เป็น 2 วัน 1 คืน คือ
วันที่ 1 จากจุดเริ่มต้น เดินขึ้นเขาไปยังผาหินกูบ ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง
วันที่ 2 เดินลงเขา
การเดินขึ้นเขาในวันแรกนั้น เป็นการเดินตัดขึ้นเขา ตามเส้นทางนั้นสามารถแบ่งได้เป็นช่วงๆ คือ
ช่วงที่ 1 จากจุดเริ่มต้นด้านหลังที่ทำการหน่วยฯ จนถึงคลองมะเดื่อ เป็นเส้นทางไม่ชันมาก ยังไม่โหดมาก ทางเดินเป็นทางเล็กๆ แคบๆ ผ่านป่าดิบชื้น ระหว่างต้นไม้ที่รก ระเกะระกะ ต้นไม้เขียวครึ้ม บางช่วงแดดส่องแทบไม่ถึงพื้น ต้นไม้พื้นล่างมีหลากหลายชนิด บางต้นมีหนาม เช่นระกำป่า ต้นหวาย ต้องเดินอย่างระมัดระวังพอสมควร ช่วงนี้ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงมาถึงจุดพักจุดแรก ที่เป็นลำธารคลองมะเดื่อ
ช่วงที่ 2 จากลำธาร ถึงแผ่นหินรูปแปดเหลี่ยม เมื่อเดินต่อจากลำธาร ทางจะเริ่มชันขึ้นเรื่อยๆ จะรู้สึกเหมือนเหนื่อยง่าย ต้องใช้ความอึดในการเดินพอสมควร หากแบกของเยอะ จะทำให้รู้สึกหนักและเหนื่อยเร็ว จนมาถึงจุดพักที่ 2 เป็นโขดหินขนาดใหญ่ รูปแปดเหลี่ยมแบน เจ้าหน้าที่จะให้พักกินข้าวกลางวัน และเติมน้ำดื่มสำหรับการเดินทางต่อไป
บริเวณนี้มีผึ้งและแมลงค่อนข้างเยอะ ใครแพ้ผึ้งควรระมัดระวัง อาจทายา หรือฉีดยากันแมลงไว้ก่อน
ช่วงที่ 3 เส้นทางจะเริ่มโหดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการไต่ระดับความสูงชันขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ยังคงเดินในป่า มีจุดที่ต้องปีนป่าย ยกตัวเองขึ้นไปบ้าง ช่วงนี้จึงถือว่าโหดหน่อย ต้องใช้แรงกาย แรงใจค่อนข้างเยอะ
ช่วงที่ 4 ป่าไผ่ เป็นเส้นทางที่เดินผ่านเข้าไปในดงป่าไผ่บริเวณเชิงเขา มีต้นไผ่ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น ป่าไผ่เขียวล้อมรอบตัวสวยงามเหมือนฉากในหนังจีน เส้นทางยังค่อนข้างลำบากอยู่บ้าง เมื่อผ่านช่วงป่าไผ่ไป แสดงว่าจุดหมายปลายทางอยู่อีกไม่ไกล
ช่วงที่ 5 เป็นช่วงที่ต้องปีนป่ายอย่างแท้จริง มีทั้งไต่เชือก เกาะเกี่ยวรากไม้ โหนตัวด้วยเถาวัลย์ ช่วงนี้ถือว่าโหดสักหน่อย เส้นทางอาจลื่นบ้าง
ช่วงที่ 6 ลอดถ้ำ เป็นช่วงที่พ้นจากการปีนเขาขึ้นมาแล้ว จะผ่านจุดที่เหมือนถ้ำ จะเรียกว่าถ้ำก็ไม่เชิง เพราะลักษณะเหมือนหินขนาดใหญ่มหึมา 2 ก้อน ทรุดตัวมาเกยพิงกันอยู่ เกิดเป็นช่องโพรงขนาดใหญ่คล้ายถ้ำ ซึ่งต้องเดินผ่านเข้าไป ในถ้ำบางช่วงค่อนข้างมืด ต้องระวังเดินเหยียบพลาดลงร่องหิน
ช่วงที่ 7 ช่วงปีนหิน เมื่อออกมาจากถ้ำจะต้องปีนหินขึ้นไป ต้องจับรากไม้โหนตัวกันขึ้นไปด้านบน ช่วงนี้ควรใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ช่วงที่ 8 จุดพักตรงเพิงซอกหิน เป็นจุดสุดท้าย เมื่อปีนพ้นผาช่่วงสุดท้าย จะถึงจุดหมายปลายทาง เป็นหินขนาดใหญ่สองก้อนที่วางซ้อนกันอยู่ แล้วมีช่องหินที่เป็นเหมือนเพิงที่พัก วิวด้านหนึ่งมองทะลุเห็นวิวผืนป่าจากมุมสูง ได้ไกลสุดลูกหูลูกตา
