วัดโพรงอากาศ



วัดโพรงอากาศ อยู่ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว แวะชมอุโบสถมหาเจดีย์สีทององค์สูงใหญ่ สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแปลกตาไม่เหมือนที่ไหน มองเห็นได้โดดเด่นตั้งแต่ระยะไกล ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่นำมาจากประเทศอินเดีย สำหรับผู้ที่นับถือองค์เทพ ถัดไปยังมีพระพิฆเนศปางนั่งประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การเดินทางไปวัดโพรงอากาศไม่ยาก หากมาจากมีนบุรี ถือว่าใกล้นิดเดียว ถึงก่อนเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราซะอีก

วัดโพรงอากาศ ตั้งอยู่ในตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือว่าอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มาก จะไปเที่ยววัดสมานรัตนาราม หรืออำเภอบางคล้า ก็ไปทางสายในได้เลย ไม่ต้องผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา  
 
วัดโพรงอากาศ เดิมเป็นสถานที่ของชาวบ้าน พระอาจารย์สมชาย พุทธสโร ได้เดินธุดงค์มากางกลด ในปี พ.ศ.2519 ชาวบ้านเกิดความศรัทธาจึงบริจาคที่ดินให้แก่พระอาจารย์ รวมถึงต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 48 ไร่ สร้างเป็นวัดขยายเพิ่มเติมส่วนต่างๆ ขึ้นภายหลัง อุโบสถหลังใหญ่สีทองนี้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2538 เป็นความตั้งใจของพระอาจารย์สมชาย ที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดียมาบรรจุไว้

อุโบสถมหาเจดีย์ เป็นอุโบสถหลังใหญ่มีลักษณะแปลกตา ไม่เหมือนอุโบสถที่ไหน พระอาจารย์สมชายเล่าว่า จากการเดินทางไปหลายประเทศ ได้แนวคิดมาจากทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ 3 องค์ องค์กลางเป็นพระสถูปใหญ่ ด้านข้างเป็นพระสถูปบริวาร จึงนำมาเป็นไอเดียในการสร้าง อุโบสถมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานสูงขนาดใหญ่ ฐานชั้นล่างทำเป็นใต้ถุนโล่ง เป็นส่วนของศาลาการเปรียญ ใช้ในการประกอบกิจกรรม ฟังเทศน์ ฟังธรรม กราบบูชาองค์พระ ส่วนด้านบนเป็นลานกว้างรองรับองค์เจดีย์ เจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง เป็นส่วนอุโบสถ และวิหาร ด้านข้างมีเจดีย์บริวารขนาดย่อมขนาบอยู่ 2 องค์

เมื่อเข้ามาถึงภายในบริเวณวัดโพรงอากาศ นำรถเข้ามาจอดไว้ใกล้อุโบสถได้เลย มีลานจอดสะดวกสบายกว้างขวาง จากนั้นเดินเข้ามาในส่วนแรก เป็นศาลาชั้นล่าง เป็นโถงโล่ง จะเห็นเสารองรับองค์เจดีย์มีทั้งหมดถึง 196 ต้น แต่ละต้นเป็นเสาทรงกลมขนาด 3 คนโอบ ประดับบัวหัวเสาด้วยลวดลายสวยงาม บริเวณด้านล่างนี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอก หรือที่เรียกว่า "พระอุระกะธาตุ" จากประเทศอินเดีย พระพุทธรูป 5 พี่น้อง* รูปหล่อพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และพระพุทธรูปต่างๆ เป็นบริเวณที่ให้จุดธูปเทียนบูชาองค์พระ และปิดทองได้

* พระพุทธรูป 5 พี่น้อง หมายถึง พระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าผูกติดแพลอยน้ำมาพร้อมกัน ทุกองค์เป็นพระที่พบในแม่น้ำทั้งสิ้น ได้แก่
- หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประดิษฐานอยู่ที่ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม
- หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธรวรารามวรว­ิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
- หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม
- หลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

จากชั้นล่าง จะมีบันไดทางขึ้นไปยังฐานองค์เจดีย์ที่อยู่ชั้นบน เชิงบันไดทางขึ้นลง มียักษ์ทวารบาล 2 ตน เฝ้าบันไดพญานาคอยู่ เมื่อขึ้นมาถึงชั้นบนเป็นลานโล่ง มีองค์เจดีย์สีทองขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ความกว้าง 90 เมตร สูงจากฐานถึงยอด 96 เมตร ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลองขนาดใหญ่

อุโบสถมหาเจดีย์ เป็นศิลปะที่ผสมผสานศิลปะจากที่ต่างๆ เช่นลังกา อินเดีย และแบบไทยในยุคสมัยต่างๆ เข้าด้วยกัน องค์เจดีย์มีมุขยื่่นออกมาทั้ง 4 ด้านตามแบบงานศิลปะรัตนโกสินทร์ ตัวองค์เจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำตามศิลปะลังกา ด้านบนมีบัลลังก์ และก้านฉัตร รอบก้านฉัตรเป็นเสาหาน รองรับปล้องไฉนตามศิลปะอยุธยา บริเวณเสาหาน ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด และพระพุทธรูปปางยืนความสูง 3 เมตรโดยรอบ ที่ผิวองค์ระฆังประดับด้วยราหู

