ท่องเที่ยวตรัง

สวนพฤกษศาสตร์สากลเขตร้อน (ภาคใต้) ทุ่งค่าย และ หาดปากเมง

ข้อมูลทั่วไป

 

ถึงเวลาต้องกลับไปเชงเม้งที่ตรังทีไร ต้องนึกถึงอาหารเช้าติ่มซำชุดใหญ่ หมูย่างเมืองตรัง ขนมจีนปักษ์ใต้ ดอกศรีตรังม่วงสดใสบานสะพรั่ง ภาพปะการังตื่นตาใต้ทะเล ล้วนคือเสน่ห์เมืองตรัง เหมือนกับคำขวัญที่ยาวยิ่งกว่าชื่อจังหวัดที่ว่า "เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา"

แต่ลงใต้ปีนี้เราเว้นจากการไปเที่ยวเกาะสักปี เอาแค่เที่ยวหาของกินในเมือง ชมสวนป่าธรรมชาติ แล้วไปเดินริมฝั่งทะเลอันดามันชิว ๆ นั้น วันแรกเราจึงตัดสินใจ แวะไปสวนพฤกษศาสตร์สากลเขตร้อน (ภาคใต้) ทุ่งค่าย และวันที่สองไปนั่งเล่นแถวหาดปากเมง  และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แต่ละที่อยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดนัก

 

สวนพฤกษศาสตร์สากลเขตร้อน(ภาคใต้) ทุ่งค่าย
Peninsular Botanic Garden (Thung Khai)

Image Gallery

ป่าสงวนแห่งชาติทุ่งค่าย มีเนื้่อที่ 2,600 ไร่ เริ่มจัดทำเป็นสวนรุกชาติเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2529 เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้และสัตว์ป่า ศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ต่อมาด้วยงบประมาณส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 4,600,000 บาท นายชนะ พรหมเดช หัวหน้าสวนฯ ในขณะนั้น จึงได้สร้างสะพานเรือนยอดไม้ขึ้น ป่าสงวนแห่งชาติทุ่งค่ายเริ่มเปิดใช้ เมื่อประมาณเดือนมกราคมปี พ.ศ.2547

บริเวณสวนพฤกษศาสตร์มีพื้นที่กว้างขวางมาก แต่ส่วนที่ดึงดูดใจเรามากที่สุดคือ เส้นทางสะพานศึกษาเรือนยอดไม้ (Canopy Walk Way) ซึ่งเป็นสะพานแขวนโครงสร้างเป็นเหล็กทาด้วยสีแดงสด ตัดกับสีเขีียวของป่า ตัวสะพานมีความยาว 175 เมตร ผูกโยงด้วยสลิงที่แข็งแรง รับน้ำหนักได้ 300 กิโลกรัม / 1 ตารางเมตร สะพานถูกเชื่อมไว้ด้วยหอคอยทั้งหมด 6 หอคอย ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงไปเรื่อยๆ จาก 10, 15, 18 เมตร (ประมาณตึก 6 ชั้น) การไต่ระดับความสูง ทำให้เราได้เห็นระบบนิเวศน์ที่แตกต่างกันตามระดับชั้น ทั้งลักษณะและประเภทของต้นไม้ สัตว์ป่าและแมลงที่พบในแต่ละระดับชั้นของป่าดิบชื้น

การเดินศึกษาธรรมชาติโดยใช้สะพานเรือนยอดไม้ ทำให้ได้ความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น หวาดเสียวเล็กๆ รู้สึกได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น โดยไม่เป็นการรบกวนธรรมชาติหรือสัตว์ป่่า การเดินบนสะพานแขวน อาจทำให้หลายคนที่กลัวความสูงรู้สึกเสียวไส้บ้าง  แต่ในที่สุดแล้ว ก็คุ้มกับการได้เดินมาจนถึงจุดสุดท้ายของเส้นทาง (หรือหอคอยที่ 6 ที่เรือนยอดชั้นบนสุด) ที่ได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ต้นไม้ในระดับนี้นับได้ว่าสูงราวกับตึก 6-9 ชั้น ซึ่งเป็นจุดที่จะได้เห็นต้นไม้พระเอกของสวนแห่งนี้ ซึ่งก็คือ ต้นตะเคียนที่สูงที่สุดในบรรดาต้นไม้ทั้งหมดในเขตนี้

ข้อควรระวัง
การเดินบนสะพานเรือนดูไม่อันตรายอะไร หากปฏิบัติตามกฏของสวนพฤกษศาสตร์ เช่นควรข้ามสะพานครั้งละไม่เกิน 5 คน ไม่ควรพิงราวสะพาน หรือราวเหล็กบนหอคอย เพราะอาจเกิดการพลัดตกได้ เด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี ควรมีผู้ปกครองคอยดูแล และไม่ควรวิ่ง กระโดด หยอกล้อ หรือ ทะเลาะวิวาทกันบนสะพาน

