อาหารที่เหมาะกับแต่ละวัยของลูกน้อย: เด็กแรกเกิด 6 เดือน และ 9 เดือน

หัวข้อกระทู้ ใน 'คลังความรู้เรื่องแม่และเด็ก' เริ่มโพสต์โดย Number18, 1 ตุลาคม 2014.

  1. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

    อาหารสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญมากในกระบวนการเลี้ยงดูลูกน้อย เด็กในแต่ละวัย มีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ตอนเป็นทารก จนถึงช่วง 2 ขวบ ถือเป็นขั้นตอนที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอาหารจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามวัย เพื่อช่วยให้เด็กเติบโตแข็งแรง และช่วยกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละลำดับขั้นตอนของการเจริิญเติบโตอีกด้วย

    อาหารสำหรับเด็กแรกเกิด - ก่อน 6 เดือน
    นมแม่เพียงอย่างเดียว

    จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของลูกน้อย จะเป็นผลดีกับเด็กมาก หากคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องให้น้ำ หรืออาหารเสริมอื่นๆ เลย เพราะนมแม่ถือเป็นอาหารที่สะอาด เปี่ยมด้วยคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ ร่างกายทารกดูดซึมนมแม่ได้ดีกว่าสิ่งอื่นใด ทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และมีส่วนในการเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ ให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจกับสิ่งที่คุ้นเคย ขณะดูดนมแม่

    ช่วงแรกของการให้นมแก่ลูกน้อย คุณแม่ใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน

    1. คุณแม่ควรปล่อยวางจากเรื่องรอบตัว
    การใช้เวลาให้นมลูก เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย เป็นการถ่ายเทความรัก ความอบอุ่นซึ่งกันและกัน คุณแม่ไม่ควรวิตกกังวล หรืออยู่ในภาวะเครียด เพราะอารมณ์เหล่านี้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกสู่ลูกน้อย ผ่านทางการเต้นของหัวใจ ซึ่งทำให้ลูกน้อยรับรู้ถึงความรู้สึกของคุณแม่แล้วจะวิตกกังวลไปด้วย การให้นมลูกในขณะที่คุณแม่อารมณ์ดี จะส่งผลให้ลูกอารมณ์ดี และยังทำให้มีน้ำนมออกมาได้มากกว่าด้วย

    2. จัดท่าให้ลูกน้อยกินนมได้อย่างเหมาะสม
    การให้นมลูกน้อยมีได้หลายท่า การเปลี่ยนท่าทางการกินนม ทำให้คุณแม่ได้เปลี่ยนอริยาบท ไม่เมื่อย ไม่เป็นเหน็บ เมื่ออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป บางครั้งอาจใช้เบาะรองทารก หมอนข้าง หรือผ้า เพื่อช่วยในการจัดท่าทางให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

    3. ปริมาณนมแม่ที่พอเหมาะแก่ลูกน้อย
    - การให้ลูกน้อยกินนมในช่วงเดือนแรก ควรให้ลูกน้อยได้กินนมบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง, เดือนที่ 2-3 ทุก 3 ชั่วโมง, เดือนที่ 4-5 ทุก 4 ชั่วโมง
    - การให้ลูกน้อยกินนมแต่ละครั้ง ควรใช้เวลา 15-20 นาที
    - ควรฝึกให้ลูกน้อยกินนม และนอนตามเวลา ช่วงที่ลูกตื่น ควรให้เด็กได้เล่น หยิบจับ ฝึกการมอง หรือพัฒนาการกล้ามเนื้อต่างๆ จนกว่าจะถึงช่วงที่ให้กินนม แม้ลูกน้อยอาจจะกิน นอน ผิดเวลาไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร
    แต่หากทำได้ จะทำให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี ไม่งอแง โยเย เพราะได้กินอิ่ม และนอนหลับสนิท


    พูดคุยเรื่องปริมาณการกินนมของลูก พันทิป http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2011/12/N11490059/N11490059.html



    อาหารสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน
    นมแม่ 5-6 ครั้ง/วัน + อาหาร 1 มื้อ

