วัดหงษ์ทอง เป็นวัดริมทะเลอ่าวไทย อยู่ในอำเภอบางปะกง ที่โดดเด่นคือมีพระธาตุเจดีย์ที่อยู่ในทะเลแห่งแรกของไทย ภายในประดิษฐานอรหันตธาตุนับล้านองค์ แวะชมความสวยงามขององค์เจดีย์สีทอง และโบสถ์กลางทะเล ที่เห็นวิวได้ 360 องศา วัดหงษ์ทองยังเป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติธรรม สำหรับผู้ต้องการถือศีลปฏิบัติธรรม บวชชีพราหมณ์
วัดหงษ์ทอง เป็นวัดในเขตอำเภอบางปะกง อำเภอเดียวของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ติดทะเลอ่าวไทย ทางเข้าวัดอยู่บนถนนสุขุมวิทสายเก่า (เส้นทางสายในที่ตรงไปจังหวัดสมุทรปราการ) ทางเข้าวัดจะแยกจากถนนบางนา-ตราดเข้าไปประมาณ 14 กิโลเมตร
วัดหงษ์ทอง เป็นวัดที่ก่อสร้างอยู๋ในพื้นที่ริมฝั่งอ่าวไทยบริเวณป่าชายเลน ต่อมาพื้นที่ป่าชายเลนได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะเข้าไปเรื่อยๆ จนทำให้เห็นราวกับวัดตั้งอยู่กลางทะเล เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตป่าแสมริมทะเล จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 หลวงปู่ปาน วัดคลองด่าน ได้เดินธุดงค์มาปักกลดในระแวกนี้ ชาวบ้านเกิดความศรัทธาจึงยกที่ดินให้ (ยกให้แบบปากปล่าว) ท่านจึงเริ่มตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น เมื่อหลวงปู่ปานมรณะภาพลง ภายหลังมีบริษัทเอกชนมารวบรวมซื้อที่ดิน ทำให้ที่ดินส่วนของสำนักสงฆ์ถูกขายไปด้วย ซึ่งขณะนั้นนายปราชญ์ มีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน (หรือพระครูปรีชาประภากร** เจ้าอาวาสวัดหงษ์ทองปัจจุบัน) ได้ช่วยเป็นตัวแทนชาวบ้านและสำนักสงฆ์ เจรจาขอซื้อที่ดินคืนมาได้จำนวน 21 ไร่ 2 งาน และต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2522 - 2527 ได้เปลี่ยนจากสำนักสงฆ์เป็นวัด ซึ่งเดิมตั้งใจจะตั้งชื่อวัดว่า "พระปฐมหลวงปู่ปานอุปถัมภ์" แต่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแนะนำให้ใช้ชื่อ "หงษ์ทอง" ตามชื่อคลองหงษ์ทอง**
* พระครูปรีชาประภากร พระอธิการปราชญ์ ปภากรโร (ศรนิล) เจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง เดิมชื่อ ปราชญ์ ศรนิล มีถิ่นลำเนาอยู่ในเขตบางปะกงนี่เอง เดิมทำอาชีพเกษตรกรรม ต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้มีบทบาทในการช่วยซื้อคืนพื้นที่วัดหงษ์ทองคืนมาจากบริษัทเอกชนที่ซื้อไป จนกระทั่งปี พ.ศ.2526 ท่านได้อุปสมบท และออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ นานถึง 6 ปี เมื่อกลับมาที่วัดหงษ์ทอง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้กลับมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ขณะที่รับตำแหน่ง ท่านพบว่าที่ดินวัดได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปมาก จาก 21 ไร่ เหลือให้เห็นเพียง 8 ไร่ จึงเร่งทำเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำเซาะที่ดิน ปรับปรุงเส้นทางเข้าวัด เข้าหมู่บ้าน รวมถึงออกกฏระเบียบของวัดให้เคร่งครัดขึ้น เช่น ห้ามจัดมหรสพ ห้ามพระสงฆ์เรี่ยราย ห้ามเล่นการพนัน ห้ามเสพของมึนเมาภายในวัด เป็นต้น