ที่พักบริเวณผาหินกูบ เป็นที่พักที่อยู่ตรงซอกหิน ไม่มีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ สามารถนอนได้ประมาณ 10 กว่าคน ใช้วิธีนอนปลาทู (นอนเรียงกันบนพื้นที่ปูด้วยผ้ารอง) หรือจะในถุงนอน ผูกเปลนอนก็ได้ จุดที่เป็นผาหินกูบนี้ เป็นช่องที่สามารถเห็นวิว และลุกมาดูวิวพระอาทิตย์ขึ้นได้เลยโดยไม่ต้องเดินไปดูที่ไหน ส่วนใครที่อยากจะสัมผัสวิวแบบ 360 องศา จะต้องปีนขึ้นไปยังหินด้านบน
หินกูบ
หินกูบ อยู่บริเวณด้านบนจุดตั้งแค้มป์ ไม่ไกลจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะพาปีนขึ้นไปบนหินด้านบน จากนั้นต้องเดินบนท่อนไม้เพื่อข้ามซอกหินไปยังจุดที่เป็นหินเกลี้ยงๆ มีโหนกนูนตรงกลาง สองข้างลาดเทลงเหมือนกูบ หรือส่วนของหลังช้าง ตรงจุดนี้เป็นจุดชมวิวที่เห็นป่าได้โดยรอบ ทิศตะวันตกติดเขาคิชฌกูฏ เห็นเป็นผืนป่าหนาทึบ ขนาดใหญ่ ที่มีเรือนยอดแน่น ส่วนเวลากลางคืนจะเห็นแสงไฟจากตัวเมืองอยู่ลิบๆ จุดผาหินกูบเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงามมากอีกจุดหนึ่ง นอกจากถ่ายรูปวิวแล้ว อย่าลืมถ่ายรูป นั่งคล่อมหินให้เหมือนกับว่าได้นั่งบนกูบช้างเป็นที่ระลึกไว้ด้วย หินบริเวณนี้ไม่ลื่น แต่สำหรับคนที่กลัวความสูง อาจรู้สึกหวาดเสียว ขาสั่น ใจหวิวได้เหมือนกัน
มอสสีทอง
เป็นมอสที่ขึ้นอยู่มากบริเวณผาหินกูบ มอสจะขึ้นปกคลุมอยู่ตามผิวของหิน ช่วงหน้าฝน จะเห็นมอสเป็นสีเขียวขจีขึ้นอยู่ตามก้อนหิน เหมืิอนหินหุ้มกำมะหยี่นุ่มนิ่ม พอหมดฝน เข้าหน้าแล้ง มอสเหล่านี้จะกลายเป็นสีเหลืองทอง มีความสวยงามไปอีกแบบ
ผาหมี
เป็นยอดเขาใกล้ๆ กัน มีหินลักษณะกลม จินตนาการได้ว่าเหมือนหมีหมอบ เป็นจุดชมวิวต่อจากผาหินกูบออกไปอีกหน่อย เมื่อเราไปอยู่ตรงผาหมีแล้วมองกับมาที่จุดตั้งแค้มป์ จะเห็นภาพรวมของจุดที่ตั้งแค้มป์ ที่อยู่ซอกหินขนาดมหึมาได้อย่างชัดเจน
การเดินลงจากผาหินกูบ ใช้เส้นทางเดียวกับขาขึ้น แต่จะใช้เวลาน้อยกว่าขาขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง บางทริปอาจแวะน้ำตกอ่างเบงที่อยู่ใกล้กันด้วยก็ได้ เมื่อมาถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล สามารถอาบน้ำบริเวณหน่วยได้ก่อนกลับ
ข้อแนะนำการเดินทาง
- การขึ้นผาหินกูบจะต้องติดต่อกับหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล โทรจองการเดินทางล่วงหน้า ที่ 084-864-9357 (โทรล่วงหน้านานหน่อยยิ่งดี เพราะมักจะเต็มเร็ว)
- เส้นทางที่จะขึ้นผาหินกูบ ต้องมาขึ้นที่ บ้านทุ่งเพล อำเภอมะขาม (ไม่ใช่ที่อำเภอสอยดาว) หากเหมารถมาสด้าจากตัวเมือง ให้บอกคนขับว่ามาหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล
- ผาหินกูบ เปิดให้ขึ้นเฉพาะเสาร์ - อาทิตย์ โดยเดินขึ้นเขาเช้าวันเสาร์ และลงจากเขาวันอาทิตย์ ถ้าเป็นช่วงหน้าฝน ควรโทรสอบถามก่อนว่าเปิดให้ขึ้นไปได้หรือไม่ เพราะบางทีหินและเส้นทางจะลื่นมาก ปีนยาก หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าอันตรายเกินไป ก็อาจจะต้องปิดชั่วคราว
