บ้านขุนสมุทรจีน

ชมวัดกลางทะเล ธรรมชาติริมชายฝั่ง ศึกษาวิถีชุมชน



บ้านขุนสมุทรจีน ชุมชนริมชายฝั่งอ่าวไทย ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ที่เที่ยวเชิงศึกษาวิถีชีวิตชุมชน และธรรมชาติริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เหมาะกับการพักผ่อน พักใจ หลบหลีกจากความวุ่นวายในเมือง ให้ดีควรจองโฮมสเตย์นอนสักคืน ใช้ชีวิตแบบอยู่ง่าย กินง่าย ได้สัมผัสธรรมชาติ เดินเล่นกินลม ชมป่าชายเลน งมหอย กินปู (ตามฤดูกาล) ดูปลา ชมวัดขุนสมุทรจีน วัดกลางทะเล ที่ยังคงอยู่คู่ชุมชน แม้จะโดนน้ำทะเลเซาะแผ่นดินหายไปทีละน้อย  

บ้านขุนสมุทรจีน* เป็นหนึ่งใน 9 ชุมชนชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่อยู่ในตำบลแหลมฟ้าผ่า** อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นชุมชนที่ไม่มีเส้นทางรถยนต์ การเดินทางต้องเป็นทางเรือเท่านั้น หากเดินทางด้วยรถยนต์จะเลี้ยวมาตามทางเข้าอบต.แหลมฟ้าผ่า แล้วมาจอดรถฝากไว้ที่ท่าเรือป้ารี่ เพื่อลงเรือไปขึ้นที่ท่าเรือบ้านขุนสมุทรจีน

* บ้านขุนสมุทรจีน เป็นชื่อเฉพาะของชุมชนหนึ่งที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ไม่ได้หมายถึงบ้านของท่านขุน หรือบ้านของคนจีน การไปเที่ยวบ้านขุนสมุทรจีน เป็นการไปเที่ยวชมหมู่บ้าน ที่ยังมีคนท้องถิ่นอยู่อาศัย และทำมาหากินอยู่ในชุมชนตามวิถึชีวิตเดิมๆ

** ตำบลแหลมฟ้าผ่า เป็นตำบลที่อยู่ติดชายทะเลปากอ่าวไทย ทางฝั่งขวา (ทิศตะวันตก) ของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือตรงที่เป็นเหมือนหัวตัว ก.ไก่ ในแผนที่ประเทศไทย บริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่ที่มีมานานกว่า 300 ปี ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่แหลมตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งของป้อมพระจุลจอมเกล้า ยาวไปทางชายฝั่งทิศตะวันตกตอนล่างเรื่อยมา เป็นชายฝั่งทะเลยาวกว่า 13 กิโลเมตร จนถึงเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นสันดอนปากแม่น้ำ ที่กล่าวกันว่ามีแนวตะกอนสินแร่โลหะ ที่ดึงดูดกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากฟากฟ้า ทำให้เกิดฟ้าผ่าบ่อย จนทำให้เรือสินค้าถูกฟ้าผ่าเป็นประจำ จนเป็นที่มาของ "ตำบลแหลมฟ้าผ่า"

บริเวณแหลมฟ้าผ่า มีชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ริมทะเลปากอ่าว ชื่อว่าบ้านขุนสมุทร กล่าวกันว่าแต่เดิมผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน จะอยู่กันตามกลุ่มเชื้อชาติ มีบ้านขุนสมุทรไทย และบ้านขุนสมุทรจีน คนจีนที่มาตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกๆ เป็นกลุ่มพ่อที่เดินเรือสำเภามาค้าขายในสยามประเทศ เมื่อเห็นความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำบริเวณปากอ่าว จึงได้ทำเป็นที่พักชั่วคราวก่อนล่องเรือเข้าไปค้าขายในเมืองหลวง บ้านขุนสมุทรจีนจึงเป็นชุมชนที่มีความผสมผสานของเชื้อชาติทั้งจีนและไทยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน


การจมหายไปของแผ่นดินบ้านขุนสมุทรจีน

จากแผนที่ที่บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2455 (100 กว่าปีมาแล้ว) พื้นที่บริเวณบ้านขุนสมุทรจีน เป็นพื้นดินเลน เคยเป็นผืนดินที่เต็มไปด้วยป่าโกงกาง ป่าแสม และต้นไม้ที่ขึ้นตามริมน้ำเค็ม มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ โดยธรรมชาติแล้วจะมีน้ำทะเลท่วมเข้ามาถึงตามเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ที่ราบลุ่มบริเวณนี้เกิดจากธรรมชาติของดินตะกอนปากแม่น้ำพัดพาเอาเศษตะกอนเล็กๆ มาสะสมบริเวณปากอ่าว จนเป็นพื้นดินงอกขึ้นตามแนวสันดอนปากแม่น้ำ ต่อมาด้วยสาเหตุหลายประการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ น้ำทะเลเกิดซัดอย่างรุนแรง เกิดการทรุดตัวของตลิ่ง กระแสน้ำกัดเซาะพื้นที่ที่เป็นชุมชนสูญหายไปอย่างรวดเร็ว จากข้อสันนิษฐานพบว่า น่าจะเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

1) ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น คลื่นลมทะเลเปลี่ยนแปลง  

2) การสร้างเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดการชะลอการไหลของแม่น้ำ ตะกอนดินดำที่เคยไหลมาสะสมปากอ่าว ก็สะสมน้อยลงเรื่อยๆ

3) การบุกรุกป่าชายเลน ตัดไม้ทำลายป่าบริเวณริมชายฝั่งเพื่อทำที่ทำกิน การปรับพื้นที่ทำวังกุ้ง วังปลา รวมถึงกลุ่มนายทุนที่เข้ามาในพื้นที่

