หมู่บ้านไร้แผ่นดิน จันทบุรี



การเที่ยวชมหมู่บ้านไร้แผ่นดิน หมู่บ้านที่มีความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี ชมทะเลแหวก ความสร้างสรรของธรรมชาติแห่งเดียวในภาคตะวันออก ชมฝูงเหยี่ยวแดงกลางทะเล ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีชุมชน อยู่ในพื้นที่ตำบลบางชัน อำเภอขลุง

หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ฝูงเหยี่ยวแดง และทะเลแหวก เป็นกิจกรรมในพื้นที่ของตำบลบางชัน ซึ่งเป็นตำบลทางตอนล่างของอำเภอขลุง ที่มีพื้นที่อยู่บริเวณริมปากแม่น้ำเวฬุ รวมถึงส่วนที่เชื่อมต่อกับจังหวัดตราด

- หมู่บ้านไร้แผ่นดิน อยู่บริเวณที่คลองบางชันใหญ่ ไหลออกไปยังแม่น้ำเวฬุ อยู่ในพื้นที่ตำบลบางชัน อำเภอขลุง
- การชมเหยี่ยวแดง อยู่บริเวณป่าโกงกาง ลุ่มน้ำเวฬุ มีหลายแห่งในตำบลบางชัน และตำบลบ่อ อำเภอขลุง
- ทะเลแหวก อยู่ในบริเวณปากน้ำแม่น้ำเวฬุ ช่วงก่อนที่แม่น้ำจะไหลออกทะเล อยู่ในพื้นที่ตำบลบางชัน อำเภอขลุง

ตำบลบางชัน มีเนื้อที่ประมาณ 64.4 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 40,305 ไร่ มีลักษณะเป็นเกาะ และป่าชายเลน ที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเลอ่าวไทย บริเวณปากอ่าว และส่วนที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำเวฬุ* ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลำคลองผ่านหลายสาย ชาวบ้านบางชัน ประกอบอาชีพทางการประมง ในลักษณะประมงพื้นบ้าน เช่น การเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยแครง วางลอบปู แร้วปู เบ็ดราว เบ็ดธง ยกยอ ทอดแห และหลักโพงพาง**

* แม่น้ำเวฬุ เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาสระบาป และเขาบรรทัด ปากน้ำเวฬุ มีลักษณะที่เรียกว่าชะวากปากทะเล คือมีแม่น้ำสายเล็กสายน้อย เป็นช่องเว้าแหว่ง คดเคี้ยวไปมาก่อนที่จะออกสู่ปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสะสมของตะกอนจำนวนมาก เกิดเป็นป่าชายเลน ที่เป็นแนวกำบังลม และเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ
คำว่า เวฬุ ออกเสียงว่า เวน หรือ เว-ลุ แปลว่าต้นไผ่
(ข้อมูลจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/)

 

** โพงพาง หรือหลักเคย เป็นเครื่องมือจับปลาพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นอวนที่มีหน้าตาคล้ายถุงขนาดใหญ่ ปากอวนกางยึดไว้กับเสา 2 ต้นที่ปักอยู่ในน้ำ เพื่อขึงให้ปากถุงอ้าไว้ตลอด ถุงอวนมักจะมีขนาดตาห่างบริเวณปากอวน แล้วจึงค่อยๆ ถี่ จนถึงถี่มากบริเวณก้นถุง ส่วนใหญ่จะทำเป็นถุงยาว 10-30 เมตร จึงสามารถจับสัตว์น้ำได้หลายขนาด

การใช้โพงพาง เป็นการจับปลาที่อาศัยกระแสน้ำ โดยตั้งโพงพางไว้ในจุดน้ำไหล เพื่อให้น้ำพัดพาสัตว์น้ำเข้ามาในถุงอวน ปกติจะทำกันตามปากแม่นำ้ เพื่อจับเคย และกุ้ง

ปัจจุบันถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ผิดกฏหมาย และห้ามใช้ เพราะโพงพางจับเอาสัตว์น้ำทุกชนิด และทุกขนาด ซึ่งมีผลให้ทรัพยากรหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะอาจมีตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ติดมาด้วย เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางชนิด นอกจากนี้การวางโพงพางอาจทำให้กีดขวางการสัญจร และทำให้เกิดปัญหาขวางทางน้ำจนเกิดน้ำท่วมได้
(ข้อมูลจาก www.fishtech.mju.ac.th/)