    เมื่อทารกเริ่มเข้าเดือนที่ 6 ทารกจะเริ่มปรับตัวในการรับอาหาร โดยเริ่มรู้จักกลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้ ระบบภายในของทารกก็เตรียมพร้อมสำหรับการย่อย กระเพาะอาหารจะเริ่มหลั่งกรด และน้ำย่อย เพพซิน (Pepsin) เพื่อย่อยอาหารประเภทโปรตีน ตับอ่อนก็จะหลั่งเอนไซม์ อะไมเลส (Amylase) เพื่อช่วยย่อยแป้ง และไลเปส (Lipase) เพื่อช่วยย่อยไขมัน สำหรับลูกน้อยที่น้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักไม่เพิ่ม คุณหมออาจแนะนำให้ให้อาหารเด็กตอน 4 เดือนก็มี แต่ไม่ควรให้อาหารแก่ลูกน้อยตอนเล็กกว่า 4 เดือน ส่วนนมแม่ก็ควรให้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 2 ปี

    อาหารมื้อแรกของลูกน้อย ควรให้แทนนม 1 มื้อ อาหารในมื้อแรกนี้ ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สิ่งแรกนอกเหนือจากการดูดนมแม่ คุณแม่จึงควรเตรียมรับมือกับการเริ่มให้อาหารมื้อแรกให้กับลูกด้วย

    ความรู้เรื่องอาหารเด็ก


    1. ลูกน้อยคายข้าว ไม่ยอมกลืน
    ในช่วงแรกที่คุณแม่เริ่มป้อนข้าวลูก คุณแม่อาจเจอกับปัญหาลูกน้อยคาย บ้วน หรือใช้ลิ้นดุนออกมา ไม่ต้องตกใจว่าลูกไม่ยอมกินข้าว โดยทั่วไปแล้วก่อนรู้จักการกลืน ทารกจะมีอาการที่เรียกว่า "เอ็กทรูชั่น รีเฟล็ก" (Extrusion Reflex) คือปฏิกิริยาเมื่อทารกได้อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวเป็นครั้งแรก เพราะทารกยังไม่รู้จักการใช้ลิ้นตวัดอาหารลงคอ จึงห่อปากตวัดลิ้นดุนอาหารออกมาแทน อาการนี้จะค่อยๆ หมดไปเอง คุณแม่เองก็ต้องพยายามป้อนต่อไป

    การแก้ไขการดุนอาหารของลูกน้อย
    - ใช้ช้อนแบนๆ เล็กๆ ป้ายอาหารกึ่งเหลวไว้ที่เพดานปากของลูกน้อย ทารกจะใช้ลิ้นดันอาหารไหลไปตามลำคอได้
    - อาจป้อนน้ำซุปตาม เพื่อให้อาหารเคลื่อนลงลำคอได้สะดวกขึ้น

    2. การป้อนอาหาร
    การป้อนอาหารลูกน้อยเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง บวกกับความอดทน เพราะลูกน้อยหลายคนมักจะไม่ยอมกิน ไม่ยอมกลืน และอาจบ้วนทิ้งบ่อยๆ
    คุณแม่ต้องให้เวลาลูกน้อยสักหน่อย ที่ลูกบ้วนอาจเป็นเพราะฝืดคอ ก็สามารถให้จิบน้ำตามได้ หรือจะค่อยๆ เริ่มที่น้ำข้าวข้นๆ หรือน้ำซุปก่อนก็ได้

    - การป้อนอาหารให้ลูกน้อยควรป้อนด้วยความนุ่มนวล เพื่อให้ลูกมีความรู้สึกที่ดีกับการกินอาหาร ถ้าลูกไม่ยอมกิน อาจทดลองปรุงในวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่ลูกชอบ
    - การให้ทารกกินอาหาร แต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ไม่ควรเกิน 30 นาที
    - ขณะกินไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ หรือเดินป้อน ควรฝึกให้นั่งกินที่โต๊ะอาหาร
    - สบตาและพูดคุยกับทารกตลอดเวลาการป้อนอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ทานอาหาร