การกัดเซาะริมชายฝั่งเกิดขึ้นรอบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทั้งประเทศ แต่ที่เกิดปัญหารุนแรงมากที่สุดคือที่บ้านขุนสมุทรจีน เมื่อราว 30-40 ปีที่ผ่านมา ได้มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง พัดพาบ้านเรือน ต้นไม้ และชุมชน จนทำให้ต้องหนีร่นเข้ามาเรื่อยๆ ถนนหนทางที่เคยมี ได้กลายเป็นพื้นที่ในทะเล เหลือเพียงวัดขุนสมุทรจีน ที่ชาวบ้านยังคงช่วยกันดูแลให้คงอยู่ พื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดที่เคยมีมากกว่า 1,000 ไร่ เหลือเพียง 700 ไร่ ผืนดินริมชายฝั่งหายไปปีละประมาณ 20-25 เมตร ปัจจุบันแผ่นดินหายไปราว 3 กิโลเมตรแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ชุมชน และบ้านเรือนที่เคยอยู่ริมทะเลต้องย้ายบ้านหลายต่อหลายครั้ง บางครอบครัวต้องย้ายบ้านหนี 4-5 รอบ บ้างก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปเลย จากเดิมที่มีมากกว่า 200 หลังคาเรือน เหลืออยู่เพียง 70 กว่าหลังคาเรือน
 

ชุมชนเข้มแข็ง สลายแรงคลื่นลม

ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน กลุ่มคนในชุมชนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ยืนหยัดต่อสู้กับปัญหา และพยายามปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่กับปัญหาได้อย่างไม่หวาดหวั่น ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันเพื่อรักษาแผ่นดินถิ่นเกิดให้กับลูกหลาน ในหลายวิธีด้วยกัน เช่น การทำเขื่อนสลายคลื่นขุนสมุทรจีน 49 A2* ช่วยชะลอคลื่นไม่ให้ซัดทำความเสียหายแก่ผืนดินริมฝั่ง ช่วยกันปลูกต้นไม้เสริมความแข็งแรงให้ผืนดิน ช่วยกันดูแลโบสถ์วัดขุนสมุทรจีน ศูนย์รวมใจสุดท้ายให้คงอยู่ต่อไป

ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านขุนสมุทรจีน ประกอบด้วย ป่าชายเลน พื้นที่ทำประมงสัตว์น้ำ เช่นวังกุ้ง วังปลา เลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ ปูทะเล มีวัดขุนสมุทรจีน โรงเรียน สถานีอนามัย ไม่มีผืนดินติดกันเป็นผืนใหญ่ การเดินทางในชุมชน จึงใช้เรือติดต่อกับภายนอก ส่วนการเดินทางภายในชุมชน มีถนนปูน คันดิน สะพานไม้ เชื่อมต่อถึงกัน มีรถสามล้อรับจ้างวิ่งแบบเต็มเส้นทาง เฉพาะบางช่วง (ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) นอกนั้นเป็นการใช้จักรยาน และเดินเท้าเท่านั้น

* ขุนสมุทรจีน 49 A2 เป็นหลักการสลายพลังงานคลื่นที่กลุ่มนักวิชาการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เข้ามาศึกษาวิจัย และออกแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่น และได้จดสิทธิบัตร เรียกว่าเป็นเขื่อนเขียว ที่เป็นเหมือนรั้วในทะเล ช่วยป้องกันการปะทะจากความแรงของคลื่น หลักการของขุนสมุทรจีน 49 A2 คือการปักแนวเสาทรงสามเหลี่ยมไว้ในทะเล โดยปักให้ห่างกันเป็น 3 แถว แบบสลับฟันปลา การปักเสานั้นต้องปักให้ด้านแหลมของสามเหลี่ยมหันออกนอกชายฝั่ง ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างได้ผลสำหรับหาดโคลนในบริเวณปากแม่น้ำบ้านเรา เสาคอนกรีตสามเหลี่ยมจะช่วยตัดคลื่น หักล้างพลังงาน และลดความแรงของคลื่นลง ทั้งยังช่วยให้เกิดตะกอนมาตกด้านหลังเขื่อน แล้วกลายเป็นดินงอก เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลน ฟื้นฟูธรรมชาติต่อไปได้

การท่องเที่ยวบ้านขุนสมุทรจีน

เที่ยวแบบไหนในบ้านขุนสมุทรจีน

1) นิยม.. เที่ยวแบบ 2 วัน 1 คืน โดยเข้าไปพักค้างคืนที่โฮมสเตย์ในชุมชน จะได้มีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เห็นวิถีชีวิตชุมชน ได้พักผ่อนสบายๆ แบบไม่เหนื่อย ไม่เร่งรีบจนเกินไป (แนะนำว่าควรติดต่อจองที่พักล่วงหน้า)

2) เที่ยวแบบไปเช้า - เย็นกลับ ก็สามารถทำได้ (ควรไปเช้าๆ หน่อย) เช่น เดินชมวัดขุนสมุทรจีน วิถีชีวิตชุมชน พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
 

สถานที่เที่ยวชมในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

- วัดขุนสมุทรจีน (ชมโบสถ์เก่ากลางทะเล ที่กำลังจะจมหาย)
- ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย (ศาลเจ้าเดียวในหมู่บ้าน)
- พิพิธภัณฑ์บ้านขุนสมุทรจีน (ชมของเก่า ของโบราณที่พบได้ในบ้านขุนสมุทรจีน)
- หลักกิโลเมตรจำลอง (จุดเช็คอิน สำหรับถ่ายรูปเป็นที่ระลึก)
 

วัดขุนสมุทรจีน

วัดขุนสมุทรจีน หรือวัดขุนสมุทราวาส เป็นวัดเพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน แต่เดิมอยู่บนผืนแผ่นดินริมปากอ่าว ปัจจุบันพื้นที่วัดได้ถูกคลื่นกัดเซาะจนกลายเป็นวัดกลางทะเล บริเวณวัดมีถนนปูนให้เดินเข้าไปยังวัดได้ ชมธรรมชาติป่าชายเลนระหว่างทาง ชมโบสถ์เก่าที่กำลังถูกกลืนโดยสายน้ำ ด้านหน้าวัดที่ติดกับทะเล มีจุดชมวิว ที่ยังคงเห็นร่องรอยของเสาไฟฟ้าเดิม

