วัดสาขลา

ทำบุญ สักการะหลวงพ่อโต พระปรางค์เอียง



วัดสาขลา วัดเก่าแก่ศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านสาขลา ตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นสถานที่เที่ยวชม พักผ่อน ได้ความรู้ ชมพระปรางค์เอน กราบสักการะหลวงพ่อโต รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของวัดผ่านพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ชมวัตถุโบราณมากมาย จากนั้นเดินช้อปของฝากจากตลาดชุมชน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นตำรับ "กุ้งเหยียด" หนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร การเดินทางมาวัดไม่ยาก รถยนต์เข้าได้ไม่ลำบาก และมีรถประจำทางเข้าถึง

วัดสาขลา ตั้งอยู่บริเวณบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นเส้นทางก่อนที่จะถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า ให้เลี้ยวเข้าทางไป อบต.แหลมฟ้าผ่า จากนั้นตรงไปจนสุดทางประมาณ 9 กิโลเมตรก็ถึง หากใครไม่มีรถส่วนตัว ก็นั่งรถเมล์มาลงที่พระสมุทรเจดีย์ แล้วต่อรถสองแถวไปถึงวัดสาขลาเลย

บ้านสาขลา เดิมมีชื่อว่า บ้านสาวกล้า เป็นชื่อตามคำบอกเล่าว่า ในสมัยสงครามเก้าทัพ* ผู้ชายในหมู่บ้านได้ถูกเกณฑ์ไปรบกันหมด เหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุอยู่ภายในหมู่บ้าน ขณะนั้นเอง ได้มีพม่าลาดตระเวนมาเจอหมู่บ้าน ผู้หญิงที่อยู่เฝ้าหมู่บ้านจึงพากันจับอาวุธเท่าที่หาได้ในครัว เช่น สากตำข้าว มีดพร้าในครัว ขับไล่พม่าไปจนได้ หลังจากเหตุการณ์นั้น หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกขานว่า หมู่บ้านสาวกล้า ต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนไป จนเป็นคำว่า บ้านสาขลา ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเข้มแข็ง และยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ทำการประมง เพาะเลี้ยงกุ้งหอยปูปลา และใช้ลำคลองในการเดินทาง

* สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่า ในปี พ.ศ.2325 ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เพิ่งขึ้นครองราชย์ และกำลังสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ ส่วนทางพม่า มีกษัตริย์องค์ใหม่ คือพระเจ้าปดุง ขึ้นเป็นกษัตริย์อังวะ ต่อมาในปี พ.ศ.2328 พม่าได้รวมกองทัพนับแสนคน แบ่งกำลังพลและจัดกระบวนรบออกเป็น 9 ทัพ กระจายกันเพื่อเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ขณะนั้นกำลังพลของไทยจะน้อยกว่าพม่า แต่ด้วยการวางยุทธวิธีและอุบายในการทำศึก ทำให้สงครามครั้งนี้ไทยได้รับชัยชนะ

วัดสาขลา มีพื้นที่ 27 ไร่ 2 งาน ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ส้นนิษฐานว่าสร้างในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือในปี พ.ศ.2325 ​ครั้งที่ชาวบ้านช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว ภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.2375

เมื่อเข้ามาภายในชุมชนบ้านสาขลา เส้นทางถนนจะตัดตรงข้ามสะพานเข้าสู่วัดเลย บริเวณวัดด้านหน้าและด้านข้างด้านหนึ่งจะติดกับคลอง ส่วนอีกข้างจะติดกับโรงเรียนชุมชนวัดสาขลา บริเวณวัดมีพื้นที่สำหรับเป็นลานจอดรถกว้าง ด้านข้างมีอาคารห้องสุขา ในช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ มีตลาดโบราณ เดินเล่นเดินชมบริเวณท่าน้ำ หรือเดินเข้าชมชุมชนบ้านสาขลาก็ได้ มีจำหน่ายของฝากต่างๆ อาหารทะเลแห้ง กุ้งหมึกปลาแห้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ รวมถึงกุ้งเหยียดที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนด้วย
 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดสาขลา

พระปรางค์เอน

พระปรางค์เอน เป็นองค์พระปรางค์เก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณริมคลอง แต่เดิมตอนสร้างนั้นสร้างทรงตรง ไม่ได้เอนอย่างปัจจุบัน กระทั่งเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ได้เกิดน้ำท่วมขัง ผืนดินที่ลอยตัวอยู่บนโคลนเกิดการทรุดตัว องค์พระปรางค์จึงได้เอียงไปทิศตะวันตก ประมาณ 15 องศา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เอียงเพิ่ม และไม่มีทีท่าว่าจะล้มลงมา จึงได้ปล่อยให้เอนจนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบ้านสาขลา

พื้นที่โดยรอบพระปรางค์ ได้มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบขึ้นใหม่ กั้นกำแพงแก้วเป็นแนวสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้โดยรอบ ตรงกลางเป็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่ มุมทั้ง 4 ของกำแพงแก้วประดับด้วยปรางค์ประจำทิศทั้ง 4 มีขนาดย่อมลงมา แต่ละด้านของกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเดิม เป็นทางเข้าสู่ลานประทักษิณารอบองค์พระปรางค์

ปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นทรงฝักข้าวโพด ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนกลางของพระปรางค์ ทำเป็นซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้ทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันแตกหักไป เหลือให้เห็นบนพระปรางค์เพียง 2 ด้าน

เมื่อปี พ.ศ.2556 ชาวบ้านสาขลาได้มีการฟื้นฟู สืบทอดงานประเพณีการห่มผ้าพระปรางค์ โดยมีการแห่ผ้าแดงไปรอบชุมชน พร้อมทำพิธีบวงสรวง เพื่อรวมจิตศรัทธาของคนในชุมชน และเป็นการบูชาองค์พระปรางค์ ได้ร่วมกันทำบุญ ก่อพระเจดีย์ทรายบริเวณวัด และชักผ้าขึ้นห่มพระปรางค์เอียง
 

พระอุโบสถและวิหาร

โบสถ์และวิหาร เป็นอาคารที่สร้างอยู่คู่กัน ในปี พ.ศ.2548 ได้เกิดน้ำท่วมเข้าไปในโบสถ์วิหาร ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันยกอาคารอุโบสถและวิหารให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 3.5 เมตร เมื่อยกโบสถ์ขึ้น บริเวณใต้ฐานโบสถ์ได้พบลูกนิมิตรเก่า และกรุพระอีกมากมาย จึงได้นำมาทำเก็บไว้ในส่วนของพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ เมื่อโบสถ์วิหารยกสูงขึ้นแล้ว ใต้ถุนด้านล่างอาคารโบสถ์วิหารได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เปิดให้เข้าชมได้ฟรี ภายในแบ่งเป็นห้องๆ การจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นส่วนๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพี่น้องที่ขุดพบใต้ฐานโบสถ์ รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระบูรพาจารย์และเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศไทย ห้องลอยบัวหลวงพ่อบัวเข็ม เป็นต้น

ส่วนของพระโบสถ​์และวิหาร กลายเป็นชั้น 2 โดยมีบันไดทางขึ้นจากทางด้านหน้า เป็นอาคารที่อยู่ใกล้กัน ได้จัดทำพื้นเป็นระนาบเดียวกัน เดินถึงกันได้สะดวก บริเวณชายคาโบสถ์และวิหาร เชื่อมต่อหลังคาให้กันแดดฝนได้ตลอดแนว รอบอาคารโบสถ์วิหาร ทำเป็นระเบียงรอบ ริมระเบียงก่อเป็นม้านั่งยาวตามแนวระเบียง