 

เที่ยวชมหมู่บ้านไร้แผ่นดิน
หมู่บ้านไร้แผ่นดิน หรือหมู่บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ที่ 2 เดิมเคยเรียกกันว่า "บ้านโรงไม้" เป็นชุมชนที่มีความเป็นมายาวนานประมาณ 135 ปีมาแล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2410 มีชาวจีนที่เดินทางอพยพเข้ามาในไทย ทำการค้าขายติดต่อไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อผ่านมาที่จันทบุรีได้นำเรือมาหลบลมในบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ และเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ​์ทางทะเล มีสัตว์น้ำมากมาย จึงได้ทำการประมง จนกลายเป็นอาชีพ

หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเวฬุ เดิมเป็นพื้นที่ป่าโกงกางหนาแน่น ที่มีอาณาบริเวณกว้างมาก ในอดีตมีชาวบ้านมาตัดไม้โกงกางไปขายเพื่อทำถ่าน กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐเปิดสัมปทานให้มีการตัดไม้โกงกางในพื้นที่ลุ่มน้ำเวฬุ จึงมีผู้คนเข้ามาตัดไม้กันเป็นจำนวนมาก เมื่อตัดได้จะนำไม้มากองไว้ในบริเวณนี้เพื่อรอการเข้าเตาเผาถ่่าน จนเป็นที่มาของชื่อ "โรงไม้" หลังจากนั้น เมื่อหมดระยะสัมปทานป่าเผาถ่าน ผู้คนที่เคยทำกินอยู่บริเวณนี้จึงได้จับจองพื้นที่เพื่อตั้งรกราก และประกอบอาชีพประมง
(ข้อมูลจาก องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน http://www.bangchan.go.th/)

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนจากเรียกว่าบ้านโรงไม้ เป็น "หมู่บ้านไร้แผ่นดิน" โดยคำว่า "ไร้แผ่นดิน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้อพยพที่ไร้สัญชาติ หรือผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เป็นการเรียกเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ ที่เป็นส่วนหนึ่งของทะเล มีน้ำล้อมรอบ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน

ปัจจุบันนี้ การเข้าถึงชุมชน ปัจจุบันยังต้องใช้การติดต่อทางเรือ เพราะยังไม่มีถนนเชื่อมกับชุมชนภายนอก และชุมชนใกล้เคียง การเดินทางจากหมู่บ้านไปยังเมืองทำได้โดยการใช้เรือ ซึ่งแต่ละวันมีเรือโดยสารเข้า-ออกวันละ 1 เที่ยว ให้ชาวบ้านได้ออกไปซื้อของใช้จำเป็นกลับมายังหมู่บ้าน โดยตอนเช้ามีเรือออกจากหมู่บ้าน 7.30 น. และกลับถึงหมู่บ้านตอนเที่ยงวัน

การสร้างบ้านเรือนของหมู่บ้านไร้แผ่นดิน จะใช้วิธีการตอกเสาไม้ลึกลงไปในเลน จากนั้นจะปลูกบ้านขึ้นไปให้สูงเหนือน้ำ เป็นบ้านไม้หลังคามุงจาก ปัจจุบันมีการใช้เสาปูน ทำให้เกิดความคงทน และแข็งแรงกว่าเดิม นอกจากนี้พื้นที่บางแห่งในหมู่บ้านก็ได้มีการนำดินมาถมเพื่อให้เป็นพื้นดินที่แข็งแรงขึ้นด้วย ส่วนถนนในหมู่บ้านนั้น เป็นทางถนนคอนเกรีตเล็กๆ กว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาวต่อเนื่องไปโดยรอบ สามารถเดินเที่ยวชมได้รอบหมู่บ้าน

ประชากรที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ปัจจุบันมีเกือบ 500 หลังคาเรือน มีประชากรอยู่มากกว่า 1,000 คน บางบ้านยังเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมา บางบ้านได้ปรับให้เป็นที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ แปรรูปผลิตผลทางทะเล เช่น ทำกุ้งแห้ง กุ้งต้มหวาน กะปิ หมึกแห้ง ปลาเค็ม ขายสินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่หมู่บ้าน เป็นต้น