** คลองหงษ์ทองนั้น ท่านพระครูปรีชาประภากร เล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อคลองว่า แต่เดิม มียายทองปลูกบ้านอยู่ในเขตป่าแสม แล้วขุดคลองไว้ จึงเรียกชื่อคลองว่า คลองยายทอง ต่อมาได้ทำหัวคันกั้นน้ำเค็มไว้ด้วย จึงเรียกว่าคลองหัวนางทอง จนเพี้ยนมาเป็นคลองหงษ์ทอง
เมื่อเข้ามาถึงบริเวณวัด ด้านนอกเป็นลานโล่งกว้าง จอดรถได้ทั้งซ้ายและขวา จากนั้นจะต้องเดินเข้าไปด้านใน ช่วงแรกจะเห็นเจดีย์สีทององค์ใหญ่องค์หนึ่ง แต่องค์นี้จะยังไม่ใช่พระธาตุคงคามหาเจดีย์ ซึ่งต้องเดินต่อไปจนถึงทะเลเสียก่อน เมื่อเดินเข้าไปเรื่อยๆ จะพบกับอาคารหลังแรก เป็นศูนย์พัฒนาจิต ศาลาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ศรนิลอนุสรณ์ ที่สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2527 - 2541 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นสถานที่อบรมกรรมฐาน และการปฏิบัติสำหรับผู้ที่มาบวชเนกขัมมะ (บวชชีพราหมณ์ ถือศีล 8)
เมื่อผ่านศาลาปฏิบัติธรรมเข้าไปอีก จะมีสะพานทางเดินต่อไปยังพระมหาเจดีย์ (ยาวประมาณ 200 เมตร) ทางเข้าช่วงแรกทำเป็นเป็นซุ้มพญานาค เป็นสะพานปูนที่หัวสะพานทำเป็นรูปพญานาค 9 เศียร มีลำตัวทอดยาวเป็นราวสะพาน 2 ข้าง ต่อจากนั้นก็จะเป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุมเหมือนศาลา ยาวตลอดแนวไปจนถึงอาคารพระธาตุคงคามหาเจดีย์ และโบสถ์กลางน้ำ
ตามศาลาทางเดินนี้ ทางวัดจัดวางเก้าอี้ยาวเรียงไว้ให้ได้นั่งพัก ตรงชายคา มีผู้มีจิตศรัทธานำกระดิ่งทองเหลืองใบเล็ก ที่ผูกไว้กับใบโพธิ์สีทอง เขียนชื่อ แขวนไว้ตามรายทางเป็นจำนวนมาก เมื่อกระดิ่งต้องลม เกิดเสียงกังวาลใส เป็นจุดที่หลายคนหยุดนั่งพัก รับลม ชมวิวทะเล และฟังเสียงกระดิ่งบรรเลงขับกล่อมจิตใจให้สงบลง
ระหว่างสะพานทางเดินเส้นนี้ ยังมีเส้นทางแยกเชื่อมต่อไปยังโรงเจ และใกล้กัน มีทางเชื่อมแยกออกไปยังกลุ่มรูปปั้นตัวละครวรรณคดีไทย จากเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้งบนพื้นเลน มีตัวละครเด่นๆ ได้แก่ พระฤาษี ผีเสื้อสมุทร พระอภัยมณี นางเงือก และสุดสาครกับม้านิลมังกร โดยรอบรูปปั้น มีทางเดินเป็นสะพานไม้ ให้เดินชมได้รอบทิศ มีราวกั้นโดยตลอด เดินได้สะดวก อาจจะร้อนสักหน่อย เพราะตั้งอยู่กลางแจ้ง แต่ก็เป็นจุดที่เหมาะกับนำเด็กๆ มาชม จุดนี้เวลาน้ำขึ้นเต็ม จะเห็นนางผีเสื้อสมุทรโผล่พ้นน้ำมาเพียงครึ่งตัว ทำให้รู้สึกราวกับโผล่มาจากกลางทะเลจริงๆ
พระธาตุคงคามหาเจดีย์
เมื่อเดินมาจนสุดสะพานทางเดิน จะเป็นอาคาร "พระธาตุคงคามหาเจดีย์ปรีชาประภากร ปราชญ์ ศรนิลอนุสรณ์" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม 2 ชั้น มีลักษณะเป็นฐานรองรับองค์พระธาตุเจดีย์ที่อยู่ชั้นบนสุด
