ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคาม ถือเป็นปฐมบทของศูนย์ศึกษาพัฒนาแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของการพลิกฟื้นผืนดิน ที่ได้จากการศึกษา ทดลอง ทดสอบ และวิจัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่าควรจะมีพื้นที่แสดงองค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ แบบครบวงจร ให้เกษตรกรไทยได้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ซึ่งศูนย์ศึกษาฯ นี้ เปิดต้อนรับคนทุกระดับ นักท่องเที่ยว ประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจต้องการศึกษาดูงานด้านการพัฒนาในด้านต่างๆ และได้เที่ยวชมสวนรุกขชาติแบบได้ความรู้ติดตัวไปด้วย

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในตำบลเขาหินซ้อน ริมทางหลวงเส้นฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี (304) ช่วง กม.51-52 ห่างจากตัวอำเภอพนมสารคามมาประมาณ 15 กิโลเมตร  

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน สืบเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 เพื่อทรงทำพิธีเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เวลานั้นเองได้มีราษฎร 7 ราย ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินส่วนตัว ในพื้นที่เขาหินซ้อน เป็นจำนวน 264 ไร่ เพื่อสร้างพระตำหนัก แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงดำรัสขึ้นว่า  

"…ก็เลยถามผู้ที่ให้นั้น ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าจะสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น..."

วันที่ 8 สิงหาคม จึงถือเป็นวันกำเนิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ในเวลาต่อมาราษฎรได้น้อมเกล้าถวายที่ดินเพิ่มเติม ทำให้ศูนย์ศึกษาฯ มีเนื้อที่เพิ่มเติมเป็น 1,240 ไร่ และพระองค์ทรงซื้อที่ดินส่วนพระองค์ในบริเวณติดกันเพิ่มเติม เพื่อทำโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ในเนื้อที่อีกจำนวน 655 ไร่ จึงกลายเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ​ ทั้งหมด 1,895 ไร่

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงที่ราษฎรในพื้นที่เขาหินซ้อน* ได้น้อมเกล้าถวายที่ดินแด่พระองค์ท่านนั้น ที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีดินเสื่อมโทรม แห้งแล้ง เนื้อดินเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ ขาดความอุดมสมบูรณ์ ราวกับทะเลทราย ว่ากันว่าแม้แต่มันสำปะหลังที่ทนต่อความแล้งมากที่สุด ยังปลูกไม่ขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะการให้สัมปทานป่าไม้ จึงมีการตัดโค่นต้นไม้ การบุกรุกพื้นที่จากชาวบ้านเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน การปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากเกินไป จากหลายสาเหตุทำให้ดินเสื่อมสภาพ ดินจืดและกลายเป็นดินทรายในที่สุด

* แต่เดิมพื้นที่ในเขตอำเภอพนมสารคาม เคยเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่แห่งภาคตะวันออก มีความอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่าเป็น "ป่าพนมสารคาม" มีเขาหินก้อนเล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่แซมตามพื้นที่ทั่วไป จึงเรียกว่า "เขาหินซ้อน"

ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เห็นตัวอย่าง ในการปรับปรุงพื้นที่ที่เคยสูญเสียสภาพการใช้งาน พลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์แบบวิธีธรรมชาติ โดยการศึกษา และนำความรู้ วิทยาการแผนใหม่ มาปรับใช้ จนกระทั่งปัจจุบัน 3 ทศวรรษของศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน ได้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ กลายเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" (Living Natural Museum) ที่ให้ผู้คนมาเยี่ยมชมผลงาน ที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทดลอง ทดสอบ และศึกษาองค์ความรู้ด้านการเกษตร จนทำให้ความเป็นป่าธรรมชาติค่อยๆ กลับคืนมาอีกครั้ง นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาฯ ยังเป็น "ห้องสมุดขนาดใหญ่" ที่รวบรวม และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย

