น้ำตกอ่างฤาไน (น้ำตกบ่อทอง)



น้ำตกอ่างฤาไน หรือน้ำตกบ่อทอง อยู่ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติเชิงนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่า มีต้นไม้ และพืชพรรณหนาแน่นมาก เหมาะกับผู้มีใจเป็นนักอนุรักษ์ รักธรรมชาติ ชอบผจญภัย เดินป่า (อาจไม่เหมาะกับเด็กๆ) ตัวน้ำตกซ่อนอยู่กลางป่าค่อนข้างลึก เป็นสถานที่ไม่ได้จัดเป็นที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ การเดินทางอาจมีบางช่วงที่เส้นทางค่อนข้างลำบาก เป็นถนนลูกรัง ควรใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ นอกจากนี้ควรติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไปเที่ยวในบริเวณตัวน้ำตก

น้ำตกอ่างฤาไน อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อยู่ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง ในเขตอำเภอท่าตะเกียบ ตามแนวเส้นทางหลวง 3259 (ทางเลี้ยวเข้าน้ำตกอยู่ตรงทางบ้านหนองคอก ก่อนถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เดิมเคยเรียกว่าป่าพนมสารคามที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี เป็นป่าที่ได้รับการอนุรักษ์ ดูแลให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม - สียัด ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2520 โดยมีเนื้อที่ 67,562.5 ไร่ ต่อมาบริเวณโดยรอบเกิดความเสื่อมโทรม ถูกบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น จึงได้มีการเสนอให้เพิ่มเติมพื้นที่การดูแล อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่บุกรุก และประกาศขยายพื้นที่ไปอีกกว่า 5 แสนไร่ จนปัจจุบันมีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 643,750 ไร่ ประกาศไว้เมื่อปี พ.ศ.2535 โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์ป่าทั้งหมด 16 หน่วย รวมถึงยังมีหน่วยงานอื่นๆ อยู่ในพื้นที่ด้วย เช่น สวนพฤกษศาสตร์ ​100 ปี กรมป่าไม้ สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา หน่วยจัดการต้นน้ำ และสถานีควบคุมไฟป่า

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ทางทิศตะวันออก กินพื้นที่ชายขอบจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีแนวภูเขากั้นเขตแดนกับจังหวัดชลบุรี ส่วนทางใต้เป็นแนวป่าผืนใหญ่ต่อเนื่องไปยังป่าตอนบนของจังหวัดจันทบุรีที่เป็นยอดเขาสูง คือ เขาสิบห้าชั้น และต่อเนื่องไปยังเขาสอยดาว

ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญหลักๆ หลายสาย เช่น ต้นน้ำจากแควระบม - สียัด ที่ไหลไปทางทิศตะวันตก ลงสู่แม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบางคล้า (บริเวณพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ต้นน้ำจากเขาสิบห้าชั้น ไหลไปรวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี ไปยังจังหวัดจันทบุรี และต้นน้ำจากเทือกเขาใหญ่ ไหลไปออกทะเลที่จังหวัดระยองเป็นต้น

ลักษณะของป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หรือป่าตะวันออก เป็นป่าดงดิบลุ่มต่ำ ลักษณะป่าดิบแล้งที่มีที่ราบทางตอนบนของพื้นที่ ประกอบกับตั้งอยู่ในเขตที่มีลมมรสุมพัดผ่าน ที่มีฝนตกชุกเหมือนกับทางภาคใต้ จึงทำให้เกิดสังคมพืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดเป็นระบบนิเวศแบบภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ต้นไม้เด่นๆ ที่พบไม้ยืนต้นเรือนยอดชั้นบนมี ไม้มะค่าโมง ยางนา ประดู่ งิ้วป่า กางขี้มอด กระบก สมอภิเภก ตะคร้อ ตะเคียน ตะแบก ต้นสมพง* ผลไม้ป่า เช่นสีระมัน(ลิ้นจี่ป่า) มังคุดป่า (เวลาสุกเปลือกสีเหลืองๆ) มะกอกป่า กระท้อน คอแลน มีไม้พื้นล่าง จำพวกหวาย เร่ว ไม้ประเภทว่าน เช่นว่านเพชรหึง** ว่านช้างร้อง***