ชั้น 1 ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง เป็นองค์ประธาน และพระพุทธรูปอื่นๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ หลวงพ่อโสธรองค์จำลอง เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ไกล เดินทางไปนมัสการองค์จริงไม่สะดวก ได้น้อมระลึกถึงพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวแปดริ้ว ภายในอาคาชั้นล่างนี้ มีจิตรกรรมฝาผนังที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทยและจีน เช่นประตูทางเข้าตัวอาคาร มีภาพวาดทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังบางส่วนเป็นภาพเขียนแบบจีน และรูปพระอรหันต์ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีน นอกจากนี้พื้นที่ชั้นล่าง ยังจัดให้เป็นจุดที่ได้ตักบาตรพระ 108 องค์ เพื่อเพิ่มบุญเสริมบารมีด้วย
ในชั้นล่างนี้หากเดินวนออกมานอกตัวอาคารทางฝั่งริมทะเล จะมีอนุสาวรีย์ของกรมหลวงชุมพรเขตบวรศักดิ์ ขนาดเท่าองค์จริง ในท่ายืนถือหมวก หันหน้าออกไปยังทะเล
ชั้น 2 เมื่อขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคาร จะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตจำลอง (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) มีองค์สีเขียวเข้ม แต่มีขนาดขยายใหญ่กว่าองค์จริงมาก และมีหุ่นขี้ผึ้งของเกจิอาจารย์ต่างๆ ผนังด้านข้างประดับด้วย พระบรมสาทิศลักษณ์ของแต่ละรัชกาล บริเวณชั้นสองนี้สามารถออกไปเดินเล่นชมวิวที่ระเบียงรอบอาคารได้ มองเห็นวิวทะเลกว้าง เป็นชั้นที่ลมโกรก เย็นสบาย มีความสงบเงียบ จึงมีผู้คนมาเดินจงกลม และนั่งสมาธิกันเป็นประจำ
ชั้น 3 เป็นชั้นบนสุด มีลักษณะเหมือนชั้นดาดฟ้าของอาคาร ตรงกลางมีองค์พระธาตุเจดีย์สีทอง ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ และรั้วระเบียง ที่มีสถูปเรียงรายในแนวเดียวกับระเบียง พระธาตุคงคามหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบระฆังคว่ำ เหนือองค์เจดีย์ เป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลียอด เม็ดน้ำค้าง และยอดฉัตร องค์เจดีย์มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ เหนือซุ้มประตู ประดับครุฑ ซุ้มที่หันออกไปยังทะเล ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย (นั่ง) อยู่ในอิริยาบทประทับนั่งขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันออกไปด้านหน้า แบบเดียวกันกับปางห้ามสมุทร นอกจากนี้ที่ฐานเจดีย์ ยังมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ วางอยู่โดยรอบ
ภายในเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจำนวนมาก** วางอยู่ในตู้กระจกตรงกลาง มองเห็นได้ชัดเจน เป็นพระธาตุที่ท่านพระครูปรีชาประภากรได้มาจากที่ต่างๆ ผนังด้านใน และเพดานพระเจดีย์ เป็นภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ และหมู่เทวดา ในชั้นนี้นอกจากจะได้กราบสักการะพระธาตุแล้ว บริเวณลานด้านนอกยังเป็นจุดชมวิวที่สวยมาก มองเห็นได้ 360 องศา
** พระบรมสารีริกธาตุ เป็นคำกล่าวถึงอัฐิขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคำว่า "พระธาตุ" และ "อรหันตธาตุ" เป็นอัฐิของพระอรหันต์ และพระสงฆ์สาวก
โบสถ์กลางทะเล