เนื่องจากศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนมีพื้นที่กว้างมาก จึงมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ไว้สำหรับให้เข้าชม เมื่อเข้าไปในบริเวณศูนย์ศึกษาจะได้รับความร่มรื่น จากต้นไม้นานาชนิด ราวกับสวนรุกขชาติ มีพื้นที่ให้เดินเล่น เที่ยวชม เดินดูงานในจุดต่างๆ รวมถึงมีบริเวณสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจด้วย ก่อนที่จะชมพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาฯ อันดับแรกที่แนะนำ คือ อาคารจัดแสดงนิทรรศการ เป็นการแสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ มีโมเดลจำลองการทำทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับการเที่ยวชมศูนย์ศึกษาฯ จะต้องขับรถเข้าไปในจุดต่างๆ หรือหากมาเป็นหมู่คณะ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีรถรางพานำชม พร้อมด้วยวิทยากรบรรยายส่วนต่างๆ ภายในศูนย์ศึกษาฯ​ ให้เข้าใจยิ่งขึ้น

บริเวณด้านหน้าศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน จะมีแผนที่ขนาดใหญ่ ที่ให้เห็นพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ ทั้งหมด และแบ่งเป็นจุดที่น่าสนใจใหญ่ๆ ทั้งหมด 9 จุด หรือที่เรียกว่า "9 มหามงคล" แต่ละจุดสามารถขับรถวนชมได้รอบ

1. โพศรีมหาโพธิ
เป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ที่มีอายุกว่า 36 ปี เป็นต้นโพธิ์ที่นำพันธุ์มาจากอินเดีย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้เป็นสัญลักษณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินมายังศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2523

2. ห้วยเจ็ก
เป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณตรงกลางของศูนย์ศึกษาฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาพื้นที่ เริ่มจากการขุดสระขนาดใหญ่ จากบริเวณที่เดิมเคยเป็นคลองเล็กๆ มีคนเจ็กคนจีนมาปลูกพืชผัก ถูกปรับให้เป็นแหล่งน้ำแห่งแรกของศูนย์ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2522 และให้ชื่อว่า "ห้วยเจ็ก"

3. สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน
เป็นหนึ่งในหน่วยงานของโครงการฯ​ ก่อตั้งในปี พ.ศ.2523 มีเนื้อที่ 400 ไร่ เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ป่า ไม้หายาก พรรณไม้เศรษฐกิจ และพืชสมุนไพร โดยปลูกไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน และยังเป็นการนำสมุนไพรมาใช้กับกิจกรรมการอบสมุนไพรและนวดแผนไทยภายในศูนย์ศึกษาฯ อีกด้วย

การให้บริการอบสมุนไพรแก่คนทั่วไป เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยนำสมุนไพรที่ใช้อบ 7 ชนิดได้แก่ ใบหนาดใหญ่ ใบตะไคร้หอม ใบและผลมะกรูด ใบส้มป่อย ใบเปล้าใหญ่ หัวไพล และผงการบูร นำมาทำเป็นสูตรสมุนไพรส่งเสริมสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ และทำให้ร่างกายสดชื่น โดยภายในศูนย์ศึกษาฯ มีอาคารนวดแผนไทย เป็นอาคารชั้นเดียว แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องละ 2 เตียง มีห้องน้ำ ห้องสุขา อยู่ด้านหลังอาคาร รอบอาคารตกแต่งร่มรื่น เป็นการพักผ่อนไปในตัวด้วย เปิดบริการวันเสาร์ อาทิตย์ เวลา 8.00 - 16.00 น.  

4. ศาลาเทิดพระเกียรติ
เป็นศาลาสำหรับทรงงาน และเป็นที่ตั้งโมเดลของศูนย์ฯ เมื่อปี พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมา ณ เขาหินซ้อนเป็นครั้งแรก ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงสร้างศาลาถวายเพื่อทรงงาน และเป็นจุดที่ชาวบ้านได้นำที่ดินขึ้นน้อมเกล้าถวาย จำนวน 264 ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการส่วนพระองค์อีกด้วย

5. พระตำหนักสามจั่ว
พระตำหนักสามจั่ว สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2525 เป็นศาลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงออกแบบบ้านพักรับรองด้วยพระองค์เอง เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ใต้ถุนสูง ใช้การเข้าลิ่มแบบบ้านโบราณโดยไม่มีการตอกตะปู ชั้นล่างใช้จัดแสดงพระราชกรณียกิจ ขณะทรงงานที่ศูนย์ฯ