- การขึ้นผาหินกูบในแต่ละรอบ มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะที่พักแรมบนผา มีพื้นที่จำกัด
- หากต้องการลูกหาบ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าเพื่อการจัดหาจัดจ้างคน
- วิวบนผาหินกูบนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย แม้จะเป็นช่วงฤดูเดียวกัน บรรยากาศ และวิวทิวทัศน์บนยอดเขาในแต่ละวันอาจไม่เหมือนกัน ในวันที่ฟ้าปิด ฝนตก ลมแรง หรือมีหมอกฟุ้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ อาจจะทำให้มองไม่เห็นวิวทิวทัศน์อะไรเลย หากเป็นช่วงกำลังเข้าหน้าฝน (พฤษภาคม - มิถุนายาน) หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว (ประมาณเดือนตุลาคม) อาจได้เห็นวิวทะเลหมอกในตอนเช้า หากเป็นหน้าหนาว - หน้าร้อน ท้องฟ้าโปร่งก็จะเห็นวิวของผืนป่าเขียวขจี ตัดกับท้องฟ้าสีสดใส
- การเดินขึ้นผาหินกูบ ต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่เดินออกนอกเส้นทาง หรือไปในจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาติ เพราะอาจหลงป่า หรือเกิดอันตรายได้
- ควรเริ่มเดินจากจุดเริ่มต้นประมาณ 8-9 โมงเช้า เพราะอากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป และไม่เสียเหงื่อมากในขณะเดินป่า
- เส้นทางเดินเป็นการเดินเข้าป่าดงดิบชื้่น ควรเตรียมเครื่องป้องกัน แมลงต่างๆ เช่น ทาก เห็บลม ผึ้ง
- ควรมีสภาพร่างกายที่พร้อมกับการเดินป่า ไม่เมาค้าง ไม่อดนอน ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เป็นโรคความดัน โรคลมชัก หรือโรคหัวใจ
- บนเขาใกล้ที่พักมีแหล่งน้ำ (ที่ต่อมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ) สามารถอาบน้ำ แปรงฟันล้างหน้าได้ แต่ไม่มีห้องสุขา
- บนเขาไม่มีไฟฟ้า ควรมีไฟฉายไปด้วย อาจเอาเทียนไปด้วย แต่บางช่วงลมค่อนข้างแรง
- บนเขามีสัญญาณโทรศัพท์ หากถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์ ก็ควรนำแบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบ้งค์) ไปด้วย
การแต่งกายสำหรับการเดินป่า
- เสื้อ ควรเป็นเสื้อที่ใส่สบาย มิดชิด ไม่รุ่มร่าม ไม่อึดอัด อาจใส่เสื้อคลุมทับชั้นนอก หรือใส่เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันหนามหรือกิ่งไม้เกี่ยวตามร่างกาย
- กางเกง ควรเป็นกางเกงขายาว เบาสบาย ตัวหลวมนิดหน่อย อย่างเช่นกางเกงวอร์ม กางเกงผ้าฝ้าย ที่คล่องตัวขณะปีนป่าย ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น กางเกงยีนส์ หรือกางเกงรัดรูปจนเกินไป อาจทำให้การปีนป่ายไม่ถนัด
- ถุงเท้า หากมีถุงเท้ายาวประมาณเกือบถึงเข่า หรือเลยหัวเข่า ควรติดตัวไป สำหรับใส่ทับด้านนอกกางเกง เพื่อเป็นการป้องกันทากอีกชั้นหนึ่ง
- รองเท้า ควรเป็นรองเท้าผ้าใบ รองเท้าหุ้มข้อ หุ้มส้น หรือรองเท้าที่ใส่กระชับสบาย พื้นรองเท้าควรมีดอกยางหนา ลึก เพื่อช่วยในการเกาะเกี่ยว ไม่ลื่น ไม่ควรใส่รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง หรือรองเท้าที่มีดอกยางเรียบเกินไป เพราะอาจลื่นได้ง่าย