การประกอบอาชีพหลักของชุมชนยังคงเป็นการทำประมง ตกปู หาปลา ยกยอกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงหอยนางรม ทำกุ้งแห้ง* และทำเคย** ซึ่งถือว่าลุ่มน้ำเวฬุ ยังคงเป็นครัวขนาดใหญ่สำหรับชาวบางชัน ที่ยังมีอาหารทะเลสดให้กินได้ตลอด แต่สิ่งของหายาก หรือสิ่งที่แพงที่สุดกลับเป็น น้ำจืด ที่ต้องอาศัยน้ำฝน หรือซื้อมาจากฝั่งเมือง และน้ำมันเรือ ที่เป็นพาหนะสำคัญที่สุดสำหรับชาวบางชัน

* การทำกุ้งแห้ง เป็นการนำกุ้งสดทั้งตัวมาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปต้มทั้งเปลือกประมาณ ครึ่งชั่วโมง แล้วนำไปตาก 2 แดด(คือ 2 วัน) หลังตากแล้ว นำกุ้งใส่ในถุงผ้า แล้วใช้ถุงผ้าตีพอให้เปลือกกุ้งหลุดจากตัว จากนั้นจึงนำมาร่อนเอาเปลือกออก การทำกุ้งแห้ง หากใช้กุ้งสด 10 กิโลกรัม จะทำกุ้งแห้งได้เพียง 1 กิโลกรัม ดังนั้นราคากุ้งแห้งจึงสูงกว่ากุ้งสด การเลือกกุ้งแห้งนั้นจะต้องดูที่ไม่มีเชื้อรา มีกลิ่นหอมจากตัวกุ้ง (ไม่มีกลิ่นอับ) รสชาติต้องไม่เค็มเกินไป และสีออกส้มอ่อน ซึ่งเป็นสีธรรมชาติของกุ้ง กุ้งแห้งบางชัน เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ เป็นกุ้งแห้งที่มีคุณภาพ กุ้งตัวโต รสชาติไม่เค็ม

 

** เคย คือ สัตว์น้ำตัวเล็กๆ คล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่ามาก ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่ใกล้ผิวทะเล หรืออาจอยู่ลึกไปไม่มาก มักอยู่รวมกันตามชายทะเลและลำคลองบริเวณใกล้ป่าชายเลน เคยถือว่าให้คุณค่าทางโภชนาการสูง นำมาใช้ทำกะปิ

สถานที่สำคัญภายในหมู่บ้านไร้แผ่นดิน
- ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ เป็นศาลเจ้าจีนที่มีอายุพอๆ กับการเกิดขึ้นของชุมชน ตั้งอยู่ปากคลองบางชันใหญ่ ส่วนที่ออกไปยังแม่น้ำเวฬุ
- วัดบางชัน หรือวัดอรัญสมุทธาราม เป็นวัดที่มีเอกสารจัดตั้งเป็นวัด เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งล่วงมาได้ร้อยกว่าปีแล้ว ภายในวัดมีซากสัตว์ที่เคยพบได้ในบริเวณลุ่มน้ำ เช่นโครงกระดูกจระเข้ ปลาโลมา กระดูกวาฬ เขากวาง หอยต่างๆ จัดแสดงไว้ในตู้
- โรงเรียนวัดบางชัน หรือโรงเรียนประภากรราษฎร์รังสฤษฏ์ (ระดับอนุบาล - ป.6)
- อนามัย

 