    3. ลักษณะอาหารของลูกน้อย
    ควรเป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว มีเนื้อค่อนข้างละเอียด ในมื้อแรกๆ เนื้ออาหารควรเนียนแบบโยเกิร์ต เพื่อให้เด็กกลืนง่าย คุณแม่ควรเริ่มให้อาหารลูกทีละน้อยๆ และเริ่มทีละอย่าง ซ้ำกัน 3-4 วัน เพื่อให้ลูกน้อยได้ปรับตัวกับอาหารแต่ละประเภท และคุณแม่เองก็ได้ดูด้วยว่า เด็กแพ้อาหารประเภทใดบ้าง

    4. ปริมาณอาหาร
    อาหารบดที่ให้แก่ลูก ควรเริ่มให้ทีละน้อย เช่นวันแรกให้ 1 ช้อนโต๊ะ หากลูกกินได้ วันต่อไปค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละช้อน จนได้ประมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ ให้ลูกกินอาหารวันละมื้อเดียว กินพออิ่ม เมื่อให้ลูกกินนมแล้วเว้นช่วง 3-4 ชั่วโมง จึงจะให้นมแม่ หรือนมสต็อก

    เมื่อลูกเริ่มกินอาหารได้ สามารถลดปริมาณนมที่ให้ลูก เป็นสัดส่วนกับปริมาณอาหารที่กิน เช่นกินข้าวได้ 1 ช้อนโต๊ะ ก็ลดนมลูกได้ 1 ออนซ์ ลูกกินได้ 2 ช้อนโต๊ะ ก็ลดนมลูกได้ 2 ออนซ์

    5. เมนูอาหารสำหรับลูกน้อย
    อาหารเริ่มแรกของลูกน้อย ควรเป็นผัก และผลไม้ อาหารยืนพื้นควรเป็นข้าว เช่นข้าวกล้อง ผักควรเป็นผักที่ต้มแล้วนุ่ม ไม่เป็นเสี้ยน เช่นตำลึง ผักหวาน ฟักเขียว ฟักทอง มันเทศ มันฝรั่ง

    ตัวอย่างเมนูอาหารลูกน้อย (บดหรือปั่นรวมกัน)
    - ข้าวสุก + ผักตำลึงต้ม = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - ข้าวสุก + ฟักทองต้ม = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - ข้าวสุก + กล้วยสุก = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - มันเทศต้ม + ผักปวยเล้งต้ม = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)

    ข้อแนะนำในการทำอาหาร
    - ควรเน้นวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่สดใหม่ ผักควรล้างให้สะอาดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆ วิธีรวมกัน เช่น ใช้น้ำยาล้างผัก ล้างโดยผ่านน้ำไหลประมาณ 2 นาที แช่ในน้ำส้มสายชู แช่ด้วยผงฟู ผงถ่าน เป็นต้น
    - ข้าวสุก ควรใช้ข้าวกล้อง อาจแช่น้ำก่อนหุงเพื่อให้ข้าวนิ่ม นำข้าวสุกมาบดละเอียด ใช้ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ หลังบดเสร็จอาจผสมนมแม่ หรือน้ำลงไปนิดหน่อย เพื่อไม่ให้ข้าวข้นเกิน
    - หากลูกกินข้าวกล้อง แล้วมีผื่นขึ้น หรือท้องผูก ซึ่งอาจเป็นอาการแพ้ข้าวกล้อง ก็เปลี่ยนเป็นข้าวขาวแทนได้
    - หากคุณแม่ทำน้ำซุปให้ลูกน้อย ควรเริ่มที่ซุปจากผักก่อน แล้วค่อยเป็นซุปไก่
    - ไม่ควรใช้สูตรอาหารที่มีนม เนย ชีส สามารถเอานมแม่มาใช้ได้ โดยเอานมแม่สต็อกมาละลาย แล้วราดเหมือนกะทิ ไม่ควรนำนมแม่ไปต้ม
    - อาหารเริ่มแรกของลูก ควรเป็นรสชาติแบบธรรมชาติของอาหารนั้นๆ ที่นำมาปรุง ไม่ควรปรุงรสเพิ่ม
    - อาหารที่มีผักอาจเหยาะน้ำมันลงไปนิดหน่อย นำ้มันที่ใช้ควรเป็นน้ำมันจากพืช เช่นน้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันมะกอก เพื่อให้วิตามินที่ละลายในน้ำมันดูดซึมได้ดี
    - อย่าเพิ่งเริ่มอาหารที่ลูกน้อยอาจแพ้ได้ง่าย เช่นไข่ขาว อาหารทะเลจากสัตว์ที่มีเปลือกพวก กุ้ง ปู ควรเริ่มเมื่อลูกอายุครบ 1 ปีขึ้นไป
    - อาหารแต่ละอย่าง คุณแม่ควรให้ซ้ำ 3-4 ครั้ง ก่อนเปลี่ยน เพื่อดูว่าลูกมีอาการท้องอืด ท้องผูก แพ้อาหาร หรือลูกชอบอาหารนั้นหรือไม่
    - ขณะลูกกินอาหาร ควรมีถ้วยน้ำไว้คอยให้จิบเวลาฝืดคอ
    - อาหารควรมีความหลากหลาย เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับอาหารแต่ละประเภท
    - เวลาคุณแม่ไม่มีเวลา หรือต้องเดินทางไปไหน ไม่ควรใช้อาหารผงแก่ลูกน้อย คุณแม่ใช้อาหารกระปุกแทนได้ หรือเตรียมเป็นอาหารแช่แข็งไว้ให้ลูกแทน

