เกาะมันในเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเกาะเสม็ด และใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะมัน มีเนื้อที่ประมาณ 131 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งมากที่สุด ห่างจากแหลมแม่พิมพ์ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากแหลมแม่พิมพ์ประมาณ 30 นาที เกาะนี้นักท่องเที่ยวสามารถแวะเยี่ยมชมสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เล่นน้ำ เดินเที่ยวรอบเกาะเพื่อศึกษาธรรมชาติ และชมปะการังรอบเกาะได้ แต่ไม่อนุญาติให้พักค้างคืนบนเกาะได้
เกาะมันใน เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการนี้เริ่มดำเนินการ โดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยว่าเต่าทะเลไทยใกล้จะสูญพันธุ์ และหาแหล่งธรรมชาติในการเพาะพันธุ์ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2522 พระองค์จึงทรงพระราชทานเกาะมันใน ที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในบริเวณอ่าวไทย โดยมีชื่อโครงการว่า “โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล” ภายใต้การดูแลของกรมประมง และกองทัพเรือ จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ และขยายพันธุ์เต่าทะเล นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เต่าตนุ และเต่ากระ เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก” ดูแลโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ มีอาคารพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล ที่จัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะการดำรงชีวิต แหล่งที่อยู่อาศัย และชีวิตความเป็นอยู่ของเต่าทะเล นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเต่าทะเลแต่ละชนิดสตาร์ฟไว้ให้ดูด้วย เช่น เต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ที่พบในบริเวณเกาะมันใน
บริเวณนอกตัวอาคาร แนวหาด และโดยรอบเกาะ มีโรงเพาะฟักไข่เต่าทะเล บ่อเต่าที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ บ่อพักฟื้นเต่าทะเลหลายชนิด เช่นเต่าหญ้า เต่ากระ เต่าตนุ บ่ออนุบาลเต่า ที่เป็นบ่อที่ปลอดเชื้อ
ธรรมชาติของเต่าทะเล เมื่อวางไข่ที่บริเวณชายหาดแล้ว แม่เต่าก็จะปล่อยให้ลูกเต่าฟักไข่แล้วกลับสู่ทะเลเอง โดยไม่ต้องดูแล ทางศูนย์วิจัยฯ จะนำไข่จำนวนครึ่งหนึ่งมาฟักในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เพราะไข่เต่าที่ฟักเองตามธรรมชาติมักจะได้เพศเมียเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเมืองไทยมีอากาศค่อนข้างร้อน เมื่อนำบางส่วนมาฟักในห้องควบคุมอุณหภูมิ ก็จะได้เต่าเพศผู้ด้วย จากนั้นก็จะนำมาเลี้ยงให้เติบโต แข็งแรง ในบ่ออนุบาลปลอดเชื้อ โดยแยกบ่อตามอายุของเต่าแต่ละเดือน เมื่อเลี้ยงจนอายุครบ 1 ปี แล้วจึงจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ทางตอนใต้ของเกาะ ห่างจากศูนย์วิจัยฯ ประมาณ 200 เมตร ถูกจัดให้เป็นคอกเต่าทะเลธรรมชาติ มีพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดและในทะเล เพื่อเป็นเขตที่ให้พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เต่าทะเล สามารถใช้ชีวิตอิสระ เป็นแหล่งขยายพันธุ์ที่ปลอดภัย