สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน จันทบุรี



ชมเหยี่ยวแดงที่บ้านท่าสอน เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดูแลโดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นศูนย์การเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ แหล่งการเรียนรู้ทางธรรมชาติ คนนิยมมาชมฝูงเหยี่ยวแดง เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน และดูหิ่งห้อยในยามค่ำ

สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าสอน ตำบลบ่อ อำเภอขลุง อยู่เส้นทางถนน จันทบุรี - ตราด ใกล้ถึงสะพานข้ามแม่น้ำเวฬุ

การชมเหยี่ยวแดงที่บ้านท่าสอน อยู่ในความดูแลของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณริมแม่น้ำเวฬุ ใกล้กับแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดจันทบุรี กับจังหวัดตราด

สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน เป็นศูนย์การเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นพื้นที่ขยายผลจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณลุ่มแม่น้ำเวฬุ ที่เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ของป่า สัตว์น้ำ และสัตว์ป่าอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นป่าที่ช่วยชะลอความแรงของลม และกระแสน้ำ ช่วยอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อีกหลายชนิด เช่นนก และแมลงต่างๆ ภายในลุ่มน้ำแห่งนี้ยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวประมงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานับร้อยปี บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสมดุลในการอยู่ร่วมกันของระบบนิเวศน์ ทั้งคน สัตว์ และป่า

การชมนกเหยี่ยวแดง
การชมเหยี่ยวแดง* เป็นกิจกรรมหนึ่งที่หาดูได้ยาก เพราะเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่แทบจะไม่มีให้เห็นในธรรมชาติแล้ว ปัจจุบัน พบได้เฉพาะบริเวณป่าโกงกางลุ่มแม่น้ำเวฬุ ซึ่งเป็นเขตป่าที่มีฝูงเหยี่ยวแดงอาศัยอยู่นับ 1,000 ตัว โดยแยกเป็นกลุ่มๆ ละ 100 - 300 ตัว

* เหยี่ยวแดง บางครั้งนิยมเรียกว่า เหยี่ยวแดงหัวขาว เพราะมีลักษณะเฉพาะคือ ที่อกและหัวมีสีขาว ลำตัวและปีกสีน้ำตาลแดง ปลายปีกสีดำ ขาสีเหลือง เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ชอบอาศัยอยู่ตามปากอ่าว ริมทะเล เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เหยี่ยวแดงมีขนาดความยาวจากปลายปากจรดหางประมาณ 48 - 51 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ชอบอยู่ตัวเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็ก เวลาพบอาหารจะบินเป็นวงกลม แล้วดิ่งลงมาโฉบอาหาร อาหารเหยี่ยวเป็นสัตว์ตัวเล็ก เช่น กบ เขียด หนู งู และสัตว์เลื้อยคลานตามป่าชายเลน

การชมนกเหยี่ยวแดง หากเดินทางถึงสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน​ จะต้องไปลงเรือ ไปยังหมู่บ้านเลนตัก ที่อยู่ห่างไปประมาณ 6-7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ระหว่างนั่งเรือตามเส้นทางไปยังจุดดูนก สองฝั่งคลองจะเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ ได้เห็นนกชนิดต่างๆ รวมถึงวิถีชีวิตชาวประมงที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแห่งนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นถิ่น ทำการประมงสืบทอดกันมานาน ได้เห็นการยกยอ วางอวน วางลอบปู การเก็บกู้โพงพางดักสัตว์น้ำ และการเลี้ยงปลาในกะชัง

โดยทั่วไปแล้วเหยี่ยวแดงจะบินจากรังออกไปหากินแต่เช้า และกลับรังในช่วง 4-5 โมงเย็น จุดที่ชมเหยี่ยวแดงเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้รัง มีลักษณะเหมือนบึงกว้าง เป็นแอ่งน้ำที่ถูกโอบล้อมด้วยป่าโกงกางที่เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยวแดงประจำถิ่น เมื่อเรือไปถึงจะมีจุดให้เดินขึ้นไปยืนบนฝั่งที่เป็นเนินดิน เพื่อรอชมเหยี่ยว เวลา 4-5 โมงเย็นของทุกวัน จะมีชาวบ้านนำปลาตัวเล็ก มาให้อาหารเหยี่ยว โดยโยนไว้กลางแอ่งน้ำ เมื่อฝูงเหยี่ยวแดงออกมา จะบินวนอยู่เหนืออาหารก่อน แล้วจึงผลัดกันลงโฉบเหยื่อจากผิวน้ำ แล้วนำขึ้นไปกินบนยอดไม้