วัดขุนสมุทรจีน หรือวัดขุนสมุทราวาส วัดอายุร่วมร้อยปี ที่อยู่โดดเดี่ยวกลางทะเล ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ สามารถนั่งเรือเที่ยวที่บ้านขุนสมุทรจีน แวะวัดขุนสมุทรจีนที่อยู่กลางทะเล เดินชมพระอุโบสถเก่าที่กำลังจะจมหายไปในทะเล รับรู้เรื่องราวของนำ้ทะเลที่กัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย เสาไฟฟ้ากลางทะเล หมายหมุดที่เคยบอกเส้นทางถนนในอดีต ชมวิวทิวทัศน์ทะเลปากอ่าว วิถีชีวิตชุมชน การเดินทางมาวัดขุนสมุทรจีน มาได้เฉพาะทางเรือ จอดรถฝากไว้ที่ท่าเรือป้ารี่ แล้วนั่งเรือหางยาวเข้าไปยังบ้านขุนสมุทรจีน

วัดขุนสมุทรจีน ตั้งอยู่ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นพื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึง การเดินทางจะต้องลงเรือหางยาว โดยไปลงเรือที่ท่าเรือป้ารี่ (เส้นทางเดียวกับไปวัดสาขลา) เมื่อขึ้นเรือที่ท่าวัดขุนสมุทรจีนแล้ว สามารถต่อรถสามล้อชุมชน หรือเดินไปราว 1 กิโลเมตร

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีผู้คนมาอาศัยกันอยู่เป็นเวลานานแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง จับสัตว์น้ำ ชุมชนกลุ่มแรกๆ มีทั้งชาวไทยและชาวจีนที่เดินเรือมาค้าขายในไทย วัดนี้แต่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ประจำหมู่บ้าน จนได้ถูกทิ้งร้างไป ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมมือกันบริจาคพื้นที่เพิ่มเติม และร่วมมือกันสร้างจนเป็นวัดประจำหมู่บ้าน มีชื่อเป็นทางการว่า วัดขุนสมุทรทราวาส แต่ก็มักนิยมเรียกกันว่า วัดขุนสมุทรจีน

แต่เดิมวัดตั้งอยู่บนพื้นดิน เคยมีพื้นที่ธรณีสงฆ์มากกว่า 76 ไร่ แต่ด้วยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ไร่ จากหมู่บ้านที่เคยอยู่หน้าวัด ชาวบ้านต้องหนีอพยพเข้าฝั่งไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียงวัดขุนสมุทรจีน ที่กลับกลายมาอยู่หน้าหมู่บ้านแทน ด้วยความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อศาสนสถาน ศูนย์รวมใจชุมชน ชาวบ้านยังคงร่วมแรงร่วมใจรักษาวัดไว้ ซึ่งเหลือเพียงโบสถ์เก่าที่จมน้ำไปครึ่งหลัง และอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งออกไป 1 กิโลเมตร  

ปัจจุบันด้านหน้าบริเวณวัด ที่โดนแรงปะทะจากน้ำทะเล ได้มีการกั้นเขื่อนสลายกำลังคลื่นไว้เป็นแนว เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่ง ทั้งยังช่วยให้เกิดตะกอนหลังแนวเขื่อน เพิ่มผืนดินที่มีความแข็งแรงพอที่จะสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มเติมได้ ส่วนพื้นที่บริเวณวัด ได้ยกเป็นพื้นสูง พื้นที่ทางเดิน และอาคารต่างๆ โดยรอบตั้งอยู่บนพื้นปูนยกสูงให้เหนือน้ำ ยกเว้นพระอุโบสถเก่า ที่ยังคงอยู่ในระดับพื้นดินเดิม จึงทำให้ทางเดินสูงขึ้นมาประมาณครึ่งนึงของอาคารโบสถ์เก่า

เมื่อนั่งเรือจากท่าเรือป้ารี่ เข้ามาที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน การเดินทางไปวัด จะมีรถสามล้อรับจ้างประจำหมู่บ้าน (ค่ารถ 20 บาท) วิ่งไปตามทางปูน (กว้างประมาณ 2 เมตร) เป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมต่อเข้าไปยังตัววัดกลางทะเล ตามเส้นทางจะผ่านแนวป่าชายเลน ริมทางเดินมีแนวระฆัง และแนวธงอยู่ตลอดเส้นทาง เมื่อผ่านทางปูนเข้าสู่บริเวณวัด แม้จะเป็นกลุ่มอาคารศาสนสถานที่อยู่เดียวดายกลางทะเล แต่ก็เป็นบริเวณที่มีกลุ่มป่าชายเลนอยู่หนาแน่น
 

สิ่งที่น่าสนใจในวัดขุนสมุทรจีน

อุโบสถเก่า

เป็นศาสนสถานเดียวที่เหลืออยู่ในบริเวณวัด อาคารโบสถ์ตั้งอยู่ในระดับพื้นเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างวัด เป็นระดับที่น้ำทะเลท่วมถึง เวลาน้ำทะเลเข้ามา โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้นสูง (ในวันพระ) น้ำจะเข้ามาในโบสถ์สูงมาก เมื่อมาถึงบริเวณโบสถ์ จะเห็นพื้นทางเดินด้านนอกสูงกว่าระดับพื้นโบสถ์ราวครึ่งนึง​