ป่าพรุเป็นป่าในเขตร้อน ประเภทไม่ผลัดใบเหมือนป่าดงดิบชื้น พบได้ตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ เป็นป่าที่มีน้ำแช่ขังตลอดปี มีซากอินทรีย์วัตถุ พวกเศษซากต้นไม้ใบไม้ทับถมกันเป็นเวลานาน ย่อยสลายอย่างช้าๆ เรียกว่าดินอินทรีย์ เมื่อพื้นดินประกอบด้วยน้ำ และดินอินทรีย์อยู่กันหลวมๆ ทำให้ต้นไม้แถบนี้จึงปรับตัวตาม ด้วยการพัฒนาให้รากโผล่ขึ้นมาเป็นแผงเหนือดิน คอยรับน้ำหนักต้นไม้ไม่ให้โค่น (เรียกว่าพูพอน) หรือการใช้รากในการหายใจ สัตว์ป่าที่พบได้ในเขตป่าพรุเช่น ปลาชนิดต่างๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวก กบ เขียด นก ค่างแว่น ลิง เป็นต้น

หลังจากสนุกสนาน กับการเดินศึกษาธรรมชาติบนยอดไม้ เมื่อลงจากหอคอย เราเดินต่อไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุ เป็นทางเดินเล็ก ๆ ก่อด้วยปูนเป็นระยะทางประมาณ 1200 เมตร การเดินศึกษาธรรมชาติอย่างสงบ ไม่ส่งเสียงดัง ทำให้เราได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะตอนที่เราเดินไปในเขตป่าพร ุเราได้ยินเสียงดัง ว้ากๆ ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเสียงนก แต่จริงๆ แล้วมันคือเสียงของเจ้าเขียดว้าก ที่มักอาศัยตามป่าพรุนั่นเอง ป่าพรุแห่งนี้ยังเป็นป่าสมบูรณ์ มีต้นไม้หายากหลายชนิด

หาดปากเมง
หาดปากเมง ตั้งอยู่ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ขึ้นอยู่กับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ 40 กิโลเมตร ขับรถไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4046 (ตรัง-สิเกา) แล้วแยกเข้าเส้น 4162 (สิเกา-ปากเมง) หาดปากเมงมีหน้าหาดกว้างมาก และมีลักษณะโค้งเป็นอ่าวยาวประมาณ 5 กิโลเมตร สัญลักษณ์ของหาดปากเมง คือวิวของเขาเมงทางทิศเหนือ ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นรูปคนนอนหัวโผล่พ้นน้ำอยู่ เป็นวิวที่ทำให้ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกลับโขดเขา ได้สวยไม่เหมือนที่ไหน

บริเวณริมหาด มีร้านค้าและมีเตียงผ้าใบ กางตามแนวเงาต้นสน และต้นหูกวางที่คอยให้ความร่มรื่นอยู่ริมทะเล ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม

เป็นช่วงที่เหมาะกับการมาพักผ่อน เพราะคลื่นลมสงบ น้ำทะเลค่อย ๆ ไต่ระดับความลึกทำให้หาดดูกว้าง ทอดยาวออกไปไกล อาจต้องระวังบ้างตรงที่บริเวณหาดมีหอยเจดีย์จำนวนมาก ซึ่งอาจจะบาดเท้าได นอกจากปากเมงจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวตรัง และนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปแล้ว ยังเป็นท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการไปเที่ยวดำน้ำชมปะการังตามเกาะต่างๆ ด้วย

ถัดจากหาดปากเมง ขับรถตามถนนเลียบหาดต่อลงไปทางใต้ ประมาณ 7 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตั้งแต่ปากทางเข้าอุทยาน มีสวนสนหนาแน่น สุดทางเป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีส่ิงอำนวยความสะดวกทั้งร้านสวัสดิการร้านอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวช่วงเวลา 8.00-19.00 น. ทั้งนี้ยังมีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ เต้นท์และเครื่องนอนสำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่าตั้งแค้มป์ได้ในบริเวณอุทยานด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
ที่อยู่: หมู่ 5 บ้านฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150
โทร:  0-7521-3260

สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อน(ภาคใต้) ทุ่งค่าย
ที่อยู่: ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง 92149
โทร: 0-7528-0166

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 137.22 ตารางกิโลเมตร ทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะต่างๆ เช่น เกาะมุก เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะเมง เกาะปลิง และเกาะเจ้าไหม ที่โดดเด่นของเขตอุทยานฯ คือเป็นแหล่งอาหารของปลาพะยูน พวกหญ้าทะเลที่มีมากในช่วงระหว่างเกาะหยงหลินกับเกาะมุก

บริเวณหาดเจ้าไหมมีหน้าหาดกว้าง มองเห็นเกาะลิบงอยู่ไม่ไกลนัก หาดมีลักษณะเป็นเวิ้งสองด้านโค้งไปจรดโขดเขา มีทางเดินไปบันไดปูนขึ้นไปตามไหล่เขา เพื่อไปดูจุดชมวิวและอีกมุมหนึ่งของเวิ้งน้ำ ปัจจุบันจุดชมวิวด้านบนที่มีบันไดไม้ต่อขึ้นไปผุพังเสียหาย อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการปีนป่ายพอสมควร

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 
 
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com