    รีวิว เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน พันทิป http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2012/07/N12361760/N12361760.html
    รีวิวอาหารเด็ก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rabye&date=28-09-2008&group=6&gblog=3
    เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน พันทิป http://pantip.com/topic/31237706


    6. อุปกรณ์ทำอาหารสำหรับลูกน้อย
    การทำอาหาร คุณแม่อาจใช้อุปกรณ์แบบธรรมดาที่มีอยู่ที่บ้าน เช่นใช้ซึ้งนึ่งอาหาร ใช้กระชอน และช้อน เพื่อบดอาหารให้ละเอียด เนื้อสัตว์ก็อาจใช้เครื่องปั่นธรรมดาที่มีอยู่แล้ว หากคุณแม่ที่ต้องการซื้อเครื่องปั่นอาหารสำหรับลูกน้อย ก็มีอยู่หลายแบบที่สะดวกสำหรับการทำอาหารเสริมให้ทารก ทั้งแบบที่ปั่นเท่านั้น หรือแบบทั้งนึ่งด้วย บดด้วย ก็สามารถช่วยคุณแม่ร่นเวลาในการเตรียมอาหารลงได้

    ตัวอย่างเครื่องปั่นอาหารเด็ก
    - Beaba babycook นึ่งและปั่น ราคาประมาณ 3,000 - 4,000 บาท
    - Avent steamer and blender นึ่งและปั่น ราคาประมาณ 6,000 - 8,500 บาท
    - Tefal ปั่น ราคาประมาณ 1,400 - 2,000 บาท
    - Baby Bullet เครื่องปั่น ราคาประมาณ 2,000 บาท (เช็คสินค้าของแท้ และปลอมได้ที่ http://pantip.com/topic/31947230)

    อุปกรณ์ทำอาหารเด็ก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=misspommy&month=08-09-2009&group=11&gblog=9

    7. อาหารแช่แข็งสำหรับลูกน้อย
    สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีเวลามากนัก อาจทำอาหารให้ลูกน้อยเอาไว้ล่วงหน้า โดยนำอาหารที่ทำไว้ให้ลูกน้อย ตักใส่พิมพ์ที่ทำน้ำแข็ง จากนั้นนำไปใส่ช่องฟรีต พออาหารแข็ง ก็เคาะออกมาใส่ในถุงซิป เก็บไว้ให้ลูกกินในวันต่อๆ ไปได้ อาหารแช่แข็ง สามารถเก็บไว้ได้ 4 อาทิตย์ ถ้าเก็บในตู้แช่ไอติม เก็บได้ 8 อาทิตย์ เวลาต้องการเอามาป้อนลูก ก็เอาออกมาอุ่นไมโครเวฟ หรืออุ่นเตาพอให้น้ำแข็งละลาย

