นมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี



การนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ถือเป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ของนักแสวงบุญชาวพุทธ เป็นงานที่เปิดให้ขึ้นเขาคิชฌกูฏได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น จึงมีผู้มีจิตศรัทธา และผู้มีจิตตั้งมั่นในการทำบุญ มาจากทั่วสารทิศ เพื่อมาร่วมงานสำคัญ นำความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต

การนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณเชิงเขาคิชฌกูฏ ที่วัดพลวง และวัดกระทิง

รอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,050 เมตร มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร การค้นพบรอยพระพุทธบาท* มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2397 จากนั้นก็มีนักแสวงบุญเดินขึ้นเขาเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทมาเป็นระยะ จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ที่ริเริ่มการจัดงานโดย "หลวงพ่อเขียน ขันธสโร**" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และได้เริ่มเป็นผู้บุกเบิกเส้นทาง โดยเริ่มเปิดให้คนทั่วไปได้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538

เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จะจัดขึ้นทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ไปจนถึง แรม 15 ค่ำ เดือน 4 (ระยะเวลา 2 เดือน)

 

ก่อนวันเทศกาล คือในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 2 จะมีการทำพิธีปิดป่า (เปิดงาน) เป็นพิธีบวงสรวง มีเครื่องเซ่นไหว้ ร่างทรง เป็นการบอกกล่าวต่อเทพยดา เทพารักษ์ และทำพิธีเพื่อไม่ให้สัตว์ป่าไม่ออกมาเพ่นพ่าน หรือทำร้ายผู้คน (บรรยากาศวันเปิดงาน https://www.youtube.com/watch?v=BzgYfXBJtWo)

หลังวันงานเทศกาล คือในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 จะมีพิธีบวงสรวงเปิดป่า (ปิดงาน) เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่สัตว์ป่าในเขตอุทยานฯ


รอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ เดิมเรียกว่า พระบาทพลวง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อเขา "คิชฌกูฏ" เพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ทางพุทธศาสนา โดย "คิชฌกูฏ" แปลว่าเขาแร้งกระพือปีก เป็นชื่อภูเขาในประเทศอินเดีย โดยเป็น 1 ใน 5 ของภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ ที่ถือว่าเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากที่สุด เช่นมีพระคันธกุฎีบนยอดเขา (ที่ประทับของพระพุทธเจ้า) วัดเวฬุวัน(วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา) ถ้ำสุกรขาตา (ที่พระสารีบุตรได้บรรลุธรรม) ถ้ำสัตบรรณคูหา (ที่ทำสังคายนาครั้งแรก) เป็นต้น

 

* การค้นพบรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏ มีความเป็นมาเมื่อปี พ.ศ. 2397 เล่ากันว่านายติ่งและเพื่อน ขึ้นไปหาของป่าบนเขาคิชฌกูฏ ขณะที่กำลังแวะพักบริเวณลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนนายติ่งได้ถอนหญ้าเพื่อทำที่นอน ได้พบแหวนขนาดใหญ่ ประมาณสวมหัวแม่เท้าได้ จึงได้ทำการสำรวจ ตรวจดูบริเวณโดยรอบ และพบหินแผ่นหนึ่งเป็นลายรูปก้นหอย ซึ่งขณะนั้นนายติ่งและเพื่อนยังไม่รู้ว่าคืออะไร

 

จนกระทั่งต่อมานายติ่งได้ไปงานบวชที่วัดพลับ มีการจัดงานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองด้วย เมื่อนายติ่งปิดทองพระพุทธบาทจำลอง จึงได้เห็นว่ารอยมีลักษณะเหมือนกับที่ตนพบบนเขา เมื่อหลวงพ่อเพชร เจ้าอาวาสวัดพลับในขณะนั้นทราบเรื่อง จึงสอบถามนายติ่ง และพากันขึ้นไปพิสูจน์ พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทอยู่บนแผ่นหินบนยอดเขา กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ใกล้กัน ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาท มีก้อนหินขนาดใหญ่วางอยู่ริมผา ซึ่งตั้งไว้คล้ายกับลอยอยู่ ไม่ติดพื้น และได้เรียกหินลูกนี้ว่า "หินลูกพระบาตร"

นอกจากนี้จากการสำรวจบริเวณใกล้เคียง และบริเวณโดยรอบแล้ว ได้พบหินลักษณะอื่นๆ อีก เช่น
- ตรงข้ามหินลูกพระบาท ห่างไปประมาณ 5 เมตร มีหินขนาดใหญ่มาก มีลักษณะเหมือนรอยพระหัตถ์ไปรับก้อนหินนี้
- ตรงข้ามกับรอยพระหัตถ์ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ เรียกกันว่า "รอยเท้าพญามาร" อยู่ในระดับสูงประมาณ 15 เมตร
- ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปอีกไม่กี่เมตร มีหินลูกข้างบนเป็นลาน เห็นเป็นรอยรถ หรือรอยล้อเกวียน
- หากยืนบนหินที่มีรอยรถแล้วมองไปทางทิศเหนือ จะเห็นถ้ำหนึ่งมีลักษณะคล้ายเต่า จึงเรียกว่า "ถ้ำเต่า"
- จากรอยพระบาท หากมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นก้อนหินรูปคล้ายช้าง จึงเรียกกันว่า "ถ้ำช้าง"
- จุดสูงสุดเลยจากถ้ำช้างไป เรียกว่า "ห้างฝรั่ง" เพราะเคยเป็นที่ฝรั่งขึ้นไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่
- ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเห็นถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งบนถ้ำ มีรูปลักษณะคล้ายสำเภา
- มีถ้ำอยู่ใต้พระพุทธบาท เรียก "ถ้ำปู่ฤาษี"