อุโบสถที่วัดขุนสมุทรจีน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ (ปัจจุบันมีบางส่วนหลุดร่อนไปบ้างแล้ว) ซุ้มประตูหน้าต่างโดยรอบทำเป็นลวดลายซ้อนชั้น สะพานทางเดินจะเชื่อมถึงประตูทางเข้าโบสถ์ พื้นด้านในได้ปรับใหม่ ให้มีพื้นสูงระนาบเดียวกับทางเดินด้านนอก จึงทำให้ประตูทางเข้าเหลือเพียงครึ่งเดียว การเข้าไปในโบสถ์ จะต้องมุดเข้าไป ผนังโดยรอบมีร่องรอยความชื้นจากน้ำทะเล มีรูปภาพเก่า ที่เคยถ่ายไว้เมื่อครั้งคลื่นลมรุนแรงซัดมาถึงตัวโบสถ์ ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระประธาน สามารถเข้าไปกราบสักการะได้
 

จุดชมวิวทะเลอ่าวไทย และเสาไฟแนวถนนในทะเล

เมื่อเดินมาที่บริเวณริมทะเล ด้านหน้าของวัด จะเห็นวิวมุมกว้าง บริเวณนี้ได้สร้างขึ้นภายหลัง เพื่อเป็นลานประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์ใหญ่ ที่หันไปทางอ่าวไทย โดยมีความเชื่อว่า เป็นพระพุทธรูปปางตามความเชื่อว่า จะช่วยห้ามมิให้เกิดเภทภัยจากทางทะเล พระพุทธรูปนี้มีชื่อว่า "พระพุทธชินสีห์มณีโรจนพิทักษ์สมุทรวิสุทธิมิ่งมงคล"

บริเวณริมทะเลแห่งนี้ ยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ทะเลอ่าวไทย ยังมองเห็นแนวเสาไฟฟ้าเดิม ที่เคยปักอยู่ตามริมถนนเก่าของชุมชน ปัจจุบันถนนสายนี้ได้จมหายไปในทะเลแล้ว บริเวณนี้ยังมีแนวเขื่อนสลายกำลังคลื่น เป็นแนวกันคลื่นลมที่ชาวบ้านช่วยกันทำไว้อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมวัดขุนสมุทรจีน: Youtube


ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย

ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านขุนสมุทรจีน มีลักษณะแบบศาลเจ้าจีน ยกใต้ถุนสูง มีบันไดทางขึ้นจากทางด้านหน้า ภายในมีศาลเจ้ามีเจ้าพ่อองค์เล็กเหมือนตุ๊กตาเด็ก ทำจากไม้แกะสลักอยู่ในท่ายืน มือหนึ่งชู 2 นิ้วขึ้น และ อีกมือหนึ่งชู 2 นิ้วลง มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า ไท้จื้อเอี๋ย ผนังด้านข้างมีภาพวาดเรื่องราวเมื่อพบเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย ผู้คนมักจะมาขอพรขอให้มีบุตร และนำของเล่นเด็กมาถวายมากมาย

ความเป็นมาของเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชายนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า ชาวประมงคนหนึ่งในบ้านขุนสมุทรจีน ได้วางอวนจับปลาปากอ่าว ปรากฏว่ามีตุ๊กตาเด็กจีนผมมัดจุกติดอวนขึ้นมา เมื่อนำทิ้งไปก็กลับติดอวนขึ้นมาทุกครั้ง จึงอัญเชิญขึ้นมาพร้อมตั้งศาลเพียงตาหลังคาจากให้ ชาวบ้านผ่านไปมาก็แวะบนบานสานกล่าว ส่วนชื่อหนุ่มน้อยลอยชายนั้น ตั้งตามลักษณะตุ๊กตาหนุ่มน้อย ลอยมาจากชายทะเล จึงตั้งว่าหนุ่มน้อยลอยชาย ซึ่งสันนิษฐานว่า เรือสำเภาจีนที่ล่องมาค้าขายกับไทยสมัยก่อน มักจะตั้งศาลเจ้าไว้บริเวณท้ายเรือ เมื่อเรืออับปางลง ทำให้ศาลเจ้าท้ายเรือถูกคลื่นลมซัดมายังฝั่ง

ในวันขึ้น 12-13 ค่ำเดือน 2 ของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปี ชาวบ้านจะนำของมาถวาย ขอพร มีการจัดการการแสดงต่างๆ เช่น หนังกลางแปลง ลิเก และเปิดโรงทานให้ผู้มาเยี่ยมเยือน
 

พิพิธภัณฑ์บ้านขุนสมุทรจีน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชุน (เข้าชมฟรี) เป็นพื้นที่เก็บสะสมของเก่า ของโบราณ มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแบบง่ายๆ เก็บของที่พบได้ในบริเวณนี้ หรือที่ชาวบ้านเก็บได้จากการติดแห ติดอวนขณะออกหาปลา หรืองมได้ในทะเล เช่นเครื่องกระเบื้องลวดลายไทยและจีน เครื่องสังคโลก เครื่องลายคราม ถ้วยชาม จอก ไห ขวดเหล้าจีน ช้อน หีบโบราณ นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ.2540-2542 ได้ขุดพบของโบราณใต้ดิน เช่นโครงกระดูก เรือ เงินโบราณ เงินพดด้วง เหรียญในสมัยรัชกาลที่ 5 กำไล และเครื่องประดับต่างๆ
 

หลักกิโลเมตรจำลอง

ใครมาเที่ยวที่บ้านขุนสมุทรจีน มีจุดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับหลักกิโลเมตรจำลองขนาดใหญ่ เป็นหลักที่ระบุว่า ตรงจุดนี้คือตำแหน่ง บ้านขุนสมุทรจีนที่ 0 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 19 กิโลเมตร และห่างจากอ่าวไทยเพียง 0.5 กิโลเมตร หมายหมุดนี้แสดงความหมายว่า หากเมื่อใดน้ำทะเลเข้ามาถึงหลักกิโลที่ตั้งอยู่นี้ นั่นหมายความว่า บ้านขุนสมุทรจีนจมหายไปหมดแล้ว