6. พลับพลาพระราม
พลับพลาพระราม เป็นอาคารรับเสด็จ ที่ประทับแรม และอาคารทรงงาน โดยชาวพนมสารคามร่วมสร้างเพื่อน้อมเกล้าถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ในการรับเสด็จ ด้านหน้าพลับพลาจัดเป็นสวน มีต้นปาล์มแชมเปญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมโอรสาธิราช ทรงปลูกไว้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2524

7. โรงสีข้าวพระราชทาน
เป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่ใช้ภายในศูนย์ศึกษาฯ​ และรับสีข้าวโดยคิดราคาเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท โดยเริ่มรับสีข้าว ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2527 จวบจนถึงปัจจุบัน

8. หญ้าแฝก
หญ้าแฝก ถือเป็นพืชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษา และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของหญ้าแฝกที่ใช้กับการเกษตร

9. ทฤษฎีใหม่
ทฤษฎีใหม่ เป็นการชี้แนะแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบผสมผสาน โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือแหล่งน้ำ ใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลา และเก็บกักน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกตลอดทั้งปี ส่วนที่ 2 สำหรับปลูกข้าว และส่วนทึ่ 3 สำหรับปลูกพืชผสมผสาน ที่ช่วยพึ่งพิงกันได้  ประโยชน์จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้ และเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางศูนย์ศึกษาฯ ยังมีการแนะนำองค์ความรู้เพื่ออาชีพ ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น
- การปลูกผักกูดเพื่อการค้า
- การแปรรูปใบชาหม่อน
- การเพาะเห็ดนางรม
- การปลูกยางพาราในพื้นที่แห้งแล้ง
- การปลูกข้าวหอมในระบบเกษตรยั่งยืน
- หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
- การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
- การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ
- การผลิตน้ำส้มควันไม้**

** น้ำส้มควันไม้ เป็นสารป้องกันศัตรูพืชแบบธรรมชาติ ช่วยปรับปรุงดิน และเป็นตัวเริ่งปฏิกิริยาในการเจริญเติบโตของพืช กระบวนการทำน้ำส้มควันไม้ มาจากการควบแน่นของควันที่เกิดจากการเผาถ่าน ในขณะที่เผา ช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน (เรียกว่ากระบวนการคาร์บอนไนเซชั่น) เมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่นแล้ว จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ของเหลวที่ได้จะเรียกว่า "น้ำส้มควันไม้" ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดอะซิติก มีความเป็นกรดดำ มีสีน้ำตาลแดง วิธีการทำ จะนำนำ้ส้มควันไม้ที่ได้ทิ้งไว้ในภาชนะพลาสติกประมาณ 3 เดือน เก็บไว้ในที่ร่ม เมื่อนำมาสั่นสะเทือนให้ตกตะกอน จะแยกตัวเป็น 3 ชั้น คือ น้ำมันเบา น้ำส้มไม้ และน้ำมันทาร์ จากนั้นแยกน้ำส้มไม้มาใช้ประโยชน์ต่อไป
น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

ข้อแนะนำ
- การเข้าชมศูนย์ศึกษาฯ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
- ภายในศูนย์ศึกษาฯ มีกิจกรรมอบสมุนไพร และนวดแผนไทย

การเดินทาง
ห่างจากแยกพนมสารคาม            17 กิโลเมตร
ห่างจากตัวอำเภอบางคล้า            34 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา             55 กิโลเมตร

1 จากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทางที่ตรงไปทางพนมสารคาม-กบินทร์บุรี (304)
2 ตรงไปตามเส้นทางหลักเรื่อย ๆ จะผ่านแยกบางคล้า หนองปลาไหล พนมสารคาม หนองเค็ด ชำขวาง
3 เมื่อผ่านแยกชำขวางมาประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบป้ายแนะนำศูนย์ศึกษาฯ​ (เป็นป้ายสีฟ้าขนาดใหญ่ อยู่เหนือช่องทางเดินรถ) จากนั้นให้ชิดขวาเพื่อเลี้ยวขวา เข้าประตูศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนทางขวามือ

ข้อมูลการติดต่อ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน

ที่อยู่ 7 หมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 24120
โทร 038-599-105 ถึง 6
เว็บไซต์ http://www.khaohinsorn.com

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ไม่มีสถานที่ใกล้เคียง
ร้านอาหารใกล้เคียง
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com