จากบันไดด้านหน้า เมื่อขึ้นไปยังด้านบน อาคารที่อยู่ทางขวามือจะเป็นโบสถ์ ส่วนทางซ้ายมือเป็นวิหาร ลานด้านหน้าจัดตั้งเครื่องสักการะบูชา สำหรับจุดธูปบูชาพระก่อนเข้าไปกราบพระด้านใน ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
 

พิพิธภัณฑ์ใต้อาคารโบสถ์และวิหาร

ใต้อาคารโบสถ์และวิหาร จัดเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ การเข้าชมด้านใน เปรียบเสมือนได้ทำการลอดใต้โบสถ์วิหาร และฐานหลวงพ่อโต เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ทางเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ทำเป็นซุ้มประตูมีลักษณะเป็นปากราหู ที่เชื่อว่าเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ส่วนทางออกทำเป็นรูปปั้นช้างขนาดใหญ่ เป็นช้างพลายมหาลาภ เวลาออกตรงทางออกจึงเหมือนกับการได้ลอดท้องช้างออกไป เชื่อว่าทำให้โชคดี รอดพ้นอุปสรรคต่างๆ พื้นที่ด้านในพิพิธภัณฑ์แบ่งซอยออกเป็นห้องต่างๆ มีการจัดแสดงแต่ละส่วนไว้ต่างกัน ได้แก่

- ลูกนิมิต ลูกเอก เป็นลูกนิมิตโบราณ ทำจากศิลาแลง อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี มีลักษณะไม่กลมเกลี้ยงเหมือนกับลูกนิมิตปัจจุบัน ลูกนิมิตนี้ได้นำมาจัดวางไว้ในที่ตรงกับใจกลางพระอุโบสถ ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน จุดนี้สามารถปิดทองลูกนิมิตเพื่อความเป็นมงคลได้

- พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นห้องจัดแสดงส่วนหนึ่งของพุทธประวัติก่อนตรัสรู้ เป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้ากำลังบำเพ็ญทุกรกิริยา ร่างกายผ่ายผอม ภาพประกอบมีลักษณะเหมือนฉาก 3 มิติ ผนังทั้งสามด้านวาดเป็นภาพป่า ต้นไม้ มีหมู่ภิกษุสงฆ์ และเทวดารายล้อมอยู่ใกล้ๆ

- พระสองพี่น้อง เป็นห้องจัดแสดงพระสองพี่น้อง พระพุทธรูปที่ขุดพบตอนยกโบสถ์ขึ้น โดยจัดพระสองพี่น้องไว้ในตู้กระจกตรงกลางห้อง ผนังด้านข้างวาดเป็นภาพนูนต่ำ เป็นภาพพื้นที่บริเวณวัดสาขลา ดูแล้วมีมิติเหมือนกับสถานที่จริงที่พบพระทั้งสององค์

พระสองพี่น้องเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ ยืนหันหลังพิงกัน องค์หนึ่งเป็นปางประทานพร และอีกองค์เป็นปางห้ามสมุทร บริเวณริมทางเดินมีภาพถ่ายจริงขณะที่ขุดพบแสดงไว้ให้ดูด้วย

- พระพุทธรูปศิลา เป็นห้องบริเวณฐานหลวงพ่อโต จัดแสดงพระพุทธรูปศิลาที่ขุดพบใต้วิหาร ตอนขุดพบนั้น เศียรและตัวหักอยู่ เมื่อนำมาประกอบต่อกัน จึงมีลักษณะดูผิดรูปไป บริเวณนี้ ส่วนเพดานจะมีฐานพระโผล่ออกมา ทางวัดได้เปิดไว้ เพื่อให้ได้ปิดทองใต้ฐานพระเลย