- หมวก เป็นหมวกแก๊ป หรือหมวกผ้าสำหรับกันแดด บางคนอาจใช้ผ้าโพก ที่สามารถใช้เป็นผ้าอเนกประสงค์สำหรับพันคอ โพกหัว เช็ดหน้าเช็ดตาได้ด้วย
- ถุงมือ หากใครมีถุงมือแบบเดินป่า หรือถุงมือช่างที่มียางเหนียวที่ฝ่ามือ ควรเอาติดไปด้วย หรือมีแค่ถุงมือธรรมดาก็ใช้ได้ เอาไว้สำหรับเวลาโหนเถาวัลย์ หรือรากไม้ เพื่อปีนขึ้น-ลง จากเขา
- หากเดินป่าช่วงหน้าแล้ง อาจต้องระวังเรื่องเห็บลม ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม ทา กย 15 หรือน้ำมันมวย ตามผิวหนังที่เปิดโล่ง เช่น ใบหู ต้นคอ แขน ข้อเท้า ข้อพับต่างๆ
- หากเดินป่าช่วงหน้าฝน ควรเตรียมเครื่องป้องกันทาก ซึ่งก็มีวิธีป้องกันได้หลายวิธี เช่น การทาผิวด้วยยาที่มีกลิ่นฉุน เช่น น้ำมันมวย น้ำมันตะไคร้ ยาหม่อง เค้าเตอร์เพน กย 15 หรือน้ำยาเส้น* จากนั้นสวมถุงเท้ายาว (เช่นถุงเท้าเตะบอล) โดยสวมถุงเท้าทับขากางเกงไปเลย หากใช้ยาฉีดพ่นกันทาก ควรใส่ถุงเท้าแล้วจึงฉีดพ่นที่ถุงเท้า รองเท้าด้วย ซื่งอาจจะต้องฉีดบ่อยๆ เพราะเวลาเดินไป กลิ่นก็จะหายไป อีกวิธีที่นิยมคือการใส่ถุงกันทาก**
** ถุงกันทาก หรือถุงเท้ากันทาก (Leech Socks) มีลักษณะเหมือนถุงเท้าขนาดใหญ่ยาว มักทำจากผ้าฝ้าย หรือใยสังเคราะห์ทอเนื้อละเอียดแน่น แบบที่ทากไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ (ราคาประมาณ 100 - 200 บาท) ก่อนใส่ถุงกันทาก อาจทาผิวด้วยยาที่มีกลิ่นฉุนก่อนด้วยก็ได้ จากนั้นก็สวมถุงกันทากทับถุงเท้าที่สวมปกติ คลุมชายขากางเกงมาจนสุด แล้วรูดปิดล็อคด้านบน จากนั้นจึงใส่รองเท้า ถุงกันทากมีทั้งขนาดสั้น (ใต้เข่า) และขนาดยาว(เหนือเข่า) แนะนำว่าแบบยาวจะทำให้เดินได้สะดวกคล่องตัวกว่า เพราะเวลาเดินนานๆ หรือปีนป่าย ถุงแบบสั้นมักจะรูดลงมาอยู่ที่ปลายเท้า ถุงแบบยาวจะมีตัวล็อค 2 ชั้น (ใต้เข่ากับเหนือเข่า) เมื่อใส่ถุงเท้ากันทากแล้ว บางคนอาจฉีดสเปรย์กันทากทับถุงด้านนอกอีกครั้งด้วยก็ได้
สัมภาระส่วนตัวที่ควรเตรียม
- เป้สำหรับใส่ของเดินป่า ควรมีน้ำหนักเบา นำเฉพาะของใช้จำเป็น ไม่ควรแบกของหนัก เพราะการเดินทางต้องขึ้นเขาสูงชัน บางช่วงมีการปีนป่าย สัมภาระจะกลายเป็นภาระ และทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก
- เสื้อกันหนาว บนผาหินกูบ ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน ลมค่อนข้างแรง กลางคืนอากาศหนาวเย็น ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาว เสื้อผ้าที่กันลม กันหนาว ผ้าห่มขึ้นไปด้วย อากาศบนผาหินกูบจะหนาวเย็นกว่าด้านล่างมาก บางครั้งมีก็ลมแรงมากด้วย
- ถ้ามีถุงนอน ควรเตรียมถุงนอนไปด้วย หรือจะเป็นเปล ก็มีที่ผูกเปลนอนได้
- หากใครถนัด ใช้ไม้เท้าเดินป่า หรือไม้ไม้เท้าค้ำยัน ติดไปด้วยก็จะช่วยให้เดินสะดวกขึ้น
- หากเดินในช่วงหน้าฝน ต้นฝน หลังฝน ควรเตรียมพลาสติกคลุมเป้ และเสื้อกันฝน ไปด้วย
- ทิชชู่เปียก ควรเตรียมไปสำหรับเวลาขับถ่ายบนเขา (ไม่มีห้องน้ำ) และควรมีถุงเล็กๆ สำหรับเก็บขยะทิชชู่ลงมาทิ้งด้านล่างด้วย