วิธีการไปยังหมู่บ้านไร้แผ่นดิน
1. เดินทางไปยังท่าเทียบเรือขลุง (ดูการเดินทางไปยังท่าเรือขลุง)
2. ที่ท่าเรือจะมี เช่าเรือ หรือเรือเหมา สำหรับพาไปยังที่พักโฮมสเตย์ ที่่จองไว้ล่วงหน้า (ติดต่อสอบเพิ่มเติมได้ที่ท่าเรือขลุง)
3. หากพักที่โฮมสเตย์ ในหมู่บ้านไร้แผ่นดิน (มี 2-3 แห่ง) จะใช้เวลาจากท่าเรือไปยังหมู่บ้าน ประมาณ 30 - 45 นาที
4. กรณีต้องการเที่ยวที่ต่างๆ แบบวันเดย์ทริป อาจเช่าเรือบริเวณท่าเรือเพื่อนำเที่ยว (สอบเพิ่มเติมได้ที่ท่าเรือขลุง) แวะชมหมู่บ้านไร้แผ่นดิน สามารถนำเรือเทียบจอดเพื่อขึ้นไปเดินเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ดูการทำกุ้งแห้ง ซื้อของฝาก ของที่ระลึก ชมวัดบางชัน วัดที่มีมานานกว่า 140 ปี อาจรวมการเที่ยวชมทะเลแหวก และชมฝูงเหยี่ยวแดง

 

ชมฝูงเหยี่ยวแดง
การชมฝูงเหยี่ยวแดงหัวขาว* เป็นกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การที่มีเหยี่ยวแดงในบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ จึงหมายถึงความสมดุลของธรรมชาติของผู้คน สัตว์ และป่าในแถบนี้

เหยี่ยวแดงบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ เป็นสัตว์ประจำถิ่น อาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าโกงกาง ในลุ่มน้ำเวฬุ โดยจะทำรัง และขยายพันธุ์อยู่บนต้นไม้ในบริเวณนั้นด้วย เหยี่ยวแดงในเขตป่าโกงกางแถบนี้ทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 1000 กว่าตัว แยกอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 100 - 200 ตัว ธรรมชาติของเหยี่ยวจะกินปลาตัวเล็กตัวน้อยตอนน้ำลง

* เหยี่ยวแดง เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง อาศัยอยู่ตามปากอ่าว ริมทะเล เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 มีลักษณะเฉพาะคือ ทั้งตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ยกเว้นที่หัวและอกมีสีขาว ปลายปีกสีดำ ขาสีเหลือง ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ความยาวจากปลายปากจรดหางประมาณ 48 - 51 เซนติเมตร ชอบอยู่ตัวเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็ก เวลาพบอาหารจะบินเป็นวงกลม แล้วดิ่งลงมาโฉบอาหาร


กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการท่องเที่ยวบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ เพราะการชมเหยี่ยวแดงในธรรมชาติเป็นสิ่งที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน จุดที่ชมเหยี่ยวแดง จะเป็นบริเวณเหมือนเวิ้งกว้าง ริมป่าโกงกางบริเวณที่มีฝูงเหยี่ยวแดงอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะนำอาหาร เช่นพวกปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ติดอวนมา โยนอาหารลงไปในน้ำ จากนั้นจะมีเหยี่ยวแดงที่บินวนอยู่นับร้อย โฉบลงมาจับอาหารขึ้นไปกิน

การไปถึงยังจุดให้อาหาร อาจเป็นเรือหางยาว หรือโฮมสเตย์บางแห่งก็จะพานั่งในแพไม้ไผ่ลาก หรือแพเปียก ลากไปยังจุดชมเหยี่ยวแดง การให้อาหารเหยี่ยวจะมีเพียงวันละครั้ง ในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น ใช้เวลาในการชมเหยี่ยวประมาณ 1.30 ชั่วโมง

 

ข้อแนะนำ
- หากเช่าเรือจากท่าเรือขลุงเพื่อชมเหยี่ยวแดง ควรออกจากท่าเรือไม่ช้ากว่า 15.30 น.
- การชมเหยี่ยวแดง สามารถดูได้ทั้งปี
- ไม่ควรจ้าง หรือขอให้ชาวบ้านจับเหยี่ยวมาขายให้
- เพื่อความปลอดภัย ควรสวมใส่ชูชีพติดตัวตลอดการเดินทาง

 

 