** หลวงพ่อเขียน ขันธสโร หรือพระครูธรรมสรคุณ เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นชาวจันทบุรีโดยแท้ พออายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้รับฉายาว่า "ขันธสโร" หลังจากนั้นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดกระทิง และได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูธรรมสรคุณ" ในปี พ.ศ. 2516

หลวงพ่อเขียนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานในการพัฒนาทำทางขึ้นสู่ยอดเขา เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้ขึ้นไปสักการะบริเวณรอยพระพุทธบาท และได้ปรึกษากับอุทยานแห่งชาติ นำเสนอการเข้าร่วมโครงการพุทธอุทยาน โดยมีการกำหนดพื้นที่ ในการใช้จัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท และนำรถยนต์ขึ้นเขาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515

หลวงพ่อเขียน ถือได้ว่าเป็นพระที่มีผลงานด้านการช่วยเหลือสังคม สาธารณประโยชน์ ศาสนกิจ และเป็นผู้นำด้านการศึกษา โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการ "นำวัดเข้าสู่โรงเรียน" นอกจากนี้ยังได้รับเป็นพระผู้มีวิชาอาคม สามารถใช้เวทมนตร์ สะกดสัตว์ป่า ในการทำพิธีปิดป่า เพื่อให้นักแสวงบุญได้ขึ้นกราบสักการะรอยพระพุทธบาท จนได้รับสมญานามว่าเป็น "เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ

หลวงพ่อเขียน เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 มรณภาพ 28 เมษายน พ.ศ. 2555 สิริอายุ 82 ปี บวชรวม 62 พรรษา

การขึ้นเขา
สามารถแบ่งได้เป็น 5 ช่วง (กรณีเริ่มจากวัดพลวง) ได้แก่

 

1. เริ่มจากจุดจอดรถบริเวณวัดพลวง
- จุดแรกเริ่มของพื้นที่การจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท จะเริ่มที่วัดพลวง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จอดรถ มีพื้นที่กว้างขวาง สามารถจอดได้ฟรีตลอดงาน ข้ามคืนก็ได้ (บางคนอาจไปจอดบริเวณรับฝากรถของเอกชนบริเวณใกล้ๆ ก็ได้ วันละประมาณ​ 50 บาท)
- ไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวทุกชนิดขึ้นไปบนเขา ต้องโดยสารรถกระบะของทางผู้จัดขึ้นไปเท่านั้น
- เป็นจุดที่มีร้านค้า ขายสินค้า อาหารการกินตลอดทั้งวันทั้งคืน สามารถแวะรับประทานอาหารก่อนขึ้นเขาได้
- เป็นจุดที่ให้บริการห้องสุขา ห้องอาบน้ำ
- เป็นจุดที่มีการจัดวางจุดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สามารถเริ่มทำบุญ บริจาค สะเดาะเคราห์ เสริมดวงชะตา แก้ปีชง
- เป็นจุดขายตั๋วรถขึ้นเขา ในช่วงที่ 1 ซึ่งจุดขายตั๋ว จะมีขายในวันจัดงาน ตลอดทั้งวันทั้งคืน ใครมาตอนไหนก็ซื้อตั๋วได้เลย ตั๋วรถ จะมีเป็นสี เป็นเบอร์รถให้ขึ้น เมื่อซื้อตั๋วแล้ว จะต้องคอยฟังการเรียกขึ้นรถ (ได้ขึ้นรถช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณคนในแต่ละช่วงวันเวลา)
บรรยากาศการจัดงานบริเวณวัดพลวง https://www.youtube.com/watch?v=7iScTpF9eug

2. การขึ้นรถช่วงที่ 1 จากวัดพลวง - เจดีย์กลางเขา
- เมื่อมาถึงวัดพลวงแล้ว จะต้องซื้อตั๋วรถนั่งขึ้นเขา ค่ารถแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 50 บาท (สรุปคือขึ้นเขา คือ 100 บาท และเวลาลงเขาอีก 100 บาท)
- เส้นทางรถเป็นทางดินอัดแข็ง เป็นทางขึ้นเขาชัน ต้องใช้ความชำนาญของผู้ขับขี่ที่ได้รับสัมปทานการจัดงานเท่านั้น
- เมื่อนั่งรถขึ้นมาถึงช่วงที่ 1 แล้ว จะยังไม่ถึงจุดที่เดินขึ้นเขา จะต้องต่อรถอีกทอดหนึ่ง จะต้องซื้อตั๋วใหม่แล้วรอขึ้นรถต่อไปอีกช่วงหนึ่ง
- นั่งรถในช่วงแรกนี้ประมาณ​ 10 - 15 นาที

3 การขึ้นรถช่วงที่ 2 จากเจดีย์กลางเขา - ลานพระสิวลี
- นั่งรถช่วงที่ 2 นี้ใช้เวลาประมาณ 10 - 15 นาที
- เส้นทางรถเป็นทางดินอัดแข็งเหมือนกับถนนช่วงแรก
- เมื่อนั่งรถช่วงที่ 2 ขึ้นมาแล้วจะถึงลานสิวลี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อการแสวงบุญอย่างแท้จริง
- จะเริ่มเดินขึ้นเขาจากจุดนี้ขึ้นไป โดยผ่านจุดสักการะต่างๆ