มุขทั้ง 4 ที่ยื่นออกมาจากองค์เจดีย์ มีหลังคาจั่วซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลวดลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มุขแต่ละด้านยังมียักษ์ทวารบาลความสูง 6.4 เมตร ยืนเฝ้าประตูอยู่เป็นคู่ ทั้ง 4 ทิศ ซุ้มประตูด้านหลังองค์เจดีย์ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางยืนแสดงธรรม ประทับอยู่บนฐานกลีบบัว

บริเวณลานโล่งรอบองค์เจดีย์นี้ เป็นจุดที่ชมวิว ที่เห็นได้ 360 องศา โดยรอบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน เห็นเป็นท้องทุ่งนากว้าง ช่วงทำนาจะเห็นแปลงนาเขียวขจี หรือช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ก็จะได้เห็นรวงข้าวสีทองเต็มท้องทุ่ง ทำให้เจดีย์วัดโพรงอากาศ และองค์พระพิฆเนศดูโดดเด่น มองเห็นได้จากระยะไกล

องค์พระพิฆเนศ ปางนั่งประทานพร
ถัดจากบริเวณอุโบสถมหาเจดีย์ จะเป็นบึงคั่น (มีศาลาริมน้ำด้วย) จากนั้นก็จะเป็นองค์พระพิฆเนศ ปางนั่งประทานพร สร้างด้วยปูนปั้น มีขนาดสูงใหญ่มาก มีความกว้าง 19 เมตร สูง 49 เมตร (ไม่รวมฐาน) ทางวัดได้เริ่มสร้างองค์พระพิฆเนศตั้งแต่พ.ศ.2556 - 2558 ใช้เวลา 3 ปี ในการก่อสร้าง เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558

องค์พระพิฆเนศ ปางนั่งประทานพร มีลักษณะนั่งประทับบนตั่งสี่เหลี่ยมแบบสบายๆ หันหน้าตรง เท้าซ้ายพับไว้บนตั่ง ส่วนเท้าขวาห้อยลงมาด้านหน้า เท้าวางอยู่บนฐานรองรับด้านล่าง ด้านข้างมีหนูผู้เป็นบริวารถือขนมโมทกะลาดู** อยู่ข้างพระบาท องค์พระพิฆเนศ มีเนื้อเป็นสีชมพู สวมเครื่องทรงสีแดงครึ่งล่าง สวมพระมาลา (หมวก) ด้านหน้าพระมาลาเจาะเป็นช่อง ประดิษฐานองค์พระพุทธโสธรจำลอง ด้านข้างองค์พระพิฆเนศมีพระเขนย (หมอนอิง) วางรองแขนฝั่งละใบ มีงูสีดำตัวใหญ่พันอยู่รอบเอวท่านและแผ่แม่เบี้ยออกมาด้านข้าง พระหัตถ์ทั้ง 4 ถือของที่แตกต่างกัน ด้านซ้ายถือก้อนทอง และดอกบัว ส่วนด้านขวาถือขวาน พระหัตถ์ขวาด้านหน้าจับงาส่วนที่หัก แล้วหันฝ่ามือมาด้านหน้า ที่ฝ่ามือมีอักขระโอม*** เขียนไว้ด้วย

** ขนม "ลาดู" เป็นขนมอินเดียโบราณ ทำขึ้นเพื่อบูชาองค์เทพตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ส่วนผสมหลักคือแป้งถั่ว (Besan) และเนยอินเดียที่เรียกว่า กีห์ (Ghee) เป็นทรงกลม สีออกเหลืองน้ำตาล  ลาดูมีหลายประเภท เช่นเบซานลาดู (Besan Ladoo) แอตต้าลาดู (Atta Ladoo) โมทกะลาดู (Mothichoor Ladoo) เชื่อกันว่าองค์มหาเทพพิฆเนศทรงโปรดขนมลาดูประเภท "โมทะกะลาดู" มากที่สุด หากใครบูชาท่านด้วยขนมลาดู ท่านจะประทานพรให้สำเร็จสมความปรารถนา

*** โอม เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อของฮินดู ที่มาจากอักษร 3 ตัวคือ อะ อุ มะ เมื่ออ่านออกเสียงต่อเนื่องกันจึงเกิดคำว่า "โอม" (ออกเสียงยาวว่า โอ….ม) หมายถึงการเรียกขานพระนามของ 3 มหาเทพ คือพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มักจะใช้เป็นคำกล่าวขึ้นต้นขึ้นต้นเพื่อสวดมนตรา หรือทำความเคารพองค์เทพ

การขอพรต่อพระพิฆเนศอีกวิธี คือการกระซิบบอกหนู เพื่อฝากให้หนูบริวารนำพรไปบอกองค์พระพิฆเนศให้ การกระซิบก็มีเคล็ดลับ คือขณะกระซิบหูข้างหนึ่ง จะต้องปิดหูหนูอีกข้างนึงไว้ด้วย เพื่อไม่ให้พรรั่วไหล