โบสถ์กลางทะเล ตั้งอยู่ถัดจากพระธาตุคงคามหาเจดีย์ มีทางเข้าออกเชื่อมต่อกับบริเวณโบสถ์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างแบบไทย ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รอบโบสถ์มีลานประทักษิณ จัดวางซุ้มที่นั่งไว้ให้ชมธรรมชาติป่าริมชายฝั่ง ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระประธาน
นอกจากนี้ทางวัดยังมีโครงการสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลก อาคารฮวงซุ้ย ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการส่งเสริมคุณธรรม
ข้อแนะนำ
- ควรมาเที่ยวชมในช่วงเช้า แดดไม่ร้อนมาก และถ่ายรูปได้ไม่ย้อนแสง
- ตอนเย็นเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก
- ก่อนทางเข้าวัด บริเวณลานจอดรถ มีร้านค้าชุมชน ขายของกินเล่น กาแฟ ของฝาก ของทะเลแห้ง หาซื้อเป็นของฝากกลับบ้านได้
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
- พระธาตุคงคามหาเจดีย์
- โบสถ์กลางน้ำ
- อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ
- กลุ่มรูปปั้นตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี
การเดินทาง
ห่างจากวัดหลวงพ่อโสธร 36 กิโลเมตร
ห่างจากแยกบางนา 42 กิโลเมตร
ห่างจากสถานตากอากาศบางปู (สมุทรปราการ) 26 กิโลเมตร
ห่างจากเมืองโบราณ (สมุทรปราการ) 32 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 1 เส้นบางนา-ตราด (บูรพาวิถี)-> สมุทรปราการ (3)
1 | หากใช้เส้นบางนา-ตราด จากกรุงเทพฯ ตรงไปเรื่อยๆ จากนั้นออกตามป้ายบอกทางไปจังหวัดสมุทรปราการ ** หากใช้เส้นบูรพาวิถี ให้ลงจากทางพิเศษตามป้ายบางปะกง/ฉะเชิงเทราแล้ว วนซ้ายลอดใต้สะพานไปทางสมุทรปราการ (3) |
2 | เมื่อวนรถออกจากถนนสายบางนา-ตราดแล้ว พอถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้าย แล้วตรงตามเส้นทางไปจังหวัดสมุทรปราการ (3) อีก 14 กิโลเมตร |
3 | จากนั้นจะเห็นทางเข้าวัดหงษ์ทองทางซ้ายมือ (ทางเข้ามีสัญลักษณ์หงษ์ทอง) เลี้ยวเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร จะเป็นลานจอดรถ และจะต้องเดินต่อเข้าไปยังมหาเจดีย์ ที่อยู่กลางทะเล |
เส้นทางที่ 2 มอเตอร์เวย์ -> บางปะกง-ฉะเชิงเทรา (314) -> สมุทรปราการ (3)
1 | หากใช้เส้นทางจากมอเตอร์เวย์ ให้ออกจากมอเตอร์เวย์ ตามป้ายบางปะกง (314) |
2 | เมื่อลงจากมอเตอร์เวย์แล้ว ให้ตรงตามเส้นทางไปยังจังหวัดสมุทรปราการ แล้วตรงไปตามเส้นทางตลอด ลอดเส้นบางนา-ตราด เข้าสู่เส้นสุขุมวิทสายเก่า (3) |
3 | จากนั้น จะเห็นทางเข้าวัดหงษ์ทองทางซ้ายมือ (ทางเข้ามีสัญลักษณ์หงษ์ทอง) เลี้ยวเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร |
ข้อมูลการติดต่อ วัดหงษ์ทอง ฉะเชิงเทรา
ที่อยู่ หมู่ 9 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร 038-528-367, 038-090-099, 083-294-3370
เว็บไซต์ http://www.wathongthong.com/
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/wathongthong
เวลาเปิด
6.00 - 18.00 น.