- พระสังกัจจายน์ อยู่ด้านข้างบริเวณทางเดิน สามารถโยนเหรียญให้เข้าไปในสะดือพระได้

- ห้องลอยบัว เป็นห้องที่ดูสงบเย็น เปิดไฟแสงสลัว ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อบัวเข็ม หน้าองค์พระทำเป็นสระบัวกลางห้อง เพื่อลอยบัวขอพร ส่วนบริเวณด้านข้างยกพื้น จัดเป็นล็อกๆ ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งบูรพาจารย์ ขนาดเท่าองค์จริง ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, ท่านพ่อคล้าย วัดสวนขัน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อหลิว วัดไร่แตงทอง, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงปู่เสาร์ เป็นต้น

- ห้องพิพิธภัณฑ์เทพศรีสาขลา อยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในห้อง จัดแสดงเทวรูปตามความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู และเทพต่างๆเช่น พระตรีมูรติ องค์พระพิฆเนศปางต่างๆ พระอิศวร(พระศิวะ) พญาครุฑ พระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นต้น

- ห้องพระเกจิอาจารย์ เป็นห้องอยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ส่วนด้านข้างเป็นตู้โชว์ จัดแสดงรูปปั้นขนาดเล็กของเกจิอาจารย์ต่างๆ มากมาย

- รูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อยู่บริเวณริมทางเดินด้านนอก มีรูปปั้นเทพเทวดา นางไม้ต่างๆ เช่นเทวดาประจำวันเกิด บรมครูฤาษีชีวโกมาภัจ นางไม้

- บ่อน้ำจืด ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำที่ขุดพบหลวงพ่อสองพี่น้อง อยู่บริเวณด้านหลังของอาคารฐานโบสถ์วิหาร เป็นบ่อเล็กๆ กั้นรั้วสแตนเลสโดยรอบ
 

พิพิธภัณฑ์รอยพระพุทธบาทจำลอง

เป็นอาคารไม้แบบเรือนไทยใต้ถุนสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 ตั้งอยู่ถัดจากอาคารโบสถ์วิหาร ชั้นล่างเป็นห้องสมุดเล็กๆ ทางขึ้นมีบันไดอยู่ด้านหน้า ด้านบนเป็นที่เก็บพระพุทธรูปโบราณ และรอยพระพุทธบาทจำลอง
 

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

เป็นอาคารปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ถัดจากเรือนไทย ภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องหาปลา คบเพลิงขวด ตะเกียงแก๊ส อุปการณ์ทำนาเกลือ เช่นลูกระหัดวิดน้ำเข้านาเกลือ เป็นไม้ที่เป็นลูกมีใบพัด ใช้คู่กับกังหันลม มีลูกกลิ้ง ใช้กลิ้งพื้นนาให้พื้นเรียบ ไสแถว (คือกวาดเกลือออก) โอ่งเก่า ครกตำข้าว หินโม่แห้ง เขาและกระดูกสัตว์ พระพุทธรูปเก่า ตะเกียง กระจาด กระด้ง เป็นต้น
 

ศาลาเรือนไทยสาวกล้า

เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับองค์พระปรางค์ เป็นศาลาเรือนไทยทรงจตุรมุข ด้านหน้ามีสิงห์คู่แบบจีน ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เชิดชูวีรกรรมในการสู้รบกับพม่า ทั้งยังเป็นที่มาของคำว่า สาขลา ด้านในมีรูปปั้นสาวไทยถือสากตำข้าว
 

ตลาดโบราณ บ้านสาขลา

ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ บริเวณวัดสาขลา จะมีชาวบ้านมาขายสินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านสาขลาที่ขึ้นชื่ออย่าง กุ้งเหยียด อาหารทะเลสด และแห้งอื่นๆ อีกมาก เช่น กะปิ น้ำปลา หอยหวาน หอยแครง อาหารสำเร็จรูปของคาว ของหวาน และสินค้าอื่นๆ อีกมาก

งานประจำปีของวัดสาขลา

- งานทำบุญหลวงพ่อโต จัดขึ้นในวันที่ 6 มกราคมของทุกปี
- การแห่และห่มผ้าแดงให้พระปรางค์ และก่อพระเจดีย์ทรายภายในวัด จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
- งานแห่หลวงพ่อโต มีการตักบาตรเทโว แข่งเรือ จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
 