ชมทะเลแหวก หาดทรายสีดำ
ทะเลแหวก ที่บางชัน เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ทำให้ทิวทัศน์ท้องทะเลดูสวยงามแปลกตา ทะเลแหวก จะเกิดขึ้นในช่วงน้ำลง บริเวณปากแม่น้ำเวฬุก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเล พอน้ำเริ่มลด ก็จะทำให้เห็นเนินสันทรายโผล่ขึ้นมา ทอดยาวอยู่กลางทะเล ทรายที่นี่จะไม่เหมือนกับทะเลแหวกทางภาคใต้ ตรงที่เนินทรายจะมีบางส่วนเป็นทรายสีดำ โดยไม่ได้เกิดจากสิ่งสกปรกมาทับถม แต่เป็นเม็ดทรายที่มีเนื้อทรายสีดำ บนเนินทราย

ลักษณะของทะเลแหวกเป็นลักษณะการเกิดสันทรายบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ ที่มีการพัดพาโคลนตะกอนจากแม่น้ำมาทับถม มีลักษณะปริ่มน้ำ ตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง เวลาน้ำขึ้นน้ำจะท่วมมิดเนินทราย เวลาน้ำลงลานทรายจะโผล่พ้นผิวน้ำ ทำให้สามารถลงไปเดินเล่น ถ่ายรูปวิวท้องทะเลกว้างใหญ่ ที่มองเห็นไปจนถึงเกาะช้าง และยังได้เห็นสัตว์เล็กๆ พวกหอย และปูตัวน้อย อย่างปูเสฉวน ออกมาวิ่งให้เห็นเต็มไปหมด

ข้อแนะนำการพักโฮมสเตย์ในขลุง
- ช่วงที่เหมาะสมกับการเข้าพักโฮมสเตย์คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน (ช่วงก่อนเข้าหน้าฝน)
- ในช่วงหน้าร้อน จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และอาหารทะเลจะค่อนข้างเยอะกว่าหน้าอื่นๆ
- โฮมสเตย์ในเขตบางชัน มักเป็นที่พักที่ใช้บ้าน หรือที่อยู่อาศัยมาดัดแปลงเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว บางแห่งอาจสร้างขึ้นในรูปแบบคล้ายรีสอร์ทแบบเรียบง่าย ความสะดวกสบาย จึงอาจไม่เท่ากับรีสอร์ทหรูหรือ โรงแรมโดยทั่วไป
- การพักแบบโฮมสเตย์ เป็นการคิดราคาเป็นรายหัว โดยเหมาะรวมค่าที่พัก + อาหาร และเครื่องดื่ม (2-3 มื้อ) + กิจกรรมที่ทางโฮมสเตย์จัด ก่อนเข้าพักควรติดต่อสอบถามเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะแต่ละแห่งอาจกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน
- ราคาการเข้าพักโฮมสเตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 - 2,000 บาท/คน + อาหาร และเครื่องดื่ม 2-3 มื้อ (มักจะเป็นมื้อเย็น กับมื้อเช้า หรือเงื่ิอนไขตามที่แต่ละแห่งกำหนด) + กิจกรรมต่างๆ ของทางโฮมสเตย์ (ราคาอาจเพิ่มจากนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยว ของแต่ละแห่ง)
- อาหารที่ทางโฮมสเตย์จัดให้ มักจะเป็นอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ (กินอาหารได้แบบไม่จำกัด) และมักจะมีมื้อที่เป็นอาหารทะเลรวมอยู่ด้วย เช่น ปู หอย ปลา ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น บางโฮมสเตย์อาจมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป ควรสอบถามโฮมสเตย์แต่ละแห่งให้ชัดเจนก่อนตกลงเข้าพัก
- ห้องพักภายในโฮมสเตย์มักมีเครื่องอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เตียง เครื่องนอน ทีวี พัดลม แอร์ (บางแห่งอาจไม่มีทีวี หรือแอร์) ในห้องพักอาจจะไม่มี ตู้เย็น กาน้ำร้อน ผ้าเช็ดตัว เครื่องอาบน้ำ(บางแห่งมีให้บ้าง) เป็นต้น
- โฮมสเตย์แต่ละแห่งมักมีห้องพักจำนวนจำกัด ห้องพักแบบสำหรับ 2 คน อาจมีน้อยกว่าห้องสำหรับแบบกลุ่ม หากต้องการเข้าพักเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่คณะ ควรสอบถามรายละเอียดกับทางโฮมสเตย์ให้ชัดเจนก่อน ส่วนใหญ่การเข้าพักจำนวนมาก ทางโฮมสเตย์มักจะจัดเป็นห้องพักแบบรวม มีที่นอนวางเรียงแบบนอนพื้น บางแห่งนอนได้ห้องละ 10-20 คน (บางแห่งจัดที่พักได้ถึง 50-60 คน)
- ที่พักบางแห่งเป็นห้องพักที่มีห้องน้ำแยกออกไปจากที่พัก (ห้องน้ำรวม)
- การติดต่อเข้าพักเป็นกลุ่ม หรือมีจำนวนมาก ควรจองที่พักกับทางโฮมสเตย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทางโฮมสเตย์สามารถเตรียมจัดหาที่พัก และอาหารไว้ให้ล่วงหน้า
- ราคาที่พักแบบเหมาจ่าย มักจะไม่รวมค่าเรือโดยสาร กรณีโดยสารเรือ หรือเหมาจากท่าเรือไปยังโฮมสเตย์ รวมถึงค่าเรือเหมาสำหรับไปเที่ยวในจุดที่นอกเหนือจากทางโฮมสเตย์กำหนดไว้
- การเข้าโฮมสเตย์บางแห่ง จะต้องลงเรือจากท่าเรือขลุง เพื่อไปยังบริเวณที่พัก ผู้ที่ขับรถมา จะต้องจอดรถไว้บริเวณท่าเรือ ซึ่งจะมีที่รับฝากรถ (ค่ารับฝากรถอยู่ที่ 50-70 บาท/วัน) ค่าใช้จ่ายนี้มักจะไม่รวมกับค่าที่พัก (ควรสอบถามทางโฮมสเตย์อีกครั้ง)
- ท่าเรือขลุง อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ

 

กิจกรรมต่างๆ ในบริเวณบางชัน
บริเวณบางชัน มีกิจกรรมอีกหลากหลาย ที่สามารถคุยติดต่อสอบถามกับทางโฮมสเตย์ได้โดยตรง
- เดินชมหมู่บ้านไร้แผ่นดิน
- ชมฝูงเหยี่ยวแดง
- ชมทะเลแหวก
- ศึกษากิจกรรมวิถีชีวิตชุมชนบางชัน และการประกอบอาชีพของชาวบ้าน
- นั่งเรือชมป่าชายเลน
- สักการะหลวงพ่อปากน้ำเวฬุ (ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ)
- เที่ยววัดบางชัน (วัดอรัญสมุทธาราม)
- การล่องแพเปียก
- พายเรือคายัค
- การงมหอยแครง
- การตกปลา ดักลอบปลา
- เที่ยวเกาะจิก

 

ท่าเทียบเรือขลุง
ท่าเทียบเรือขลุง อยู่ถนนเทศบาล 2 ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นท่าเรือที่ห่างจากตัวอำเภอขลุงมาประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่ลงเรือสำหรับไปยังโฮมสเตย์ต่างๆ ไปร้านอาหารฟาร์มปูนิ่ม หรือเช่าเหมาเรือไปเที่ยวในจุดต่างๆ บริเวณท่าเรือมีที่จอดรถ (จอดได้ไม่มากเท่าไหร่) โฮมสเตย์บางแห่ง มีคอนแทคกับร้านอาหารบริเวณท่าเรือ สามารถนำรถไปจอดภายในร้านอาหารได้ (สอบถามกับทางโฉมสเตย์โดยตรง)

สำหรับผู้ที่ไม่ได้นำรถยนต์มา เมื่อเดินทางมาถึงตัวอำเภอขลุงแล้ว ให้เหมารถสามล้อจากตัวอำเภอมายังท่าเรือ
เรือเช่าที่ท่าเรือขลุง มีหลายขนาด ทั้งเป็นแบบเรือหางยาว ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ราคาขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนคน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน
ที่อยู่ 87 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 22110
ติดต่อ 039-460-951

การเดินทางไปยังท่าเรือขลุง
ห่างจากอำเภอขลุง 3 กิโลเมตร
ห่างจากน้ำตกพลิ้ว 15 กิโลเมตร
ห่างจากน้ำตกตรอกนอง 17 กิโลเมตร
ห่างจากหาดแหลมสิงห์ 27 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 28 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมือตราด 45 กิโลเมตร