* ต้นสมพง เป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ สามารถสูงใหญ่ได้ขนาดหลายคนโอบ หรือจนแทบมองไม่เห็นยอด มักจะมีรากพูพอนเป็นปีกกว้าง หรือมีรากเลื้อยไปในที่ต่างๆ เช่นต้นสมพงที่ขึ้นบนปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา มีรากครอบลงมาคลุมตัวปราสาทไว้

** ว่านเพชรหึง เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีดอกสีเหลือง แต้มลายสีน้ำตาลคล้ายลายเสือ แม้จะมีดอกเหมือนกล้วยไม้ แต่ที่เรียกว่า "ว่าน" เพราะมีสรรพคุณทางยา นำมาดองเหล้า ช่วยขับลม บำรุงร่างกาย แก้ไอ ผื่นคันน้ำเหลือง ชื่อว่านเพชรหึงนั้นมาจากคำที่ใช้เรียกลมพายุที่รุนแรงว่า "ลมเพชรหึง" เมื่อลมพัดมา ก้านดอกจะส่ายไปมา เกิดเสียงคล้ายจุดประทัด แล้วดอกว่านก็จะหายไปพร้อมพายุ

*** ว่านช้างร้อง หรือหานช้างร้อง หรือตำแยช้าง เป็นไม้พื้นล่างที่มีพิษ มีลักษณะคล้ายใบเมเปิ้ล แต่มีขนและหนามอยู่ใต้ใบ หากสัมผัสผิวกาย ทำให้คัน เจ็บปวด ปวดแสบปวดร้อนมาก ถ้ารักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้เป็นแผลเหวอะหวะได้ เป็นพืชที่คนเดินป่าควรระวัง

สำหรับสัตว์ป่าที่จะพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตั้งแต่สัตว์ใหญ่อย่าง Big Three คือ ช้างป่า (มีราว 200 - 300 ตัว) วัวแดง วัวกระทิง สัตว์ป่าขนาดกลางและเล็ก เช่น เก้ง ลิง ชะนีมงกุฏ พญากระรอกดำ กระรอกหลากสี สัตว์ปีกและนกต่างๆ เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง นกเงือก เหยี่ยวขวา นกแต้วแล้ว นกกระติ๊ดขี้หมู นกเขาใหญ่ นกเอี้ยงสาริกา นกปรอดสวน สัตว์เลื้อยคลานที่พบ เช่นงู จิ้งเหลน ตะกวด ตะกอง หรือตัวลั้ง และยังเคยพบจระเข้น้ำจืดอีกด้วย ส่วนสัตว์อื่นๆ ที่พบมี เขียด ปาด กบ อึ่งอ่าง ปลา แมลง ผีเสื้อ ด้วง กว่าง เป็นต้น

ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จะมีสำนักงานสำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่ มีพื้นที่ส่วนที่จัดให้เป็นลานกางเต็นท์ บ้านพัก (บ้านพักต้องทำหนังสือขออนุญาตก่อน) การเข้าพักควรติดต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ห่างจากเขตสำนักงานของเจ้าหน้าที่ไปไม่ไกล มีบึงกว้าง และมีหอคอยดูสัตว์ สำหรับขึ้นห้างรอดูช้าง ดูนก จึงเป็นเขตเหมาะที่จะเที่ยวแบบ "ค่ำดูช้าง ดึกดูดาว เช้าดูนก"

เส้นทางเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีถนนทางหลวง 3259* ตัดข้ามจังหวัด ในระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัดตรงผ่านป่าออกไปยังจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเส้นทางนี้จะมีเวลาเปิด-ปิดเส้นทาง เพื่อให้สัตว์ป่าได้เดินผ่านได้ในช่วงเวลากลางคืน

* ทางหลวงหมายเลข 3259 หรือ เส้นวังน้ำเย็น-ท่าตะเกียบ ในช่วง กม.15 - กม.30 เป็นเส้นทางผ่านเข้าไปในป่า เพื่อสะดวกในการขนส่งสินค้าทางการเกษตร อนุญาตให้เข้าออกได้ในช่วงกลางวัน และปิดการใช้งานในเวลากลางคืน ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน ปิดระหว่างเวลา 21.00 - 5.00 น. และช่วงเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ปิดระหว่างเวลา 18.00 - 6.00 น.