ข้อแนะนำการเที่ยวภายในบ้านขุนสมุทรจีน

- การเดินทางจากถนนสายหลัก ใช้ทางเรือเท่านั้น ส่วนภายในชุมชน มีรถสามล้อชุมชน (ไปถึงได้บางส่วน) จักรยาน และเดินเท้า
- อาจไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาข้อเข่า ลำบากในการขึ้นลงเรือ เดินไม่สะดวก หรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็น
- สามารถนำเด็กไปด้วยได้ (ไม่ควรเล็กเกินไป) และควรอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด 
- ในชุมชน ไม่มีร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อ
- การเข้าพักที่บ้านขุนสมุทรจีน ควรติดต่อห้องพักไว้ล่วงหน้าก่อน (สามารถสอบถามได้จากศูนย์ประสานงานบ้านพักโฮมสเตย์บ้านขุนสมุทรจีน ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร) อาจไม่มีที่พักสำหรับคนที่ walk in
- บ้านพักในชุมชนจะเป็นลักษณะโฮมสเตย์​แบบกินง่าย อยู่ง่าย ไม่ฟู่ฟ่า โฮมเตย์มีหลายเจ้า
- บริเวณบ้านพักมักจะอยู่ริมน้ำ ลักษณะเหมือนวังปลา เป็นน้ำทะเล สามารถเล่นน้ำได้ ด้านล่างเป็นโคลน (ไม่ใช่หาดทราย และไม่มีชายหาด)
- อากาศที่บ้านขุนสมุทรจีน กลางวันแดดค่อนข้างร้อน แต่มีลมโกรก เย็นสบาย ตอนเย็นอากาศกำลังดี
- ควรเตรียมหมวก ทาโลชั่นกันแดด แว่นกันแดด หรือจะเตรียมยาทากันยุงพกไปด้วยก็ได้
- ควรสวมรองเท้าที่ใส่สบาย เช่นรองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะที่มีสายรัดส้น เป็นต้น
 

เส้นทางปั่นจักรยาน

- เส้นทางปั่นจักรยานภายในชุมชน มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ถนนขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร มีหลายแบบ เช่น ทางปูนมีรั้วกั้น 2 ข้าง ทางปูนไม่มีรั้วกั้น สะพานไม้ คันนา เส้นทางขี่จักรยานนี้เหมาะกับผู้ที่ขี่จักรยานแข็ง ไม่แนะนำผู้ที่ขี่ไม่ค่อยคล่อง หรือผู้ที่เริ่มหัดจักรยาน
- หากต้องการปั่นจักรยานจากถนนใหญ่สายหลัก สามารถปั่นไปตามสะพานปูน ประมาณ 10 กิโลเมตร (ทางปูนกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร แบบไม่มีรั้วกั้นขอบ เหมาะสำหรับผู้ที่ขี่จักรยานชำนาญแล้วเท่านั้น)

ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของห้องพักบ้านขุนสมุทรจีน

สำหรับคนที่อยากเข้าพักที่บ้านขุนสมุทรจีน เพื่อดื่มด่ำในวิถีชุมชนและบรรยากาศท้องถิ่น สามารถติดต่อที่พักแบบโฮมสเตย์ได้ ซึ่งมีให้เลือกสรรค์หลายแห่ง ควรติดต่อสอบถามก่อนเข้าพัก
 

ข้อควรทราบเกี่ยวกับพักที่บ้านขุนสมุทรจีน

- ที่พักในบ้านขุนสมุทรจีนมีลักษณะเป็นโฮมสเตย์ ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายหัว โดยรวมค่าที่พัก + กิจกรรมในชุมชน + อาหาร 3 มื้อ (เที่ยง เย็น เช้า)
- บ้านพักส่วนใหญ่ปลูกสร้างโดยอิงธรรมชาติ รูปแบบง่ายๆ สไตล์บ้านไร่ ปลายนา บรรยากาศสบายๆ ดูเป็นกันเอง นั่งมองฟ้า ดูดาว ที่พักไม่ได้เป็นรีสอร์ทหรู อาคารตึกสูง หรือโรงแรมติดแอร์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และใกล้ชิดความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- บ้านพักเป็นบ้านพัดลม (ไม่มีห้องแอร์) ไม่มีน้ำอุ่น
- ห้องน้ำของโฮมสเตย์ บางส่วนเป็นห้องน้ำรวม
- สิ่งอำนวยความสะดวกของโฮมสเตย์ จะมีที่นอน หมอน ผ้าห่ม และมุ้งให้ ควรเตรียมผ้าเช็ดตัว สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยาสระผม ครีมนวด และของใช้ส่วนตัวไปเอง
- บ้านพักที่บ้านขุนสมุทรจีน มีทั้งแบบการรวมกลุ่มของคนชุมชน ราว 4-5 กลุ่ม สามารถติดต่อกับศูนย์กลางประสานงานบ้านขุนสมุทรจีนโฮมสเตย์ (บ้านผู้ใหญ่สมร โฮมสเตย์) จุดนี้จะเป็นศูนย์กระจายผู้เข้าพักไปตามโฮมสเตย์ต่างๆ เพื่อแบ่งรายได้ให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีที่พักเอกชนที่ดูแลจัดการด้วยตนเองด้วย เช่น วังใหญ่โฮมสเตย์ สามพี่น้องโฮมสเตย์ บ้านก้องทะเลโฮมสเตย์ เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการเข้าพักโฮมสเตย์ในบ้านขุนสมุทรจีน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 500 - 600 บาท/คน (ค่าใช้จ่ายนี้ ไม่รวมค่าเรือและการเดินทาง) 
- ทางโฮมสเตย์จะจัดอาหารให้ 3 มื้อ แต่ละมื้อ จะเป็นอาหารที่ทางโฮมสเตย์จัดให้ตามความเหมาะสม เป็นอาหารชุด (ไม่ใช่บุฟเฟ่) สามารถทานได้จนอิ่ม อาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล หรืออาจมีอาหารทะเลด้วย เช่น ปูทะเลนึ่ง ปลาทอด หอยแครงลวก ทอดมันปลากราย แกงส้ม ผัดผัก ต้มยำ น้ำพริกผักสด ข้าวต้มกุ้ง เป็นต้น
- การซื้อผลิตภัณฑ์ หรือซื้ออาหารทะเลจากชาวบ้าน เป็นการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
 