4. การเดินเท้าจากลานพระสิวลี - รอยพระพุทธบาท
- ลานพระสิวลี เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินขึ้นเขา (เดินเท้าเท่านั้น)
- บริเวณทางขึ้น มีไม้เท้าให้เช่า-ยืม (5 บาท) สำหรับผู้ที่มีกำลังขาไม่แข็งแรง
- เส้นทางเป็นขั้นบันไดปูน เดินได้สะดวก มีราวจับ เป็นทางขึ้นสลับกับมีที่พักริมทาง และจุดแวะทำบุญเป็นระยะๆ ทางเรียบบ้าง บริเวณทางขึ้น
- จากจุดแรกนี้ไปจนถึงรอยพระพุทธบาท มีจุดต่างๆ ให้แวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดทาง
- ระยะทางเดินขึ้นเขาถึงรอยพระพุทธบาทประมาณ 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที

5. การเดินขึ้นเขาจากรอยพระพุทธบาท - ผ้าแดง
- จุดที่เป็นผ้าแดง คือจุดที่บอกว่าขอบเขตสุดท้ายของป่า ที่สามารถเดินไปถึงได้
- เส้นทางจากพระพุทธบาท - ผ้าแดง ค่อนข้างเดินลำบากกว่าช่วงแรกหน่อย ไม่ได้เป็นทางปูน เป็นดินอัดแข็ง มีรากไม้ตามเส้นทางบ้าง
- จากรอยพระพุทธบาท - ผ้าแดง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีจุดชมวิวให้ชมอยู่เป็นระยะ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะหลายจุด
- จุดสำคัญของการเดินขึ้นเขา คือการได้นมัสการรอยพระพุทธบาท อาจไม่จำเป็นต้องเดินไปจนถึงผ้าแดงก็ได้
- ใช้เวลาเดินจากรอยพระพุทธบาท - ผ้าแดงประมาณ 10 - 20 นาที

จุดที่นิยมไหว้สักการะ
บนเขาจะมีจุดสำคัญต่างๆ ให้แวะสักการะ แต่ละจุดสามารถใช้ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ และแผ่นทอง ในการบูชา
1. พระสิวลี เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินขึ้นเขา การกราบสักการะพระสิวลี เชื่อกันว่า บูชาแล้วจะเกิดโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา
2. พระแม่ธรณี เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดโลกและแผ่นดิน เป็นการบอกกล่าวขออนุญาติ และเป็นการขอขมาแก่พื้นดิน เพื่อให้ท่านได้ร่วมอนุโมทนาบุญในการแสวงบุญครั้งนี้
3. พระนอนเล็ก
4. พระพุทธชินราช
5. พระนอนใหญ่ เป็นหินก้อนใหญ่ วางในแนวนอนยาว คล้ายกับพระนอนองค์ใหญ่
6. พระมาลัย
7. เนินเมตตา
8. ประตูสวรรค์ มีลักษณะเป็นหินก้อนใหญ่ 2 ก้อน วางพิงกันอยู่ มีช่องตรงกลาง ทำเป็นบันไดให้เดินลอดไปได้ ต้องเดินก้มเล็กน้อย ตรงก้อนหินมีเขียนไว้ว่าเป็น "ประตูสวรรค์"
9. ถ้ำปู่ฤาษี
10. รอยพระพุทธบาท เป็นจุดที่ทุกคนจะขึ้นมากราบสักการะ มีลักษณะเป็นลานโล่ง ใกล้กับหินบาตรคว่ำ บริเวณนี้ต้องถอดรองเท้าเข้าไป จากนั้นก็ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เพื่ออธิษฐานขอพรให้สำเร็จ เชื่อกันว่าให้ขอได้เพียงเรื่องเดียว ครั้งเดียว
การกราบสักการะรอยพระพุทธบาท บางคนเชื่อว่าให้สักการะด้วยดอกดาวเรืองและพลอยประจำวันเกิด โรยไว้ที่รอยพระพุทธบาท
ลักษณะรอยพระบาท
https://www.youtube.com/watch?v=pKWNugxaCJw

 

จุดที่น่าสนใจเพิ่มเติม
- จุดชมวิว ลานอินทร์์

ณ รอยพระพุทธบาท และจุดที่เดินถึงบริเวณผ้าแดง มีตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีจุดที่น่าสนใจอีกมากมายหลายแห่ง เช่น
- พระบรมสารีริกธาตุ
- หลวงปู่ทวด
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )
- พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- สมเด็จพระปิยมหาราช
- ผ้าแดง เป็นเครื่องหมายบอกถึงจุดสิ้นสุดการเดินทาง สามารถสักการะบูชา โดยอธิษฐานจิตอแล้วเขียนชื่อ นามสกุล ลงบนผ้าแดง

นอกจากนี้ยังมีร่องรอยบนหิน และหินในรูปลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนยอดเขา เช่น
- รอยเท้าเสือโคร่ง
- รอยเท้ากวางทอง
- หินรูปบาตรพระอานนท์
- หินรูปบาตรพระสารีบุตร
- หินลานพระอินทร์
- หินรูปปลาวาฬ มีลักษณะเหมือนหัวปลาวาฬ

ข้อมูลแนะนำในเรื่อวงต่าง ๆ

 