- ไฟฉาย ไฟแช็ค ทิชชู่แห้ง มีดพับ
- ยาประจำตัว และยาที่จำเป็นเช่น เบทาดีน ยาหม่อง
- ของใช้ส่วนตัว
- น้ำดื่ม 1 ขวด (มีแหล่งเติมน้ำดื่มบนเขา)
- อาหารกลางวัน 1 มื้อ (เป็นอาหารกินช่วงพัก ระหว่างทางเดินป่า) ควรใส่เป็นถุงพลาสติก พกง่ายกว่าการใส่กล่องโฟม
สิ่งของอื่นๆ ที่คณะเดินป่าควรเตรียมไป
- ทริปผาหินกูบนี้ไม่ต้องกางเต็นท์ จึงไม่ต้องเอาเต็นท์ขึ้นไป ควรเตรียมผ้าสำหรับปูพื้น เช่นพลาสติกปูพื้นสีฟ้า-ขาว กราวชีส ผ้ายาง เสื่อ
- ของสด สำหรับทำอาหารบริเวณแค้มป์ มื้อเย็น 1 มื้อ และเช้า 1 มื้อ (อุปกรณ์ครัว บนเขาอาจมีให้ยืมบ้าง ควรสอบถามจากเจ้าหน้าที่อีกครั้ง) หรืออาจซื้อเป็นอาหารแห้งสำเร็จรูป ประเภทมาม่า โจ๊กคัพ ก็ได้ คอกาแฟ อย่าลืมเอากาแฟซองไปด้วย
- น้ำสำหรับทำอาหาร ต้มน้ำร้อนชงกาแฟ
- ถุงขยะ ถุงดำ หรือถุงพลาสติก สำหรับใส่ขยะเพื่อนำลงมาทิ้งด้านล่าง
- ยารักษาโรคที่จำเป็น เช่นยาแก้แพ้ (กรณีเป็นผื่นแพ้จากต้นไม้ หรือแมลงสัตว์กัดต่อย) ยาหม่อง อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
รถยนต์
ใช้เส้นทางสายสุขุมวิท แล้วจึงแยกไปทางไปจังหวัดสระแก้ว
1 | ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) จากระยอง ให้ตรงไปทางจังหวัดตราด จนถึงแยกปากแซง |
2 | ตรงสามแยกปากแซง ให้เลี้ยวซ้ายไปทางจังหวัดสระแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 317) |
3 | จากนั้นให้ตรงตามเส้นทางจันทบุรี - สระแก้ว ไปอีกประมาณ 23 กิโลเมตร เลยอำเภอมะขามไปจนถึงช่วงโป่งโรงเซ็น พอข้ามสะพานข้ามคลองโป่งโรงเซ็นไปหน่อย จะเห็นป้ายเลี้ยวซ้ายไปที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทุ่งเพล จากนั้นจึงเลี้ยวซ้าย |
4 | เมื่อเลี้ยวมาแล้ว ให้ตรงไปอีกราว 4 กิโลเมตร จะเจอสามแยก มีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปน้ำตกอ่างเบง |
5 | จากตรงตามทางหลักไป จนเจอสามแยกอีก คราวนี้ให้เราเลี้ยวซ้าย (ไปทางวัดป่าอุทุมพร) |
6 | พอเลี้ยวมาแล้ว ให้ตรงไปจนผ่านวัดป่าอุทุมพรไป จะเจอทางแยกซ้าย ไปหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล (ผาหินกูบ) |
7 | เมื่อเลี้ยวแล้ว ตรงเข้าไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล (โทรสอบถามเส้นทางได้ที่ 084-864-9357) |
รถโดยสาร
- กรณีไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัว สามารถเหมารถมาสด้า* (รถสองแถว) จากตัวเมืองจันทน์มาส่งที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล ควรโทรติดต่อนัดหมายล่วงหน้า (ค่าใช้จ่ายคนละ 200 บาท) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
ติดต่อ 084-864-9357
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางขึ้นผาหินกูบ
- สำหรับเจ้าหน้าที่นำทาง 1,000 บาท/คน เจ้าหน้าที่ 1 คน (ดูแลนักท่องเที่ยวได้ 5 คน)
- กรณีจ้างลูกหาบ 1,000 บาท/คน (ลูกหาบ 1 คน แบบน้ำหนักได้ประมาร 40 กิโลกรัม)