กิจกรรมที่สามารถทำได้ในบ้านขุนสมุทรจีน (กรณีเข้าพัก)

- เดินชมวิถีชีวิต และธรรมชาติป่าชายเลน (เดินชมได้ทั้งวัน)
- พายเรือเล่น (ในบริเวณบ้านพักโฮมสเตย์)
- ตกปลา (กิจกรรมช่วงกลางวัน ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากศูนย์จะประสานงานโฮมสเตย์)
- ชมการแกะหอยนางรม (มักเป็นช่วงเย็น เดินไปชมได้ที่บ้านแกะหอยนางรม)
- ชมการทำเคย ทำกะปิ (เดินไปชมได้ที่บ้านทำกะปิ)

- เปิดวังกุ้ง กู้กุ้ง (ช่วงเที่ยงคืน - ตี 1 ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากศูนย์จะประสานงานโฮมสเตย์)
ข้อมูลเพิ่มเติมเปิดวังกุ้ง

- งมหอยแครง (ช่วงกลางวัน  แถวโฮมสเตย์)
รีวิวหลงรัก งมหอยแครง

- ปลูกป่าชายเลน (ช่วงกลางวัน ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากศูนย์จะประสานงานโฮมสเตย์)
รีวิวปลูกป่าชายเลน


เบอร์ที่พักโฮมสเตย์

- ศูนย์จะประสานงานบ้านพักโฮมสเตย์ บ้านขุนสมุทรจีน โทร. 085-020-0024
- บ้านผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร โทร. 086-567-5296
- ขุนสมุทรจีนโฮมสเตย์ โทร. 085-020-0024
- วังใหญ่โฮมสเตย์ โทร. 080-451-3074
- สามพี่น้องโฮมสเตย์ โทร. 080-557-2969, 098-231-5160
- น้องจอย โฮมสเตย์ โทร. 084-454-2397, 095-103-0305

การเดินทางไปบ้านขุนสมุทรจีน

- ขับรถ หรือนั่งรถสองแถวจากพระสมุทรเจดีย์ ไปยังท่าเรือป้ารี่ (รถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา)
- จอดรถไว้ที่ท่าเรือป้ารี่ (มีที่รับฝากรถ 100 บาท/คัน/คืน) จากนั้นนั่งเรือเหมาจากท่าเรือป้ารี่ ไปขึ้นที่ท่าวัดขุนสมุทรจีน หรือท่าเรือผู้ใหญ่บ้าน(สำหรับเข้าพักโฮมสเตย์)

ท่าเรือป้ารี่

- ท่าเรือป้ารี่ อยู่บนเส้นทางไปวัดสาขลา เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> อบต.แหลมฟ้าผ่่า -> ถนนสุขสวัสดิ์-วัดสาขลา
- เรือเป็นเรือหางยาว มีทั้งขนาดเล็ก (ไม่มีหลังคา) และขนาดใหญ่ (มีหลังคา) นั่งได้ตั้งแต่ 4-10 คน
- เมื่อเหมาเรือขาไปแล้ว ขอเบอร์โทรติดต่อเพื่อนัดเวลาคนขับเรือให้มารับขากลับด้วย
- เรือจากท่าเรือป้ารี่ ไปขึ้นที่ท่าเรือวัดขุนสมุทรจีน หรือ ท่าเรือผู้ใหญ่สมร จะคิดค่าเรือเท่ากัน
- ค่าเรือคิดราคา คนแรก 100 บาท คนต่อไป คนละ 10 บาท (หากไปคนเดียว = 100 บาท ไปหลายคนก็หารค่าเรือกัน)
 

ติดต่อคนขับเรือท่าป้ารี่

เรือเหมาช่วงเวลา 6.00 - 17.00 น.
โทร. 089-773-7768 (เป๋), 087-033-3711 (เอก), 081-778-1566 (ลุงโก่ง), 085-157-8101 (วุธ), 087-999-4083 (พี่เต๋า), 089-496-6680 (ขุน), 090-561-6279 (เพียว)

เรือเหมาช่วงเวลา 17.00 - 21.00 น.
โทร. 086-037-8034 (ลุงเขา)


การเดินทางไปท่าเรือป้ารี่

ห่างจากวัดสาขลา   4 กิโลเมตร
ห่างจากป้อมพระจุลจอมเกล้า   10 กิโลเมตร
ห่างจากท่าเรือพระสมุทรเจดีย์   9 กิโลเมตร
 

เส้นทางรถยนต์

เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ (ทางไปป้อมพระจุลฯ) -> เลี้ยวไปทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า -> ท่าเรือป้ารี่

1 ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าไปทางพระประแดง / ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ จนถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ จึงเลี้ยวขวาตรงสามแยกนี้ (มีหอนาฬิกา)
2 เมื่อเลี้ยวมาแล้ว ตรงจากแยกไปราว 3 กิโลเมตร พอข้ามสะพานสูงข้ามคลองสรรพสามิต ลงสะพานปุ๊บเลี้ยวขวาไปทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า (มี 7-11 อยู่ใกล้ปากซอย)
3 เลี้ยวขวามาแล้ว จึงตรงไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ และทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า จากนั้นจะเห็นป้ายบอกทางท่าเรือป้ารี่ ท่าเรืออยู่ตรงเชิงสะพาน ทางขวามือ

* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนอง พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) แล้วชิดซ้ายเพื่อออกถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามป้ายบอกทาง ป้อมพระจุลจอมเกล้า