ข้อมูลเพิ่มเติม

- ในวันเสาร์ - อาทิตย์ ช่วงเวลา 9.00 - 17.00 น. จะมีตลาดในบริเวณวัด และริมคลอง
- สามารถเช่าเรือล่องชมชุมชน ธรรมชาติบ้านชายคลอง วิวทิวทัศน์ วังกุ้ง วังปู และปากอ่าว ราคาประมาณ 300-400 บาท (นั่งได้ 10 คน)
 

สถานที่ที่น่าสนใจบริเวณใกล้เคียง

- ศาลเจ้าพ่อปู่แดง (อยู่ภายในชุมชนบ้านสาขลา) เป็นศาลที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน


- พิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ (อยู่ภายในชุมชนบ้านสาขลา) เป็นบ้านของคุณลุงประธาน แม้นเหลืองอ่อน ที่อยู่ในชุมชน เดิมทำอาชีพเลี้ยงปูทะเลส่งเยาวราช เมื่อมีปูตายก็จะไม่นำออกขาย แต่เอามาสตาฟไว้ หลังจากที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการสตาฟสัตว์ จึงนำสัตว์น้ำอื่นๆ มาสตาฟไว้ด้วย เช่นปลาเก๋า ปลาดุกรัสเซีย ปู งูเหลือม เป็นต้น ในปี พ.ศ.2557 คุณลุงได้เปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์สตาฟ ให้เข้าชมได้ฟรี

การเดินทาง

ห่างจากป้อมพระจุลจอมเกล้า   13 กิโลเมตร
ห่างจากพระสมุทรเจดีย์   13 กิโลเมตร
ห่างจากตลาดพระประแดง   23 กิโลเมตร
 

เส้นทางรถยนต์

เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> เลี้ยวขวาแยกพระสมุทรเจดีย์ (หอนาฬิกา) ไปทางป้อมพระจุล -> เลี้ยวขวาเข้าอบต.แหลมฟ้าผ่า

1 ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าพระประแดง -> ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ตรงที่มีหอนาฬิกา) ให้ป้ายเลี้ยวขวาไปทางป้อมพระจุลจอมเกล้า
2 เมื่อเลี้ยวขวาแล้ว ตรงไปอีกราว 2 กิโลเมตร พอข้ามสะพานสูงข้ามคลองสรรพสามิต ลงสะพานปุ๊บเลี้ยวขวาไปทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า (มี 7-11 อยู่ปากซอย)
3 เลี้ยวขวามาแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ (ประมาณ 9 กิโลเมตร) จนสุดทาง จะข้ามสะพานข้ามคลองแล้ววัดจะอยู่ทางซ้ายมือ

* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนอง พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) แล้วชิดซ้ายเพื่อออกถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 12 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

** หากใช้วงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล (จากถนนปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ถนนพระราม 3) ตามป้ายบอกทางลงถนนสุขสวัสดิ์ (พระประแดง) เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 11 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

*** หากใช้ถนนวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก (จากฝั่งตะวันออก หรือ ฝั่งตะวันตก) ตามป้ายทางออกถนนสุขสวัสดิ์ (พระสมุทรเจดีย์) เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 7 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

 

* ปัจจุบันมีการทำถนนสายใน และสร้างสะพานเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากแขวงท่าข้าม บางขุนเทียน ไปยังสมุทรปราการ ทำให้มีเส้นทางไปยังวัดสาขลาเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องอ้อมไปเข้าทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า ถนนสายในนี้เป็นถนนคอนกรีตกว้าง เดินทางสะดวก (ในช่วงน้ำไม่ท่วม) หากไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่แนะนำ เพราะค่อนข้างซับซ้อน (แม้ดูกูเกิ้ลก็อาจพาหลงได้) แต่สำหรับคนพื้นที่ หรือคนที่เคยใช้เส้นทางแถบนี้มาก่อน จะเข้าใจ และสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดได้ดี