นอกจากนี้ รอบองค์พระพิฆเนศ สร้างเป็นศาลาทรงโค้งสามารถเดินได้รอบ ด้านในมีพระพิฆเนศองค์สำริดเคลือบสีตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ อีก 32 ปาง แต่ละปางจะมีหนูคู่ใจอยู่ใกล้ๆ ตรงหนูยังเป็นที่หยอดเงินทำบุญด้วย ถัดไปด้านข้างมีจุดจำหน่ายเครื่องบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน พวงมาลัย รวมถึงเครื่องบวงสรวง บายศรี และตะกร้าผลไม้ (เช่น กล้วย สับปะรด)

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- อุโบสถมหาเจดีย์สีทอง
- พระพิฆเนศปางนั่งประทานพร

การเดินทาง
ห่างจากตลาดนครเนื่องเขต 16 กิโลเมตร
ห่างจากวัดหลวงพ่อโสธร  19 กิโลเมตร
ห่างจากวัดสมานรัตนาราม  20 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 1 มอเตอร์เวย์ (หรือบางนา-ตราด) -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> ถนนสุวินทวงศ์​ (304) -> อ.บางน้ำเปรี้ยว (365)

1 จากกรุงเทพฯ มาทางถนนบางนา-ตราด หรือ มอเตอร์เวย์ ให้เลี้ยวตามป้ายบอกทางมายังจังหวัดฉะเชิงเทรา (314)
2 ตรงตามป้ายฉะเชิงเทรามาเรื่อยๆ ผ่านหน้าโรบินสันฉะเชิงเทรา แล้วจึงไปตรงตามป้ายกรุงเทพฯ​ (304)
3 ตามป้ายกรุงเทพฯ​ จะขึ้นสะพานข้ามทางรถไฟ จากนั้นจะกลายเป็นถนนสุวินทวงศ์ (ที่จะไปมีนบุรี) ตรงมาจนกระทั่งเจอไฟแดงบอกทางเลี้ยวขวาไป อ.บางน้ำเปรี้ยว จึงเลี้ยวขวาตรงแยกนี้ (เรียกแยกสตาร์ไลท์)
4 เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว ตรงตามเส้นทางไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะมาสุดตรงสามแยกรูปตัวที (T) แยกนี้ให้เลี้ยวซ้าย (แยกบางขวัญ)
5 เมื่อเลี้ยวแล้ว ตรงไปอีกราว 3 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าวัดโพรงอากาศทางขวามือ เลี้ยวเข้าไปอีกเพียง 400 เมตรก็ถึงวัด


เส้นทางที่ 2 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา (ถนนสุวินทวงศ์) -> อ.บางน้ำเปรี้ยว (365)
เป็นเส้นทางที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด และสะดวกที่สุด เส้นทางนี้ไม่ผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา

1 เส้นทางเริ่มจากถนนสุวินทวงศ์​ (มีนบุรี) ตรงมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา
2 เมื่อเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว ก็ยังคงตรงไปเรื่อยๆ จนเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อ.บางน้ำเปรี้ยว (365 หรือ 304 เดิม) (แยกสตาร์ไลท์) จึงเลี้ยวซ้าย
** จริงๆ แล้วก่อนเข้าเขตฉะเชิงเทรา จะมีทางแยกใหญ่บอกไป อ.บางน้ำเปรี้ยว (ทางหลวง 3481) ตรงนั้นก็เลี้ยวไปวัดโพรงอากาศได้ แต่เส้นทางอาจสับสน แนะนำให้ตรงเลยแยกนั้นไปก่อน แล้วค่อยมาเลี้ยวที่แยกสตาร์ไลท์จะสะดวกกว่า
3 เมื่อเลี้ยวซ้ายตรงแยกสตาร์ไลท์มาแล้ว ตรงไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะมาสุดตรงสามแยกรูปตัวที (T) แยกนี้ให้เลี้ยวซ้าย (แยกบางขวัญ)
4 เมื่อเลี้ยวแล้ว ให้ตรงไปราว 3 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าวัดโพรงอากาศทางขวามือ จากนั้นเลี้ยวขวาไปอีก 400 เมตรก็ถึงวัด

ข้อมูลการติดต่อ วัดโพรงอากาศ

ที่อยู่ หมู่ 9 ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24150
โทร 038-581-355, 081-450-2192, 083-020-5768

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :123
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 7.5 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ตลาดโบราณนครเนื่องเขต แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นตลาดที่อยู่ในย่านชุมชนเก่าแก่มานานกว่า 140 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชมวิถีชีวิตริมคลองสองฝั่งของชาวนครเนื่องเขต ได้เห็นการค้าขายริมน้ำในแบบเดิมๆ ชมบ้านไม้โบราณ แวะซื้อ แวะชม และชิมขนมอร่อยๆ ตลาดนครเนื่องเขต เป็นตลาดที่คนไม่พลุกพล่านมาก จะมีผู้คนมาเที่ยวกันในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
ร้านอาหารใกล้เคียง
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com