 

รถยนต์ส่วนตัว

1จากแกลง จ.ระยอง ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (หมายเลข 3) ตรงมาจันทบุรี จนถึงสามแยกปากแซง แล้วเลี้ยวขวาไปทางจังหวัดตราด (ทางเดียวกับไปน้ำตกพลิ้ว และแหลมสิงห์)
 
2ขับตรงตามเส้นทางไปเรื่อย ๆ จนเลยแยกทางเข้าน้ำตกพลิ้วไปสักระยะจะผ่านปั๊ม Esso (ฝั่งเดียวกับที่เราขับ)
3พอเลยปั๊ม Esso ไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางโค้งขวา ให้เราขับชิดขวาไว้ เพื่อเตรียมเลี้ยวเข้า ถนนเทศบาลเมืองขลุง
 
4เมื่อเลี้ยวเข้าถนนเทศบาลมาแล้ว (ถนนที่เข้ามาจะเป็น ถนนเทศบาล 3) ให้ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไปท่าเทียบเรือขลุง จึงเลี้ยวซ้าย
 
5เมื่อเลี้ยวซ้ายไปได้ราวๆ 700 เมตร จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวขวาไปท่าเรือ ให้เลี้ยวขวาตามป้ายบอกทาง
 
6เมื่อเลี้ยวขวาเข้าถนนเทศบาล 2 ให้ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ จนสุดทาง จึงเป็นท่าเรือขลุง

 

รถโดยสาร
รถทัวร์

[:nonewline:]
- นั่งรถทัวร์ (ปอ.1) หรือรถตู้ กรุงเทพฯ - จันทบุรี ลงที่ตัวจังหวัดจันทบุรี แล้วนั่งรถประจำทาง (จากขนส่ง) รถตู้ (ตรงตลาดน้ำพุ หน้าห้างทองมีมี) หรือเช่ารถมาสด้า ไปยังขลุง
- นั่งรถทัวร์ (ปอ.1) หรือรถตู้ กรุงเทพฯ - ตราด ไปลงระหว่างทางที่อำเภอขลุง แล้วเช่ารถสามล้อจากขลุงไปยังท่าเรือ

 

นั่งรถตู้ กรุงเทพฯ - ขลุง

[:nonewline:]
> คิวรถตู้ BH
รถออก 3.00 -20.00 น. รถออกทุก 40 นาที
กรุงเทพฯ - พลิ้ว - แหลมสิงห์ - ขลุง (ค่าโดยสาร 230 บาท/คน)
คิวรถอนุสาวรีย์ชัย (หน้าห้างเซ็นจูรี่) 081-921-1588
คิวหมอชิต (จอดข้างสะพานลอย ตรงข้ามหมอชิต) 088-885-2182
จันทบุรี (จอดตรงข้ามเซเว่นวัดใหม่ ทางเข้าไปบ้านน้ำพุ) 083-257-8555, 081-156-2370

 

> คิวรถตู้ขลุง
รถออก 4.20 - 19.20 น. (ค่าโดยสาร 230 บาท/คน)
คิวรถอนุสาวรีย์ (ซอยรางน้ำ) 084-566-9588
คิวหมอชิต (บขส. ขาเข้า) 089-604-3357
คิวรถขลุง (อยู่ข้างบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนเทศบาล 4) 080-095-4448

 

นั่งรถตู้ สุวรรณภูมิ - ตราด (บริษัท ธนทวี ขนส่ง) แล้วลงที่อำเภอขลุง จากนั้นนั่งสามล้อไปท่าเรือ

[:nonewline:]
รถออก 6.00 - 19.00 น. (ทุกชั่วโมง)
ติดต่อ 081-138-4638

 

Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 5.4 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
เกาะจิกนอก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และศึกษาวิถีชีวิตชุมชน หรือเป็นการเที่ยวแบบอีโคทัวร์ นอนโฮมสเตย์ ได้พักผ่อนพร้อมสัมผัสชีวิตชาวเล ผู้คนชนพื้นถิ่น ศึกษาดูงานการอยู่ร่วมกันของชุมชน เดินชมรอบเกาะ ได้กินอาหารทะเลสดๆ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบชมชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น
ร้านอาหารใกล้เคียง
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com