ถนนชายทะเลบางขุนเทียน (ซอยเทียนทะเล 25) -> ซอยประชาอุทิศ 90 (บ้านคลองสวน-บ้านล่าง)

* เส้นทางนี้อาจเหมาะสำหรับคนที่อยู่ในย่านพระราม 2 และบางขุนเทียน สำหรับคนต่างถิ่นอาจค่อนข้างสับสน แนะนำให้ใช้เส้นทางอื่น

1 สำหรับคนที่มาจากบางขุนเทียน, ถนนพระราม 2(แสมดำ), โลตัสพระราม 2, เซ็นทรัลพระราม 2 สามารถเลี้ยวเข้าทาง "ถนนชายทะเลบางขุนเทียน" (ชื่อป้ายบอกทางแยกจากถนนพระราม 2 จะเขียนชื่อถนนตามนี้เลย)
2 จากถนนชายทะเลบางขุนเทียน ตรงไปเรื่อยๆ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเทียนทะเล 25 ผ่าน ม.พระจอมเกล้าธนบุรี (วิทยาเขตบางขุนเทียน) วัดคลองสวน (สมุทรปราการ)
3 ตรงตามเส้นทางหลักไปเรื่อยๆ เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับซอยประชาอุทิศ 90 จากนั้น จึงเลี้ยวขวาตามป้ายบอกทาง ไปถนนบ้านคลองสวน-บ้านล่าง
4 เมื่อเลี้ยวมาแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ (ทางนี้จะไปบรรจบกับถนนเลียบคลองสรรพสามิต) จนกระทั่งถึงสามแยกที่มีสะพานข้ามคลองทางขวามือ จึงเลี้ยวขวาข้ามสะพานข้ามคลอง
5 เลี้ยวมาสักระยะ จะเจอสามแยก จึงเลี้ยวขวาเพื่อเข้าบ้านสาขลา และวัดสาขลา

 

ถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง -> ถนนเลียบคลองสรรพสามิต

* เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายในที่มาจากซอยพุทธบูชา หรือแยกทุ่งครุ (ถนนประชาอุทิศ) เหมาะสำหรับผู้ที่คุ้นเคยเส้นทางถนนประชาอุทิศ​

1 สำหรับคนที่เข้ามาทางถนนประชาอุทิศ ให้ตรงตามป้ายบอกทางไปครุใน ไปตลอดเส้นทาง จนกระทั่งผ่านวัดคู่สร้างไป
2 จากนั้น ถนนจะไปสุดตรงสามแยกรูปตัวที (T) (ซึ่งเป็นถนนเลียบคลองสรรพสามิต) ตรงแยกนี้เลี้ยวขวา
3 เมื่อเลี้ยวขวาไปแล้ว ตรงไปอีกราว 3 กิโลเมตร ซ้ายมือจะเห็นสะพานข้ามคลอง จึงเลี้ยวซ้ายข้ามคลองไป
4 ข้ามคลองไปสักระยะ จะเจอสามแยก จึงเลี้ยวขวาเพื่อเข้าบ้านสาขลา และวัดสาขลา

 

รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด รถโดยสารประจำทาง)

รถเมล์ + รถสองแถวใหญ่

- หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.20 (ท่าน้ำดินแดง - พระสมุทรเจดีย์) ลงสุดสายที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (ตรงบริเวณนี้มีสองแถวหลายสาย ดูตามป้ายข้างรถ หรือถามคนขับ)

สาย ปอ. 20 ท่าดินแดง - พระสมุทรเจดีย์ (รถแอร์ ยูโรสีส้ม)

เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำท่าดินแดง - ถนนลาดหญ้า - วงเวียนใหญ่ - ตลาดวงเวียนใหญ่ - แยกตากสิน - แยกมไหศวรรย์ - บิ๊กซีดาวคะนอง - บางปะแก้ว - บิ๊กซีบางปะกอก - โรงพยาบาลบางปะกอก 1 - แยกประชาอุทิศ - ถนนสุขสวัสดิ์ - กม.9(ลงทางด่วน) - แยกวัดสน - แยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - วัดใหญ่ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์(หอนาฬิกา) - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์

** สาย 20 ที่เป็นรถมินิบัส (รถร้อน) จะสุดที่บิ๊กซีพระประแดง ไปไม่ถึงพระสมุทรเจดีย์ หากนั่งสายนี้มา ให้ลงรถที่บิ๊กซี แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์

* หากขึ้นรถเมล์เล็กมินิบัส สาย 20 (ท่าน้ำดินแดง - พระประแดง) มาลงรถที่หน้าบิ๊กซีพระประแดง จากนั้นรอต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ ไปลงสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์ แล้วต่อสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา

** หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.140 (ทางด่วน), ปอ.142 (ทางด่วน) พอลงจากทางด่วนแล้ว ให้ลงรถเมล์ป้ายแรก แล้วต่อรถเมล์สาย ปอ.20 (ให้ขึ้นเฉพาะรถใหญ่ รถมินิบัสจะไปไม่ถึง) ไปสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา

รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1146) พระประแดง - พระสมุทรเจดีย์

เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำพระประแดง - ตลาดพระประแดง - วัดกลาง - ถนนนครเขื่อนขันธ์ - สามแยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - วัดครุใน - รพ.บางปะกอก 3 - แยกถนนกาญจนาภิเษก - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - แยกพระสมุทรเจดีย์ - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์

รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1290) พระสมุทรเจดีย์ - สาขลา

(ข้างรถจะเขียนว่า เจดีย์ - อำเภอ - สาขลา)

เส้นทางเดินรถ ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์ - ถนนสุขสวัสดิ์ - เลี้ยวเข้าถนนสายสุขสวัสดิ์-นาเกลือ - ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ - วัดคลองพระราม - อบต.แหลมฟ้าผ่า - ท่าเรือป้ารี่ - วัดภาวนาราม - วัดสาขลา

* นอกจากรถสองแถวใหญ่แล้ว ปัจจุบันเห็นว่ามีรถตู้ให้บริการจากพระสมุทรเจดีย์ ไปยังบ้านสาขลาอีกด้วย (คิวรถอยู่บริเวณท่าเรือข้ามฟากพระสมุทรเจดีย์ วิ่งมาสุดที่ทางเข้าบ้านสาขลา (เดินต่อไปวัดสาขลาอีกประมาณ 100 เมตร) ข้อดีของรถตู้คือ ได้นั่งรถแอร์ แต่ข้อเสียคือ มีราคาสูงกว่ารถหกล้อใหญ่

รถตู้ + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด รถตู้)

- นั่งรถตู้สาย บางปะแก้ว - พระสมุทรเจดีย์ (คิวรถอยู่แถวตลาดบางปะกอก ช่วงแยกพระราม 2)
- จากนั้นต่อรถสองแถวหกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา ตรงบริเวณท่าเรือพระสมุทรเจดีย์

 

เรือข้ามฟาก + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)

ท่าเรือวิบูลย์ศรี (ตลาดปากน้ำ) - ท่าพระสมุทรเจดีย์

- นั่งเรือข้ามฟากจากตัวเมืองปากน้ำ (ท่าเรือวิบูลย์ศรี) ตรงตลาดปากน้ำ มาขึ้นท่าพระสมุทรเจดีย์
- ออกจากท่าเรือแล้ว ต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (รถจอดแถวบริเวณท่าน้ำ)

ท่าเรือเภตรา (ปู่เจ้าสมิงพราย) - ท่าพระประแดง

- นั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือเภตรา ตรงสุดถนนปู่เจ้าสมิงพราย มาขึ้นฝั่งที่ท่าพระประแดง
- จากนั้นขึ้นรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ (ขึ้นแถวท่าน้ำได้) ไปลงสุดสาย แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา

 

ข้อมูลการติดต่อ วัดสาขลา

เวลาเปิดให้เข้าชมวัดสาขลา
ทุกวัน 8.00 - 18.00 น.