การแต่งกาย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป ควรมีเสื้อกันหนาว (แบบไม่ต้องหนามาก) หรือเสื้อคลุมกันลม
- หากมีเด็กไปด้วย ควรเตรียมเป็นพิเศษ อาจเป็นเสื้อกันหนาว กับผ้าพันคอให้เด็กด้วยก็ได้ (บางคืนอากาศเย็นมาก)
- หากเดินในช่วงกลางคืน น้ำค้างค่อนข้างแรง ควรมีหมวก หรือใช้ผ้าพันคอคลุมกันน้ำค้างแทนก็ได้ (ใช้อเนกประสงค์)
- ช่วงกลางวัน บางวันอากาศร้อน แดดแรง ควรมีหมวกสวมกันแดด
- ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น หรือเสื้อผ้าที่โป๊ เปิดไหล่ (ทางวัดมีบริการให้ยืมชุดคลุม และบริจาคตามศรัทธา)
- ควรแต่งให้เหมาะสมกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

สิ่งที่ควรเตรียมไปด้วย
- น้ำดื่ม อาหารว่าง (ระหว่างทางขึ้นเขามีจำหน่าย แต่ราคาจะสูงกว่านิดหน่อย)
- ยาสำหรับโรคประจำตัว
- ดอกไม้ ธูป เทียน อาจนำไปเท่าที่จำเป็น ส่วนดอกดาวเรืองและพลอยอาจเตรียมไว้สำหรับโรยที่พระพุทธบาท (หรือจะไหว้สักการะเฉยๆ ก็ได้)

ข้อแนะนำในการขึ้นเขาคิชฌกูฏ
- การขึ้นเขา ไม่ควรถือของมาก หรือหนักเกินไป อาจเป็นเพียงขวดน้ำ ขนมเล็กๆ น้อยๆ หรือดอกไม้ธูปเทียนที่จะนำขึ้นไปสักการะ
- ในบริเวณลานใกล้รอยพระพุทธบาท จะมีศาลากองอำนวยการ เป็นที่ประกาศประชาสัมพันธ์ จุดนัดพบ และมีศาลา เป็นโถงโล่งสำหรับผู้ที่ต้องการพักนอนได้ (ทางวัดมีเสื่อ หมอน ผ้าห่ม ให้ยืม)

ข้อแนะนำเกี่ยวกับวันเวลาเดินทาง
- เทศกาลเริ่มประมาณเดือนมกราคม - มีนาคม หรือ กุมภาพันธ์ - เมษายน (ระยะเวลา 2 เดือน)
- จำง่ายๆ คือมักจะอยู่ในช่วงใกล้ๆ กับวันตรุษจีน ไปจนเลยวันมาฆบูชาไปอีก
- ช่วงเปิดเทศกาลใหม่ๆ (ประมาณสัปดาห์แรกหลังเปิดงาน) คนจะน้อยกว่าในช่วงวันใกล้ปิด
- เปิดให้ขึ้นเขาทุกวัน ทั้งกลางวันกลางคืน มีรถให้บริการตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
- สวดมนต์ทำวัตรเช้าบริเวณพระพุทธบาท เริ่มประมาณ 4.30 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- หากต้องการขึ้นไปร่วมสวดมนต์ตอนเช้า ควรออกจากกรุงเทพฯ​ ประมาณเที่ยงคืน จะถึงที่จอดรถประมาณ ตี 3 - ตี 4 ถึงแล้วให้รีบซื้อตั๋วขึ้นเขา จะทันสวดมนต์
- ควรหลีกเลี่ยงขึ้นเขา คืนวันศุกร์, วันเสาร์ - อาทิตย์, วันมาฆบูชา, วันหยุดยาว, วันพระ, วันหวยออก, วันสิ้นเดือน และวันสุดท้าย (วันเขาปิด) คนจะมากเป็นพิเศษ
- หลีกเลี่ยงช่วงคืนวันศุกร์ตั้งแต่ 21.00 น. - วันอาทิตย์ 8.00 น.
- ช่วงวันเสาร์เย็น และวันอาทิตย์ตอนเช้า จะมีคนมาขึ้นกันเยอะมาก เช่นคนทำงานโรงงาน หรือคนที่มีวันหยุดแค่วันอาทิตย์เพียงวันเดียว
- หากไปวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ช่วงที่คนน้อยคือช่วง 4 ทุ่ม - เที่ยงคืน
- คืนวันเสาร์ คนจะเยอะกว่า คืนวันอาทิตย์ (วันอาทิตย์เย็นๆ คนน้อยลงบ้างแล้ว เพราะต้องกลับไปเตรียมตัวทำงานวันจันทร์)
- หากจำเป็นต้องไปวันเสาร์ - อาทิตย์ ไปถึงควรรีบซื้อตั๋วรถก่อนเลย คนขายตั๋วจะแจ้งว่าจะต้องรอกี่ชั่วโมง อาจเพียง 1-2 ชั่วโมง หรือถ้าคนเยอะมากๆ อาจต้องรอ 3-4 ชั่วโมง (ซื้อตั๋วแล้วค่อยเดินเล่น หรือหาของกิน)
- ถ้าต้องรอรถนาน สามารถแวะไปเที่ยวจุดใกล้ๆ ก่อนได้ เช่นน้ำตกกระทิง หรือเที่ยวทะเลก่อน แล้วค่อยกลับมาอีกที
- เวลาในการเดินทาง ขึ้นรถ เดินขึ้นเขา จนถึงลงเขา วันธรรมดา (วันที่คนน้อย) ใช้เวลาโดยรวมประมาณ​ 3-4 ชั่วโมง
- เวลาในการเดินทาง ขึ้นรถ เดินขึ้นเขา จนถึงลงเขา วันเสาร์-อาทิตย์ (วันที่คนเยอะ) ใช้เวลาประมาณ 5-8 ชั่วโมง
- เดินขึ้นช่วงกลางวัน มองเห็นวิวได้สวยงาม แต่เดินขึ้นเขาจะค่อนข้างเหนื่อย และร้อนกว่าตอนกลางคืน
- เดินตอนค่ำ ตอนกลางคืน จะมองไม่เห็นวิวโดยรอบ แต่เดินอากาศเย็นสบายๆ ไม่ร้อน
- เวลาที่แนะนำ คือ ออกจากกรุงเทพฯ ประมาณ 4 ทุ่ม - เที่ยงคืน ถึงวัดประมาณ ตี 2 - ตี 4 กินอาหารเช้านิดหน่อย แล้วขึ้นไปถึงบนเขาตอนเช้าตรู่ (อาจร่วมสวดมนต์เช้า) และได้เห็นวิวสวยงาม ช่วงสายๆ (ยังไม่ทันร้อนมาก) ลงจากเขา ได้แวะเที่ยวน้ำตก หรือทะเลยามบ่าย จากนั้นกลับเข้ากรุงเทพฯ
- ใช้เวลาทั้งทริป คือ ขับรถจากกรุงเทพฯ - วัดพลวง หรือวัดกระทิง - ขึ้นรถถึงลานพระสิวลี - เดินขึ้นเขา - ไหว้พระบาท - เดินถึงผ้าแดง - กลับลงจากเขา - ขับรถกลับถึงกรุงเทพฯ​ น่าจะราว 12-14 ชั่วโมง (เวลาโดยประมาณแบบไม่ต้องรอคิวรถขึ้นเขานาน)
- สำหรับคนทำงาน อาจเดินทาง คืนวันเสาร์ หรือเช้ามืดวันอาทิตย์ กลับถึงกรุงเทพฯ​ น่าจะประมาณเที่ยงคืน (โดยประมาณ)