    ข้อแนะนำ
    - สำหรับคุณแม่ที่กินซุปไก่สกัดบ่อยๆ อาจเก็บขวดแก้วเล็กๆ เอามาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง สามารถใช้เป็นสต็อคอาหารสำหรับลูกน้อยได้ ใส่ได้ทั้งอาหาร หรือซุปสต็อค ปิดฝาโดยใช้ถุงพลาสติกเล็กๆ คลุมปากขวด เอาหนังยางรัดรอบคอขวด ใส่เก็บไว้ในตู้เย็น เวลาต้องการเอามาให้ลูก ก็อุ่นโดยการนึ่ง หรือใส่ไมโครเวฟได้เลย
  2. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

    อาหารสำหรับเด็กอายุ 7 เดือน
    นมแม่ 5-6 ครั้ง/วัน + อาหาร 1 มื้อ + อาหารว่าง (ผลไม้)

    เมื่อ ลูกน้อยเริ่มอาหารในเดือนแรกไปแล้ว เดือนที่ 7 อาหารของลูกน้อย ควรค่อยๆ เพิ่มความหยาบของเนื้ออาหาร และค่อยๆ เพิ่มอาหารประเภทโปรตีน ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์ ประเภท ไก่ ปลาน้ำจืด จำพวก ปลานิล ปลาเนื้ออ่อน ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาดุก ปลากราย ปลาสวาย และสามารถเพิ่มอาหารว่างให้ลูกน้อยเป็นผลไม้ได้อีก 1 มื้อ

    ตัวอย่างเมนูอาหาร (บดหรือปั่นรวมกัน)
    - ข้าวบด + ไข่ต้ม (เฉพาะไข่แดง) + ผักกาดขาวต้ม = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - ข้าวบด + ไข่ต้ม (เฉพาะไข่แดง) + ตำลึงต้ม = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - ข้าวบด + เนื้อปลาต้ม + ถั่วลันเตาต้มสุก = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)
    - ข้าวบด + เนื้อปลาทอด + แครอทต้มสุก = บดรวมกัน (ราดด้วยนมแม่)

    ข้อแนะนำ
    - อาหารสำหรับลูกควรใช้วิธีการบด จะดีกว่าวิธีการปั่นละเอียด เพราะการบดจะมีความหนืด เป็นการฝึกพัฒนาการด้านการเคี้ยว และการกลืน ได้มากกว่า
    - ควรสังเกตว่า ลูกสามารถกินอาหารหยาบขึ้นได้บ้างรึยัง ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหยาบขึ้น หากลูกไอ เหมือนติดคอ ก็อาจจะกลับมาให้อาหารละเอียดนุ่มเหมือนเดิมก่อน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนในครั้งถัดไป
    - ผักสามารถเปลี่ยนได้หลากหลายชนิด เช่น แครอท หัวไชเท้า บีทรูท มันเทศ มันฝรั่ง พวกถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วสโนว์พี ลูกบัว ลูกเดือย เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน งาดำ งาขาว เมล็ดแฟล็ก เมล็ดเชียร์
    - ผักใบเขียว และผักอื่นๆ สามารถใช้สลับกันได้หลายอย่าง เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ปวยเล้ง บอกฉ่อย ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศ หอมใหญ่ บล็อกโคลี่ กระหล่ำดอก แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อโวกาโด้
    - อาหารช่วงแรกๆ ควรใช้ผักที่มีความอ่อนนุ่ม ไม่มีกลิ่นฉุน เพราะอาจจะทำให้เด็กไม่ชอบ และไม่อยากกินต่อ เช่น หัวหอม กระเทียม
    - ค่อยๆ เริ่มให้เด็กได้กินโปรตีนจากไข่และเนื้อสัตว์ ไข่ให้ใช้เฉพาะไข่แดงที่ต้มสุก ไข่แดงแข็ง ไม่เป็นยางมะตูม เพราะอาจยังมีเชื้อโรค ทำให้เด็กท้องเสียได้ ครั้งแรกควรให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน คือไข่แดงแค่ 1/4 ของทั้งใบ ส่วนเนื้อสัตว์ จะยังคงเป็นพวกปลาน้ำจืด (ยังไม่ควรให้ปลาทะเล)
    - ขณะที่ให้ลูกน้อยเริ่มกินไข่แดง ควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณจาก 1/4 เป็นครึ่งฟอง ไปทีละนิด และควรสังเกตอาการลูกน้อยด้วยว่ามีอาการแพ้มั้ย
    - สามารถให้เด็กกินผลไม้เป็นอาหารว่างได้ ควรเป็นผลไม้ที่เป็นเนื้อนิ่มที่สามารถขรูด หรือบดป้อนลูกได้เลย เช่นกล้วยสุก มะละกอสุก มะม่วงสุก แก้วมังกร ยังไม่ควรให้เด็กกินผลไม้รสเปรี้ยว พวกส้ม สัปปะรด นอกจากลูกท้องผูกมาก ให้กินได้นิดหน่อยก่อน
    - ผลไม้เนื้อแข็ง เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ ควรล้างเปลือกด้านนอก ปอกเปลือกแล้วปั่น ใส่น้ำนิดหน่อย ป้อน 3 ช้อนโต๊ะ
    - หากให้กินกล้วยบด ใช้กล้วยน้ำว้าสุก งอมพอนิ่ม (เปลือกเริ่มบางและเริ่มทำท่าจะดำแล้ว) ขูดแค่ผิวๆ (ไม่ถึงแกนกล้วย) เริ่มจาก 1-2 ช้อนชาก่อน เพื่อให้กระเพาะเด็กปรับตัวได้ อาจผสมกับนมแม่ หรือน้ำเพื่อให้เปียกๆ กลืนง่าย โดยให้วันละครั้งพอ