กิจกรรมการล่องเรือชมเหยี่ยวแดง ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่่วโมง และมีเพียงวันละรอบเดียวเท่่านั้น หากต้องการชมเหยี่ยว ควรไปถึงสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ ก่อนล่วงหน้า

ข้อแนะนำ
- การชมเหยี่ยวแดงต้องนั่งเรือไป และอาจจะไม่มีเรือออกทุกวัน ควรโทรสอบถามกับทางพัฒนาทรัพยากรฯ ก่อนล่วงหน้า
- การให้อาหารเหยี่ยวมีในเวลา 16.00 น. ควรไปถึงสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ ช่วง 15.00 - 15.30 น. เพื่อใช้เวลาในการนั่งเรือไปถึง
- ค่าเรือ 290 บาท / คน (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง) หากเดินทางเป็นหมู่คณะอาจเป็นการเช่าเหมาลำซึ่งราคาแล้วแต่ตกลงกัน
- เพื่อความปลอดภัย ควรสวมใส่ชูชีพติดตัวตลอดการเดินทาง

การชมหิ่งห้อย
การเดินชมหิ่งห้อย* เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน ที่จัดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าชมหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนในช่วงค่ำคืน ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเดินชมหิ่งห้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนพฤษภาคม ในช่วงเวลา 19.00 - 22.00 น.

การเดินชมหิ่งห้อย จะต้องเข้าไปจอดรถในเขตสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ จากนั้นจะต้องเดิน หรือขี่จักรยานตามทางถนนลาดยางเข้าไป จากนั้นจะเป็นเส้นทางปูนที่ต้องเดินเข้าไปในป่าชายเลน จะได้เห็นหิ่งห้อยเกาะตามยอดไม้ ส่องแสงระยิบระยับ ซึ่งเป็นหิ่งห้อยทะเลที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนริมทะเล

* หิ่งห้อยเป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง พบทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ชนิด พบมากในเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบมากว่า 100 ชนิด หิ่งห้อย เป็นแมลงที่ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์หรือความเสื่อมโทรมของพื้นที่ เพราะหิ่งห้อยจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด ปราศจากมลพิษและไม่มีสิ่งรบกวน หากพื้นที่ในระบบนิเวศน์นั้นไม่พบตัวหนอน และหิ่งห้อยตัวเต็มวัย แสดงว่าระบบนิเวศน์นั้นอาจเปลี่ยนไปมีมลพิษเกิดขึ้น
หิ่งห้อย เป็นแมลงนักล่า ที่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของหอยทาก รวมถึงหอยอีกหลายชนิดที่เป็นพาหะนำโรคสู่คนและสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในตับ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หิ่งห้อยมี 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย อาหารของหิ่งห้อยแต่ละระยะจะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ในระยะที่เป็นตัวหนอนอยู่ตามริมน้ำจะกินหอย ไส้เดือน กิ้งกือ เมื่ออยู่ในระยะตัวเต็มวัย ที่บินได้ จะกินน้ำค้าง น้ำหวานจากดอกไม้ ในเวลากลางวันหิ่งห้อยจะอยู่ตามพงหญ้า ตามที่ชื้นแฉะ หรือกาบใบไม้ ส่วนในเวลากลางคืนจะบินออกมาจับคู่ ผสมพันธุ์วางไข่

แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็น จะเกิดบริเวณส่วนท้องด้านล่าง ปล้องที่ 5-6 เกิดจากปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกาย โดยเซลล์ประสาทเป็นตัวควบคุมการกระพริบของแสง โดยจะกระพริบแสงตามเวลาในร่างกาย ทุก 24 ชั่วโมง ปกติจะส่องแสงในช่วงโพล้เพล้ หลังพระอาทิตย์ตกเล็กน้อย

ข้อแนะนำในการดูหิ่งห้อย
- ห้ามสูบบุหรี่
- ห้ามส่งเสียงดัง
- ห้ามฉายไฟบริเวณหิ่งห้อย
- ห้ามฉายไฟส่องสว่าง
- ห้ามใช้ยาป้องกันแมลงทุกชนิด
- เดือนที่เหมาะกับการดูหิ่งห้อย คือช่วงหลังฝน เดือนที่เหมาะประมาณ พฤศจิกายน - พฤษภาคม (ควรสอบถามจากสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ ก่อน)
- หิ่งห้อยเหมาะที่จะดูในคืนเดือนมืด หรือช่วงคืนเดือนแรม ตั้งแต่แรม 8 ค่ำ จนถึงขึ้น 8 ค่ำ (จะสังเกตได้เห็นพระจันทร์ครึ่งดวง หรือพระจันทร์เสี้ยวช่วงเที่ยงคืน)
เขตสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงศึกษาระบบนิเวศหลายอย่าง เช่น
- ขี่จักรยาน เป็นเส้นทางลัดเลาะตามป่าชายเลนเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร
- ชมสวนนกน้ำ ช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพมาให้ชม
- ล่องเรือชมวิถีชาวเล ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเวฬุ
- เดินชมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ระยะทาง 1.2 กิโโลเมตร