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการนั่งรถขึ้นเขา
- รถรับส่งขึ้นเขาคิชฌกูฏ มีตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่วัดพลวง และวัดกระทิง
- หากมาถึงวัดพลวง หรือที่วัดกระทิง ควรซื้อตั๋วขึ้นรถก่อน เพื่อดูว่าจะได้รถเที่ยวไหน ต้องรอนานมั้ย
- หากขึ้นรถที่วัดพลวง จะต้องขึ้นรถ 2 ต่อ ต่อละ 50 บาท (ขาขึ้นรวม 100 บาท และขาลงอีก 100 บาท = 200 บาท) มีรถเยอะ วิ่งหลายเที่ยว (ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)
- หากขึ้นรถที่วัดกระทิง จะขึ้นรถเพียงต่อเดียว ต่อละ 100 บาท (ขาขึ้น 100 บาท และขาลงอีก 100 บาท = 200 บาท อาจมีจำนวนรถวิ่งน้อยกว่า (ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)
- คิวรถวัดพลวงจะแบ่งเป็นคิวล่าง (ต่อแรก) และคิวบน (ต่อที่สอง) คิวล่างมักจะรอนานกว่าคิวบน
- รถจะไม่แวะรับ-ส่ง ตามรายทาง นอกจากจุดขึ้นลงรถเท่านั้น
- ควรเก็บของมีค่าให้เรียบร้อยก่อนขึ้นรถ หากของตกหล่นกลางทาง อาจไม่สามารถแวะเก็บของได้
- วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ขึ้นรถที่วัดพลวงจะสะดวกกว่า มีรถจำนวนมากกว่า
- ถ้าไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ควรซื้อตั๋วแล้วแยกย้ายกันขึ้นรถ โดยไม่จำเป็นต้องไปคันเดียวกัน หรือไปพร้อมกันหมด ควรนัดกันไปเจอด้านบน (ลานพระสิวลี) จะสะดวกกว่า
- ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เมารถง่าย อาจจะขอนั่งหน้ากับคนขับ
- คนท้องอ่อนๆ อาจมีการกระชาก กระเทือน จากการนั่งรถขึ้นเขาได้
- เมื่อขึ้นรถแล้วควรจับราวเหล็ก และเกาะให้แน่น ไม่ควรยืน หรือเล่นกันบนรถ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
- หากมีฝนตก หรือเส้นทางอันตรายเกินไป อาจมีประกาศหยุดการขึ้นลงชั่วคราวได้

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเดินเท้าขึ้นเขา (ไม่นั่งรถกระบะ)
- จากวัดพลวงสามารถเดินขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทโดยไม่ต้องนั่งรถก็ได้ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ จากวัดพลวงไปถึงเจดีย์กลางเขา และจากเจดีย์ไปถึงลานพระสิวลี
- ระยะทางจากเชิงเขาประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 6-8 กิโลเมตร
- เส้นทางเดินจะเป็นการเดินเลียบถนนในช่วงแรก สลับกับเส้นทางเดินป่าริมถนน (ขนานกับทางถนนรถวิ่งในบางช่วง)
- ทางเดินไม่น่ากลัว หากกลัวว่าจะเดินตลอดเส้นทางไม่ไหว จะนั่งรถขึ้นไปครึ่งทางก่อน เมื่อถึงช่วงต่อรถตรงเจดีย์กลางเขา ให้เริ่มเดินจากจุดนี้แทน
- เส้นทางลัดจากบริเวณเจดีย์กลางเขา จนถึงลานสิวลี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
- เส้นทางลัดมีป้ายบอกทางชัดเจน เส้นทางมีรอยทางเดิน และมีผู้คนเดินขึ้นลงอยู่ตลอด ไม่เปลี่ยวมาก
- เส้นทางลัด ทางเดินในป่าเป็นเส้นทางธรรมชาติ มีหินใหญ่บ้างเล็กบ้าง และรากไม้ ตามเส้นทาง
- เส้นทางมีทางชันบ้าง โล่งบ้าง บางช่วงอาจต้องมีปีนป่าย แต่ไม่ถึงกับโหดมาก
- เส้นทางขึ้นเขารายล้อมไปด้วยป่าไม้ มีต้นไม้โดยรอบร่มรื่น เดินตอนกลางวันแดดไม่ร้อนมาก
- หากเดินตอนกลางคืน มีไฟติดไว้ให้ตลอดทาง แต่จะพกไฟฉายส่วนตัวไปด้วยก็ได้
- เดินขึ้นมาจะมาถึงบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ บนเขา

รีวิวการเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏ Pantip

จุดจอดรถ
- จุดจอดรถฟรีบริเวณวัดกว้างขวาง หลักๆ มี 2 จุดคือที่วัดพลวง กับที่วัดกระทิง
- บริเวณวัดพลวง มีการขยายพื้นที่จอดรถรอบวัด และรอบโรงเรียนวัดพลวง
- บริเวณวัดกระทิง มีการขยายพื้นที่จอดรถรอบวัด และรอบโรงเรียนวัดกระทิง
- ที่จอดรถวัด จอดฟรี ไม่จำกัดเวลา (มักเป็นลานจอดกลางแจ้ง หรือต้องหาร่มไม้เอาเอง)
- มีจุดจอดรถเอกชน แบบกางเต็นท์ไว้ให้ สามารถจอดได้ร่มๆ โดยเสียค่าจอด (50 บาท)

ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- สำหรับคนที่เดินขึ้นเขาไม่ไหวจริงๆ สามารถจ้างเสลี่ยง (ใช้ 4 คนหามขึ้นไป) ราคา 500 บาท /เที่ยว
- วันมาฆบูชา มีการเวียนเทียนบนเขา ส่วนคืนวันพระมีการฉายสไลด์บริเวณหินลูกบาตร
- ควรเช็คสภาพอากาศก่อนเดินทาง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
วัดกระทิง 039-452-056, 087-137-8203, 098-428-2193
วัดพลวง 039-309-166
อบต.พลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ 039-309-281-2
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เขาคิชฌกูฏ 039-452-074

สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง
- เขื่อนพลวง เป็นเขื่อนขนาดเล็ก อยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ ใกล้กับวัดพลวง เป็นเขื่อนสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร สามารถเที่ยวชมสันเขื่อนได้ โดยขับรถเข้าไปในบริเวณเขื่อน จอดรถไว้ริมสันเขื่อน จากนั้นจะเดินเล่น ชมวิวทิวทัศน์กว้างๆ สวยๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น
- น้ำตกกระทิง
- น้ำตกคลองไพบูลย์
- วัดพลวง
- เขื่อนพลวง
- วัดกระทิง
- วัดเขาสุกิม

การเดินทาง

 

ห่างจากน้ำตกกระทิง 10 กิโลเมตร
ห่างจากวัดเขาสุกิม 20 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 28 กิโลเมตร
ห่างจากกรุงเทพฯ 255 กิโลเมตร
ห่างจากหาดเจ้าหลาว 55 กิโลเมตร
ห่างจากอ่าวคุ้งกระเบน, หาดคุ้งวิมาน

เส้นทางที่ไปยังเขาคิชฌกูฏสะดวกที่สุดคือใช้ถนนสุขุมวิท จากนั้นเลี้ยวเข้าทางแยกเขาไร่ยา หรือทางแยกแสลง

โดยรถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ - เขาคิชฌกูฏ มีระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง - 4 ชั่วโมง
* หากต้องการไปวัดกระทิง ให้ใช้เส้นทางที่ 1 จะถึงวัดกระทิงก่อน

เส้นทางที่ 1 ไปวัดกระทิง และวัดพลวง จากแยกเขาไร่ยา (ระยะทางจากแยกไร่ยา - วัดพลวง 22 กิโลเมตร)
เป็นเส้นทางที่ใช้ได้ทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และออกจากตัวเมืองจันทบุรี

1ใช้เส้นทางถนนสายสุขุมวิท (หมายเลข 3) จากอำเภอแกลงจังหวัดระยอง ไปทางจันทบุรี
2เมื่อมาถึงแยกที่จะเข้าตัวเมืองจันทบุรี (แยกเขาไร่ยา) จึงเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอเขาคิชฌกูฏ (ทางหลวงหมายเลข 3249)
 
3เมื่อเลี้ยวแล้ว ขับตรงไปตามเส้นทางอีกประมาณ 18 กิโลเมตร จึงผ่านวัดกระทิงทางซ้ายมือ (หากต้องการขึ้นเขาคิวรถของวัดกระทิง เลี้ยวซ้ายเข้าไปในวัดได้เลย)
 
4หากต้องการไปยังวัดพลวง ให้ตรงผ่านหน้าวัดกระทิงไป แล้วเลี้ยวขวาตรงสี่แยกถัดไป
 
5เลี้ยวแล้วตรงไปอีกราว 1 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีก 1.5 กิโลเมตร (มีป้ายบอกทาง) จึงจะถึงวัดพลวง
 

 