** หากใช้วงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล (จากถนนปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ถนนพระราม 3) ตามป้ายบอกทางลงถนนสุขสวัสดิ์ (พระประแดง) จากนั้นตรงตามป้ายบอกทาง ป้อมพระจุลจอมเกล้า

*** หากใช้ถนนวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก (จากฝั่งตะวันออก หรือ ฝั่งตะวันตก) ตามป้ายทางออกถนนสุขสวัสดิ์ (พระสมุทรเจดีย์) เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามป้ายบอกทาง ป้อมพระจุลจอมเกล้าไปเรื่อยๆ

 

รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด รถโดยสารประจำทาง)

รถเมล์ + รถสองแถวใหญ่ + เรือเหมา

- หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.20 (ท่าน้ำดินแดง - พระสมุทรเจดีย์) ลงสุดสายที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (ตรงบริเวณนี้มีสองแถวหลายสาย ดูตามป้ายข้างรถ หรือถามคนขับ) รถจะผ่านท่าเรือป้ารี่

สาย ปอ. 20 ท่าดินแดง - พระสมุทรเจดีย์ (รถแอร์ ยูโรสีส้ม)

เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำท่าดินแดง - ถนนลาดหญ้า - วงเวียนใหญ่ - ตลาดวงเวียนใหญ่ - แยกตากสิน - แยกมไหศวรรย์ - บิ๊กซีดาวคะนอง - บางปะแก้ว - บิ๊กซีบางปะกอก - โรงพยาบาลบางปะกอก 1 - แยกประชาอุทิศ - ถนนสุขสวัสดิ์ - กม.9(ลงทางด่วน) - แยกวัดสน - แยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - วัดใหญ่ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์(หอนาฬิกา) - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์

** สาย 20 ที่เป็นรถมินิบัส (รถร้อน) จะสุดที่บิ๊กซีพระประแดง ไปไม่ถึงพระสมุทรเจดีย์ หากนั่งสายนี้มา ให้ลงรถที่บิ๊กซี แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์

รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1290) พระสมุทรเจดีย์ - สาขลา

(ข้างรถจะเขียนว่า เจดีย์ - อำเภอ - สาขลา)

เส้นทางเดินรถ ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์ - ถนนสุขสวัสดิ์ - เลี้ยวเข้าถนนสายสุขสวัสดิ์-นาเกลือ - ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ - วัดคลองพระราม - อบต.แหลมฟ้าผ่า - ท่าเรือป้ารี่ - วัดภาวนาราม - วัดสาขลา

* หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.140 (ทางด่วน), ปอ.142 (ทางด่วน) พอลงจากทางด่วนแล้ว ให้ลงรถเมล์ป้ายแรก แล้วต่อรถเมล์สาย ปอ.20 (ให้ขึ้นเฉพาะรถใหญ่ รถมินิบัสจะไปไม่ถึง) ไปสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา


รถตู้ + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด รถตู้)

- นั่งรถตู้สาย บางปะแก้ว - พระสมุทรเจดีย์ (คิวรถอยู่แถวตลาดบางปะกอก ช่วงแยกพระราม 2)
- จากนั้นต่อรถสองแถวหกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา ตรงบริเวณท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ไปลงท่าเรือป้ารี่
 

เรือข้ามฟาก + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)

ท่าเรือวิบูลย์ศรี (ตลาดปากน้ำ) - ท่าพระสมุทรเจดีย์

- นั่งเรือข้ามฟากจากตัวเมืองปากน้ำ (ท่าเรือวิบูลย์ศรี) ตรงตลาดปากน้ำ มาขึ้นท่าพระสมุทรเจดีย์
- ออกจากท่าเรือแล้ว ต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (รถจอดอยู่บริเวณนั้น) ไปลงที่ท่าเรือป้ารี่

ท่าเรือเภตรา (ปู่เจ้าสมิงพราย) - ท่าพระประแดง

- นั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือเภตรา ตรงสุดถนนปู่เจ้าสมิงพราย มาขึ้นฝั่งที่ท่าพระประแดง
- จากนั้นขึ้นรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ (ขึ้นแถวท่าน้ำได้) ไปลงสุดสาย แล้วต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา ไปลงที่ท่าเรือป้ารี่

 

ข้อมูลการติดต่อ บ้านขุนสมุทรจีน

ที่อยู่ บ้านขุนสมุทรจีน หมู่ 9 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
โทร. 086-567-5296, 085-020-0024 (ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร)
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/Bankhunjeen/