    ตัวอย่างอาหารสำหรับลูกน้อย http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2012/09/N12726484/N12726484.html



    อาหารสำหรับเด็กอายุ 8-9 เดือน
    นมแม่ 5-6 ครั้ง + อาหาร 2 มื้อ

    พอ ถึงช่วงวัยนี้ คุณแม่ควรเพิ่มอาหารให้ลูกน้อยเป็น 2 มื้อ หากเด็กกินข้าวได้ อาจลดมื้อนมของลูกน้อยลง เด็กอาจจะเริ่มกินโจ๊ก หรือข้าวต้มได้

    ปริมาณ อาหารควรเป็นข้าว 3-4 ช้อนโต๊ะ และควรมีอัตราส่วนของข้าว 3 ส่วน เนื้อสัตว์หรือเต้าหู้ 1 ส่วน ผสมกับผัก 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจมีน้ำซุปตาม เพื่อช่วยให้ลูกน้อยไม่ฝืดคอ

    ตัวอย่างอาหาร (บดรวมกัน)
    - โจ๊กหมูสับ ใส่บล็อคโครี่ต้มหั่นฝอย
    - ข้าวต้ม + ไข่แดงสุก + ตำลึงสุก = บดรวมกัน
    - ข้าวสุกบดหยาบ + ปลานึ่ง + ฟักทองต้ม

    ข้อแนะนำ
    - ในช่วงที่เด็กเข้า 9-10 เดือน สามารถฝึกให้เด็กนั่งเก้าอี้ไฮแชร์ (High Chair) หัดตักข้าวกินเอง ใส่ผ้ากันเปื้อน
    - เด็กในช่วงนี้เริ่มมีพัฒนาการเรื่องการหยิบจับของชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ได้ และจะเริ่มมีฟันขึ้นตั้งแต่ 6 เดือน (บางคนอาจจะขึ้นช้ามาถึง 8-9 เดือน) จึงเป็นโอกาสดีที่คุณแม่ควรเสริมพัฒนาการด้านการจับ ถือของชิ้นเล็กๆ และด้านการเคี้ยว การกินอาหารแต่ละมื้อ จึงควรหาของกินที่เด็กได้ถือ ให้เด็กได้ลองจับแทะได้เอง เช่น เบบี้แครอทต้ม ฟักทองนึ่ง มันต้ม หรือผักต้มชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้จับดูดน้ำผัก แต่ยังไม่ควรให้อาหารที่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เช่นถั่วลิสง เมล็ดข้าวโพด

    ตัวอย่างอาหาร http://blog.eduzones.com/benzyeduzones/122344


    สำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลอาหารของเด็กที่โตกว่านี้ให้ดูที่ ข้อมูลอาหารเด็ก 1 ขวบ - 3 ขวบ
    Last edited: 1 ตุลาคม 2014
  3. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

แบ่งปันหน้านี้