น้ำตกอ่างฤาไน หรือน้ำตกบ่อทอง
น้ำตกอ่างฤาไน เป็นหนึ่งในสถานที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน (ใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง) น้ำตกอยู่ท่ามกลางป่าที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ระหว่างทางยังได้ชมนกชนิดต่างๆ อาจได้เห็นสัตว์ป่าหายาก พระเอกของบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน อย่าง ไก่ฟ้าพญาลอ** การเดินทางไปยังน้ำตกค่อนข้างวิบาก รอบน้ำตกเป็นป่า ค่อนข้างเปลี่ยว ไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เหมาะกับผู้ที่ชอบผจญภัย ชอบเดินป่า รักธรรมชาติ ผู้ที่เข้าไปยังตัวน้ำตกควรไปเป็นกลุ่ม มีเพื่อนไปด้วย ไม่ควรเข้าไปตามลำพัง และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าพื้นที่ทุกครั้ง

** ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีแนวโน้มจะสูญพันธ์ุ นับเป็นไก่ฟ้าที่มีความสวยงามที่สุด
มีขนาดกลางๆ สังเกตง่ายๆ คือมีลำตัวด้านบน คอ อก และปีกเป็นสีเทา ที่หน้า (ตัวผู้) มีหน้ากากสีแดงสด บนหัวมีขนแตกเป็นพุ่ม รอบคางมีขนสีดำ แข้งสีแดง ไม่มีเดือย

การเดินทางไปยังน้ำตกอ่างฤาไน จะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3259 จนถึงบ้านหนองคอก จากนั้นจะมีป้ายบอกเลี้ยวไปยังน้ำตกอ่างฤาไน เมื่อเลี้ยวไปจะเป็นทางหลวงชนบท 4008 เส้นทางตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน เข้าไปราว 12 กิโลเมตร ต่อจากนั้นจะเป็นทางลูกรัง (อีกประมาณ 14 กิโลมตร) ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าหลุมจังหวัด ไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง และจากหน่วยฯ จะต้องไปต่ออีก 2 กิโลเมตร และเดินเท้าอีกราว 200 เมตร จึงจะถึงตัวน้ำตก

ลักษณะของน้ำตกอ่างฤาไน เป็นน้ำตกชั้นเดียว มีขนาดของน้ำตกไม่ใหญ่โตมาก มีสายน้ำพุ่งตกจากผาหินสูงกว่า 10 เมตร ทิ้งดิ่งลงมายังโขดหินด้านล่าง สามารถยืนเล่นสายน้ำที่ตกจากผาหินได้ เมื่อน้ำตกลงมาจะไหลซอกซอนไปตามซอกหิน ไม่มีแอ่งน้ำใหญ่ให้แหวกว่าย ลักษณะพื้นที่โดยรอบน้ำตก ยังคงเป็นป่าดิบ มีต้นไม้ใหญ่น้อย นานาพรรณ ต้นน้ำจากเขาอ่างฤาไนนี้ จะไหลต่อไปสู่คลองตะเกา สนามชัยเขต และลงสู่แม่น้ำบางปะกง ในเขตอำเภอพนมสารคาม

ข้อแนะนำ

  • น้ำตกอ่างฤาไน เป็นน้ำตกที่ไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยทั่วไป การเดินทางค่อนข้างลำบาก มีการเดินป่า และปีนป่ายอาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ
  • เป็นแหล่งที่เหมาะกับการมาดูนก และศึกษาสัตว์ป่า
  • ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเที่ยวชมธรรมชาติ และมาเที่ยวน้ำตก คือ เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
  • เพื่อความปลอดภัย ก่อนเข้าไปถึงยังตัวน้ำตก ควรแจ้งหรือสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง
  • ในช่วงฤดูหนาว อากาศโดยรอบค่อนข้างเย็น และน้ำตกจะเย็นมาก ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
  • ในบริเวณน้ำตกยังเป็นป่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ บ้านพัก หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ
  • เส้นทางสู่น้ำตกเป็นถนนลูกรัง ค่อนข้างออฟโรด อาจมีต้นไม้ กิ่งไม้ กีดขวางบ้าง ควรใช้รถกระบะ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ มอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน
  • เนื่องจากบริเวณโดยรอบยังคงเป็นป่าดิบ บางช่วงอาจมียุง แมลง หรือทาก ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม มียาหรือสเปรย์กันแมลงติดตัวไปด้วย
  • ระหว่างทางไปยังน้ำตก อาจได้พบเห็นสัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า เก้ง กวาง หรือร่องรอยของสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง
  • สามารถพักค้างคืนที่บ้านพัก หรือกางเต็นท์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 15 วัน กับกรมป่าไม้ และได้รับการอนุญาตก่อนเข้าพัก