เส้นทางที่ 2 ไปวัดพลวง จากแยกแสลง (ระยะทางจากแยกแสลง - วัดพลวง 23 กิโลเมตร)
เป็นเส้นทางเลี่ยงในวันที่รถหนาแน่น ระยะทางจากถนนสุขุมวิท ถึงวัด พอๆ กับเส้นทางที่ 1 (อ้อมไปเพียง 6 กิโลเมตร)

1ใช้เส้นทางถนนสายสุขุมวิท (หมายเลข 3) จากอำเภอแกลงจังหวัดระยอง ไปทางจันทบุรี
2จากแยกแกลง มาจนถึงแยกเขาไร่ยา ยังไม่ต้องเข้าแยกนี้ ให้ตรงต่อไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นสี่แยกแสลง ให้เลี้ยวซ้าย (เข้าถนนหมายเลข 3408)
 
3เมื่อเลี้ยวแล้ว ตรงตามเส้นทางไปราว 18 กิโลเมตร จะเจอสามแยก มีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อำเภอเขาคิชฌกูฏ จึงเลี้ยวซ้าย
 
4จากนั้นตรงตามเส้นทางหลักไปอีก 6-7 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวขวา ไปวัดพลวงได้ (มีป้ายโค้งอันตรายสีเหลืองเป็นจุดสังเกต แต่ถ้าเลยแยกนี้ไปประมาณ 1 กม.จะมีทางเข้าอีกทาง)
 
5พอเลี้ยวแล้ว ตรงไปจนสุดทางจะเจอวัดพลวง

 

เส้นทางที่ 3 มาจากจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว (ไม่ผ่านแยกปากแซง)

1หากเดินทางโดยใช้เส้นทาง จันทบุรี - สระแก้ว (หมายเลข 317) ตรงมาจนผ่านอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน ผ่านแยกทางเข้าเขื่อนคิรีธารไป
2ตรงมาเรื่อย ๆ จนเห็นสำนักงานทางหลวงชนบทจันทบุรี ทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ (สังเกตว่าทางแยกอยู่ข้างตลาด ...เพิ่มเติม! หลังจากมีการปรับปรุงถนนแล้ว ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถเลี้ยวขวาบริเวณนี้ได้ได้ ต้องขับเลยไปหน่อยเพื่อทำการกลับรถมาเข้าแยกนี้)
 
3เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว จะเป็นถนนเส้นทางหลวงชนบท 3010 จากนั้นให้ตรงไปตลอด ประมาณ 14 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวขวา ไปวัดพลวงได้ (มีป้ายโค้งอันตรายสีเหลืองเป็นจุดสังเกต แต่ถ้าเลยแยกนี้ไปประมาณ 1 กม.จะมีทางเข้าอีกทาง)
 
4พอเลี้ยวแล้ว ตรงไปจนสุดทางจะเจอวัดพลวง

 

โดยรถโดยสาร
ในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท มีรถโดยสารหลายรูปแบบ เช่น

1. รถทัวร์ปรับอากาศ (ปอ.1) กรุงเทพฯ - จันทบุรี

เชิดชัยทัวร์

 

> สถานีเอกมัย
(เวลาเดินรถ 04.30, 06.00, 07.00, 08.00, 09.00, 09.30, 10.20, 11.00, 11.30, 12.00, 12.30, 13.30(ด่วนพิเศษ), 14.30, 15.00, 15.30, 16.30, 17.00, 17.30, 18.30, 19.00, 19.30, 20.00, 21.30, 22.00, 23.30)
ติดต่อ 02-391-2237, 02-391-2804

> สถานีหมอชิต
ติดต่อ 02-936-0199

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ http://www.cherdchaitour.com/
Call Center 02-936-0043 (จองตั๋วแล้วจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส)

พรนิภาทัวร์

 

> สถานีเอกมัย
สาย 914 ค่าโดยสาร 205 -239 บาท
รถออกตั้งแต่ 6.00 - 20.00 น.
เวลาเดินรถ 06.00 , 07.00 , 08.30, 10.00, 11.00, 12.30, 13.30, 14.30, 16.00, 17.30, 18.30, 20.30 น.
ติดต่อ 02-391-5179, 02-382-1929

> สถานีหมอชิต 2
สาย 9907 ค่าโดยสาร 214 - 250 บาท รถออกตั้งแต่ 6.00 - 20.45 น.
เวลาเดินรถ 06.00 , 08.00 , 09.00, 09.45, 10.30, 11.15, 12.45, 13.30, 15.30, 16.15, 18.00, 19.00, 20.45 น.
ติดต่อ 02-936-2256-7

 

2. รถตู้ประจำทางจากกรุงเทพฯ
มีหลายคิว มาได้จากทุกเส้นทาง เช่น อนุสาวรีย์ชัยฯ มีที่เซ็นเตอร์วัน และ แฟชั่นมอลล์ รถออก 4.00 น. - 20.00 น.