กิจกรรมอื่นๆ ภายในสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน
- ขี่จักรยาน เป็นเส้นทางลัดเลาะตามป่าชายเลนเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร
- ชมเหยี่ยวแดง (ติดต่อสอบถามรายละเอียดก่อนเข้าชม)
- ชมสวนนกน้ำ
- ล่องเรือชมวิถีชาวเล
- ชมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ระยะทาง 1.2 กิโโลเมตร

ข้อแนะนำ
- มีบริการให้ยืมจักรยานในราคา 20 บาท
- สำหรับผู้ที่ต้องการพักแรมภายในสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ ยังไม่มีอาคารบ้านพัก มีเพียงที่สำหรับกางเต็นท์ และให้บริการเช่าเต็นท์
- ค่าเช่าเต็นท์ 200 -300 บาท / คืน พักได้ 2-3 คน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องนอน ถุงนอน
ใกล้กับจุดกางเต็นท์ มีบริการห้องอาบน้ำ สุขา
- หากนำเต็นท์มาเอง เสียค่าธรรมเนียม 50 บาท / คน / คืน
- เรือสำหรับนำชมเหยี่ยวแดง เป็นเรือหางยาว มีหลังคาคลุม เรือนั่งได้ 12-17 คน

การเดินทาง
ห่างจากตัวอำเภอขลุง 20 กิโลเมตร
ห่างจากน้ำตกพลิ้ว 30 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 45 กิโลเมตร
ห่างจากหาดแหลมสิงห์ 45 กิโลเมตร

รถยนต์

1จากแกลง จ.ระยอง ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (หมายเลข 3) ตรงมาจันทบุรี จนถึงสามแยกปากแซง แล้วเลี้ยวขวาไปทางจังหวัดตราด (ทางเดียวกับไปน้ำตกพลิ้ว และแหลมสิงห์)
 
2เมื่อตรงตามเส้นทางผ่านอำเภอขลุงมาเรื่อยๆ สังเกตว่า พอเห็นวัดท่าสอนทางขวามือ ให้ชิดขวา เพื่อเตรียมตัวกลับรถ
3ตรงจากวัดท่าสอนมาราวๆ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางเข้า สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน อยู่ทางขวามือ ซึ่งมีจุดกลับรถห่างออกไปอีกราว 50 เมตร
* หากกลับรถตรงหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรฯ ไม่ทัน ก็สามารถเลยไปกลับรถใต้สะพาน ที่ห่างออกไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร
4เมื่อกลับรถมาแล้ว จึงเลี้ยวเข้าตรงทางเข้า สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน
 
5จากนั้น ให้ตรงต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จึงจะเป็นสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน


รถโดยสาร
- สามารถโดยสารรถประจำทาง (รถทัวร์) หรือรถตู้ มาลงที่ตัวเมืองจันทบุรี แล้วเหมารถมาสด้ามายังสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน
- หรือโดยสารรถรถประจำทาง (รถทัวร์) หรือรถตู้ ที่ผ่านอำเภอขลุง แล้วเหมารถสามล้อที่ขลุงมาเที่ยวก็ได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ท่าสอน จังหวัดจันทบุรี
เวลาทำการ
ทุกวัน 6.30 - 18.00 น.
ที่อยู่ 9/2 หมู่ 7 บ้านท่าสอน ตำบลบ่อ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ติดต่อ 039-424-186, 090-875-7633, 089-245-3509, 061-683-0926
เว็บไซต์ http://clupshop.freevar.com/
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/etaetarson.chanthaburi

หรือ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (สำนักงานดูแลภาคตะวันออก)
ติดต่อ 038-655-420-1, 038-664-585


ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :123
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ไม่มีสถานที่ใกล้เคียง
ร้านอาหารใกล้เคียง
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ rakmae_pop (Pantip), ศูนย์การเรียนรู้เชิงนิเวศป่าชายเลนท่าสอน จ.จันทบุรี (FB)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com