สิ่งที่น่าสนใจภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
- หอส่องสัตว์ เป็นหอคอยที่ตั้งอยู่ริมบึง สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชมนก สัตว์ป่าบางชนิดที่ออกมาจากแนวป่า เช่นช้าง  
- น้ำตกอ่างฤาไน หรือน้ำตกบ่อทอง อยู่ในเขตท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
- น้ำตกเขาตะกรุบ อยู่ในเขตท้องที่จังหวัดสระแก้ว
- น้ำตกอ่างหนาม อยู่ในเขตท้องที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

การเดินทาง
ห่างจากตัวอำเภอท่าตะเกียบ  30   กิโลเมตร
ห่างจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด  28   กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา  112 กิโลเมตร

โดยรถยนต์

1 หากมาจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ให้ใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม (304) ตรงตามเส้นทางหลักมาเรื่อยๆ ผ่านแยกวัดสมานฯ และแยกบางคล้า จากนั้นแยกไฟแดงถัดไป (แยกหนองปลาตะเพียน) จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไป อ.แปลงยาว (3551) จึงเลี้ยวขวา
2 เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว ตรงไปอีกเกือบ 10 กิโลเมตร จนเห็นป้ายใหญ่ๆ ทางขวามือ เขียนว่า “นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้” ตรงนี้จะมีแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย
3 เมื่อเลี้ยวมาไม่ไกลนัก ถนนจะทะลุออกตรงแยกเกตเวย์ แยกนี้เลี้ยวซ้ายได้เลย
4 จากนั้นตรงตามป้ายบอกทางไปกบินทร์บุรี (เส้น 331) ไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 12 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงแยกใหญ่ (แยกนาน้อย) มีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไป อ.สนามชัยเขต (3076) จึงเลี้ยวขวา
5 เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว จะเป็นถนนเข้าสู่ตัวอำเภอสนามชัยเขต ให้ตรงผ่านตัวเมืองไป (ผ่านตลาดโลตัส สถานีตำรวจ ศูนย์โตโยต้า) ถัดจากศูนย์โตโยต้ามาสักระยะ จะมีป้ายบอกทางแยกขวาไป อ.ท่าตะเกียบ (มีป้ายไปอ่างเก็บน้ำคลองสียัด) ตรงแยกนี้เลี้ยวขวา (เป็นแยกรูปรูปตัววาย (Y) อยู่ตรงโค้งพอดี)
6 เมื่อแยกขวามาแล้ว จะเป็นถนนเลนสวน จากนี้ตรงไปจะเป็นถนนเส้น 3259 (ถนนเข้าสู่ท่าตะเกียบ)
7 ตรงตามเส้นทางหลักไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 58 กิโลเมตร (ผ่านตัวอำเภอท่าตะเกียบ ศูนย์ราชการอำเภอท่าตะเกียบ อบต.คลองตะเกรา ทางเข้าอ่างเก็บน้ำคลองสียัด)
8 หลังจากผ่านทางเข้าอ่างเก็บน้ำมาสักพัก จะเห็นทางเข้าโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 จากนั้นจะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปน้ำตกอ่างฤาไน (เข้าไปอีก 12 กิโลเมตร)
9 เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว จะเป็นทางหลวงชนบท 4008 จากนั้นตรงตามเส้นทางไปจนถึงหน่วยพิทักษ์น้ำตกบ่อทอง (ทางเข้าสู่น้ำตกอ่างฤาไน)

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่อยู่ สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตู้ปณ.4 อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
โทร 038-502-001 หรือสายด่วน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1362

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :123

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ไม่มีสถานที่ใกล้เคียง
ร้านอาหารใกล้เคียง
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com