คิวอนุสาวรีย์ - โลตัส จันทบุรี (ค่ารถ 200 บาท ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง)
ติดต่อ 083-009-9033 , 082-333-4010
คิวสองสมุทรเดินรถ อนุสาวรีย์(แฟชั่นมอลล์) – คิวที่จันทบุรีอยู่หลังโรงแรมเคพีแกรนด์ (ค่ารถ 200 บาท ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง)
ติดต่อ 085-828-9099, 082-209-5988
คิวพิเศษ อนุสาวรีย์ - วัดพลวง (ค่ารถ 250 บาท)
จอดรถบริเวณร้านแม่แขก จากวัดพลวงเดินมาคิวรถขึ้นเขาได้เลย
รถตู้พิเศษช่วงเทศกาล
> ช่วงเทศกาลจะมีรถตู้เฉพาะกิจ จากหลายบริษัท มีลักษณะเหมารวม (แบบจอยทัวร์) มีให้ขึ้นได้หลายจุด เช่น จากกรุงเทพฯ พัทยา ชลบุรี บางแสน ศรีราชา ตราด สอยดาว อยุธยา โคราช เป็นต้น บางทัวร์อาจเป็นราคาที่รวมแวะพาเที่ยวด้วย มักจะมีให้จองในช่วงก่อนเทศกาล สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ในช่วงใกล้เทศกาล (ราคาต่อหัวประมาณ 500 - 600 บาท/คน ราคานี้ไม่รวมค่าอาหาร และค่ารถกระบะขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฏคนละ 200 บาท)

 

> รถตู้แบบเช่าเหมาคัน เป็นรถตู้ VIP ขนาด 10 ที่นั่ง สามารถรวบรวมคนแล้วโทรติดต่อบริษัทรถตู้ ราคาเหมาคัน อยู่ที่ 6,000 - 6,500 บาท (อาจเพิ่มโปรแกรมเที่ยวในเส้นทาง ควรสอบถามรายละเอียดก่อนเหมา)

 

3. รถเมล์ ขสมก.

- บริษัท ขสมก. (รถเมล์ปรับอากาศ) ได้มีการจัดทัวร์ในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (มีแวะเที่ยวชมวัดเขาสุกิมด้วย)แบบไปเช้าเย็นกลับ (One Day Trip) เดินทางวันเสาร์ อาทิตย์ อังคาร พฤหัส (ค่าโดยสาร 479 บาท ไม่รวมค่ารถขึ้น-ลงเขาอีก 200 บาท) สามารถติดตามรายละเอียด และสำรองที่นั่งได้ที่ ขสมก. 02-552-0885-6, 02-521-1461, 081-847-1403 (ติดต่อในเวลาราชการ)
รีวิวตัวอย่างทัวร์ ขสมก. (1m17s) https://www.youtube.com/watch?v=eXPqy-T1--U

 

4. หากต้องต่อรถจากตัวเมืองจันทบุรี

- เหมารถมาสด้าจากคิวรถบขส. หรือหน้าโรบินสัน (ค่ารถประมาณ 200 - 350 บาท) ควรต่อรองก่อนเหมา
- นั่งสองแถวตรงหน้า บขส. รถสายจันทบุรี - จันทเขลม (รถสีฟ้า) (ค่ารถประมาณ 50 บาท)
- ขากลับจากวัดเข้าเมือง มีรถมาสด้าจอดบริเวณหร้าโรงเรียนวัดพลวง หรือใช้บริการรถตู้จากร้านแม่แขก (เข้ากรุงเทพฯ)

 

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1234
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 5.1 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
น้ำตกกระทิง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีชื่อเสียงในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เป็นน้ำตกที่มีความสูง และสวยงาม สำหรับการแวะเล่นน้ำใส เย็น ท่ามกลางธรรมชาติ ชมปลาพลวงในน้ำตก นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดขึ้นเขาคิชฌกูฏ ทำให้ในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท มีผู้คนแวะมาเที่ยวน้ำตกกระทิงหลังจากการสักการะรอยพระพุทธบาทเป็นจำนวนมาก
ห่างออกไป ประมาณ: 6.7 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ผาหินกูบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบนเทือกเขาสอยดาวใต้ เป็นที่เที่ยว unseen ของจังหวัดจันทบุรี ที่มีเส้นทางท้าทายนักผจญภัย นักเดินป่า ที่ไม่กลัวความยากลำบาก เส้นทางการเดินป่าที่ครบทุกรสชาติ บุกป่า ผ่านธารน้ำ ปีนเขา เข้าถ้ำ เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโหด ต้องใจเท่านั้นจึงจะฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดเส้นทาง เพื่อพิชิตความสวยงามแห่งขุนเขา ดูมอสสีทองในหน้าร้อน นอนนับดาว สัมผัสลมหนาว เฝ้าดูทะเลหมอก ชมแสงตะวันแรกเบิกฟ้า
ห่างออกไป ประมาณ: 6.9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
น้ำตกอ่างเบง เป็นน้ำตกที่อาจจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง และยังไม่เป็นรู้จักมากนัก เพราะยังไม่ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เหมาะกับการแวะเที่ยวชมเชิงอนุรักษ์ และศึกษาธรรมชาติ น้ำตกอยู่ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล ซึ่งเป็นจุดขึ้นเขาผาหินกูบ
ห่างออกไป ประมาณ: 8.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
น้ำตกคลองไพบูลย์ เป็นสถานที่พักผ่อนแบบไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก น้ำตกที่อยู่ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ การเดินทางสะดวกสบาย น้ำตกมีลักษณะเป็นธารน้ำกว้าง พื้นเป็นทราย และหินขนาดต่างๆ ทำให้น้ำใส มีจุดที่เป็นน้ำตื้น และลึก เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ปลอดภัยสำหรับเด็ก เล่นน้ำได้สนุก ในหน้าฝน มีน้ำเยอะ น่าเล่น หน้าร้อนแม้น้ำจะน้อยก็ยังมีน้ำเป็นบางแอ่งให้ลงเล่นได้
ร้านอาหารใกล้เคียง
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ EikQ (Pantip)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com