ที่อยู่ 19 หมู่ 3 บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
โทร 085-907-1431, 082-551-5197 (สำนักงาน อบต.นาเกลือ 02-819-5090)
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/WadSaKhlaNaKelux/

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 4.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
บ้านขุนสมุทรจีน ชุมชนริมชายฝั่งอ่าวไทย ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ที่เที่ยวเชิงศึกษาวิถีชีวิตชุมชน และธรรมชาติริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เหมาะกับการพักผ่อน พักใจ หลบหลีกจากความวุ่นวายในเมือง ให้ดีควรจองโฮมสเตย์นอนสักคืน ใช้ชีวิตแบบอยู่ง่าย กินง่าย ได้สัมผัสธรรมชาติ เดินเล่นกินลม ชมป่าชายเลน งมหอย กินปู (ตามฤดูกาล) ดูปลา ชมวัดขุนสมุทรจีน วัดกลางทะเล ที่ยังคงอยู่คู่ชุมชน แม้จะโดนน้ำทะเลเซาะแผ่นดินหายไปทีละน้อย
ห่างออกไป ประมาณ: 9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ป้อมพระจุล สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ สถานที่ควรค่าแห่งการจดจำ และร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในอดีต บอกเล่าแก่ลูกหลาน และอนุชนคนรุ่นหลัง ให้ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้แวะกราบสักการะพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 เดินชมป้อม หลุมปืน และปืนเสือหมอบ ที่ครั้งนึงเคยได้ร่วมยิงต้านเรือรบฝรั่งเศส ขึ้นชมเรือหลวงแม่กลอง เรือรบที่ใช้งานมายาวนานที่สุด
ร้านอาหารใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 4.7 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ครัวโพธิ์ทะเล เป็นร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านนี้เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เน้นอาหารซีฟู้ดสดใหม่ ราคาเป็นกันเอง ลักษณะ ร้านเป็นแบบง่ายๆ สบายๆ สไตล์ริมบ่อกุ้ง บึงปลา รับลมธรรมชาติ นั่งชมวังกุ้ง วังปลา อยู่ริมทางไปวัดสาขลา เข้าทางเทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า สะดวกสำหรับคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว
ห่างออกไป ประมาณ: 5.5 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ครัวปูหลน ร้านอาหารดังสมุทรปราการฝั่งพระประแดง ที่คนพื้นที่รู้จักกันดี อยู่ในเขตแหลมฟ้าผ่า ใกล้ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านบรรยากาศชายทุ่ง ริมบึง นั่งลมโกรก เย็นสบาย ราคาไม่แพง ขับรถแยกจากถนนสายหลักเข้าไปตามเส้นทางไปวัดสาขลา และวัดขุนสมุทรจีน สะดวกสำหรับคนมีรถ หน้าร้านมีที่จอดรถริมทาง
ห่างออกไป ประมาณ: 9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านสโมสรท้ายเรือหลวงแม่กลอง เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่มีมานานนับ 10 ปี อยู่ในบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านติดทะเลปากอ่าว บรรยากาศดี เห็นวิวปากแม่น้ำ ได้เดินเที่ยวชมเรือหลวงแม่กลอง ป้อมปืนเสือหมอบ พร้อมทั้งสามารถสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 นั่งพักผ่อนทานอาหาร ในราคามาตรฐาน เหมาะกับมากับครอบครัวในวันหยุด นัดเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน แล้วแวะทานข้าวก่อนกลับ การเดินทางควรมีรถยนต์ส่วนตัว
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com