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 4.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดสาขลา วัดเก่าแก่ศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านสาขลา ตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นสถานที่เที่ยวชม พักผ่อน ได้ความรู้ ชมพระปรางค์เอน กราบสักการะหลวงพ่อโต รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของวัดผ่านพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ชมวัตถุโบราณมากมาย จากนั้นเดินช้อปของฝากจากตลาดชุมชน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นตำรับ "กุ้งเหยียด" หนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร การเดินทางมาวัดไม่ยาก รถยนต์เข้าได้ไม่ลำบาก และมีรถประจำทางเข้าถึง
ห่างออกไป ประมาณ: 6.1 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ป้อมพระจุล สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ สถานที่ควรค่าแห่งการจดจำ และร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในอดีต บอกเล่าแก่ลูกหลาน และอนุชนคนรุ่นหลัง ให้ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้แวะกราบสักการะพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 เดินชมป้อม หลุมปืน และปืนเสือหมอบ ที่ครั้งนึงเคยได้ร่วมยิงต้านเรือรบฝรั่งเศส ขึ้นชมเรือหลวงแม่กลอง เรือรบที่ใช้งานมายาวนานที่สุด
ห่างออกไป ประมาณ: 9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดอโศการาม เป็นวัดที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านพ่อลี ธัมมธโร ภายในวัดมีพระธุตังคเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์แรกและองค์เดียวในประเทศไทย ที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และอรหันตธาตุของพระพระธุดงค์กรรมฐานในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงเป็นปูชนียสถานองค์สำคัญ ที่ควรแห่งการกราบสักการะบูชา เพื่อระลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และอริยสงฆ์ผู้เป็นครูบาอาจารย์ นอกจากนี้พระธุตังคเจดีย์ ยังแสดงความหมายของ ธุดงควัตร ที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องการขัดเกลากิเลส โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติภาวนาในสายกรรมฐาน การเดินทางไปยังวัดมีเส้นทางไม่ยุ่งยากซับซ้อน อยู่ใกล้เมือง และสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง
ห่างออกไป ประมาณ: 9.3 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ สถานที่ท่องเที่ยวในตำนานที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กของหลายๆ คน สถานที่ท่องเที่ยวฮิตติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดสมุทรปราการมานาน และเป็นหนึ่งในฟาร์มจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สถานที่สร้างความสุขให้กับครอบครัวในวันหยุด ไฮไล์ของที่นี่คือการแสดงโชว์การจับจระเข้ด้วยมือเปล่า การแสดงช้าง ให้อาหารสัตว์ ถ่ายรูปกับสัตว์ เช่นเสือ ลิงชิมแปนซี และการเดินดูสัตว์อื่นๆ การเดินทางมายังฟาร์มจระเข้ไม่ยาก มีหลายเส้นทาง มีป้ายบอกเป็นระยะๆ หากไม่มีรถส่วนตัว ก็มีรถประจำทางเข้ามาถึงหน้าฟาร์มจระเข้เลย
ร้านอาหารใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 4.6 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ครัวโพธิ์ทะเล เป็นร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านนี้เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เน้นอาหารซีฟู้ดสดใหม่ ราคาเป็นกันเอง ลักษณะ ร้านเป็นแบบง่ายๆ สบายๆ สไตล์ริมบ่อกุ้ง บึงปลา รับลมธรรมชาติ นั่งชมวังกุ้ง วังปลา อยู่ริมทางไปวัดสาขลา เข้าทางเทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า สะดวกสำหรับคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว
ห่างออกไป ประมาณ: 5.3 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ครัวปูหลน ร้านอาหารดังสมุทรปราการฝั่งพระประแดง ที่คนพื้นที่รู้จักกันดี อยู่ในเขตแหลมฟ้าผ่า ใกล้ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านบรรยากาศชายทุ่ง ริมบึง นั่งลมโกรก เย็นสบาย ราคาไม่แพง ขับรถแยกจากถนนสายหลักเข้าไปตามเส้นทางไปวัดสาขลา และวัดขุนสมุทรจีน สะดวกสำหรับคนมีรถ หน้าร้านมีที่จอดรถริมทาง
ห่างออกไป ประมาณ: 6.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านสโมสรท้ายเรือหลวงแม่กลอง เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่มีมานานนับ 10 ปี อยู่ในบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ร้านติดทะเลปากอ่าว บรรยากาศดี เห็นวิวปากแม่น้ำ ได้เดินเที่ยวชมเรือหลวงแม่กลอง ป้อมปืนเสือหมอบ พร้อมทั้งสามารถสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 นั่งพักผ่อนทานอาหาร ในราคามาตรฐาน เหมาะกับมากับครอบครัวในวันหยุด นัดเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน แล้วแวะทานข้าวก่อนกลับ การเดินทางควรมีรถยนต์ส่วนตัว
ห่างออกไป ประมาณ: 9.1 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านอ่าวบางปู ร้านอาหารบรรยากาศริมทะเลบางปู หรืออยู่ในย่านที่เรียกว่า บางแสน ไม่ไกลจากตัวเมืองปากน้ำ ร้านบรรยากาศรับลมทะเลธรรมชาติ สามารถเดินชมทะเลกว่าง เห็นวิวพระอาทิตย์ตก นั่งสบายๆ สไตล์เป็นกันเอง ไม่เน้นหรูหรา ร้านอยู่ติดกับถนนริมเขื่อนเลียบทะเล (เป็นถนนเล็กๆ คั่นระหว่างร้านกับชายทะเล) ร้านกว้างขวาง มีที่จอดรถสะดวก
ห่างออกไป ประมาณ: 9.1 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านสายลม บางปู ร้านดังย่านบางปู (บางแสน 2) บรรยากาศริมทะเลปากอ่าวไทย ลมเย็นสบาย ร้านกว้างขวาง รองรับคนได้เยอะ มีที่ให้เดินเล่น ร้านตกแต่งสวยงามแปลกตา ออกสไตล์อาร์ต บวกกับความโรแมนติก เหมาะกับการหาที่ทานข้าวกับครอบครัว กับแฟน หรือกลุ่มเพื่อน มีมุมสวยๆ ของเก๋ๆ ให้ถ่ายรูปมากมาย ที่จอดรถสะดวก เดินทางมาง่าย หาไม่ยาก
ห่างออกไป ประมาณ: 9.6 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านโพธิ์ทะเล ร้านอาหารเก่าแก่ย่านบางปูเปิดให้บริการมานานกว่า 10 ปี เป็นร้านใหญ่ ติดริมทะเลปากอ่าวไทย บรรยากาศสบายๆ ดูง่ายๆ สไตล์เป็นกันเอง ไม่หรูมาก นั่งรับลมทะเลใต้ร่มเงาไม้ได้เรื่อยๆ ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น ร้านอยู่ในซอยติดกับวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และไมอามี่ เบย์ไซด์ หาไม่ยาก มีที่จอดรถ หากมารถยนต์ส่วนตัวจะสะดวกกว่า เพราะต้องเข้าซอย
ขอบคุณรูปภาพจาก:
ศูนย์ประสานงานบ้านพักโฮมสเตย์ ขุนสมุทรจีน - ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร (FB)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com